Skip to main content
sharethis

“คณะทำงานภูเก็ตจัดการตนเอง” ประกาศเจตนารมณ์ร่วมเพื่อผลักดันภูเก็ตเป็นจังหวัดจัดการตนเอง-ตั้งสภาพลเมืองภูเก็ต เผยเส้นทางดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่ปี 2525 ด้าน “สปร.” เผยยินดีสนับสนุน แนะวางแผนให้เป็นระบบ-กำหนดเป้าหมายชัดเจน

 
นายชาญเวช โชติกิจสมบูรณ์ ตัวแทนคณะทำงานภูเก็ตจัดการตนเอง กล่าวสรุปถึงแนวทางในการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อยกร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสมัชชาปฏิรูประดับจังหวัดภาคใต้ จากการประชุม “การขับเคลื่อนสมัชชาปฏิรูประดับจังหวัดภาคใต้” ณ โรงแรมกรีนเวิล พาเลซ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ค.55 ว่า จากปัญหาและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต ทางคณะทำงานจึงมีเป้าหมายในการพัฒนา โดยประกาศเจตนารมณ์ร่วมเพื่อผลักดันภูเก็ตเป็นจังหวัดจัดการตนเองและจัดตั้งสภาพลเมืองภูเก็ต
 
นายชาญเวช กล่าวว่า จ.ภูเก็ต มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารเป็นลักษณะจัดการตนเองหลายครั้ง  โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2525 ในการร่วมกันเสนอญัตติเข้าสู่สภาฯ เรื่อง “ภูเก็ตกับการบริหารอิสระ” หลังจากนั้นในปี 2530 ได้มีการร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการนครภูเก็ต โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ และนายถวิล ไพรสณฑ์ จนนำไปสู่การสัมมนาเรื่องรูปแบบการปกครองภูเก็ตที่ควรจะเป็นในอนาคตโดยโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับ สภา จ.ภูเก็ต หอการค้า จ.ภูเก็ต เทศบาลเมืองภูเก็ต เมื่อวันเสาร์ที่ 3 เม.ย.2536 ที่เสนอให้เป็นภูเก็ตมหานคร
 
ต่อมาในปี 2540 ผศ.วุฒิสาร ตันไชย หัวหน้าคณะทำงานฯ ได้เก็บรวบรวมความคิดเห็นและความต้องการของท้องถิ่น โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำคณะทำงานเดินทางมาภูเก็ต มาหาข้อมูลและความคิดเห็นของชาวภูเก็ตในสมัยนายพงศ์พโยม วาศภูติ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วงรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ มีการเสวนา "บทบาทผู้ว่า ซี อี โอ กับชาวภูเก็ต" เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2544 จนมาถึงแนวคิดของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ที่เสนอให้ภูเก็ตมีคณะกรรมการจังหวัดภูเก็ต 15 คน
 
นายชาญเวช กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่ผ่านมาพบว่า จ.ภูเก็ต ยังมีการพัฒนาอย่างไร้ทิศทางส่งผลให้ยากต่อการควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม รวมไปถึงปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และขาดประสิทธิภาพในการจัดการ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เคร่งครัด ภาคประชาชนมีส่วนร่วมน้อย
 
“วิธีการที่ทางคณะทำงานคิดไว้คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภูเก็ตให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ปรับกระบวนการคิดสนับสนุนให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ ปลูกฝังความสำนึกรักในพื้นที่บ้านเกิด สร้างภาคีและแลกเปลี่ยนความรู้ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือต่างๆ ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และกิจกรรมที่สนับสนุนให้มีพฤติกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีคุณภาพทางธุรกิจ มีภาวะความเป็นผู้นำ โดยมองไว้ว่าในอนาคตอาจจะตั้งคนในพื้นที่เป็นผู้ว่าฯ อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะต่างๆ ยังคงเป็นเพียงแนวทาง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอย่างมากในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง" ตัวแทนคณะทำงานภูเก็ตจัดการตนเองกล่าว
 
นายชาญเวช กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต ได้ดำเนินการขับเคลื่อนขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเอง อาทิ การมีสื่อกลางเพื่อเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ไปยังประชาชน เพื่อสร้างองค์ความรู้และทำความเข้าใจ การสร้างกระแสให้กับชาวภูเก็ตเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการตกผลึกเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงจัดทำเอกสารแจกใบปลิวให้ความรู้การทำประชาพิจารณ์ การจัดประชุมหารือทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน การจัดเวทีย่อยโดยรวบรวมความเห็นจากผู้บริหารท้องถิ่น มีเวทีใหญ่ 3 - 6 เดือนต่อครั้ง เป็นต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี
 
“สิ่งที่มุ่งหวังจากนี้คือ ต้องการความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลในด้านของวิธีการ เช่น พัฒนาคนอย่างไร สร้างองค์ความรู้อย่างไร การจัดการด้านงบประมาณ รวมถึงภาคีความร่วมมือต่างๆ ซึ่งในอนาคตหากได้รับการสนับสนุน ปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขได้อย่างไม่เต็มที่และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งปัญหาเก่าที่พัฒนาเป็นปัญหาซับซ้อน ก็จะค่อยๆ ลดลงจากเมืองภูเก็ตอย่างแน่นอน” นายชาญเวช กล่าว
 
ด้าน นางวณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป (สปร.) กล่าวว่า สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับ “จังหวัดจัดการตนเอง” ที่หลายคนมองว่าเป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนนั้น ทาง สปร.ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า การคืนอำนาจสู่ประชาชน เพื่อจัดการกับปัญหาของตนเอง และส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
 
“สปร. ได้มองไว้ว่าจังหวัดจัดการตนเองในภาคเหนือคือ เชียงใหม่ ภาคอีสานคือ อำนาจเจริญ และจะยินดีสนับสนุนอย่างยิ่งหากภาคใต้จะมีจังหวัดจัดการตนเองเป็น จ.ภูเก็ต เพียงแต่ต้องการเห็นการวางแผนที่เป็นระบบ และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทาง สปร.ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุน และผลักดันให้เกิดการพัฒนาจนนำไปสู่การปฏิรูป ยินดีจะส่งเสริมความคาดหวังของชาวภูเก็ตให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่” รองผู้อำนวยการ สปร.กล่าว
 
สำหรับข้อเสนอแนะ นางวณีกล่าวว่า สิ่งสำคัญของยุทธศาสตร์ คือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคนในชุมชน ฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งแต่แทนที่จะใช้การชวนเข้าร่วมโดยตรง ควรจะเลี่ยงเป็นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจจนกว่าประชาชนจะเกิดความตระหนัก ยอมรับและเห็นด้วย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net