Skip to main content
sharethis

21 ธ.ค.55 - ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายสื่อมวลชนและประชาชนในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 โดยมีนายสมชาย แสวงการ เป็นประธาน ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้มอบหมายผู้แทนคือ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คือ  พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เป็นตัวแทน จากกรณีที่นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ร้องต่อคณะกรรมาธิการกรณีเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย ทรมารผู้ถูกจับกุม และประชาชนซึ่งเป็นการทำร่วมกันของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคกับคณะกรรมาธิการตรวจสอบเสริมสร้างธรรมาภิบาล

พล.ต.อ.วรพงษ์ ได้ชี้แจงเรื่องของผู้มีอำนาจในสถานการณ์ตามที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ซักถามว่ามีการมอบให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย  (ศอ.รส.)  ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และใช้อำนาจตามกฎหมายพระราชบัญญัติ 18 ฉบับ  เป็นการรวมกำลังทำงานทั้งทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้ร่วมกันประเมินว่ามีสถานการณ์ที่อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงมาโดยตลอด และมีการติดตามตรวจสอบอยู่แล้ว ในการทำงานนั้นมีทั้งหน่วยข่าวระดับปกติและระดับข้อมูลเชิงลึก ทั้งนี้ได้ประเมินว่าการชุมนุมครั้งนั้นอาจจะเกิดภัยคุกคามต่อความสงบภายในได้ และกฎหมายระบุให้ป้องกันอยู่แล้ว ซึ่งในการประเมินนี้ได้ถูกบันทึกเป็นเอกสารและจะจัดส่งให้คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบต่อไป เพื่อดูว่ามีการประเมินอย่างไร เพราะคณะอนุกรรมาธิการเข้าใจว่าต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว และเป็นเรื่องยืดเยื้อยาวนานจึงจะมีการลงความเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม

ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นั้น พล.ต.อ.วรพงษ์ ชี้แจงว่าเริ่มปะทะความรุนแรงตั้งแต่เวลา 07.00 น. โดยผู้ชุมนุมประมาณ 600-700 คน พยายามเข้ามาบริเวณสะพานมัฆวานฯ และฝ่าเข้ามายังบริเวณลวดหนามและแบริเออร์หรือแท่งปูน พร้อมเตรียมคีมตัดลวดหนามที่กั้นไว้ ก่อนจะเริ่มทำลายชั้นแบริเออร์โดยรถ 6 ล้อ และเริ่มทับขาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเลยขั้นปะทะแบบซึ่งหน้าแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องยิงแก๊สน้ำตาแบบวงกว้าง ทำให้ต่างฝ่ายร่นถอยออกไป อย่างไรก็ดี ก่อนการยิงแก๊สน้ำตาเราได้ประสานกับผู้บังคับบัญชา และ พล.อ.บุญเลิศ เป็นระยะๆ ว่าผู้ชุมนุมเริ่มละเมิดกฎหมาย แต่ก็ได้รับคำตอบว่า “ถ้าไม่เปิดทางช่วงบ่ายเจอกัน แซนวิชแน่นอน” เช่นนี้จะเรียกว่าเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธหรือไม่
    
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการรักษาความสงบและความปลอดภัยนั้น ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิของผู้ชุมนุมเป็นหลัก รวมทั้งไม่ให้พกอาวุธที่จะทำให้เกิดอันตรายในการควบคุมฝูงชนในครั้งนี้ และก่อนที่จะมีการยิงแก๊สน้ำตาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตือนและขอร้องผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมกลับบุกรุกเข้ามาในฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะให้ตำรวจทำอย่างไร ต้องขอความเป็นธรรม ถ้าตำรวจรักษากฎหมายไม่ได้ จะอยู่อย่างไร เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หลักการรักษาความปลอดภัยจึงต้องทำเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ และตามหลักสหประชาชาติ เมื่อผู้ชุมนุมเข้าใกล้แบริเออร์ ถือว่าละเมิดกฎหมายแล้ว สามารถยิงแก๊สน้ำตาได้ทันที แต่สังคมไทยเรายังไม่ยอมรับหลักสากล ก่อนจะยิงแก๊สน้ำตาตนได้แถลงเตือนก่อนแล้วเช่นกันโดยไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตาจริง แต่เป็นแก๊สน้ำตาแบบเผาไหม้เน้นกระจายควันมากกว่า

“เน้นย้ำเสมอเรื่องสิทธิการชุมนุมของประชาชน ที่พึงกระทำโดยปราศจากอาวุธ ได้ดำเนินวิธีการตามหลักของสหประชาชาติ(UN) และที่ผ่านมาสี่ถึงห้าปีนั้นผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมายตลอดแต่ตำรวจก็ปรับยุทธวิธี และระดับการใช้กำลัง ที่เข้าใจผิดมาตอดว่าแก๊สน้ำตาต้องใช้ท้ายๆ ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนคำสั่งเกินกว่าจะรับได้ให้ใช้แก๊สน้ำตาได้เลย และกำลังของทั้งสองฝ่ายต้องไม่อยู่ติดกันเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นโอกาสของมือที่สาม แต่ถ้าหากเข้ามาอยู่ใกล้กันก็ใช้แก๊สน้ำตาได้เลย เพื่อให้ถอยออกไป แต่ถ้ายังเข้ามาก็ต้องจับ ใช้ยุทธวิธีใช้ไม้พลอง ถ้าเอาไม่อยู่ก็ใช้น้ำฉีด เพราะจริงๆน้ำแรงกว่าแก๊ส และต่อมาคือกระสุนยาง สุดท้ายคือกระสุนจริงซึ่งเราไม่อนุญาตให้มา และไม่ให้ตำรวจเอาอาวุธเข้าไม่ ไม่สั่งให้เอาอาวุธหนักขึ้นมาแม้เป็นปืนพกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพกในสถานการณ์ปกติก็ห้ามนำมา” พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าว

ในประเด็นที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอแนะว่าจะต้องมีการเขียนและชี้แจงให้คนเข้าใจได้ง่ายกว่านี้ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนวิธีการทั้งยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทั้งนี้ยังตั้งคำถามเรื่องขอบเขตอำนาจในการจัดการการชุมนุมนั้นได้นำเข้าลงมติในคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และการใช้แก๊สน้ำตานั้นมีการประกาศแจ้งต่อผู้ชุมนุมหรือไม่ นั้นพล.ต.อ.วรพงษ์ ได้ชี้แจงว่าในการควบคุมฝูงชนวันนั้นได้ใช้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้ใช้ดุลพินิจในการจัดการ และมีการประชุมชี้แจงกันอยู่ตลอดเวลา แต่ในการประชุมภาคสนามบางส่วนในสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นก็ไม่มีการบันทึกการประชุมไว้ และการใช้มาตรการในการจัดการต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพราะได้มีการมอบอำนาจให้สมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ในการใช้แก๊สน้ำตานั้นใช้เพื่อห้ามรถ และห้ามคนเข้าไปร่วมชุมนุมโดยห้ามเฉพาะเส้นทางสะพานมัฆวาลเท่านั้น มีการชี้แจงอย่างชัดเจนโดยตนไปพบกับแกนนำด้วยตัวเอง และตกลงว่าจะช่วยกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาฉวยโอกาส ต่างฝ่ายเอาการ์ดมาเอาเจ้าหน้าที่มาร่วมกันตั้งจุดตรวจ ซึ่งผู้ชุมนุมอื่นๆก็ยินดีเข้าตามทางเข้าสองทางที่กำหนดไว้

ส่วนในประเด็นที่คณะอนุกรรมาธิการฯ มองว่าแกนนำไม่ได้เป็นตัวควบคุมมวลชนทั้งหมดอาจจะมาที่มาเองและประชาชนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่ามีการปิดไม่ให้เข้าทางนี้ และมาแจ้งทีหลังว่าให้เลี่ยงไปใช้ที่อื่น และทำไมจึงจำกัดว่าไม่ให้เข้าทางด้านนี้นั้น พล.ต.อ.วรพงษ์ ชี้แจงว่าได้ชี้แจงผ่านสื่อไปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. แล้ว

"ที่ประชาชนไม่ทราบจริงๆ เราปิดตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย. ควรทราบได้หรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของท่านกรรมาธิการนะครับและ เป็นหน้าที่ของแกนนำผู้ชุมนุมหรือไม่ที่ต้องแจ้ง ถ้าเป้าหมายของผู้ชุมนุมประกาศออกมาว่าจะล้มรัฐบาลโดยการเอาคนมาร่วม ดังนั้นเราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะรักษาสถานที่รักษาการทำงานของรัฐบาลเพื่อป้องกันตรงนี้” พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ สว.สรรหาและอนุกรรมาธิการได้ตั้งคำถามว่าในการจัดการควบคุมการชุมนุมนั้นใช้เจ้าหน้าที่ถึงเจ็ดหมื่นคน และมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในทันทีนั้น และมีคำสั่งให้บล็อกประชาชนไม่สามารถเข้ามาร่วมชุมนุมได้ ตั้งแต่ในระดับพื้นต่างจังหวัดหรือชุมชนพื้นที่ด้วยซ้ำ และถ้ามองในแง่การออกนโยบายถ้าต่อไปประชาชนมาชุมนุมถ้าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการแบบนี้อีกเท่ากับว่าการใช้สิทธิการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องกระทำไม่ได้ พรบ.ความมั่นคงฯ จึงกลายเป็นเครื่องมือต่อการใช้สิทธิการชุมนุม ตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญ

พล.ต.อ.วรพงษ์ ได้ชี้แจงยืนยันว่าไม่เคยมีคำสั่งให้ปิดกั้นประชาชนไม่ให้มาร่วมชุมนุม มีเพียงแต่เฉพาะที่ประกาศในเขตที่มีการปฏิบัติการเท่านั้น และ พล.ต.อ.วรพงษ์ ยังให้ความเห็นเสริมว่าถ้ามี พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมแกนนำก็จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมมากกว่านี้ ซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ ก็ได้แสดงความเห็นด้วยต่อการแก้ปัญหาด้วยการออก พ.ร.บ.ความคุมการชุมนุม ด้วยเช่นกัน

นายประสาน ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อภาพกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้เท้าถีบ กระทืบผู้ชุมนุมและการชูนิ้วกลางว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งที่เคยปรากฏขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และดูเหมือนเจ้าหน้าที่เป็นผู้เริ่มต้นให้เกิดความรุนแรง

พล.ต.อ.วรพงษ์ ได้ชี้แจงว่าภาพเหล่านี้มันเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว และได้พยายามควบคุมฝูงชนที่บุกเข้ามาอย่างเต็มความสามารถเพื่อรักษากฎหมาย จึงควรให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ด้วย

"ตำรวจประจำอยู่ในที่ตั้ง และมีที่กั้น แต่ผู้ชุมนุมก็เตรียมคีมมาตัดลวดหนาม เอาคีมตัดลวดมาทำไมถ้าจะมาชุมนุม กั้นด้วยแผนปูนหนักแทบตาย ก็ยังยกออกไปได้ จนเอารถนำเข้ามา ชนตำรวจ ตำรวจไม่ได้เริ่มความรุนแรง ต้องขอความเป็นธรรมให้กับตำรวจด้วย และถ้าเรารักษากฎหมายไม่ได้จะมีกฎหมายไว้ทำไม ถ้ากฎหมายไม่ดีจะออกกฎหมายมาทำไม ใครเป็นคนออกกฎหมาย”  พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ช่างภาพสื่อมวลชนที่ถูกทำร้ายร่างกายนั้น พล.ต.อ.วรพงษ์ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยสั่งการในลักษณะเช่นนี้ รวมถึงหากเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามที่ได้อบรมมา ก็จะลงโทษตามวินัย ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดเป็นผู้ทำร้ายร่างกายช่างภาพดังกล่าว ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว

ทั้งนี้หลังจากการชี้แจง คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้สรุปความเห็นว่า กรณีที่เกิดปะทะกันในวันนั้น หากไม่มีการปิดกั้นเส้นทางการเข้ามาร่วมชุมนุมของประชาชนก็คงไม่เกิดเหตุรุนแรงขึ้น และผู้ชุมนุมไม่ถึงสองหมื่นคนคงจะไม่สามารถบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลได้ ประเด็นที่พบจากสื่อคือตำรวจใช้ความรุนแรงเกินมาตรฐาน กระบวนการในการจับกุมไม่ปกติ และใช้อารมณ์ที่จะทำจี้สอบให้รวดเร็วว่าเจ้าหน้าที่คนไหนทำ ขอให้มีป้ายชื่อของเจ้าหน้าที่ในการจัดการการชุมนุมทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานไม่น่าจะมารับหน้าเสื่อเองจะต้องให้ฝ่ายบริหารมาทำมากกว่า


ที่มา: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net