Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจมากที่จะมีการกล่าวถึง “การปฏิวัติจำต้องรุนแรง” ในบทความ “การปฏิวัติจำต้องรุนแรงหรือ? วิพากษ์ลัทธิปฏิวัติปีกซ้ายไร้เดียงสา” ของ ดร.เกษียร เตชะพีระ ในโลกยุคปัจจุบัน ที่เป็นโลกขั้วเดียวภายใต้ระบบทุนนิยมที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ นับตั้งแต่โลกสังคมนิยมล่มสลาย ความสำเร็จในการปฏิวัติด้วยความรุนแรงของฝ่ายประชาชนเกือบจะไม่มี แม้กระทั่งกรณีเนปาล การโค่นระบบกษัตริย์เนปาลก็ไม่ได้เป็นผลงานของพรรคเหมาอิสต์เนปาล

การเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของฮูโก ชาเวต แห่งเวเนซูเอลา ผู้นำแนวทางสังคมนิยมรัฐสภาก็ไม่ได้เป็นภัยคุกคามกับระบบทุนนิยม เพียงแบ่งปันความมั่งคั่งโดยไม่ได้แตะต้องการขูดรีดของระบบทุนนิยม ชาเวตทำเพียงแค่โอนการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นรัฐก็ถูกชนชั้นกลางในประเทศต่อต้าน สังคมนิยมทุกวันจึงเป็นเพียงขอพื้นที่เล็กๆ ในระบบทุนนิยมเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงการปฏิวัติในอดีตแล้วต้องเข้าใจว่า การปฏิวัติมีเป้าหมายในการสร้างสังคมใหม่ ความสัมพันธ์ทางการผลิตใหม่ขึ้น จึงต้องมุ่งทำลายกลไกรัฐเก่าเพราะเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการควบคุมประชาชน ด้วยการทำให้ศิโรราบผ่านการครอบงำทางอุดมการณ์ ใช้ความรุนแรงผ่านกองทัพ กฎหมาย ตุลาการ เพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัวและยอมสยบ ก่อนการเปลี่ยนแปลงนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การขจัดความหวาดกลัวของประชาชนภายใต้รัฐนั้นให้หมดไป

ในรัสเซีย การปฏิวัติกุมภาพันธ์ 1917 เริ่มต้นด้วยการเรียกร้องอย่างสันติเพื่อยุติสงคราม ซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามจนมีคนล้มตายมากมาย แต่ในที่สุด ซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ แล้วคาเรนสกี้จากเมนเชวิกได้ขึ้นสู่อำนาจ ก่อนหน้านี้ในปี 1905 ซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ใช้ทหารปราบปรามประชาชนที่มาเรียกร้องให้ยุติสงครามกับญี่ปุ่น และปรับสภาพการทำงานของกรรม จนมีคนตายจำนวนมากมายเช่นกัน ในการปฏิวัติตุลาคม 1917 ของพรรคบอลเชวิค ที่ใช้กองกำลังติดอาวุธเข้ายึดอำนาจ จากคาเรนสกี้ กลับมีการหลั่งเลือดน้อยกว่าการปฏิวัติ 1905 และการปฏิวัติกุมภาพันธ์ 1917

ในจีน การจัดตั้งกองทัพปลดปล่อยของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ในปี พ.ศ. 2470 ฝ่ายเจียงไคเช็คได้กำลังปราบปรามกรรมกรและมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการประเมินว่าการสังหารอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้ มีคนตายไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ขณะเดียวกัน การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธนี้ทำให้สามารถระดมคนสนับสนุนได้มากขึ้นอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่ชัยชนะเหนือกองทัพก๊กมิ่นตั๋งและเจียงไคเช็คอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งยุติลง กองกำลังนี้นอกจากจะใช้การตอบโต้กับฝ่ายตรงข้าม แต่สิ่งสำคัญคือได้สร้างความเชื่อมั่นและขจัดความหวาดกลัวของผู้สนับสนุน

ในอิหร่าน การปฏิวัติปี 1979 เริ่มจากความไม่พอใจของประชาชนต่อค่าครองสูงชีพจากความมั่งคั่งของราคาน้ำมันแพงในปี 1975 ผู้ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันแพงคือ ตระกูลของกษัตริย์ชาห์ ปาลวี มีการประเมินว่าตระกูลมีสินทรัพย์ประมาณ 20, 000 ล้านเหรียญ (มูลค่าปัจจุบันประมาณ 2 ล้านล้านบาท) เมื่อการประท้วงของประชาชนมากขึ้น รัฐบาลกษัตริย์ชาห์ ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น การประท้วงของนักศึกษาที่เมือง Qom มีการสังหารนักศึกษาและผู้นำศาสนาหลายพันคน รัฐบาลกษัตริย์ชาห์ได้ใช้ตำรวจลับ และทหารตามสังหารฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

การประท้วงในอิหร่านได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงเหตุไฟไหม้โรงภาพยนตร์ Cinema Rex ในเมืองอบาดาน มีคนตาย 400 คน พร้อมกับข่าวลือว่า รัฐบาลกษัตริย์ชาห์ อยู่เบื้องหลัง ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านผ่านการสวดมนต์ในมัสยิดทุกวันศุกร์ทั่วประเทศ จนกระทั่งวันที่ 10 และ 11 ธันวาคม 1978 ประชาชน 6 ถึง 8 ล้านออกมาชุมนุมทั่วประเทศ เมื่อกษัตริย์ชาห์ สั่งให้ทหารออกมาปราบปรามการชุมนุม แต่ไม่มีกระสุนออกมาจากฝ่ายทหาร ในที่สุด กษัตริย์ชาห์ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ การปฏิวัติอิหร่านจึงเป็นการปฏิวัติอย่างสันติ แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดขึ้น ประชาชนที่ต่อสู้อย่างสันติได้ตายไปเป็นจำนวนมากมาย จนทำให้ทุกคนไม่พอใจระบบปกครองของกษัตริย์ชาห์

ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การยึดอำนาจ แต่อยู่ที่การรักษาอำนาจหลังการปฏิวัติ แม้กระทั่งในการปฏิวัติอิหร่าน ฝ่ายโคไมนี่ ได้อาศัยช่วงสงครามกับอิรัก กวาดล้างฝ่ายอื่น เช่น พรรคคอมมิวนิสต์อิหร่าน ผู้สนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์ถูกสังหารประมาณ 30,000 คน ผู้นำศาสนา อยาโตเลาะคาเซม ชาเรียมาดาริ (Kazem Shariatmadari) ถูกควบคุม ผู้สนับสนุนในเมือง ทาบริซ (Tabriz) ถูกโคไมนี่ ส่งรถถังและทหารเข้ากวาดล้าง แต่คาเซม สั่งกองกำลังทหารตัวเองวางอาวุธ เพราะไม่ต้องการรบกันเอง นักการเมืองเสรีนิยมหลายคนต้องหนีจากประเทศ ในที่สุดการปฏิวัติอย่างสันติ ก็นองเลือด

การล่มสลายรัฐสังคมนิยมได้โยนความผิดให้กับสตาลิน แน่นอนความผิดพลาดมีทั้งแนวทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ที่กำหนดมาจากชนชั้นนำ ในทางเศรษฐกิจอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง การวางแผนเศรษฐกิจไม่ได้คำนึงกลไกตลาดในฐานะที่กลไกตลาดเป็นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่กำหนดมาจากความหวังดีของชนชั้นนำ และการจัดสรรทรัพยากรของสังคมตามความหวังดีของพวกเขาในขยายพื้นที่และรักษารัฐสังคมนิยมด้วยการทำสงครามตลอดกาล แต่ทำให้ประชาชนอดยาก ในทางการเมืองชนชั้นนำสังคมนิยมอีกนั่นแหละเป็นกำหนดความถูกต้อง ผู้เห็นต่างคือศัตรูของรัฐ และสมควรถูกกำจัด จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับประชาชนหลายสิบล้านคนได้อุทิศชีวิตให้กับสังคมนิยม เมื่อสังคมนิยมที่พวกเขาปรารถนาได้กลายเป็นรัฐทรราชย์

ย้อนกลับมาที่ ฮูโก้ ชาเวต ในตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของเขาเต็มไปด้วยยากลำบากจากการต่อต้านของชนชั้นกลางจำนวนมาก เขาได้โอนกิจการน้ำมันมาเป็นของรัฐ และจัดสรรทรัพยากรให้กับคนจนมากขึ้น ความลำบากของเขาถึงขั้นถูกรัฐประหาร แต่การรอดพ้นไม่แน่ว่าเป็นเพราะประชาชนสนับสนุนเขาอย่างล้นหลาม เพราะคนพาเขาออกมาก็นายทหารที่สนับสนุนเขา

เพื่อนร่วมแนวทางของเขา เช่น อีวา โมลาเลส แห่งโบลิเวีย เผชิญการต่อต้านจากชนชั้นกลางเช่นเดียวกัน แต่ที่เลวร้ายกว่าคือ มานูเอล เซลายา แห่งฮอนดูรัส ประธานาธิบดีผู้ได้รับการนิยมชนชั้นล่าง แต่ถูกต่อต้านจากชนชั้นกลางและกองทัพ ก็ถูกรัฐประหาร ถึงจะมีการชุมนุมต่อต้านของผู้สนับสนุนเซลายา แต่เพียงพอในการเอาชนะกระบอกปืนของกองทัพฮอนดูรัส

นโยบายการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของ ชาเวต และแนวคิดสังคมนิยมแบบเขา ไม่สามารถเกิดได้เมื่อ 40 ปี ในปี 1970 พรรคสังคมนิยมของ ซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ ชนะเลือกตั้ง และเขาได้กิจการเหมืองแร่ทองแดงเป็นของรัฐ ชะตากรรมของคือ การรัฐประหารนองเลือด นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคโลกสองขั้ว ซึ่งตรงวลีของ จอร์จ บุช ในการประกาศสงครามอิรัก “ใครที่ไม่อยู่กับเรา (สหรัฐและทุนนิยม) เป็นศัตรูของเรา” คนที่เป็นกลางจริงๆ อย่าง ฆวน เปรอง ก็ถูกรัฐประหารโค่นล้ม

ภายหลัง โลกทุนนิยมเอาชนะเหนือโลกสังคมนิยม ตั้งแต่การพังทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1979 สหรัฐและพรรคพวกจึงยินยอมให้แนวคิดอื่นๆ เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่คู่ต่อสู้อีกแล้ว สังคมนิยมที่มีอยู่จึงเป็นแค่การต่อรองขออยู่ในซอกหลืบของทุนนิยมเท่านั้น

การยกตัวอย่างเสื้อแดงกับชัยชนะในเลือกตั้งปี 2554 กับการเคลื่อนไหวชุมนุมในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2553 ที่นำไปสู่การใช้กองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ถ้าพิจารณาการเรียกร้องในการชุมนุมเป็นเพียง “ยุบสภา” เท่านั้น การเคลื่อนไหวไม่ควรนำไปสู่การสูญเสียแม้แต่น้อย

แต่ระบบปกครอง “อำมาตย์” ที่ครอบงำประเทศไม่เคยคิดวางมือจากอำนาจ ถ้ามีการท้าทาย พวกเขาก็พร้อมจะใช้ทุกวิธีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ถ้าจะใช้สันติวิธีแบบอิหร่านในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะเป็นไปได้แค่ไหน ในขณะที่ประเทศไทยมีสถานการณ์เหมือนกับเวเนซูเอลาและลาตินอเมริกา เมื่อชนชั้นล่าง (ไพร่และเสื้อแดง) มีความขัดแย้งกับชนชั้นนำ (อำมาตย์) และชนชั้นกลาง (สลิ่ม) โอกาสที่จะเรียกร้องให้ชนชั้นกลางมาเข้าร่วมกับเสื้อแดงคงจะไม่ง่ายนัก การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติแบบอิหร่านคงจะไม่ได้อยู่ใกล้

การเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยรักษาอำนาจด้วยการไม่แตะต้องกองทัพ ไม่เผชิญหน้ากับอำมาตย์ ไม่รักษาหลักการประชาธิปไตย ถอยทุกครั้งเมื่อพบการต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเป็นขอแค่ซอกเล็กๆให้อาศัยเหมือนที่ชาเวตและเพื่อนสังคมนิยมในลาตินอเมริกาพยายามทำตามแบบที่ฟูโกเสนอให้ขอพื้นที่เล็กๆ พออยู่ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบ แล้วสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำในขณะนี้จะเพียงพอหรือในการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net