Skip to main content
sharethis
นักสังคมวิทยามักจะสนใจค้นหาการอธิบายการดำรงอยู่รวมกันของคนในสังคม และชุดของความสัมพันธ์ของสมาชิกที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นความรู้ของนักสังคมวิทยามีอยู่ชุดหนึ่งเรียกว่า ‘สังคมวิทยาสงคราม’ หรือ sociology of war จะศึกษาเกี่ยวกับสันติภาพ สงคราม และความขัดแย้งในสังคม มีทฤษฏีในการอธิบายและระเบียบวิธีวิจัยเพื่อเข้าใจพลวัตรของความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า
 
การศึกษาความขัดแย้งที่ว่าจะเน้นที่สถาบันที่รับผิดชอบด้านความมั่นคง เช่น ทหาร และความขัดแย้งระหว่างประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ การเคลื่อนไหวด้านการเมือง และกลุ่มศาสนา รวมทั้งสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันของรัฐ หรือองค์กรอิสระ และกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ 
 
ที่นี้ลองวิเคราะห์การเข้าจู่โจ่มฐานปฏิบัติการทหารกองร้อยปืนเล็กที่ 2 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือของกลุ่มแนวร่วม ในมุมมองสังคมวิทยาสงคราม โดยแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นสองชั้น คือสิ่งที่เห็นและสิ่งที่มองไม่เห็น
 
สิ่งที่เห็น ประการแรก ‘เป้าหมาย’ การปฏิบัติการในครั้งนี้มีค่อนข้างมีความชัดเจนว่าเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะสถานที่ในการปฏิบัติการเชื่อกันว่าคือทหารกองร้อยปืนเล็กที่ 2 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ ซึ่งต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด โรงแรม หรือท้องถนน ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ของคู่ความขัดแย้ง คือ รัฐที่เป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มกับกลุ่มแนวร่วม ตามข่าวที่ปรากฏตามหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รัฐในที่นี้คือ ทหารกองร้อยปืนเล็กที่ 2ฯ และกลุ่มแนวร่วม RKK
 
สิ่งที่เห็น ประการที่สอง คือ ‘ใบปลิว’ จากกลุ่มแนวร่วมที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอ โดยมีข้อความว่า “การทารุ(น)ณ จับกุม ข่มขู่ ยัดเยียด ซ้อมทรมาน และวิสามัญผู้บริสุทธิ์ในภาวะขัดขืน การจับกุมด้วยการสร้างภาพและตีข่าว (การฆ่าผู้บริสุทธิ์ให้ดูดี) วันนี้เราจะไม่นิ่งนอนใจ เราจะทำการตอบโต้ทุกรูปแบบด้วยกำลังความพร้อมทางอาวุธ กำลังทรัพย์ และทุกมวลชนเพื่อทุกความเจ็บปวด ทุกหยดเลือด ทุกชีวิตที่เกิดจากความรุนแรงของรัฐทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น วันนี้และหลังจากนี้ ชีวิตและลมหายใจที่ประชาชน ครู อาจารย์ ชุมชนไทยพุทธ พวกมันเองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ใช้เส้นทางถนน ชีวิตประจำวัน คุ้มกันอย่างไรก็ตาม เราจะปลิดชีพมัน และทวงคืนทุกชีวิตที่เราสูญเสียไป (หยดเลือดมุสลิมผู้บริสุทธิ์ มีค่ามากกว่าไทยพุทธเป็น 10 เท่า)”  
 
Carl von Clausewitz (1976 cited in Scruton, 1987) ได้ให้นิยามสงครามว่า การกระทำที่รุนแรงเกิดจากความต้องการที่จะขจัดคู่ความขัดแย้งออกไป ด้วยวิธีต่างๆ ต่อมานิยามดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นจนกระทั่งหมายถึง ‘สู้จนตัวตาย’ (fight to the death) โดย Roger Scruton (1987) ให้ความหมายของการต่อสู้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่คนมากกว่าสองคนต้องการจะจบชีวิตของตนลง และเขากล่าวว่า การต่อสู้ดังกล่าวมีหลักคู่ตรงข้ามกันคือ ‘ความรักและความเกลียด’ (hatred and love) ถ้าการต่อสู้เกิดขึ้นจากความเกลียดและผนวกกับความรัก ผลของทั้งรักและเกลียดจะเป็นตัวที่จบชีวิตของมันเองได้ในท้ายที่สุด
ถ้าข่าวรายงานถูกต้อง กรณีการบุกโจมตีฐานปฏิบัติการทหารนำโดย นายมะรอโซ จันทรวดี เป็นผลของทั้งความรักและความเกลียด ความรักในพวกพ้องที่ไม่เห็นชอบและอดทนไม่ได้กับที่ ‘กลุ่มผู้บริสุทธิ์’ ถูกทารุน จับกุม ข่มขู่ ซ้อมทรมาน จนไปถึงการวิสามัญ และด้วยความรักเช่นนี้ นายมะรอโซ และกลุ่มพรรคพวกจำนวนมากกว่า 50 นาย เปลี่ยนเป็นพลังความเกลียดชังที่มีอำนาจเพียงพอและพร้อมที่จะจบชีวิตทั้งของตนเองและฝ่ายตรงข้ามกับเขาในเวลาเดียวกัน โดยปรากฎผลก็คือ ความพ่ายแพ้ของกลุ่ม RKK และการจบชีวิตลงของกลุ่มแนวร่วมเกือบ 16 ชีวิตที่มีนายมะรอโซเป็นแกนนำ
 
ส่วนสิ่งที่ไม่เห็นคือ ‘ชั้นของความทรงจำ’ ซึ่งตั้งคำถามโดย Kestnbaum (2009) ว่า สงครามได้เปลี่ยนไปสู่ประสบการณ์ที่เหนือกว่าธรรมดาได้อย่างไร?
 
กรณีของนายมะรอโซ จันทรวดี อายุ 31 ปี ถูกนำเสนอว่าเป็นแกนนำ RKK ตัวจริง และถ้าสมมติว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นายมะรอโซ เมื่อครั้งนั้นมีอายุ 22 ปี
 
ผู้ชายที่อายุ 22 ปี ส่วนใหญ่ทำอะไรกัน? เรียนต่อปริญญาโท หางานทำ แต่งงาน?
 
ถ้าใบปลิวเป็นของกลุ่มนายมะรอโซจริง ก็น่าเชื่อได้ว่า นายมะรอโซและพรรคพวกเติบโตขึ้นมาด้วยความทรงจำที่เชื่อว่า ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐรังแก และที่ผ่านมาการถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ถือว่าพอมีประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ไม่ใช่ถึงกับไม่มีเลย 
 
มีเหตุการณ์ไหนบ้างที่ชาวบ้านจะรู้สึกคับแค้นใจกับเจ้าหน้าที่รัฐถึงขนาดสามารถผันตัวไปเป็นกลุ่มแนวร่วม และสามารถลงมือโจมตีฐานทัพ จนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
 
คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ในรายงานข่าวของเอกรินทร์ ต่วนศิริ เรื่อง “มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK” ถ้ารายงานข่าวเป็นจริง ถ้าเรื่องที่มารดาของนายมะรอโซเล่าเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีตากใบ ที่จับกุมนายมะรอโซซึ่งอ้างว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่ถูกทรมานระหว่างการควบคุม เป็นเรื่องจริง นายมะรอโซและพรรคพวก นอกจากมีชั้นของร่างกายที่เจ็บปวดแล้วยังมีชั้นของความทรงจำที่เจ็บปวดอีกด้วย ความเจ็บปวดเหล่านี้ส่งผลให้นายมะรอโซและพวกต้องการจบชีวิตทั้งของตนเองและฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่ว่านายมะรอโซสูญเสียมากกว่า
 
จะว่าไปแล้ว ความทรงจำที่เจ็บปวดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่อีกมาก ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ตากใบเท่านั้น
 
หากจะยังไม่ลืมกัน ยังมีเหตุการณ์การนำเครื่อง GT200 หรือ “เครื่องตรวจร่องรอยสสารระยะไกล”  ผลิตโดย Global Technical สหราชอาณาจักร ซึ่งเคยถูกนำมาใช้จำนวนมากโดยกองทัพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
GT200 นี้นำไปสู่การจับกุมประชาชนจำนวนมาก!! โดยที่ชาวบ้านจำนวนมาก ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเท่าที่ควรเพราะรัฐเองเชื่อเครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเภทนี้ มากกว่ากระบวนการสืบค้นข้อเท็จจริงอย่างจริงจังและจริงใจ  
 
ภายหลังเครื่องมือดังกล่าวถูกตรวจสอบประสิทธิภาพ โดย ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าอุปกรณ์ประเภทนี้ไม่สามารถใช้งานได้จริง นอกจากนี้ยังมีคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (หน้า 1/1) เรื่อง การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที ข้อ 3.2 ระงับการนำเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT 200 ไปใช้กับบุคคล 
 
GT200 ณ ปัจจุบันนี้ หายเงียบไปแล้วจากสังคมไทย และยังไม่มีใครได้ศึกษาผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงๆ จังๆ !! แต่ที่แน่ๆ มีชาวบ้านที่ถูกเชิญไปพูดคุยที่ทั้งที่ค่ายทหารและที่โรงพักเป็นจำนวนไม่น้อยและนานหลายปี จนนำไปสู่การสร้างข่าวลือในหมู่ของชาวบ้านเองว่า ‘ไปแล้วไม่ได้กลับมา’ และหลายคนอ้างว่า ตนเองถูกซ้อมและถูกทรมาน ระหว่างการถูกควบคุม
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภายหลังก็มีการจับมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อบรมอาสาสมัครในพื้นที่ เรียนรู้การนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อการร้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดช่องว่างเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในพื้นที่
 
ถ้ารายงานข่าวของเอกรินทร์ถูกต้อง นายมะรอโซและพรรคพวก ก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม RKK ตั้งแต่ต้น แต่ปัจจัยทางสังคมที่เรียกว่า องค์กรของรัฐ มีส่วนผลักดันให้พวกเขาเหล่านี้อยู่ไปอีกฝ่ายอาจจะโดยไม่เจตนา
 
ข้าพเจ้าเชื่อว่า หลายฝ่ายทำงานกันหนักเพื่ออยากให้ได้สันติภาพคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แต่การทำงานหนักก็ต้องการ การตรวจสอบด้านคุณภาพ เพื่อลดขอบเขตความรุนแรง และปัจจัยทางสังคมอื่นๆ ที่อาจจะทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายขอบเขตโดยไม่ได้ตั้งใจ
 
แต่สำหรับครั้งนี้ ชีวิตของนายมะรอโซและพวก ได้สร้างความทรงจำอีกชุดใหม่อีกชุดหนึ่งให้กับคนในพื้นที่ โดยได้ผุดความทรงจำอันแสนจะเจ็บปวดเดิม ผสมกับความทรงจำใหม่ โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตและความตายของนายมะรอโซและพวกผนวกเข้าไป ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น สงครามอมตะ (Immortal combat) ที่ยากจะมีวันตาย
 
 
บรรณานุกรม
Kestnbaum, M. (2009). The Sociology of War and the Military. The Annual Reviews of Sociology. 35. 235-54.
Scruton, R. (1987). Note on the Sociology of War. The British Journal of Sociology. 38(33). 295-309.
ทวีธรรม ลิมปานุภาพ. (2554). เกาะติดเรื่องราว ไม้ล้างป่าช้าไฮเทคกับ gt200.org (1-4). Update. กรุงเทพ: บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net