โวหารและความเห็นต่างกฎหมายหมิ่นฯ (2): อภิปรายโดยแอนดรูว์ มาร์แชลและ ส.ศิวรักษ์

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 19.00 น. ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา มีการจัดงานเสวนา "Rhetoric and Dissent: Where to next for Thailand's lese majeste law?" (วาทกรรมและความเห็นต่าง: อนาคตของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับประเทศไทย) มีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษามหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเดอะ เนชั่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนและนักเขียน แอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตนักข่าวอาวุโสรอยเตอร์และผู้เขียนหนังสือ Thai Story: a Secret History of 21st Century Siam ดำเนินรายการโดยผู้สื่อข่าวอิสระ ลิซ่า การ์ดเนอร์

โดยในตอนแรก ประชาไทได้นำเสนอการอภิปรายของประวิตร โรจนพฤกษ์ และเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และในส่วนที่สอง เป็นการอภิปรายของแอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและปัญญาชนไทย

การอภิปรายโดยแอนดรูว์ มาร์แชลผ่านวิดีโอลิ้ง

แอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล ผู้เขียนหนังสือ "Thai Story" และอดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสรอยเตอร์ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ปฏิเสธการจัดงานนี้ และชี้ว่า สื่อต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะผลักดันการถกเถียงเรื่องการเมืองที่สำคัญๆ ในประเทศไทยด้วยการรายงานความจริง แต่ส่วนใหญ่ กลับเลือกที่จะ "รายงานแบบพอเพียง" เท่านั้น 

ในฐานะที่ตนเป็นนักข่าวรอยเตอร์มากว่า 17 ปีที่รายงานในภาวะสงคราม แอนดรูว์ระบุว่า เป็นหน้าที่ของนักข่าวที่จะรายงานความจริง เพราะหากผู้คนได้รับรู้เรื่องการเมือง ผู้นำและประวัติศาสตร์ของเขามากขึ้นเท่าไร ประชาชนก็จะสามารถตัดสินใจอนาคตของตนเองได้รอบด้านมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อแอนดรูว์สามารถเข้าถึงโทรเลขสถานทูตสหรัฐเกี่ยวกับประเทศไทยจากวิกิลีกส์ จึงไม่ลังเลที่จะรายงานออกมา 

"ผมรู้ดีว่ามันจะทำให้ผมเป็นอาชญากร และรู้ว่าผมจำเป็นต้องลาออกจากงาน แต่สำหรับนักข่าว เราจำเป็นต้องรายงานความจริง เราไม่สามารถแกล้งทำเป็นว่า คุณไม่รู้อะไรบางอย่าง และจะเดินหนีจากไปเฉยๆ ไม่ได้" เขากล่าว "คุณต้องพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้บอกเล่าความจริง และนั่นก็คือสิ่งที่ผมทำ"

แอนดรูว์มองว่า วิกฤติการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้การรายงานข่าวไม่อาจเป็นไปได้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว มันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และกองทัพในสังคมไทย รวมถึงการสืบสันตติวงศ์ และด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้การถกเถียงเรื่องนี้ เป็นไปอย่างยากลำบาก 

เขากล่าวถึงสถานการณ์แบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาเมื่อทศวรรษ 1980 ว่า ในทุกๆ คืนที่สำนักข่าวบีบีซีรายงานข่าว จะมีการแจ้งข้อความปฏิเสธการรับผิดชอบ (discliamer) ตอนท้ายของรายงาน โดยระบุว่า รายงานนี้ถูกทำขึ้นภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขของกฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ซึ่งเขามองว่า วิธีนี้มีพลังมาก เนื่องจากมันกำลังบอกประชาชนว่า พวกเขาไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ เพราะรัฐบาลนั้นพยายามจะปิดกั้น 

"ผมคิดว่าอย่างน้อย นักข่าวควรจะยึดมั่นในการซื่อตรงเรื่องนี้" แอนดรูว์กล่าว

"ถ้าเราไม่สามารถพูดความจริงเพราะกฎหมาย เราควรจะบอกผู้อ่านและผู้ฟังของเราให้ได้ทราบ... ชนชั้นนำไทยมีความสัมพันธ์ที่แปลกๆ กับความคิดเห็นของต่างชาติ ในแง่หนึ่ง พวกเขาก็โหยหาการยอมรับจากต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็สั่งแบนคนต่างชาติเหล่านั้นด้วย" 

"คนไทยกำลังเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ถึงแม้ว่าเขาอาจจะยังไม่สามารถถกเถียงเรื่องอนาคตของพวกเขาได้อย่างเต็มที่และเปิดเผย และนั่นก็เป็นวิธีที่เราจะจัดการรับมือกับวิกฤติ ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง แต่ด้วยการถกเถียงที่เสรีและเปิดเผยต่างหาก" อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ระบุ

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า ตนกำลังเขียนรีวิวหนังสือ "Bhumibol Adulyadej: a Life's Work" ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีอานันท์ ปันยารชุนเป็นที่ปรึกษาบรรณาธิการ โดยตั้งใจจะให้งานรีวิวชิ้นนี้ "เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ทางเลือกของประเทศไทย"

การอภิปรายโดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์

ในขณะที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนและนักเขียนไทย กล่าวว่า การขึ้นมามีอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไทย เพิ่งเริ่มขึ้นในสมัยพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ที่ขึ้นมามีอำนาจในปี 2500 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และที่จริงแล้ว การพูดความจริงและการวิพากษ์วิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะจากสื่อมวลชนที่ต้องมีความกล้าหาญในการพูดความจริง 

เขาเสนอว่า เพื่อจะให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอด สถาบันต้องแยกให้เป็นอิสระจากสถาบันทหารและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มักทำการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน ถ้าสามารถทำได้เช่นนี้ สถาบันก็จะมีอำนาจน้อยลง และเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ โดยอยู่ในสถานะเป็นเอกในหมู่ที่เท่าเทียมกัน (First among Equals)

 ทั้งนี้ ลิซ่า การ์ดเนอร์ นักข่าวอิสระและผู้ประสานการจัดงาน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้พยายามจัดงานอภิปรายดังกล่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่ภายหลังได้รับการปฏิเสธ โดยทางสมาคมให้เหตุผลว่าเกิดเหตุขัดข้อง จึงได้ย้ายสถานที่มาที่เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมาแทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท