Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การบอกว่าวิธีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในครั้งนี้คือการแก้รัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะเรื่องสมาชิกวุฒิสภา หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็ควรยกเลิกฉบับปัจจุบันและร่างใหม่ไปเลยเพราะเป็นการแสดงสปิริตว่ารัฐธรรมนูญแท้ที่จริงจะต้องมาจากเจตจำนงของประชาชน ด้วยการแสดงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญเกิดจากการโกง ภาษาที่ใช้วกวนสับสนและอาจมีมาตราอื่นที่เอื้อประโยชน์ต่อระบอบประยุทธ์ยังคงอยู่อีกมาก นอกจากนี้การรอแก้รัธรรมนูญอาจเปิดช่องให้มีการเตะถ่วงของฝ่ายรัฐบาลได้

กระนั้นถ้าเกิดปฏิหารย์มีรัฐธรรมนูญใหม่ (หรืออย่างน้อยที่สุดสามารถแก้มาตราสำคัญได้ ) และต่อมามีการเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้อยู่เครือข่ายอำนาจพิเศษ ทุกอย่างก็จะวนลูปไปเหมือนช่วงรัฐบาลรักษาการณ์ในปี 2557 อีกครั้งนั้นคือม็อบใหม่หรือ กปปส.2.0 ก็จะโผล่ออกมาด้วยเหตุผลสารพัด กองทัพก็สามารถออกมายึดอำนาจได้อีกเพื่ออ้างการรักษาความสงบ เพราะเป็นองค์กรที่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการแก้รัฐธรรมนูญและยังแอบอิงกลุ่มอำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนนั่นคือเครือข่ายอำนาจพิเศษ ไม่ว่าถ้าเกิดปาฏิหารย์อีกครั้ง ทหารกลับกรมกองคือไม่เกี่ยวกับการเมือง เหมือนหลังพฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 แต่พวกเขาก็ยังรอวันที่จะกลับมาเมื่อปี 2549 ได้อีก การเมืองไทยที่แท้จริงอิงอยู่กับการใช้อำนาจ แบบดิบๆ (brute force) เหมือนกับหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังวาทะของประธานเหมาที่ว่าอำนาจมาจากปากกระบอกปืน ส่วนกฎหมายหรืออื่นๆ เช่นความถูกต้องชอบธรรมค่อยตามมารับใช้ทีหลัง

ผมจึงมีทางแก้ที่ไม่มีใครพูดถึงเท่าไรในครั้งนี้คือ ถ้ารัฐบาลที่ไม่ใช่เครือข่ายประยุทธ์ขึ้นมามีอำนาจ นอกจากจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องแก้ พ.ร.บ.กลาโหมที่ต้องให้สภาซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำในการร่วมเลือก ผบ.เหล่าทัพโดยเฉพาะ ผบ.ทบ. นั่นคือให้กลับเหมือนเดิมโดยอำนาจการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพเป็นของนายกรัฐมนตรี ทำให้นายกฯ สามารถเลือก ผบ.ทบ.ที่ซื่อสัตย์ต่อรัฐบาลและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผมคิดว่าทหารที่ศรัทธาในประชาธิปไตย และความเป็นทหารมืออาชีพของตนยังมีอยู่มาก กระนั้นที่ผ่านมาเหล่าทัพจะเลือกผู้นำกันเองอันทำให้เกิดการสืบทายาทอสูร นั่นคือผู้นำคนเก่าอย่างเช่น อภิรัชต์ซึ่งกำลังจะเกษียณเดือนหน้าก็จะเลือกเอาเฉพาะลูกน้องที่รับประกันความต่อเนื่องของอำนาจกองทัพเหนือการเมืองไทย ทหารที่เป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริงและไม่ได้อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของคนเก่าก็ต้องเกษียณไปใช้ชีวิตอยู่เงียบ ๆ

ดังนั้นหากแก้ พ.ร.บ.กลาโหมได้ รัฐบาลยังต้องเข้ามาปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่เพื่อให้กองทัพไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเหมือนกับรัฐบาลของประธานาธิบดีซูซีโล บัมบังของอินโดนีเซียที่พยายามลบล้างอิทธิพลของกองทัพเหนือสังคมอินโดนีเซียดังที่เรียกว่า dwifungsi ของไทยยังต้องอาศัยของพลังของมวลชนในการกดดันรัฐบาลให้ผลักดันเครือข่ายอำนาจพิเศษให้ออกจากเรื่องการเมืองและกองทัพ เพราะไม่แน่ว่ารัฐบาลแม้มาจากการเลือกตั้งจริงๆ แต่อาจขี้ขลาดหรือประนีประนอมเหมือนกับรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ที่ไม่กล้าชนกับกลุ่มอำนาจพิเศษก็ได้

และสุดท้ายกลุ่มดังกล่าวก็กลับมาครอบงำกองทัพรวมไปถึงระบบราชการอื่นๆ และใช้เป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง ที่สำคัญ รัฐบาลพลเรือนต้องกวาดล้างอิทธิพลและกากเดนความคิดแบบศักดินาซึ่งฝังอยู่ในสังคมไทยอีกมาก เหมือนปฏิวัติวัฒนธรรมหรือ cultural revolution ฟังดูยากแต่หากเกิดขึ้นจริงจะถือได้ว่าเป็นปฏิวัติที่เหนือกว่า 24 มิถุนายน 2475 ในมิติที่ว่าเกิดจากการผลักดันของข้างล่างจริงๆ

ถ้าหากทำดังข้างบนได้เช่นนั้นจริง เมื่อเกิด กปปส.เวอร์ชั่น 2.0 ขึ้นรัฐก็จะรักษาเสถียรภาพของตัวเอง และสามารถใช้องค์กรความมั่นคงในการรักษาความสงบเข้าจัดการกับผู้ชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (โดยตั้งอยู่บนสิทธิมนุษยชนและการเคารพต่อสิทธิผู้เห็นต่าง) กระนั้นตัวรัฐบาลเองต้องทำตัวให้น่าศรัทธา มีการทำงานเพื่อประชาชนและโปร่งใสเพื่อกอบกู้ภาพพจน์นักการเมือง เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างสำหรับการยึดอำนาจอีกต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net