Skip to main content
sharethis
 
วันนี้ที่รอคอย... หลังจากคนจะนะฝากความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมมายาวนานถึง 10 ปี และแล้ว ‘สิทธิเสรีภาพในชุมนุมโดยสงบ’ ก็ได้รับการรับรอง เมื่อวันนี้ (16 ม.ค.56) ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่เจ้าพนักงานตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45 คดีหมายเลขดำที่ อ.426/2549 คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555 ระหว่าง นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ ที่ 1 กับพวกรวม 30 คน กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน
 
คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ระบุ การชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการพัฒนาดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบต่อไปได้ ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงต้องรับผิดชอบ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีรวมกันจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
 
00000
 
 
สำหรับสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีสลายการชุมนุมผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) สรุปประเด็น ไว้ดังนี้
 
การที่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสลายการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ชุมนุมกันบนถนนจุติอนุสรณ์ บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 เป็นการกระทำละเมิดผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 หรือไม่
 
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
 
มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
 
เสรีภาพในการชุมนุม เป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญ เพราะมีที่มาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจน ทั้งนี้การชุมนุมดังกล่าวต้องเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ
 
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ผู้ฟ้องคดีและกลุ่มประชาชนผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ได้รวมตัวกันเพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือ เสนอข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 21 ธันวาคม 2545
 
ผู้ฟ้องคดีและกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึง อ.หาดใหญ่ ในเวลา 20.00 น.โดยมีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำขบวนมาตามถนนเพชรเกษม กระทั่งถึงทางเข้าถนนจุติอนุสรณ์ บริเวณวงเวียนน้ำพุ แต่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจจัดวางกำลังและแผงเหล็กตั้งวางขวางกั้น
 
ขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมจึงหยุดอยู่บนถนนจุติอนุสรณ์ บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศ และมีการเจรจากันระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจกับผู้ชุมนุม โดยเจ้าพนักงานตำรวจต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมจากที่เคยตกลงกันไว้เดิม แต่การเจรจาไม่เป็นผล โดยในระหว่างนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งล้อมวงอยู่ใกล้แผงเหล็ก และบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลามก็ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะใช้ความรุนแรง หรือมีการฝ่าแนวแผงเหล็กของเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด
 
อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ดำเนินการชุมนุมในลักษณะยั่วยุหรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงหรือก่อให้เกิดการจลาจล รวมถึงก่ออันตรายโดยตรงต่อชีวิตร่างกายของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่ภายหลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งแถวเพื่อผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจนเกิดความวุ่นวายขึ้น และดำเนินการสลายการชุมนุม จนกลุ่มผู้ชุมนุมต้องสลายตัวไปในที่สุด
           
 
การที่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสลายการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
 
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องชุมนุมกันอยู่บนถนนจุติอนุสรณ์ เป็นเพราะไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งจุดสกัดไว้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงไม่มีเจตนาที่จะปิดกั้นการจราจร และการที่เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการสลายการชุมนุมดังกล่าวเพียงเพื่อเปิดเส้นทางเข้าออกโรงแรมเจ.บี.ให้แก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าการสลายการชุมนุมนั้น เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ ตามมาตรา 44 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อีกทั้งยังมีเส้นทางเข้าออกโรงแรมเจ.บี.ได้อีกหลายทาง การที่เจ้าพนักงานตำรวจเลือกที่จะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เกินแก่ความจำเป็น
 
นอกจากนี้ การเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน หรือมีลำดับขั้นตอนจากเบาไปหาหนักตามที่ระบุในแผนรักษาความสงบในการชุมนุมครั้งนี้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสลายการชุมนุมดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย โดยไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมต่อไปได้ อันถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1-24
 
เมื่อการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานตำรวจอยู่ในสังกัด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
 
 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 ไม่อาจใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 44 เพียงใด
 
เมื่อพิจารณาลักษณะเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว เห็นว่าบุคคลเพียงคนเดียวไม่อาจก่อให้เกิดการชุมนุมสาธารณะได้ แต่จะต้องเกิดจากการที่บุคคลหลายๆ คนมารวมตัวกัน การกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุม จึงเป็นคนละส่วนกันและแตกต่างจากการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซึ่งถูกกระทำละเมิดเป็นรายบุคคลได้
 
ดังนั้น การกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมในครั้งนี้ จึงเป็นการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีและบุคคลอื่นๆ ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 เป็นเงินรวมกัน จำนวนรวมทั้งสิ้น 100,000 บาท และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดี
 
00000
 
 
แม้คำตัดสินจะนำมาซึ่งความหวังในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม แต่สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่โครงการ ช่วงระยะเวลาอันยาวนานกว่า 16 ปี ในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและทรัพยากรในพื้นที่ไม่ให้ถูกทำลายจากโครงการขนาดใหญ่ และ 10 ปี กับการต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมในคดีสลายการชุมนุม รวมไปถึงคดีอื่นๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก ไม่สามารถทัดทานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
 
น.ส.ศุภวรรณ ชนะสงคราม นักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ให้ข้อมูลว่า หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว ในเดือนมิถุนายน 2545 โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ก็เริ่มเดินหน้าต่อในพื้นที่จนสำเร็จ และติดตามมาด้วยการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ รวมทั้งโครงการต่อเนื่องในปัจจุบัน อาทิ ท่าเทียบเรือสงขลา-สตูล ท่าเรือปากบารา ฯลฯ
 
ขณะที่ผลกระทบจากโครงการฯ นั้น เริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง ที่มีการกันพื้นที่ทางทะเลเพื่อขุดวางท่อก๊าซ ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพประมงของชาวบ้าน และเมื่อเริ่มเดินเครื่องโครงการก็มีปัญหาเกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น กรณีกลิ่นเหม็นจากโรงแยกก๊าซ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ถูกยกเลิกการว่าจ้าง  มลพิษทางเสียงที่มีเป็นระยะ และกรณีของก๊าซรั่ว เป็นต้น
 
น.ส.ศุภวรรณ กล่าวว่า แม้ปัญหาจะไม่รุนแรงเท่าที่มาบตาพุด จ.ระยอง เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังมีไม่มากนัก แต่กระบวนการแก้ปัญหาผลกระทบด้วยการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ โรงแยกก๊าซ จังหวัดสงขลา และประชาชนให้ตรวจสอบแล้วแก้ไขโดยการจ่ายเงินชดเชย ตรงนี้สำหรับเธอไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
 
ดังที่ นางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้ร่วมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ เมื่อปี 2545 เคยกล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยหยุดนิ่งในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เอาไว้ให้ลูกหลาน สำหรับชัยชนะในคดีความครั้งนี้คงเป็นความสำเร็จระหว่างทางให้เก็บเกี่ยว เพราะเมื่อพ้นจากคดีนี้ไปแล้วชาวบ้านก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องต่อสู้กันอยู่ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net