Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อฤดูเลือกตั้งมาถึง จะเห็นว่าคนต่างจังหวัดจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่เมืองใหญ่ หรือพื้นที่อุตสาหกรรม  เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง เพื่อไปเลือกผู้แทนราษฎรตามสิทธิที่มีสำเนาทะเบียนบ้านรับรอง  บางครั้งแม้แต่การเลือกตั้งตัวแทนระดับระดับท้องถิ่น  เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ต้องไปกัน 

ทั้งๆที่โลกความเป็นจริง คนต่างจังหวัดจำนวนมาก หาได้ดำรงชีวิต ทำมาหากิน มีอาชีพในถิ่นกำเนิดบ้านเกิดตนเองจังหวัดตนเองแล้ว  หรือไม่ได้อยู่บ้านตนเองมานับสิบๆปีแล้ว

พวกเขาไม่ได้เป็นคนบ้านนอก ไม่ได้เป็นคนเดิมถิ่นเมืองเก่าแล้ว พวกเขากลายเป็นคนเมืองลำพูน คนเชียงใหม่ คนโคราช คนชลบุรี คนระยอง คนสมุทรปราการ ฯลฯ และเป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รองรับแรงงานพวกเขา  

แน่นอนว่า  การเลือกตั้งที่เป็นอยู่ อาจจะมีความหมายน้อยลงสำหรับพวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่อาจที่จะบอกผู้แทนทุกระดับว่า พวกเขาอยากให้ช่วยเหลืออะไร? ต้องการให้ทำไร? เมื่อชีวิตจริงพวกเขาไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งที่เขามีสิทธิเลือก

เพียงไปเลือกตั้ง แต่หาได้ชีวิตในพื้นที่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง  เลือกไปก็เหมือนลอยไปกับสายลม ?

อาจมีคำถามว่า แล้วทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ย้ายทะเบียนบ้านมาในพื้นที่ที่เขาทำงานทำมาหากิน  เพื่อมีสิทธิเลือกและมีสิทธิในชีวิตเลือกได้อย่างแท้จริง

พวกเขาไม่ได้เป็นราชการ ไม่ได้เป็นคนชั้นกลาง ที่มีบ้านอยู่เองของตนเอง จึงไม่มีทะเบียนบ้านและการมีสิทธิเลือกตั้งต้องมีตามทะเบียนบ้านจึงลำบากยากนักสำหรับพวกเขา  แต่เนื่องเพราะพวกเขาเป็นนั้นคนระดับล่างชนชั้นนั้นล่าง จึงไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเอง เพียงมีชีวิตอยู่รอดก็แสนเข็ญมิอาจฝันถึงบ้านสักหลัง   พวกเขาจำนวนมากจึงต้องเช่าหอพัก  เช่าบ้านเขาอยู่ 

ด้านหนึ่ง  ย่อมบอกว่า  สภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย  ชนบทเปลี่ยนไป  การย้ายถิ่นฐาน การดิ้นรนเพื่ออยู่รอด การหารายได้ การมีอาชีพใหม่ ทำงานทั้งค่ำดึกยันสว่างก็มีชีวิตย่อมเปลี่ยนไปเช่นกัน เหมือนดั่งเพลงดอกนีออนบานค่ำของ ตั๊กแตน

พวกเขาอาจเป็นสาวหนุ่มโรงงาน  เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง   เป็นแม่ค้าส้มตำ คนขายผลไม้ดอง เป็นยามเฝ้าธนาคาร เป็นคนขายล๊อตตารี่  เป็นช่างซ่อมรถยนต์  เป็นแม่บ้านทำความสะอาด ทำงานขายของที่เซเว่น ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพวกเขาไม่มีบ้านของตนเองไม่มีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านที่เขาอยู่  เขาจึงไม่มีสิทธิเลือกตั้งในที่ๆเขาทำงานและที่เขาใช้ชีวิตดำรงอยู่นับชั่ววันเวลา เขาจึงต้องกลับบ้านนอกกลับถิ่นเก่าเพื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

หลายปีมาแล้ว องค์กรผู้ใช้แรงงาน ได้เสนอให้รัฐบาลหลายรัฐบาล เพื่อให้ออกกฎหมายและให้รัฐธรรมนูญรองรับสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ แต่ดูเหมือนข้อเสนอนี้ไม่มีนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองในระบอบรัฐสภามองเห็น มิต้องกล่าวถึงพวกนิยมระบอบอำมาตยาธิปไตยค่ำครึ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่จะมาถึง  ก็คงมีผู้คนจำนวนมาก ที่กลายเป็นคนในกรุงเทพฯ อยู่กรุงเทพฯมานาน ทำมาหากินที่กรุงเทพฯมาอย่างมิอาจกลับไปทำงานที่บ้านเก่าได้แล้ว เป็นชนชั้นล่างจำนวนนับล้านคนก็ว่าได้  ไม่มีโอกาส ไม่มีมสิทธิเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯได้ ทั้งๆที่ผู้ว่ากรุงเทพฯควรเป็นคนที่เขามีสิทธิเลือกตามหลักการระบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง 

ดังนั้น  ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้กฎหมายสิทธิการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องบัญญัติให้สิทธิการเลือกตั้งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง  แน่นอนว่ามิเพียงสิทธิผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการเท่านั้น  คงต้องรวมถึงสิทธิแรงงานส่วนอื่นๆ สิทธิคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้อยู่บ้านเกิดแล้ว ด้วยเช่นกัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net