Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สำรวจกระบวนการหาเสียงและการได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้งในระดับหมู่บ้าน เงิน คำสัญญา การสาบาน หัวคะแนน เครือญาติ 

ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันผู้คนสนใจข่าวสารการเมืองแค่ไหน จากความเห็นผู้เขียนแล้วการเมืองของคนทั่วไปนั้นมักมองการเมืองผ่านการเมืองระดับชาติเป็นส่วนมาก หลายคนมักกล่าวอย่างเอือมระอาเสมอว่า การเมืองเป็นเรื่องน้ำเน่า มีแต่ผู้ที่เข้าไปหาผลประโยชน์เท่านั้นที่ลงสนามการเมือง และนั่นก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เพราะอันที่จริงหากเราเข้าใจถึงหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง การตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนมันก็เป็นสิ่งป้องปรามการกระทำที่ไม่ถูกหลักการของเหล่าบรรดานักการเมืองได้

การมองการเมืองในปัจจุบัน ผู้คนมักจะมองกันด้วยภาพมากกว่าการได้สัมผัสด้วยตัวเอง โดยหากจะยกซักตัวอย่างนั้นก็พอมีให้เห็นอยู่และทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า เอาเข้าจริงแล้วตกลงผู้คนส่วนใหญ่มองการเมืองผ่านความจริงหรือความรู้สึกกันแน่ มีอยู่หนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญที่ผู้เขียนได้เห็นในเฟสบุ๊คของนักเขียนท่านหนึ่ง เขากล่าวว่า “วันหนึ่งเข้าได้ออกต่างจังหวัดไปในพื้นที่ชุมชนนอกเมือง มีเด็กบอกว่า นี่เป็นบ้านของ ส.ส. เขาใจดีมากเลย มีปัญหาอะไรชาวบ้านก็เข้ามาพบได้ตลอด ชาวบ้านทุกคนต่างก็พึ่งพาอาศัยได้ ” จากการได้ยินคำพูดของเด็กคนนี้ ทำให้มุมมองที่มีต่อนักการเมืองของนักเขียนผู้นั้นเปลี่ยนไป เอาเข้าจริงแล้วการเป็นนักการเมืองนั้นมีอะไรที่ต้องทำมากกว่าการใช้เงินอีกมากนัก

หากจะกล่าวถึงการมองการเมืองแล้ว ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหลักการของ Giovanni Sartori เกี่ยวกับหลักคิดเรื่อง HOMO VIDENS หลักคิดนี้กล่าวถึงการเข้ามาของสื่อโทรภาพที่ทำให้เรื่องต่างๆที่อยู่รอบตัวนั้นจำกัดกรอบอยู่แค่สิ่งที่เรามองเห็นในสื่อเท่านั้น สิ่งที่เราเห็นก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่เขาต้องการให้เราเห็นเท่านั้น ดังนั้น หลักการนี้ทำให้มนุษย์เองขาดการสื่อสารแบบสองทาง ขาดการปรึกษาหารือ จนทำให้การตัดสินใจต่างๆนั้นขึ้นกับสิ่งที่เขาอยากให้เราเห็นเท่านั้น และแน่นอนว่าสิ่งที่เลวร้ายตามมาหากมีนักการเมืองหรือใครก็ตามที่คุมสื่อหรือเป็นเจ้าของสื่อแล้วล่ะก็ ไม่ต้องบอกนะครับว่าจะเป็นอย่างไร

จากประสบการผู้เขียน อันที่จริงหากผู้ใดมีโอกาสได้เข้าไปศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคใด ผู้เขียนเชื่อว่ามุมมองที่มีต่อนักการเมืองของผู้นั้นจะต้องดีขึ้นเป็นแน่เมื่อได้เห็นกระบวนการทำงานของเขาเหล่านั้น แน่นอนว่าบางคนอาจย้อนมาว่า ก็มันหวังผลทางการเมืองก็เลยทำเช่นนั้น แต่มันจะแปลกอะไรเล่า ในเมื่อทุกวันนี้เราทำงานก็หวังผลตอบแทนเช่นเดียวกับนักการเมืองเหล่านั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการทำงานของศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่เช้าจะเห็นได้ว่ามีพี่น้อง ประชาชน ทั่วไปจากทั่วหัวระแหงเดินทางมาของความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษาเป็นจำนวนมากตั้งแต่เช้าจรดเย็น เห็นแล้วก็อดนึกสวนทางกับมุมมองที่ต่อการเมืองโดยทั่วไปเช่นกัน ว่าจริงๆแล้วพวกเขาก็มีข้อที่น่าชื่นชมเช่นกันไม่มากก็น้อย แต่หากมองอีกแง่การกระทำแบบนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ตกลงแล้วในสังคมนี้ภาครัฐไม่ได้เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านตาดำๆหรืออย่างไรจึงหันมาพึ่งบารมีจากนักการเมือง

อีกเรื่องที่อยากนำมาเสนอต่อผู้ที่อ่านบทความชิ้นนี้ก็คือ ประชาธิปไตยระดับหมู่บ้าน ในปัจจุบัน ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกับประชาธิปไตยระดับเล็กอยู่มากในช่วงนี้ การเมืองระดับเล็กปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนผันไปอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน

หลายคนอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนักกับการเมืองระดับเล็กเช่นนี้ แต่ภายใต้ความรู้สึกของผู้เขียนนั้นมันค่อนข้างน่าสนใจอยู่มากเลยทีเดียว มูลเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านความสำคัญและการต่อสู้นั้นค่อนข้างที่จะรุนแรงขึ้นมากในปัจจุบัน นั่นก็คือ การเกษียณอายุเมืองครบหกสิบปี และบวกกับเงินเดือนอีกเกือบหนึ่งหมื่นบาท ยิ่งผู้สมัครใดมีอายุน้อยก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะลงทุนเพื่อเข้าไปสู่อำนาจ จากเดิมตำแหน่งนี้ไม่ได้มีการต่อสู้แย่งชิงกันมากเท่าใดนัก แต่ตอนนี้หากผู้ใดมีโอกาสได้สัมผัสแล้วจะพบว่ามีการหาเสียงกันไม่ต่างจากการเมืองระดับใหญ่ อาทิเช่น ทั้งรถหาเสียง แผ่นป้ายขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ซึ่งไม่ต่างจริงๆจากการเลือกตั้งระดับใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้ว เป็นต้น

ระบบการทำงานของผู้ลงเลือกตั้งนั้น ก็มีลักษณะทั่วไปดังเช่นการเมืองใหญ่จากการสังเกตของผู้เขียนสามารถสรุปกระบวนการคร่าวๆ ได้ว่า

อันดับแรก การปูพื้นก่อนมีการเลือกตั้ง ผู้ที่คิดจะลงสมัครนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วมักมุ่งหาผู้ที่เป็นคนสนับสนุนโดยทั่วไปก็จะเป็นสายของนักการเมืองระดับที่ใหญ่กว่าในท้องถิ่น อาทิ กำนัน นายกเทศมตรี นายก อบต. นายก อบจ. หรือบ้างครั้งอาจจะเป็น ส.ส. เลยก็เป็นได้ หากกล่าวถึงสาเหตุก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสร้างบารมีให้กับตัวเองอย่างหนึ่งว่ามีใครคอยสนับสนุน อีกอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องทุน ในที่นี้กล่าวได้อีกว่า ไม่มีอะไรได้มีฟรีๆการต่างตอบแทนกันระว่างการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องทำในอนาคต

ประการต่อมา การหาเสียงนั้นก็ใช้ระบบหัวคะแนนเช่นทั่วไป แต่ด้วยพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก การทำงานของหัวคะแนนนั้นต้องหวังผลได้มากที่สุด เพราะเมื่อคนในชุมชนมีจำนวนน้อยทุกคะแนนก็มีค่าเสมอ โดยทั่วไปแล้วหมู่บ้านหนึ่งก็น่าจะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณสองร้อยคนบวกลบ ดังนั้น งานของหัวคะแนนต้องมีความแน่นอนว่าตัวเองต้องกุมเสียงได้เท่าใด

ประการต่อมา การหาเสียงก็มีหลายวิธีที่จะทำให้ได้คะแนนมาก โดยวิธีที่ต้องใช้เป็นสิ่งแรกนั่นก็คือ การกระทำผ่านระบบเครือญาติโดยการสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในที่นี้ผู้สมัครจะเล็งถึงกลุ่มเครือญาติก่อน หากผู้ใดมีเครือญาติมากก็จะทำการเสนอตำแหน่งพ่วงให้หากเลือกเขา ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีทีเดียวเพราะสายสัมพันธ์ของคนต่างจังหวัดแล้วก็ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าเรื่องเครือญาติ แต่ก็ใช่ว่าไม่มีอะไรมาล้มล้างเรื่องเครือญาติไปได้ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะเสนอในลำดับถัดไป

เมื่อใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกฝ่ายก็จะเช็คคะแนนเสียงของตัวเองผ่านทางหัวคะแนน ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่มีความรอบคอบเป็นอย่างมากในการคิดคำนวณ หากบางพื้นที่ที่มีการแข็งขันกันไม่สูงก็ไม่มีความจำเป็นมากนักที่จะใช้วิธีการที่พิสดารอะไร อาศัยหัวคะแนน เครือญาติ และการเข้าถึง ก็สามารถที่จะเอาชนะได้ไม่ยากนัก

แต่หากเป็นพื้นที่ที่มีการแข็งขันกันอย่างมากล่ะก็ คงต้องมีวิธีการที่ดีกว่าที่จะเอาชนะกัน ในที่นี้ก็คือ การใช้เงินในการดึงคะแนนเสียง ในที่นี้ขอย้ำว่านี่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะเป็นลักษณะนี้บางพื้นที่ซึ่งส่วนมากแล้วก็ถือว่าไม่ได้มีอะไรทีต้องใช้เงิน

สำหรับชุมชนที่ผู้เขียนไปสังเกตการณ์นั้นมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงพอสมควร เมื่อถึงวันใกล้การเลือกตั้งเมื่อดูคะแนนเสียงแล้วเห็นว่าเป็นรองหรืออาจไม่แน่ใจเงินก็จะเป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้งขึ้นมาทันที จากการลงพื้นที่นั้นจำนวนเงินที่ใช้แบ่งเป็นสอง ลักษณะ คือ เงินที่ใช้ให้เป็นค่าเดินทางสำหรับผู้ที่มาจากต่างจังหวัดหรือนอกพื้นที่ เงินที่ใช้ให้เลือกหรือเงินที่มีจากการซื้อเลียงนั่นเอง

สำหรับเงินที่จ่ายเพื่อการเดินทางนั้น ก็จะคิดตามความใกล้ไกลเป็นหลักซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งเพราะหากจะให้มาเลือกแล้วต้อง เสียเวลา เสียเงินทอง ก็ไม่มาดีกว่า แต่อย่างที่บอกว่าเมื่อหมู่บ้านมีขนาดเล็กคะแนนทุกคะแนนจึงสำคัญที่ผู้สมัครทุกคนต้องยอมที่จะจ่ายให้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เขาเหล่านั้น

เงินเพื่อให้เลือก ก็จะใช้จำนวนที่ต่างกันไป หากผู้ที่เป็นญาติสนิทก็ไม่จำเป็น แต่หากว่าไม่ใช่ก็ต้องมีการให้เป็นสินน้ำใจไม่มากก็น้อย โดยจากการลงพื้นที่เงินที่ใช้อยู่ระหว่างหนึ่งพันถึงห้าพันบาทต่อคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีท้ายครัวนั้นยิ่งจะต้องจ่ายหนักมากกว่าธรรมดาและอาจจะต้องใช้วิธีจ่ายเหมายกครัวในการนี้

ส่วนอีกเงื่อนไขที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นวิธีที่ไม่ค่อยเห็นกันมากนักและก็ไม่คิดว่าจะได้เห็น นั่นก็คือ การสาบานว่าจะเลือก การใช้หลักความเชื่อนี้ในต่างจังหวัดยังใช้ได้ดีเลย การให้เงินก็มีไปพร้อมๆ กับการให้ดื่มน้ำสาบาน หากรับเงินไปแล้วไม่เลือกก็ขอให้มีอันเป็นไป แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องที่น่าตลก แต่สำหรับชุมชนในต่างจังหวัดแล้วไม่มีใครกล้าขัดมันได้ และจากการสังเกต ฝ่ายที่ใช้วิธีนี้สามารถหวังผลและคาดคะเนคะแนนเสียงที่ได้ค่อนข้างที่จะแม่นยำมาก

จากที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้รวมถึงวิธีการต่อสู้ทั่วไปที่ใช้กัน เช่น ใส่ร้ายป้ายสี การเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม การเข้าเคาะประตูบ้าน เป็นต้น ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นสิ่งทั่วไปอยู่แล้วที่ต้องใช้ แต่สิ่งที่บ่งบอกถึงความอันตรายสำหรับการเมืองระดับหมู่บ้านนี้ นั่นก็คือ การแบ่งข้างกันอย่างชัดเจนภายหลังการเลือกตั้ง สิ่งนี้เกิดจากการที่ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายในเกมการเมือง การหักหลังกันระหว่างญาติพี่น้อง สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสำพันธ์ที่มีต่อกันในชุมชนลักษณะเกื้อกูลกันค่อยๆลดลงไป จากที่เคยทักทายกันเมื่อเจอหน้ากันปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ผู้เขียนเลยเกิดคำถามในใจว่า เอาเข้าจริงการเมืองระดับเล็กซึ่งเป็นหัวใจและรากฐานของประชาธิปไตย แม้ว่าจะทำให้คนในชุมชนเรียนรู้รูปแบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นแบบตัวแทนอย่างถึงแก่น แต่มันก็น่าคิดว่าแล้ว เอกลักษณ์ วัฒนธรรมของชุมชน กลับถูกทำลายไปด้วยการเมืองเช่นกัน ความเอื้อเฟื้อต่อกันก็ถูกทำลายไปกับสิ่งเหล่านี้ ตกลงแล้วความสำคัญมันอยู่ตรงที่ การเรียนรู้ประชาธิปไตย หรือ การรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม อันไหนสำคัญกว่ากัน ในที่นี้ผู้เขียนมิได้ต้องการคำตอบอะไรแต่สิ่งที่หวังเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า การปรับตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อระบบเดินทางมาได้ในระดับหนึ่งประชาชนในท้องถิ่นควรเรียนรู้สิ่งที่ได้จากการเมืองให้เร็วที่สุด

เมื่อการเมืองสร้างความขัดแย้งขึ้นในชุมชน การอยู่ร่วมกันก็อาจมีปัญหาได้ สังคมที่คุณพึงปรารถนา สังคมที่คุณเกื้อกูลกัน สังคมที่คุณแลกเปลี่ยนกัน ช่วยเหลือกัน เอาแรงกันตามงานบุญงานหลวง มันจะค่อยๆหายไป หากคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญอะไรก็ไม่ต้องทำอะไร แต่หากคิดว่ามันสำคัญแล้วควรสร้างจิตสำนึกทางการเมืองภายในชุมชนให้ได้ เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองจบก็ควรจบเรื่องทุกอย่างด้วยเช่นกันเพราะหากกล่าวแบบง่ายๆภายใต้สังคมใหญ่ของเราก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าเอาเข้าจริงเมื่อขัดแย้งกันสังคมโดยรวมนั่นแหละที่สูญเสีย (ดูอย่างเรื่องการซ้อมแผนระบายน้ำ) คราวนี้เมื่อความขัดแย้งถึงตัวระดับชุมชนแล้วละก็เหนื่อยมากกว่าเดิมแน่สังคมไทย

         

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net