Skip to main content
sharethis

ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่ง 9.00 น. 17 ธ.ค.นี้ คดีไต่สวนการตาย "ชาติชาย ชาเหลา" ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนพระราม 4 คืนวันที่ 13 พ.ค.53 ช่วงกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมโดย ศอฉ. คดีที่ 3

ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่ง 9.00 น ในวันนี้(17 ธ.ค.) ตามที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องหมายเลขดำ ช.6/2555 ขอให้ไต่สวนเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150

นายชาติชาย เป็นผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) อาชีพขับรถแท็กซี่  ภูมิลำเนา ต.โชคนาสาม อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ช่วงเกิดเหตุพักอาศัยอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุโดยกระสุนปืนสงครามเข้าที่หน้าผาก ทะลุท้ายทอย ทำให้สมองฉีกขาดอย่างมากร่วมกับกะโหลกแตกเป็นเสี่ยงๆ ในคืนวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 22.50 น. ที่บริเวณหน้าบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ในช่วงที่มีการกระชับพื้นที่การชุมนุมของ นปช. โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยก่อนถูกยิงนายชาติชายได้ถือกล้องถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกภาพกลุ่มผู้ชุมนุม

เว็บไซต์ เนชั่นแชลแนล รายงานด้วยว่า นายณัฐพล ปัญญาสูง ทนายความของญาตินายชาติชาย ชาเหลา กล่าวว่า ผลคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้จะเป็นอย่างไร ต้องรอฟัง แต่ส่วนตัวคาดว่าอาจจะใกล้เคียงกับคดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ที่ศาลอาญา มีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากกระสุน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. โดยจากการตรวจร่องรอยกระโหลก และปลอกกระสุนที่ตกในที่เกิดเหตุในคดีของนายชาติชาย ก็มีขนาด 0.223 ที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ แต่เป็นกระสุนที่ใช้ในราชการทหาร ทั้งนี้หากศาลอาญากรุงเทพใต้มีผลอย่างไรแล้ว ตามขั้นตอนอัยการต้องส่งสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในคดีการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ต่อไป  ส่วนการเยียวยาสำหรับครอบครัวของชาเหลานั้นที่ผ่านมาก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม และเงินเยียวยาจากรัฐบาลตามมติ ครม.แล้ว

ขณะที่นายสุรศักดิ์ สมใจหมาย ทีมทนายความ กล่าวด้วยว่า คดีนี้อัยการนำพยานไต่สวนประมาณ 20 ปาก ที่มีทั้งกลุ่มญาติผู้ตาย เจ้าหน้าที่ทหาร แพทย์ชันสูตร พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ.ที่จะบอกเล่าถึงแนวทางปฏิบัติของ ศอฉ. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และรมช.พาณิชย์ ที่กล่าวถึงการชุมนุมของ นปช.ด้วย

สำหรับคดีของนายชาติชาย นี่ถือเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลจะมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากการสลายการชุมนุมของ นปช. ช่วง เมษา – พ.ค. 53 โดยก่อนหน้านั้น ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว 2 คดีคือคดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ว่าเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะคดีนายพันดีเอสไอได้นำพยานหลักฐานจากคำสั่งไปแจ้งข้อหาต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

และหลังจากนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ รอคำสั่งศาลคือ 20 ธ.ค.นี้ คดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้องทำให้เลือดออกมากในช่องท้อง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ปาก ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์ โอเอ ถนนราชปรารภ ซึ่งนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกับ นายพัน คำกอง

และ 16 ม.ค.นี้ คดีของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 

วานนี้ เว็บบอร์ด ประชาทอล์ค ได้มีผู้นำภาพนายชาติชาย ก่อนถูกยิงเสียชีวิตไม่กี่นาที(21.52 น.) ที่ระบุว่าถ่ายโดย “หัตถา” มาเผยแพร่อีกครั้งด้วย

วีดีโอคลิปขณะเกิดเหตุ “ชาติชาย” สวมเสื้อลายสีแดงขาว :

13th.5.2010 bangkok from senoh on Vimeo.

แผนที่จุดเกิดเหตุ แผงลอย หน้า บ.กฤษณาฯ :


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net