Skip to main content
sharethis

 

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดการสัมมนา เรื่อง พิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และพิธีสารเลือกรับแห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ชุตินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การสหประชาชาติ การยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแสดงถึงพัฒนาการในทางที่ดีของสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหลักการสำคัญว่าถ้ารับรองอนุสัญญาเหล่านั้นแล้วต้องสามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงภายในประเทศด้วย ไม่ใช่เข้าเป็นภาคีแต่เพียงในนาม

ด้าน วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความยินดีที่หน่วยงานราชการ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิฯ ทำงานเชิงรุกในการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้านบวกเพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เช่น ที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎหมายห้ามไม่ให้ลงโทษประหารชีวิตบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงมีครรภ์ นี่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่รัฐควรกระทำเพื่อเคารพสิทธิในการมีชีวิต สหประชาชาตินั้นระบุไว้ชัดเจนว่าคดียาเสพติดไม่จัดเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ต้องลงโทษประหารชีวิต

วิทิต กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลกมี 2 แขน แขนที่หนึ่ง คือ กระบวนการตรวจสอบภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ คือ กระบวนการ Universal Periodical Review (UPR) ที่ทุกประเทศสมาชิกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องเข้ารับการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ แขนที่สอง คือ การเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งปัจจุบันมี 9 ฉบับหลัก และไทยรับเป็นภาคี 7 ฉบับ ได้แก่ CEDAW, CRC, ICCPR, ICESCR, CERD, CAT, CRPD ส่วน CED ไทยลงนามแล้วเมื่อมกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และยังไม่ได้เป็นภาคี ICRMW เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีแล้วต้องทำรายงานตรวจสอบสิทธิที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาต่อคณะกรรมาธิการอนุสัญญาแต่ละฉบับ เป็นการประเมินตนเองเพื่อการปรับปรุง

วิทิต กล่าวว่า พิธีสารเลือกรับทั้งสามฉบับที่จะอภิปรายกัน คือ พิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 1 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เรื่อง กระบวนการรับและพิจารณาข้อร้องเรียน (OP-ICCPR No.1) โดยพิธีสารดังกล่าวหากรัฐรับเป็นภาคีสมาชิกจะเปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee) โดยผู้ร้องต้องระบุตัวตนและมีเงื่อนไขสำคัญว่าผู้ร้องต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศจนเสร็จสิ้นกระบวนความ (Exhaust local remedies) เสียก่อน

พิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เรื่อง การมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต (OP-ICCPR No.2) สาระสำคัญ คือ รัฐสมาชิกต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยอาจตั้งข้อสงวนไว้ได้ในยามสงคราม แต่จุดมุ่งหมายหลัก คือ การรับรองสิทธิในการมีชีวิต การหาวิธีการลงโทษไม่ให้รัฐต้องเกี่ยวข้องกับการทำลายชีวิต แม้ว่าในหลายประเทศ กระแสสังคมจะเห็นด้วยกับการคงไว้ซึ่งโทษประหารก็ตาม การตัดสินใจเข้าเป็นภาคีของพิธีสารฉบับนี้จึงต้องอาศัยภาวะผู้นำอย่างสูง ปัจจุบันมีรัฐเป็นสมาชิกจำนวน 74 ประเทศ ประเทศในภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นสมาชิก เช่น ฟิลิปปินส์ และติมอร์ตะวันออก เหตุผลสนับสนุนการยกเลิกโทษประหาร คือ มีรายงานทั่วโลกที่ระบุว่าโทษประหารไม่ช่วยยับยั้งอาชญากรรมตามที่สังคมคิด และในหลายประเทศ มีปัญหาเรื่องของความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมที่เราไม่อาจเชื่อมั่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนพิธีสารแห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OP-CAT) มีสาระสำคัญ คือ การพัฒนาระบบการเข้าเยี่ยมสถานกักกัน เช่น เรือนจำ โดยหน่วยงานระดับนานาชาติและระดับชาติเพื่อป้องกันการทรมานและการละเมิดด้านอื่นๆ โดยรัฐภาคีจะอนุญาตให้คณะอนุกรรมการระดับนานาชาติตามสนธิสัญญา CAT เข้าเยี่ยมสถานกักกันในรัฐสม่ำเสมอ และสร้างกลไกระดับชาติที่สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระเข้าตรวจเยี่ยมสถานกักกันและทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติและสภาพการควบคุมตัวต่อรัฐ


อัยการชี้ "เข้าเป็นภาคี" สะท้อนความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนประเทศ

กุลพล พลวัน อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จากการที่ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติทำให้ไทยมองสัญญาระหว่างประเทศทุกชนิดด้วยความหวาดระแวง กลัวว่าจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยของรัฐ เช่น การพิจารณาเข้าเป็นภาคี ICCPR ใช้เวลายาวนานเกือบ 10 ปี แต่จริงๆ แล้ว การเข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศเหล่านี้แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศเรื่องสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมเขตอำนาจภายในของรัฐ ปัจจุบัน ประเด็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ต่างชาติใช้อ้างความชอบธรรมในการก้าวล่วงเขตอำนาจภายในของรัฐได้ และยังก้าวหน้าถึงขั้นให้สิทธิบุคคลในการร้องเรียนรัฐต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น คดีในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

อัยการอาวุโส ระบุว่า สนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้น การเข้าเป็นสมาชิกในทางกฎหมายทำได้ไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมักเป็นคนจน คนด้อยโอกาส ไม่มีเงิน ไม่มีทนาย แต่การร้องเรียนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และที่สำคัญต้องใช้กระบวนการศาลภายในประเทศให้ครบเสียก่อน เช่น ในไทยมีศาลปกครองที่ตัดสินคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว หรือ ศูนย์ดำรงราชานุภาพก็สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ ดังนั้น ปัญหาหลักของรัฐ คือ ศักยภาพในการปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาฯ

กรณี OP-ICCPR No.1 อุปสรรค คือ กระบวนการเยียวยาภายในประเทศเองใช้เวลายาวนานมากและมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ร้องเรียนอาจไม่มีศักยภาพมากพอที่จะร้องเรียนในระดับนานาชาติ รัฐที่ถูกร้องเรียนต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 6 เดือน แต่รัฐภาคีสามารถบอกยกเลิกการเป็นสมาชิกเมื่อไหร่ก็ได้

กรณี OP-ICCPR No.2 เป็นรูปธรรมที่สามารถแก้กฎหมายได้ง่าย เช่น การห้ามลงโทษประหารเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็แก้ที่มาตรา 18 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 32 เองกลับยอมรับการลงโทษประหารโดยศาลว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องแก้กฎหมายภายในประเทศ ตามกฎหมายไทยสำหรับบุคคลที่ได้รับการยกเว้นโทษประหารมีสามกลุ่ม คือ (1) เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี (2) หญิงมีครรภ์ ให้เลี้ยงดูลูกได้จนลูกอายุครบ 3 ปีแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ถ้าลูกเสียชีวิตก่อนหน้านั้นให้นำตัวไปประหารได้ (3) บุคคลวิกลจริต ให้รักษาจนกว่าจะหายภายใน 1 ปี ถ้าไม่หายให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ในระบบยุติธรรมของไทยแม้ได้รับโทษประหารก็สามารถยื่นฎีกาขออภัยโทษได้และมักได้รับการเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

กรณี OP-CAT พันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามที่สำคัญ ได้แก่ (1) การให้คณะกรรมการอนุสัญญา CAT เข้าเยี่ยมสถานกักกันเพื่อป้องกันการทรมาน (2) สำคัญที่สุดคือ การพัฒนากลไกระดับชาติที่มีหน้าที่ตรวจสอบและตรวจเยี่ยมสถานกักกัน และเป็นหน่วยงานอิสระ หน่วยงานที่อยู่ในข่าย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ในไทยมีคณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรมที่ตรวจเยี่ยมเรือนจำทั่วประเทศอยู่ เดิมห้องขังในโรงพักเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการซ้อมทรมาน แต่ปัจจุบันเรือนจำกลับมีความเสี่ยงเพิ่มมากกว่า (3) รัฐสมาชิกต้องอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานหรือองค์กรที่มาตรวจสอบสถานกักกัน (4) แต่งตั้งอนุกรรมการภายในประเทศเพื่อตรวจตราป้องกันการทรมาน

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ทั้งหมดนี้มีความท้าทาย คือ งบประมาณสนับสนุนในการทำกิจกรรมข้างต้น โดยมาตรา 26 ของสัญญาได้ระบุไว้ให้จัดตั้งกองทุนรับบริจาคจากสมาชิกเพื่อสนับสนุนรัฐภาคีในการดำเนินการ ข้อเสนอต่อรัฐ คือ ให้ใช้อำนาจสั่งการสนับสนุนผ่านระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสร้างกลไกดังกล่าว แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่าการรับรอง OP-CAT มีอุปสรรคมากกว่าเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่าเรื่องการยกเลิกโทษประหาร

พิทยา จินาวัฒน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า จากการที่เคยทำงานในทั้งสองฝ่ายความคิด คือ ฝ่ายปราบปรามยาเสพติด (อดีต คือ รองเลขาธิการ ปปส.) และปัจจุบัน คือ ฝ่ายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เรื่องยาเสพติดและโทษประหารมีการถกเถียงกันเรื่อยมา ล่าสุด คือ รัฐบาลขอระดมความเห็นเรื่องการย่นระยะเวลาการประหารให้เร็วขึ้นภายใน 15 วันสำหรับนักโทษคดียาเสพติดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิต แต่กระทรวงยุติธรรมคัดค้านเรื่องดังกล่าว การพิจารณากฎหมายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ซึ่งการตัดสินใจแต่ละครั้งต้องมีข้อมูลประกอบจากทีมวิชาการของพรรค เสียงที่นักการเมืองฟังและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ คือ (1) เสียงประชาชนทั่วไป กระแสสังคม (2) นักวิชาการ (3) ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และสื่อมวลชน ในการพัฒนามาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศบางครั้งก็ต้องอาศัยแรงจูงใจจากภายนอกประเทศ ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐมองเป็นการแทรกแซง แต่อยากให้มองเป็นการยกระดับคุณภาพงาน การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี พัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน จะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม เช่น การใส่โซ่ตรวนนักโทษ ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้ในการติดตามตัวนักโทษและป้องกันการหลบหนีได้ดีกว่าโซ่ตรวน


ช่วงรับฟังความคิดเห็น


แนะระวังวาระซ่อนเร้นทางกฎหมาย

ผู้แทนจากสำนักอัยการสูงสุด ชี้แจงว่าอาจจะต้องระวังวาระซ่อนเร้นทางกฎหมายที่ประเทศมหาอำนาจเช่น สหรัฐฯ ที่ต้องการจะผลักดันกฎหมายบางเรื่อง เช่น การสร้าง Universal Jurisdiction (เขตอำนาจรัฐตามหลักสากล) ให้คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงภายใต้ศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่วนการยกเลิกโทษประหารนั้นแกนนำสำคัญจริงๆ คือ ประเทศในยุโรป ซึ่งมีหลักศาสนาคริสต์ที่เคร่งครัดว่าห้ามทำลายชีวิต การนำมาใช้ในประเทศไทยต้องพิจารณาอีกครั้งว่ามีผลได้ผลเสียอย่างไร


เสนอศึกษามุมกลับ ผลยกเลิกโทษประหารต่อจำนวนอาชญากรรม

ผู้แทนจากกรมพระธรรมนูญ เสนอว่าควรมีการศึกษาวิจัยในมุมกลับด้วยว่าการยกเลิกโทษประหารทำให้จำนวนอาชญากรรมเพิ่มขึ้นหรือไม่ และหากจะเปลี่ยนโทษประหารเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ควรมีเงื่อนไขว่าต้องรับโทษอย่างน้อย 20-25 ปีก่อนที่จะสามารถพิจารณาลดหย่อนโทษได้ นอกจากนี้ มองว่าโทษประหารยังเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต่างชาติมักจะอ้างว่าไทยยังใช้โทษประหารชีวิตดังนั้นจะไม่ส่งตัวผู้ต้องสงสัยให้ดำเนินคดีในศาลไทย อย่างไรก็ตาม ต่อบทบาทและขอบเขตหน้าที่ของกาชาดสากล หรือ ICRC ที่เดิมมีอำนาจในการตรวจเยี่ยมค่ายเชลยศึกระหว่างสงคราม แต่การตรวจเยี่ยมสถานกักกันในกรณีที่เป็นความขัดแย้งภายในประเทศรัฐสามารถปฏิเสธคำขอได้ และไม่แน่ใจว่า ICRC มีอำนาจที่จะตรวจตราคุกทั่วไปด้วยหรือไม่


ถาม “ทำไมเราต้องฆ่าคนเพื่อพิสูจน์ว่าการฆ่าเป็นสิ่งที่ผิด”

ผู้แทนจากสำนักบัณฑิตสตรีฯ ตั้งคำถามสำหรับทุกคนว่า “ทำไมเราต้องฆ่าคนเพื่อพิสูจน์ว่าการฆ่าเป็นสิ่งที่ผิด” พร้อมเสนอแนะว่ารัฐสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกควบคู่ไปกับการจำคุก เพื่อทำให้คนทำผิดสำนึก กลับตัว และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ที่สำคัญ คือ ควรระลึกไว้เสมอว่าแม้นักโทษจะอยู่ในคุกแต่เขาก็ยังเป็นคนไทย ควรได้รับการปกป้องดูแลตามกฎหมายเช่นกัน

ผู้แทนจากกรมพินิจและคุ้มครองเยาวชนฯ เสนอว่า การพิจารณาต้องรับฟังความรู้สึกของเหยื่ออาชญากรรมและการชดเชยที่เหมาะสมให้กับครอบครัวเหยื่อด้วย และใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อเตรียมผู้กระทำผิดให้พร้อมกลับเข้าสู่ชุมชนและเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพอีกครั้ง

ผู้แทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวย้ำถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรมที่อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับโทษประหารซึ่งไม่อาจย้อนผลการลงโทษได้ และการสร้างความทุกข์ครั้งใหม่ให้กับครอบครัวของผู้ถูกประหาร ผู้ที่ถูกลงโทษประหารโดยเฉพาะคดียาเสพติดมักเป็นเพียงคนขนยา เป็นปลาเล็กปลาน้อย ไม่ใช่ผู้สั่งการใหญ่

ผู้แทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้แจงว่า เมื่อ 35 ปีที่แล้วที่แอมเนสตี้ฯ เริ่มทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหาร มีเพียง 20 ประเทศที่ยกเลิก แต่ปัจจุบันมีถึง 141 ประเทศ จาก 198 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหาร จุดมุ่งหมายของการลงโทษน่าจะเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้กระทำผิดเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพกลับสู่สังคมอีกครั้ง มากกว่าการทำลายชีวิต เพราะผู้กระทำผิดเหล่านี้เป็นผลผลิตของสังคมนั้นๆ อาจเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ เป็นผู้ด้อยโอกาส ไม่ได้รับการศึกษา การใช้โทษประหารเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นตอ คือ โครงสร้างสังคมที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติดต่างๆ เป็นต้น การลงโทษประหารจึงไม่ใช้ทางออกที่ยั่งยืนในการลดยาเสพติดหรือป้องกันอาชญากรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net