Skip to main content
sharethis

8 ก.ค.55  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลุ่ม ‘ประกายไฟการละคร’ ได้จัดกิจกรรมแถลงชี้แจงเหตุยุติการทำกิจกรรมของกลุ่ม (อ่านได้ที่นี่...คลิก) โดยในการแถลงครั้งนี้ยังได้มีเสวนา ‘คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย เพียงคำ ประดับความ กวีเสื้อแดง, ประกิต กอบกิจวัฒนา แอดมินเพจ ‘อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป’ และนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องวงไฟเย็น และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีของวงไฟเย็น

สำหรับการเสวนา ‘คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม’ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานเลี้ยงของคุณของกลุ่มประกายไฟการละคร มีประเด็นการอภิปรายที่น่าสนใจดังนี้

 


 

ประกิต กอบกิจวัฒนา
แอดมินเพจ ‘อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป’

"ประเทศอะไรจะเชลล์ตลอดเวลา ฆ่ากันตายก็ยังจะเซลล์อีก สำนึกของความเป็นมนุษย์มันไม่มีเลย"

สิ่งที่กระทบผมมากๆ จนทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาทำจริงๆคือวันที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพฯมาทำเรื่อง Big Cleaning Day ทั้งๆที่พึ่งฆ่ากันตายเมื่อ 2 วันก่อน แล้วมาทำอีเว้นท์ (Event) Big Cleaning Day จะ Sale(ขาย)อีกแล้วหรือ ประเทศอะไรจะ Sale(ขาย)ตลอดเวลา ฆ่ากันตายก็ยังจะ Sale(ขาย)อีก สำนึกของความเป็นมนุษย์มันไม่มีเลย

คิดได้ดังนั้นเลยเอารองเท้าคู่หนึ่งของเมียมา เรารู้สึกว่า Big Cleaning Day มันทำให้ชีวิตคนไม่มีคุณค่า การมองคนไม่มีค่าแบบนี้คิดว่าจะกลบเกลื่อนเรื่องแบบนี้ได้ อีเดียดเท่าที่ตนเคนเจอมา เลยหยิบรองเท้าเมียมาคู่หนึ่งเริ่มเขียนทุกอย่างลงไปในรองเท้า อันหนึ่ง “มันไม่มีอะไรแพงไปกว่าชีวิตคนไทยหรอก” ต่อจากนั้นเอาถุงช๊อปปิ้งของเมียมาบ้างที่เป็นสัญญาลักษณ์ของคนเมืองดัดจริตนี่ คือคนกรุงเทพเป็นคนดัดจริตที่สุด ตลอด 6 ปีมานี้แสดงทุกวันให้เรารู้สึกแบบนั้น

เปิดพื้นที่ใหม่ให้คนได้มาคริททิเคิล
ที่ทำให้เพจพอมันมีคนชอบก็มีคนแชร์ มันเป็นการเปิดกลุ่มใหม่ เปิดพื้นที่ใหม่ให้คนได้มาคริททิเคิล(วิพากษ์)บนงานของเรา พอทำไปสักพักหนึ่ง คือทำงานทุกวัน 3-4 ชิ้นต่อวัน เป็นประเด็นในเชิงของสังคมแทบทั้งนั้นเลยคือ ไม่ใช่แค่ด่าเรื่องฆ่ากันตายเฉยๆ ประเด็นเริ่มข้ามไปหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องบริโภค งานมันจึงมีจำนวนมหาศาลขึ้น ตนจึงแยกสิ่งที่อยู่ในตัวปกติไปตั้งเป็นเพจ พอตั้งเพจด้วยคอนเซปต์อยู่เมืองดัดจริต และ ‘ชีวิตต้องป๊อป’

เมืองไทย เป็นสังคมที่ทำซ้ำ
‘ชีวิตต้องป๊อป’ นี่เอามาจากลัทธิทางศิลปะคือเรื่อง Pop Art ซึ่งเป็นแนวคิดอันหนึ่งที่เติบโตมากๆในอเมริกา เป็นศิลปะที่ให้แนวคิดที่สอดเสียดแลตั้งคำถามกับสังคมมากมาย เป็นรูปแบบที่ทั้งฉีกและแหกกฎ ศิลปินคนสำคัญ เช่น แอนดี วอร์ฮอล ก็จะทำ ทำภาพกระป๋องอาหารสำเร็จรูป และจะทำซ้ำๆ เป็นร้อยๆชิ้น เขาบอกว่าสังคอเมริกันเป็นสังคมบริโภค คือเป็นสังคมที่ทำซ้ำ การกระทำซ้ำก็จะทำตั้งแต่กระป๋องเป็นดาราซ้ำเป็นร้อยๆ เช่น มาริลีน มอลโล ก็จะถูกทำซ้ำๆ คิดว่าแนวคิดอย่างนี้มันเหมือนกับเมืองไทย อย่างงานชิ้นถัดมาของตนก็เป็นปากที่แลบลิ้น เหมือนโรลลิ่งสโตน ก็เขียนลงไปในปากทำวาทะ รีพีท (repeat) เช่น ‘ผมจะไม่มีวันปฏิวัติ’ ‘ผมจะเป็นคนดี’ เป็นคำพูดที่พูดซ้ำๆ รีพีท และไม่แคยทำได้ สิ่งเหล่านี้คิดว่ามันไปกระทบใจของคนรุ่นใหม่

ทำให้เขาเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น
หลังจากทำเพจออกไปก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีก็มีเสียงด่าบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายเท่าที่คิด และได้ศึกษาและสำรวจเพจตัวเองด้วยและพยายามอ่านกลุ่มที่มาคริททิเคิลกันบนเพจ พบว่าสลิ่มเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เป็นสลิ่มที่ไม่ใช่พวกวันๆด่า แต่เขาจะมาคริททิเคิลในมุมของเขา เสื้อแดงหลายๆคนที่เป็นแฟนเพจตนก็คริททิเคิลแบบมีเหตุผล มันเป็นพื้นที่ใหม่ที่ทำให้มีคนหลากสีเข้ามาคริท'ทิเคิลและเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้มันอาจทำให้เขาเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น และในเพจอันนี้มันเป็นเพจของคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดที่ทำเพจก็เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ กระตุ้นให้คนคิด ไม่ว่าสิ่งที่คิดจะผิดหรือถูก แต่คุณต้องคิด คิดว่าการที่สังคมไม่มีเรื่องของความคิดนี่ คิดว่าเป็นสังคมที่อันตรายและเป็นสังคมที่ไม่สามารถคริททิเคิลได้ทั้งในมุมของเขาหรือเรามันอันตราย

ศิลปินก็เหมือนประชาชนในสังคมทั่วไปที่ต้องรู้ร้อนรู้หนาวสังคมและมีผลกระทบกับสังคม คิดว่าศิลปินหรือศิลปะมันไม่มีทางขาลอยออกไปจากสภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่ตนทำอยู่มันก็ควรสะท้อนในมุมนี้ออกไป

บรรยากาศของการกดมันมาจากรากของครอบครัว มันมาจากรากของศาสนา
ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาโครงสร้างของอำนาจ เป็นปัญหาจากพลังที่ไม่ได้เกิดมาเฉยๆโดยธรรมชาติ แต่มีการจงใจให้เกิด มีการครอบความคิดมาตั้งแต่ระดับอนุบาลสิ่งเหล่านี้มันดีไซน์โครงสร้างของการศึกษามาให้เป็นแบบนี้ วัฒนธรรมการกลัวการแสดงความคิดเห็นเราถูกครอบมาตั้งแต่เด็ก เช่น อย่าพูดสิเป็นเด็กอย่าพูด ในยุคสมัยหนึ่งเราจะเจอแบบนี้

บรรยากาศของการกดมันมาจากรากของครอบครัว มันมาจากรากของศาสนา สิ่งเหล่านี้มันต่างจากสังคมในยุโรป สังคมในยุโรปเองการวิวาทะทางปัญญามันเกิดขึ้นเป็นพันๆปี แต่เรามาจากวัฒนธรรมหมอบคลาน วันที่เราประกาศเลิกทาส คิดว่าคนยังงงว่าทำไมต้องยืนตรง หมอบก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ มันก็ใช้เวลาในการพัฒนาอยู่ คิดว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน

ศิลปะมันไปรับใช้ทุกชนชั้น แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมันก็เกิดขึ้นด้วยคนกลุ่มเล็กๆ เสมอ
ศิลปะมันไปรับใช้ทุกชนชั้นในยุโรปก็เป็น ถ้าเราไปดูงานศิลปะในยุโรปก็คลายกับศิลปะไทย ที่เขียนเชิดชูเยซูก็อลังการ แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมันก็เกิดขึ้นด้วยคนกลุ่มเล็กๆเสมอ คิดว่าคนที่ทำงานศิลปะเป็นคนที่เปิดประตูบานใหม่ๆให้กับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเสมอ

วัฒนธรรมของทหารที่เข้ามามีบทบาทในศิลปวัฒนธรรมนานอย่างเนียนๆ
วัฒนธรรมของทหารที่เข้ามามีบทบาทในศิลปวัฒนธรรมอันนี้เขาทำมานานแล้วตั้งแต่หลวงวิจิตวาทการ อย่างตนปีหนึ่งต้องดูละครหลายรอบมาก เช่น ขุนศึก เป็นต้น อยากตั้งข้อสังเกตว่าละครที่นายทหารหล่อๆจะได้กับผู้หญิงยากจน คิดว่าเป็นวัฒนธรรมที่เขาผ่านมาอย่างเนียนๆ ให้คุณไม่รู้ว่านี่กำลังครอบคุณอยู่ มันทำให้คนไทยเคลิ้ม อันนี้เป็นการใช้อำนาจทางศิลปวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจ เขาใช้ในหลายรูปแบบ

วัฒนธรรมการเล่าเรื่องแบบฮอลลีวูด Hollywood)
รัฐไทยใช้อำนาจผ่านศิลปวัฒนธรรมบ่อยไม่ว่าจะเรื่องหนังรักชาติก็ดี ไม่ว่าจะเรื่องของการสร้าง Evil (ปีศาจ) สักตัวแล้วให้พระเอกคนนี้ไปปราบ นี่คิดหลักสูตรพวก CIA เป็นวัฒนธรรมการเล่าเรื่องแบบฮอลลีวูด(Hollywood) ต้องมีฮีโร่ ต้องมี Evil ชัดเจนแน่นอน ถ้าเรามาย้อนดูเหตุการณ์ พ.ค.53 การสร้างฮีโร่ ทหาร ทหารที่เป็นโฆษกแต่ละคนจะหล่อ คือเขาจะมีภาพที่แต่ละอันเขามีนัยที่จะต่อสู้ในเชิงชิงพื้นที่ และหลังๆทหารจะทำหนังโฆษณาเยอะมาก เขาเปิดแนวรบ ทหารยุคนี้เก่งกว่าทหารยุคก่อน คือใช้สื่อสารมวลชนเป็น มีวิธีการใช้การสื่อสารมวลชนอย่างแยบคาย และวันนี้ช่อง 3, 5, 7, 9 ไทยพีบีเอส ที่บอกว่าฟรี(อิสระ) ไม่ฟรีจริง คิดว่าถูกครอบมาแต่แรกอยู่แล้ว

การส่งผ่านงานศิลปวัฒนธรรมต่างๆคิดว่ามีการสอดแทรกเรื่องการปกครอง ว่าจะเรื่องของสถาบันนิยม หรืออะไรต่างๆ คิดว่าก็แทรกมาตลอด อย่างล่าสุดน่าจะเป็น ธรณีนี่นี้ใครครอง เรื่องนี้เมื่อก่อนตนก็เฉยๆ จนวันหนึ่งขับรถและเปิดทีวีดู ณเดชน์(พระเอก)กับ ญาญ่า(นางเอก)ก็เถียงกันทำให้นึกถึงตอนเด็กที่เคยดู ที่มายุคเดียวกับยุคเพลงหนักแผ่นดิน มันเป็นการส่งผ่าน และการสร้างใหม่ของหนังมันมีวิธีการของมัน

ขบวนศิลปวัฒนธรรมมีความหลากหลายเป็นเรื่องดี ถ้าเราต้องการต่อสู้ในเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยคิดว่าใช้อาวุธเดียวไม่พอ ต้องมีอาวุธทางวัฒนธรรมที่หลากหลายรูปแบบมากกว่านี้และสามารถช่วงชิงพื้นที่ทางปัญญาได้ในหลายๆพื้นที่ คิดว่าวันนี้เสื้อแดงได้มวลชนไปในระดับหนึ่ง เพียงแต่จะยกระดับการต่อสู้ให้ขึ้นไปสู่ในพื้นที่ของความคิด ถ้าจะไปตรงนั้นได้มันต้องไปด้วยศิลปวัฒนธรรมและไปด้วยหลักคิดที่มีความคม

เรายังต่างคนต่างทำเกินไป ต้องมีกลยุทธ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเราทำกันเองดูกันเอง
วันนี้สิ่งที่เรายกระดับไปไม่ได้ เรายังต่างคนต่างทำเกินไป ทางฝ่ายเผด็จการต้องยอมรับเขาเรื่องหนึ่งเขาครบเครื่องกว่า ทั้งเงิน ทั้งความรู้ ทั้งสื่อที่อยู่ในมือ ทหารมียุทธศาสตร์ มีการวางแผน เรื่องของ strategic เรื่องของกลยุทธ์ต้องการทำลายความชอบธรรมเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร ต้องการสร้างความเชื่อถือเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้เรายังไม่ถูกยกไปสู่สิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำมันเลยเป็นการกระจัดกระจาย บางเรื่องก็สนุก บางเรื่องก็สะใจดี แต่ว่าผลสุดท้ายแล้วเราต้องการให้วัตถุประสงค์บรรลุเรื่องอะไร คิดว่าเรื่องนี้ทหารเก่งกว่า

เรื่องการยกระดับต่อสู้ความคิดเราต้องมีกลยุทธ เราจะทำเรื่องนี้เพื่อสื่อสารไปให้ใคร ต้องการให้เป้าหมายนี้เข้าใจภารกิจว่าอะไร คิดว่าเรื่องนี้เราไม่ถูกคิดไม่ถูกพูดถึง ถ้าเราคิดเรื่องนี้เมื่อไหร่เราจะรู้ว่าสื่อจะต้องปอยู่ที่ไหน คิดว่ามันจะมาเป็นขั้นตอนของการคิด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเราทำกันเองดูกันเอง แล้วเราก็ไม่ได้ขยายฐานมวลชนหรือขยายความคิดของกลุ่มเสื้อแดงให้ออกไปในวงกว้าง และลบล้างทัศนะบางอย่างที่เขามีต่อเรา หลายๆอันนี้เราไม่ได้สร้าง ศิลปวัฒนธรรมของเราบางเรื่องเลยกลายเป็นการตอบโต้เสียเป็นส่วนใหญ่ เรายังไม่ได้ข้ามถึงขนาดจะเกณฑ์เข้ามาเป็นพวกอย่างไร จะล้างทัศนะที่เขามีต่อเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายเราให้เราทำ ไม่เช่นนั้นการต่อสู้ของเสื้อแดงจะเป็นเพียงการกดดันเชิงมวลชนเฉยๆ

 

เพียงคำ ประดับความ
กวีเสื้อแดง
"บทกวีที่สวยหรูถ้ามันไม่ได้รับใช้ประชาชนแล้วมันจะมีคุณค้าหรือสะท้อนอะไร"

คิดว่าแนวรบศิลปวัฒนธรรมช่วงที่ผ่านมาอยากเป็นกวีราชสำนักกันเกินไปจนไม่ออกมาทำหน้าที่ ตนเองเดินไปในที่ชุมนุมของเสื้อแดงปี 53 เห็นชาวบ้านเขียนบทกวีด้วยตัวเอง เขียนใส่แผ่นป้ายกันมาถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ผิดฉันทลักษณ์บ้าง ใช้คำไม่สวยบ้าง ซึ่งถ้าเป็นกวีใหญ่ๆมาดูก็บอกว่าชาวบ้านเขียนไม่ผ่าน แต่ว่าบทกวีที่สวยหรูของคุณถ้ามันไม่ได้รับใช้ประชาชนแล้วมันจะมีคุณค้าหรือสะท้อนอะไร เป็นความอึดอัดใจของตนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของเสื้อแดง แนวรบศิลปวัฒนธรรมก็น่าจะพูดได้ว่าดีขึ้น แต่ว่าถ้าเข้าสู่สนามรบ คนที่มีพื้นที่หน้ากระดาษ คนที่พูดแล้วเสียงดัง ช่วยออกมาพูด อย่าให้เป็นอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาล้มปราบปี 53 คุณอาจจะออกคำสั่งทหารไม่ได้แต่ช่วยกันออกมาพูดว่าการฆ่าคนกลางเมืองมันไม่ใช่เรื่องปกติ สังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมที่แข็งมาก และการต่อสู้กับสังคมอนุรักษ์นิยมที่แข็งมากนี้ คิดว่ามันเป็นภาระอันหนักอึ้งของคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม

การแย่งชิงกันระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย
ปัญหาตอนนี้คือการแย่งชิงกันระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย พันธมิตรต่อสู้เพื่อดึงประเทศไปสู่สังคมแบบอนุรักษ์นิยม พอใจในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เสื้อแดงยื้อยุดฉุดกระชากกันอยู่เพื่อไปสู่ประชาธิปไตย หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นต้นมาเรายังไม่มีประชาธิปไตย ในความไม่เป็นประชาธิปไตยนี้เขาครอบงำเราอยู่ทั้งทางกฎหมาย กติกาต่างๆในสังคมที่เขากำหนดขึ้นให้เราปฏิวัติตาม แล้วเราก็ยังถูกครอบด้วยโครงสร้างของวัฒนธรรมที่เชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม และโครงสร้างสังคมแบบอนุรักษ์นิยม ในสื่อทุกสื่อที่เราเห็นได้ถูกครอบงำหมด นี่คือการครอบงำทางวัฒนธรรม

คนทำงานศิลปวัฒนธรรมที่พร้อมไปกับนิติราษฎร์และนักวิชาการต่างๆที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม
คณะนิติราษฎร์เสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอ 8 ข้อ(ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) แต่ว่าหน้าที่ของคนทำงานศิลปวัฒนธรรมที่พร้อมไปกับนิติราษฎร์และนักวิชาการต่างๆที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม คือสังคมเปลี่ยนแปลงได้วัฒนธรรมต้องเปลี่ยนแปลงได้ วัฒนธรรมที่ไม่เห็นหัวคน วัฒนธรรมที่ส่งเสริมความไม่เท่าเทียมวัฒนธรรมที่กดหัวคนไม่ให้เป็นคน เหล่านี้คือเป้าหมายที่เสื้อแดงต้องต่อสู้ไปพร้อมๆกัน

แนวรบศิลปวัฒนธรรมถ้าจะได้ดิบได้ดีก็ต้องอยู่กับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
แนวรบศิลปวัฒนธรรมถ้าจะมายืนกับฝ่ายประชาชนมันลำบากฉะนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรแนวรบศิลปวัฒนธรรมถ้าจะได้ดิบได้ดีก็ต้องอยู่กับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แนวรบศิลปวัฒนธรรมเสื้อแดงเป็นชาวบ้าน กวีก็เป็นชาวบ้าน เพราะว่ากวีแถวหน้าเขาเลือกที่จะไปต่อสู้ให้กับสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย

นิธิวัต วรรณศิริ
นักร้องวงไฟเย็น
"งานวัฒนธรรมพวกนี้มันเหมือนการ Save ข้อมูลของยุคสมัยนั้นๆ"

งานวัฒนธรรมของเวทีพันธมิตรเป็นงานที่ผลิตซ้ำ แล้วไม่ได้ถือเป็นแนวรบจริงๆจังๆ เหมือนหงา คาราวาน ก็เอาเพลงถังโถมโหมแรงไฟ อยู่บนเวทีพันธมิตร และในเวทีก็มีเพลงความฝันอันสูงสุดมันย้อนแย้งกันในทางการต่อสู้เหมือกัน แต่ว่าเขาได้เครดิตจากที่เขาสร้างมาแต่ยุคก่อน ซึ่งมองว่าเพลงและงานวัฒนธรรมพวกนี้มันเหมือนการ Save ข้อมูลของยุคสมัยนั้นๆเอาไว้ในบทเพลง ต่อให้เวลาเปลี่ยนไป แต่เนื้อหาเพลงมันก็จะเป็นช่วงยุค ณ วันที่เขียนเพลงนั้น อยากเพลง ฝนแรก (http://www.youtube.com/watch?v=4Qq3ZrUvYb8) ทางฝ่ายเหลืองก็จะไม่ร้องเพลงนี้ในตอนนี้เพราะมันตรงกับเหตุการณ์ของเสื้อแดง ซึ่งมันเกิดจากคนที่เป็นศิลปินในในอีกฝากอุดมการณ์เขาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนที่เดิม

งานวัฒนธรรมคือการทะลวงกรอบที่การพูดธรรมดาทำไม่ได้ และเป็นอิมแพ็คที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตซ้ำ
งานวัฒนธรรมอีกมุมหนึ่งมันคือการทะลวงกรอบที่การพูดธรรมดาทำไม่ได้ การที่เราเอาเนื้อหาใส่เป็นบทกวี บทกลอน บทเพลง ผลกระทบ(Impact)ต่อฝ่ายตรงข้าม คำพูดธรรมดาอาจได้ประมาณ 5 แต่เป็นกลอนมาไม่ต้องเพราะคุณได้ 10 คุณแต่งเป็นเพลงมาคุณได้ 20 มันเป็นอิมแพ็คที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตซ้ำ เช่น เพลง ผ่านไป 10 ปี 30 ปี ก็ถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆฝังเข้าไปในอุดมการณ์ของคนได้

งานศิลปวัฒนธรรมคิดว่าฝ่ายตรงข้ามกล้าเล่นงานน้อยกว่า และเป็นการสร้างเกราะให้ตัวเองด้วย ถ้าคุณมีผลงานเป็นที่รู้จักมันยากที่เขาจะเล่นงาน งานศิลปวัฒนธรรมมีความสำคัญในแง่ของการทะลวงเพดาล อย่างมาตรา 112 คิดว่าในชข่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามันถูกทะลวงขึ้นไปเยอะ จนกลายเป็นเรื่องปกติที่พูดกันได้

จุดอ่อนของศิลปันคือไส้แห้ง
ใจกลางของปัญหาคือการฟื้นอำนาจของระบอบกษัตริย์นิยมขึ้นมาใหม่ ซึ่งพวงมากับวัฒนธรรมต่างๆที่ระบอบกษัตริย์เคยสร้างไว้ก่อน เช่น พระราชพิธี ความศักดิ์สิทธิของเรื่องราวต่างๆ มาทุกรูปแบบ เขารุกเรามาเยอะด้วยอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทรงคุณภาพกว่า มีสื่อ มีฐานทรัพย์สิน มีคนที่มีหัวคิดเรื่องงานศิลปะที่ไปช่วย ซึ่งไม่น้อยที่แต่ก่อนเคยเป็นศตรูกับเขาเองฝ่ายนั้นก็ดึงไปเป็นพวกเขาได้ มีการสร้างรางวัลศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อมีเบี้ยให้ เขารู้ว่าจุดอ่อนของฝ่ายที่ต่อสู้กับเขาสมัยก่อนก็คือไส้แห้ง เลยดึงคนที่เคยสู้กับตัวเองไปเป็นพวกได้

คิดว่าอีกนานแนวรบของแต่ละฝั่งจะออกมาทิ่มแทงกันมากขึ้น หลังจากที่ หงา คาราวาน กับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ออกมาถือเป็นเกมส์รุกของฝ่ายเขา ตอนเกิดพันธมิตรจะมีการเปิดพวกนี้มาเป็นแนวรบแนวหน้าแล้วพวกการกระทำตามมาที่หลัง หลอมรวมใจขึ้นไปเรื่อยๆจนกระทั้งถึงจุดที่เขาต้องการกระทำ ฝ่ายเราต้องอัพเกรดตัวเองกัน และช่วยกันเผยแพร่ ช่วยกันให้งานศิลปวัฒนธรรมของเราเป็นสาธารณะมากขึ้น ดีใจที่หงาเขียนกวีออกมาแล้วใน facebook ผุดนักกวีออกมา ศิลปินขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย มีกลอนคนโน้นก็เขียนคนนั้นก็เขียน กลอนออกมาโต้น้าหงาเป็นร้อยกับกลอนบทเดียว

ต้องผ่าไปให้ถึงกระบวนสื่อของเสื้อแดงเองก่อน
ก่อนที่จะฝ่าไปถึงกำแพงของสื่อกระแสหลักหรือฟรีทีวีได้ ต้องบอกกว่าต้องผ่าไปให้ถึงกระบวนสื่อของเสื้อแดงเองก่อน อย่าง นปช.ให้ส่งสคริปนี่ สุดท้ายละครอย่างประกายไฟหรือคณะราษฎรที่ 2 เองก็ไม่มีโอกาสในสื่อเสื้อแดงเองไม่ได้ออก มองว่าตรงนี้ก็ถือเป้นวิกฤติอย่างหนึ่ง แนวรบวัฒนธรรมควรให้เขาเผยแพร่ให้เขาได้มีพื้นที่ มองว่าเรียกร้องกับฝ่ายเดียวกันก่อน ต้องวิพากษ์เรื่องสื่อ คิดว่าคนที่สร้างผลงานเขาสกรีนแล้วว่ามันออกสู่สาธารณะได้ โดยที่สื่อฝ่ายกลางก็สามารถนำเสนอต่อสาธารณะชนได้ แต่แค่ DNN หรือว่าเวที นปช. ไม่ให้นำเสนอแล้ว การต่อสู่ต่อไปจะก้าวหน้าขึ้นอย่างไรในเมื่อยังจำกัดแนวรบวัฒนธรรมของตนเองอยู่

 


คลืปเสวนา วิทยากรประกอบด้วย เพียงคำ ประดับความ กวีเสื้อแดง, และนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องวงไฟเย็น

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
คำถามถึงแนวรบศิลปวัฒนธรรม โดย  เพียงคำ ประดับความ 
‘หนูน้อยหมวกแดง’ พรุ่งนี้... จะทำอย่างไรต่อไป? 
เยาวชนอีสาน-3 จว.ชายแดนใต้ ร่วมรำลึกเหตุความรุนแรง 19 พ.ค. หน้าบ้าน ‘ส.ส.ภูมิใจไทย ขอนแก่น’
ประกายไฟการละครตอน ‘แม่-พิมพ์’ การตั้งคำถามต่อความรักของ ‘แม่ตัวเอง’
โทรข่มขู่กลุ่มประกายไฟ เลิก ‘ละครแขวนคอ’ อ้างนักศึกษาไม่พอใจ 
เวทีเล็ก ทวงสิทธิ 'นักโทษการเมือง'- ประกายไฟการละครสะท้อนปัญหาภายในเสื้อแดง
รายงานและสนทนา: ยุบ 'ประกายไฟการละคร'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net