Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

“ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น” (Marx and Engels 1978, 473) คาร์ล มาร์กซ์และฟรีดริช เองเกลส์ได้กล่าวเอาไว้ในหน้าแรกของ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปีคศ. 1848) อย่างที่ทราบกันดี ชนชั้นที่ว่านี้ คือ ชนชั้นผู้กดขี่และชนชั้นผู้ถูกกดขี่ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างนายทาสและทาส ศักดินาเจ้าที่ดินและไพร่ จวบจนปัจจุบัน ในยุคทุนนิยม มันคือยุคสมัยแห่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกระฎุมพีและชนชั้นแรงงานกรรมาชีพ โดยฝ่ายแรกคือ ชนชั้นผู้ครองปัจจัยการผลิต และฝ่ายหลังคือผู้ที่ถูกพรากปัจจัยการผลิตจนไม่มีอะไรจะขายนอกไปเสียจากแรงงานของเขา จากข้อเขียนข้างต้น เราอาจตั้งคำถามง่ายๆได้ว่า ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นของมาร์กซ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การกดขี่ทางชนชั้นและการกดขี่ทางเพศเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และสอดคล้องหรือขัดแย้งซึ่งกันและกัน?

บ่อยครั้งเรามักคุ้นเคยกับความตึงเครียดไม่ลงรอยกันระหว่างนักมาร์กซิสต์และนักสตรีนิยม (ดู Hartman 1979) กล่าวแบบหยาบๆ ก็คือ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นร่วมกันว่าโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ทั้งสองสำนักกลับเห็นต่างกันไปในประเด็นเรื่องต้นตอของปัญหา ในขณะที่ฝ่ายแรกให้ความสำคัญกับการโจมตีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ฝ่ายหลังกลับเน้นการวิพากษ์ระบอบชายเป็นใหญ่ บทความชิ้นนี้ไม่ได้ประสงค์จะวิเคราะห์เจาะลึกสายธารทางความคิดวิพากษ์ของมาร์กซิสม์และเฟมินิสม์ เนื่องในโอกาสครบสองร้อยปีชาตกาลของคาร์ล มาร์กซ์ ผู้เขียนเพียงอยากจะพาผู้อ่านไปสำรวจงานเขียนของมาร์กซ์(และเองเกลส์)โดยนำมาเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องเพศสภาพและผู้หญิง โดยหวังว่าบทความจะช่วยให้เราเห็นมาร์กซ์ในมิติใหม่ๆ และเข้าใจความคิดของเขามากขึ้นไม่มากก็น้อย

ใน “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” มาร์กซ์และเองเกลส์ได้ทำการวิพากษ์ครอบครัวของชนชั้นกระฎุมพีโดยนำไปเชื่อมโยงกับการกดขี่มนุษย์เพศหญิง ดังที่นักคิดทั้งสองได้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ครอบครัวเดี่ยวแบบกระฎุมพีที่มีพ่อ แม่ ลูกนั้นคือรูปแบบสถาบันทางสังคมที่เอื้อต่อการสะสมทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุนนิยม ในทัศนะของทั้งสอง สตรีในฐานะภรรยานั้นเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการผลิต (Marx and Engels 1978, 488) กล่าวง่ายๆ ก็คือ “มดลูก” ก็ถูกนับว่าเป็น “ปัจจัยการผลิต”อย่างหนึ่งด้วย (ดู แล ดิลกวิทยรัตน์ 2524; เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2560, 117-161) กระนั้น แถลงการณ์ฯก็ไม่ได้อธิบายลงรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกดขี่ทางชนชั้นและการกดขี่ทางเพศ


เองเกลส์: “เขา[สามี]คือกระฎุมพีและภรรยาคือกรรมาชีพ”

อาจกล่าวได้ว่า จุดยืนของมาร์กซ์เกี่ยวกับสตรีนั้นไม่ชัดเจนเท่ากับเองเกลส์ ในงานเขียนของเองเกลส์ที่ชื่อว่า “The Origin of Family, Private Property and the State” (ต้นกำเนิดครอบครัว, ทรัพย์สินส่วนบุคคล, และรัฐ) (Engels 2010) (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1884)เขาได้อธิบายว่า รุ่งอรุณแห่งอารยธรรมมักเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการถ่ายโอนสิทธิและอำนาจเหนือบุตรจากมารดาผู้ให้กำเนิดไปยังบิดา ในแง่นี้ กำเนิดของสังคมอารยะแท้ที่จริงคือจุดเริ่มต้นของระบอบชายเป็นใหญ่ที่กดขี่ ดังที่เองเกลส์ได้วิเคราะห์เอาไว้ ณ ช่วงเวลาที่สำคัญนี้เอง จู่ๆ ก็ปรากฏว่า “ผู้ชายก็ขึ้นเป็นผู้ออกคำสั่งในบ้าน ส่วนผู้หญิงก็ถูกลดสถานะให้เป็นเพียงคนใช้ เป็นเครื่องมือในการผลิตลูก” (Engels 2010, 85) นอกจากนี้ เองเกลส์ยังได้ชี้ให้เห็นว่า รูปแบบครอบครัวผัวเดียวเมียเดียวที่เราคุ้นเคยกันและอาจจะทึกทักว่ามีมาแต่ไหนแต่ไร ที่แท้แล้วก็ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเมื่อไม่นานมานี้เอง ในขณะที่ ผู้ชายต้องออกไปขายแรงงานและเผชิญกับการกดขี่ขูดรีดข้างนอกบ้าน รูปแบบครอบครัวสมัยใหม่จำกัดให้ผู้หญิงเป็นแรงงานทำงานบ้านและเลี้ยงดูบุตรภายในครัวเรือน ในครอบครัวที่ได้ชื่อว่าเป็นครอบครัวสมัยใหม่ได้มีการซ่อนระบบทาสเพศหญิงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเมีย แม่บ้าน หรือคนใช้ ในทัศนะของเองเกลส์ การขูดรีดในโลกแห่งการทำงานและในโลกภายในครัวเรือนมีลักษณะสอดคล้องกัน ในครอบครัว เขาผู้ซึ่งเป็นสามี “คือกระฎุมพีและภรรยาคือกรรมชีพ” (Engels 2010, 105) งานภายในครัวเรือนมักถูกมองว่าไม่มีมูลค่าทางการผลิต ไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน แทนที่จะเรียกว่างาน มันกลับถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของเมีย แม่ หรือลูกสาวที่ดี พูดง่ายๆ ก็คือ การขูดรีดในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ด้านหนึ่ง มีกลุ่มชนชั้นแรงงานกรรมาชีพที่ต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับค่าจ้างที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีกลุ่มแรงงานกรรมาชีพที่ใช้แรงงานโดยไม่ได้รับแม้กระทั่งค่าตอบแทน สังคมทุนนิยมวางอยู่บนการกดขี่ขูดรีดทั้งสองรูปแบบ มนุษย์คนงานซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเพศชายไม่สามารถที่จะตื่นขึ้นมาพร้อมสรรพกำลังที่จะออกจากบ้านไปหาเงินได้หากปราศจากอาหารที่เมียหรือแม่ของเขาเตรียมไว้ให้ เสื้อผ้าที่ซักรีด และที่ซุกหัวนอนที่อยู่ในสภาพ
สะอาดเรียบร้อย

หนังสือว่าด้วยกำเนิดครอบครัว ทรัพย์ส่วนบุคคล และรัฐ เขียนโดย ฟรีดริช เองเกลส์ แม้จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนและมีนักสตรีนิยมหลายคนไม่เห็นด้วย แต่จุดเด่นที่ทุกคนเห็นพ้องกันในงานเขียนชิ้นนี้คือการให้คำอธิบายความเป็นมาเกี่ยวกับครอบครัวจากมุมมองเชิงเศรษฐกิจไม่ใช่คำอธิบายเชิงชีวภาพ

กล่าวโดยสรุป สำหรับเองเกลส์แล้ว ระบอบทุนนิยมคือระบอบชายเป็นใหญ่ ภายใต้ความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่เรียกว่าสถาบันครอบครัว มนุษย์เพศหญิงมักตกอยู่ในสถานะของผู้ถูกกดขี่ที่ย่ำแย่กว่าสถานะของผู้ขายแรงงาน นอกจากนี้เองเกลส์ยังบอกว่า ตรรกกะทุนว่าด้วยการแข่งขัน การเข้าไปครอบครอง และมือใครยาวสาวได้สาวเอา เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ ความคิดเป็นเจ้าเข้าเจ้าของผู้หญิงของผู้ชาย (Hunt 2010, 11) ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางเพศจึงมีลักษณะที่สอดคล้องกัน เองเกลส์ยังวิพากษ์ความรักแบบกระฎุมพีว่าเป็นความรักที่จอมปลอม ในหมู่ชนชั้นที่มั่งคั่ง การรักใคร่ชอบพอ การแต่งงานมีชีวิตคู่ร่วมกันวางอยู่บนฐานของเงินตรา ยศฐาบรรดาศักดิ์ และการแบ่งงานกันทำอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างสองเพศเสียมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ เองเกลส์จึงเสนอว่าการโค่นล้มกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ไม่เพียงแต่จะสลายความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นหากแต่ยังรวมถึงการกดขี่ทางเพศอีกด้วย ภายใต้ระบอบใหม่ เราจะมีรูปแบบครอบครัวและความรักแบบใหม่ ครอบครัวที่ไม่ใช่ “หน่วยเศรษฐกิจของสังคม” (Engels 2010, 107) “งานบ้านงานเรือนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นกิจการสังคม การเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาจะกลายเป็นเรื่องสาธารณะ” เมื่อนั้นเอง ผู้หญิงจึงจะสามารถปลดแอกตัวเองจากข้อจำกัดทั้งทางสังคม ศีลธรรม และเศรษฐกิจ และสามารถโยนตัวเองลงไปในหลุมแห่งความ “รัก” ที่แท้จริงได้เสียที (Engels 2010, 107)


จุดยืนเรื่องเพศสภาพและชนชั้นของมาร์กซ์ในบทที่ 10 ของหนังสือ “ทุน”

ในงานเขียนเลื่องชื่อของมาร์กซ์ที่ชื่อ Capital Volume 1 (ทุน เล่มที่ 1) ( ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1867) บทที่ 10 เรื่อง “วันแห่งการทำงาน (The Working Day)” นับได้ว่าเป็นบทที่มีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก สาเหตุก็เพราะในบทๆ นี้ มาร์กซ์มุ่งอธิบายตรรกะของทุนเรื่องการเพิ่มเวลาในการทำงานเพื่อรีดเค้นแรงงานส่วนเกินจากแรงงานให้ได้มากที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือ มาร์กซ์กำลังอธิบายแนวคิดเรื่องการขูดรีด (exploitation) ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของระบบทุนนิยม มาร์กซ์เริ่มบทที่ 10 ด้วยสูตรที่ดูเข้าใจง่ายของทุนนิยม โดยใช้เส้นตรงสะท้อนเวลาทำงานที่ยาวมากยิ่งขึ้น (Marx 1990, 340)

แม้จะเริ่มด้วยสูตรตัวเลขทื่อๆ บทที่10ของมาร์กซ์กลับมีความโดดเด่นในเชิงโวหารและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชีวิตของคนงาน ในบทนี้เอง  มาร์กซ์ได้เปรียบเปรยจิตวิญญาณแห่งทุนไว้ว่าไม่ต่างอะไรกับ “แวมไพร์” ที่ดูดเลือดแรงงานโดยที่ตัวเองไม่ได้ออกแรงหรือทำอะไรเลย (Marx 1990, 342 ) ดังนั้น นายทุนจึงเป็น “แรงงานที่ตายแล้ว (dead labour)” แต่ยังหิวโหยอยากเขมือบขย้ำ “แรงงานที่มีชีวิตอยู่” เยี่ยงมนุษย์หมาป่า (Marx 1990, 353) พวกเขามุ่งแต่จะยืดวันแห่งการทำงานไปให้ยาวนานที่สุดโดยไม่แยแสว่ามันจะไปบั่นทอนสุขภาพและอายุขัยของแรงงานให้สั้นลง (Marx 1990, 375) มาร์กซ์บอกว่านายทุนเอาแต่เทศนาให้ชนชั้นแรงงานรู้จักกินอยู่อย่าง “พอเพียง” “ออมทรัพย์” และ“ยับยั้งชั่งใจ” แต่ตรรกะทุนกลับเป็นตรรกะของความไม่รู้จักพอและไม่รู้จักหยุดพัก บางทีทุนขูดรีดแรงงานภายในวันหนึ่งมากเทียบเท่ากับการที่แรงงานต้องใช้เวลาสามวันในการฟื้นฟูร่างกายของเขา (Marx 1990, 343) ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและแรงงานจึงเป็นปฏิปักษ์กันแบบ zero sum game ผลประโยชน์ของนายทุนแลกมากับการเสียประโยชน์ของแรงงาน มาร์กซ์ย้ำให้เรารู้จักแยกแยะภาพลักษณ์และบุคลิกส่วนตัวของนายทุนกับพฤติกรรมสะสมทุนของเขา นายทุนไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว กักขฬะ และโหดร้าย ในทางตรงข้าม เขาอาจจะเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็น “พลเมืองตัวอย่าง หรือบางทีอาจจะเป็นสมาชิกสมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์” (Marx 1990, 343) แต่เขาก็ยังเป็นนายทุนที่คอยแต่จะรีดเค้นมูลค่าส่วนเกินอยู่ดีหากมองจากมุมความรุนแรงเชิงระบบ

ในบทที่ 10 ของ Capital Volume 1 คาร์ล มาร์กซ์เปรียบเปรยทุนว่าเป็น “แรงงานที่ตายแล้ว ประหนึ่งผีดูดเลือดแวมไพร์ที่มีชีวิตอยู่ผ่านการสูบกินแรงงานที่มีชีวิตอยู่ ยิ่งมันมีชีวิตยืดยาวเท่าใด มันก็ยิ่งดูด[ชีวิต]แรงงานมากเท่านั้น”

ในบทที่10นี้ มาร์กซ์ยังบรรยายพรรณนาสภาพชีวิตการทำงานของคนงานอังกฤษในยุคสมัยของเขาไว้อย่างละเอียดจนผู้อ่านจินตนาการถึงวันและคืนที่ยาวนานของช่างตีเหล็ก คนทำขนมปัง คนทอผ้าก่อนที่จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม  แหล่งข้อมูลที่ได้มาจากรายงานขององค์กรต่างๆ และหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ยกตัวอย่างเช่น มาร์กซ์เล่าว่า ในโรงงานทำไม้ขีดไฟ ปี 1863 มีแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีถึง 270 คน เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปีถึง 50 คน อายุ 8 ปีจำนวน 10 คน และอายุเพียง 6 ปีจำนวน 5 คน วันแห่งการทำงานของพวกเขายืดเยื้อยาวนานถึง 15 ชั่วโมง (Marx 1990, 356)

และในเรื่องเล่าความทุกข์ยากของคนงานนี้เอง มาร์กซ์ได้เล่าถึงชะตากรรมอันน่าเศร้าของหญิงเย็บหมวกคนหนึ่งนามว่าแมรี่แอน วอลคลี่ หญิงเย็บหมวกอายุ 20 ปีผู้นี้เป็นลูกจ้างบริษัทตัดเย็บเสื้อชนชั้นสูงชื่อดัง มาร์กซ์เล่าต่อไปว่าเจ้านายของหล่อนมี “ชื่อที่แสนไพเราะ” ว่าเอลิส (Marx 1990, 364) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (มิถุนายน 1863) หนังสือพิมพ์ลอนดอนได้พาดหัวข่าวว่าแมรี่แอนได้เสียชีวิตลง ข่าวระบุว่าหล่อน “ตายเพียงเพราะทำงานมากเกินไป” ในยามปกติ แมรี่แอนและเพื่อนคนงานของหล่อนทำงานเป็นเวลา 16 ชั่วโมงกว่าโดยไม่ได้พัก และในช่วงที่มีการสั่งสินค้าเยอะ พวกหล่อนทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 30 ชั่วโมง

โรงเย็บผ้าแห่งนี้มีคนงานหญิง 60 คน แมรี่แอนทำงานในห้องร่วมกับเพื่อนคนงาน 30 คน สภาพของห้องนั้นแออัดไม่ระบายอากาศ ในยามค่ำคืน ผู้หญิงเหล่านี้นอนคู่ติดกันในช่องเล็กๆ โดยมีแค่ไม้กั้น แมรี่แอนรู้สึกไม่สบายในวันศุกร์และตายในวันอาทิตย์ อาจกล่าวได้ว่าความตายของหล่อนแลกมากับหมวกหรูหราที่ถูกสั่งทำจำนวนมากในขณะนั้น มาร์กซ์บรรยายเชิงประชดประชันเอาไว้ว่า “มันเป็นหมวกที่จำเป็น เพราะมันต้องไปเข้าคู่กันกับชุดราตรีแสนงามของหญิงผู้ดีที่ถูกชวนไปงานเลี้ยงกาล่าดินเนอร์ฉลองการมาเยือนของเจ้าหญิงแห่งเวลส์” (Marx 1990, 364)

ไม่ต้องสงสัยว่าบทที่ 10 นี้ไม่ได้เป็นโศกนาฏกรรมของสตรีอย่างเฉพาะเจาะจง มาร์กซ์พูดถึงเด็กทำไม้ขีด ช่างตีเหล็ก และคนงานอาชีพอื่นๆ ด้วย คนเหล่านี้มีบางอย่างที่สำคัญมากกว่าเรื่องเพศ นั่นก็คือ พวกเขาคือแรงงาน คือชนชั้นที่ถูกสูบเลือดกินเนื้อ ที่น่าสนใจก็คือ ในเรื่องเล่าสั้นๆ ของแมรี่แอน มาร์กซ์กล่าวพาดพิงถึงหญิงอีกอย่างน้อยสามคน นั่นคือ เอลิส เจ้าของห้องเสื้อ หญิงผู้ดีที่จะไปงานเลี้ยง และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ประเด็นสำคัญก็คือ แม้จะเป็นหญิงเหมือนกันหมด มาร์กซ์ไม่ได้มองว่า แมรี่แอนมีอะไรที่ยึดโยงกับหญิงที่เหลืออีกสามคน แมรี่แอนคือชนชั้นแรงงาน สหายกรรมาชีพของหล่อนคือช่างตีเหล็ก ช่างทำขนมปัง ช่างทอผ้า ซึ่งอาจจะมีเพศสภาพเป็นชายล้วนด้วยซ้ำไป เอลิสเจ้านายของหล่อนเป็นนายทุน เป็นศัตรูตัวฉกาจที่เค้นแรงงานส่วนเกินของแมรี่แอนจนถึงแก่ความตาย ส่วนหญิงสูงศักดิ์ที่เหลือน่ะหรือ พวกหล่อนอาจจะอยู่ในชนชั้นที่ (ใช้ภาษาแบบซ้ายก็คือ) เป็นซากเดนศักดินา ชนชั้นเจ้าของที่ดินที่กินบุญเก่า สะสมอำนาจและความมั่งคั่งจากข้ออ้างทางสายเลือดหรือบัญชาสวรรค์ เพลิดเพลินสำราญกับความหรูหราไปวันๆ แต่สุดท้ายชนชั้นนี้ก็จะค่อยๆ เสื่อมหายไป

ในงานเขียนของมาร์กซ์ เรื่องราวชีวิตน่าเศร้าของคนงานอันแสนเฉพาะเจาะจงมักจะถูกเล่าควบคู่ไปกับบทวิพากษ์เชิงระบบอยู่เสมอ มาร์กซ์ยืนกรานว่า ทุนจะไม่มีวันแยแสสุขภาพและอายุขัยของคนงาน เว้นแต่มันจะเผชิญแรงกดดันจากสังคม (Marx 1990, 381) อีกทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมทางร่างกายและจิตใจของคนงาน การตายก่อนวัยอันควร และความทุกข์ทรมานจากงานที่หนักเกินไม่สามารถแก้ไขได้โดยนายทุนที่ปรารถนาดีเป็นรายบุคคล “ภายใต้การแข่งขันเสรี นายทุนแต่ละคนเผชิญกับกฎเหล็กว่าด้วยการผลิตแบบทุนในฐานะพลังจากภายนอกที่บังคับตัวเขา” (Marx 1990, 381)
 

โรซ่า ลุกเซมเบิร์ค: สิทธิสตรีและการต่อสู้ทางชนชั้น

จากเนื้อหาส่วนข้างต้น เราอาจสรุปได้ว่า มาร์กซ์เล็งเห็นความทุกข์ของสตรีผู้ใช้แรงงาน แต่ความทุกข์ยากนี้ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงทางเพศ ตรงกันข้าม มันมีความเป็นสากลเชิงชนชั้น และชนชั้นผู้ถูกดขี่เหล่านี้เองคือพลังแห่งการปฏิวัติโค่นล้มทุนนิยม

ไม่กี่ทศวรรษหลังมาร์กซ์ตาย โรซ่า ลุกเซมเบิร์ค ปัญญาชนหญิงฝ่ายซ้ายชาวโปแลนด์ได้กล่าวคำปราศรัยที่สะท้อนประเด็นข้างต้นของมาร์กซ์ หากจะต้องนิยามตนเอง ลุกเซมเบิร์คคงเรียกตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสต์หาใช่เฟมินิสต์อย่างแน่นอน ทว่าในคำปราศรัยสั้นๆ ที่ชื่อว่า  “Women’s Suffrage and Class Struggle” (สิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงและการต่อสู้ทางชนชั้น) (ปราศรัยในวันที่ 12 พฤษภาคม 1912) ลุกเซมเบิร์คพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นธรรมทางเพศและทางชนชั้น

เช่นเดียวกับสตรียุโรปในสมัยนั้น ลุกเซมเบิร์คไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง แม้ว่าหล่อนจะมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูง เขียนหนังสือจำนวนมาก และกลายมาเป็นนักปราศรัยปลุกระดมคนงาน สำหรับลุกเซมเบิร์คแล้ว ผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับสิทธิในการเลือกตั้งเพราะสิทธิดังกล่าวจะกลายมาเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ทางชนชั้น ที่ผ่านมา รัฐทุนนิยมจำกัดสิทธิการเมืองประชาชนมาโดยตลอด แต่ทำไม่ได้นาน นับวัน รัฐทุนนิยมก็ต้องยอมผ่อนปรน เช่น การให้สิทธิในการตั้งสหภาพ สิทธิในการชุมนุม ทว่าสิทธิการเมืองสุดท้ายที่รัฐทุนนิยมยังไม่ยอมให้มีเสียทีก็คือ สิทธิสตรีในการเลือกตั้ง (Luxemburg 1971, 217)

โรซ่า ลุกเซมเบิร์ค (1871 - 1919)

ลุกเซมเบิร์ควิพากษ์วิจารณ์เยอรมนียุคต้นศตวรรษที่20ไว้อย่างเผ็ดร้อนว่า สังคมเยอรมันก้าวหน้าเป็นสมัยใหม่มามากแล้ว เราอยู่ในยุคสมัยที่มี “ไฟฟ้าและเครื่องบิน” กระนั้นก็ยังมีซากเดนของอดีตหลงเหลืออยู่สองอย่าง หนึ่งคืออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์คร่ำครึของกษัตริย์ สองคือ การที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง (Luxemburg 1971, 218) เธอกล่าวต่อไปว่า ทั้งสองซากเดนนี้มีลักษณะร่วมกัน นั่นคือการอ้างบัญชาสวรรค์เป็นเครื่องมือในการปกครอง ระบอบกษัตริย์และระบอบที่ปิดกั้นไม่ให้สตรีสิทธิเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นเรื่องน่าขันแห่งยุคสมัย การที่มันยังดำรงอยู่ก็ไม่ใช่เพราะคนลืมโค่นล้มมัน แต่ทั้งสองเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการขูดรีดและทำให้คนเป็นทาส ลุกเซมเบิร์คยังอ้างคำพูดของนักปรัชญาสังคมนิยมฝรั่งเศสในอดีตชื่อว่า ชาร์ล ฟูริเออร์ ที่ว่า “ในสังคมใดก็ตาม ระดับการปลดปล่อยสตรีให้เป็นอิสระคือมาตรวัด[ที่ดี]ของการปลดปล่อยโดยรวม” (Luxemburg 1971, 222) นี่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะมาร์กซ์เองก็ได้เคยอ้างประโยคดังกล่าวในงานเขียนของเขาที่ชื่อ Economic and Philosophical Manuscripts of 1844 และลุกเซมเบิร์คคงไม่ทราบเรื่องนี้เป็นแน่เพราะงานเขียนดังกล่าวของมาร์กซ์ไม่ได้ตีพิมพ์ในช่วงชีวิตของลุกเซมเบิร์ค

ลุกเซมเบิร์คเขียนบทความชิ้นนี้อย่างมีความหวัง เธอบอกว่า ขณะนี้มวลชนกรรมาชีพหญิงชายมีความตื่นตัวทางการเมืองมาก เรามีสมาชิกพรรคหญิงคอยช่วยแจกแผ่นพับอย่างแข็งขัน แรงงานกรรมชีพหญิงของเราพร้อมแล้วในการจะใช้สิทธิทางการเมืองของเธอเป็นอาวุธ น่าสังเกตว่า ลุกเซมเบิร์คเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การเรียกร้องสิทธิสตรีในการเลือกตั้งไม่ได้มุ่งเพื่อผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อชนชั้นแรงงานทั้งหญิงและชาย

ลุกเซมเบิร์คแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเมื่อเธอกล่าวพาดพิงถึงสตรีชนชั้นนายทุนรวมไปถึงบรรดาภรรยานายทุนกระฎุมพี ลุกเซมเบิร์ควิพากษ์อย่างเจ็บแสบว่า ในขณะที่บรรดาสตรีนายทุนต่อสู้เรียกร้องสิทธิการเมืองอย่างดุดันประหนึ่ง “สิงโตตัวเมีย” แต่พวกหล่อนจะเชื่องและว่าง่ายเยี่ยงลูกแกะเมื่ออยู่ต่อหน้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลังได้สิทธิในการเลือกตั้งแล้ว (Luxemburg 1971, 219) ในส่วนของบรรดาภรรยาเจ้าสัวนายทุน หญิงมั่งคั่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นนายทุนโดยตรงเพราะหล่อนไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต พวกหล่อนคือ “ผู้บริโภคร่วม (co-consumer)” ของสามีนายทุนที่คอยสูบกินมูลค่าส่วนเกินที่ขูดรีดมาจากกรรมาชีพอีกขั้นหนึ่ง ลุกเซมเบิร์คเรียกสตรีเมียนายทุนเหล่านี้ว่าเป็น “ปรสิตของปรสิต” สังคม (Luxemburg 1971, 220) ไม่ต้องสงสัยว่า หญิงเหล่านี้จะไม่มีทางใช้สิทธิเลือกตั้งเข้าข้างชนชั้นแรงงาน กล่าวโดยสรุปแล้ว เฉกเช่นมาร์กซ์ เส้นแห่งปฏิปักษ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับลุกเซมเบิร์คไม่มีทางเป็นอื่นใดไปได้เลยถ้าไม่ใช่ชนชั้น
 

สรุป: การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ตัวตนทางเพศ VS การเมืองเรื่องชนชั้นและการปฏิวัติ

ย้อนกลับมาที่ยุคสมัยปัจจุบัน หากมองจากมุมมองมาร์กซิสต์แล้ว เรากำลังอยู่ในยุคที่การเมืองเรื่องเพศถูกพรากนัยยะเชิงชนชั้นไป และถูกลดถอนให้เป็นเพียงแค่การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ตัวตนของปัจเจกบุคคล (ดู สรวิศ ชัยนาม 2555, 40-41; สรวิศ ชัยนาม 2558, 166-170; Jodi Dean 2016) ผู้เขียนขอเรียกการเมืองแบบหลังว่าเป็นการเมืองแบบ “Zootopia” หรือการเมืองแบบ “เลดี้ กาก้า” (ดู กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ 2560) กล่าวคือ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (identity politics) มุ่งปลดปล่อยปัจเจกชนออกจากกรอบค่านิยม(หรือมายาคติ)ที่กำหนดตัวตนอัตลักษณ์ “กระแสหลัก” เช่น ผู้หญิงที่ดีต้องเรียบร้อย รักนวลสงวนตัว แต่งงานเพื่อเป็นเมียและแม่ตามวัยที่เหมาะสม มาตรวัดความสวยวางอยู่บนความขาว ขนาดของเอวและหน้าอก เป็นต้น แน่นอนว่าความคิดความเชื่อเช่นนี้ครอบงำ ตีตรา กดขี่และควบคุมเรา ภายใต้บริบทสังคมดังกล่าว มันมีความจำเป็นเป็นอย่างมากที่นักวิพากษ์ นักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมจะต้องตั้งคำถามและท้าทายความคิดความเชื่อเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม นักมาร์กซิสต์ควรต้องตั้งคำถามต่อไปว่า เราจะพึงพอใจกับแค่การเรียกร้องให้ทุกๆ คนสามารถแสดงออกได้ซึ่งอัตลักษณ์ตัวตนอันเฉพาะเจาะจงของตนอย่างเสรีเท่านั้นหรือ? โลกในอุดมคติของเราคือโลกแบบการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง Zootopia ที่กระต่ายตัวน้อยน่ารักแสนเปราะบางผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง สามารถประกอบอาชีพตำรวจอันน่าเกรงขามได้และสมาชิกในสังคมก้าวข้ามอคติและเคารพความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์เพียงเท่านั้นหรือ? หรือโลกตามเนื้อเพลงของนักร้องชื่อดัง เลดี้ กาก้าที่ทุกคนประกาศก้องว่า “ฉันเกิดมาเป็นของฉันแบบนี้” จงยอมรับในตัวตนของฉันเสีย เพียงเท่านี้หรือ? โจดี้ ดีน นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ร่วมสมัย ได้วิพากษ์การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เอาไว้อย่างน่าฟังว่า การเมืองเรื่องอัตลักษณ์มักทำให้เราขับเน้นและเลือกลักษณะอันเฉพาะเจาะจงอย่างหนึ่งของเรา แปรเปลี่ยนมันให้เป็นอาวุธ เป็นเกราะป้องกันการถูกโจมตี เป้าหมายคือการอยู่รอดในระบบที่เป็นอยู่ของคนกลุ่มฉันเพียงเท่านั้น  “ครั้งนี้ ฉัน จะต้องไม่ใช้ผู้เสียสละ ฉันคือผู้อยู่รอด” (Dean 2016) การเมืองเรื่องอัตลักษณ์จึงหนีไม่พ้นเรื่อง เพศ สีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา และสัญชาติ แต่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปอย่างชัดเจนในการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ก็คือ ชนชั้น

หากมองในทัศนะแบบมาร์กซ์ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ได้แปรเปลี่ยนสภาวะความเป็นปฏิปักษ์มูลฐานให้เป็นเพียงแค่ความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายที่มีนับไม่ถ้วนและสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ผ่านความอดทนอดกลั้น เคารพซึ่งกันและกัน ทุนนิยมไม่ได้มีปัญหากับอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มันอ้าแขนต้อนรับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์อย่างอบอุ่น อัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายกลายเป็นสินค้าที่มูลค่าขึ้นมาได้ มันขายได้ กระตุ้นการบริโภคได้ เหนือสิ่งอื่นใด มันแปรเปลี่ยนความเป็นสากลของมวลชนกรรมาชีพที่มีศักยภาพจะเป็นพลังในการปฏิวัติโค่นล้มชนชั้นให้กลายเป็นความเฉพาะจงของปัจเจกชนที่หมกมุ่นกับการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองอย่างกระจัดกระจาย ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า การเมืองเรื่องเพศหรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ปราศจากนัยยะทางชนชั้นก็เป็นเพียงฝันเปียกของฝ่ายซ้ายซึมเศร้าที่ได้ละทิ้งสนามการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการเมือง และหันไปให้ความสำคัญกับประเด็นเชิงวัฒนธรรม สัญลักษณ์ และภาษาการแต่งกายเพียงเท่านั้น (ดู สรวิศ ชัยนาม 2560)


อ้างอิง

Dean, Jodi. 2016. Not us, Me, http://www.versobooks.com/blogs/2970-not-us-me (November 26).

Engels, Friedrich. 2010. The Origin of Family, Private Property and the State. London: Penguin.

Hartmann, Heidi I. 1979. The Unhappy Marriage of Marxism and Feminism: Towards a more Progressive Union. Capital & Class 3, 2 (July): 1 – 33.

Hunt, Tristram. 2010. Introduction. In The Origin of Family, Private Property and the State. London: Penguin. 3-32.

Luxemburg, Rosa. 1971. Selected political writings of Rosa Luxemburg. New York: Monthly Review Press.

Marx, Karl. 1990. Capital Vol 1. London: Penguin.

Marx, Karl and Friedrich Engels.1978. The Marx-Engels Reader. 2nd ed. Robert C. Tucker. New York: W. W. Norton & Company.

กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์. 2560. Zootopia และ Get Out: มองการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของสหรัฐผ่านแผ่นฟิล์ม. ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/04/71042 (15 เมษายน).

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2560. Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการปฏิวัติของส่วนรวม. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

แล ดิลกวิทยรัตน์. 2524. มดลูกก็ปัจจัยการผลิต. วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 1, 3 (พฤษภาคม – มิถุนายน 2524): 93-100.

สรวิศ ชัยนาม. 2555. จากการปฏิวัติ ถึงโลกาภิวัตน์ ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์. กรุงเทพ: สยามปริทัศน์.

สรวิศ ชัยนาม. 2558. Slavoj Zizek: ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย. กรุงเทพ: สยามปริทัศน์.

สรวิศ ชัยนาม. 2560. ภาวะซึมเศร้าในหมู่ฝ่ายซ้ายสากล, https://waymagazine.org/interview_leftistdepression/ (1 มิถุนายน).

 




[1] ผู้เขียนขอขอบคุณ ปวงชน อุนจะนำ ที่ช่วยแก้ไขภาษาและให้คำแนะนำโดยรวม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net