Skip to main content
sharethis

วงอภิปรายในงานประชุมของเหล่านักวิทยาศาสตร์โลกที่ริโอ เดอ จาเนโร เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดกันก็คือ ทำอย่างไรที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จะไปถึงคนที่ไม่เคยเปิดอ่านข่าววิทยาศาสตร์มาก่อน และหลายคนก็อาจจะสนใจแต่ไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ในงานสัมมนา 2013 Global Network of Science Academies (IAP) ที่จัดขึ้นที่ ริโอ เดอ จาเนโร่ ประเทศบราซิล เมื่อ 24-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงความท้าทายในการ “ยกระดับการรู้หนังสือวิทยาศาสตร์” (Improving science literacy) ประเด็นที่พูดคุยกันเป็นเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์กับผู้ใหญ่ และ การให้การศึกษาวิทยาศาสตร์กับเด็ก

Maggie Koerth-Baker คอลัมนิสต์ของ The New York Times Magazine และ บรรณาธิการวิทยาศาสตร์ของ BoingBoing.net  เชื่อว่าโจทย์ที่ท้าทายมากกว่าในการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ คือ ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงผู้อ่านที่ไม่มาเปิดหน้าข่าววิทยาศาสตร์ หรือไม่รู้ตัวว่าสนใจวิทยาศาสตร์

เธอแสดงความเห็นว่า อินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยในการเข้าถึงคนเหล่านั้นได้ เพราะเป็นช่องทางให้เกิดบทสนทนากับกลุ่มคนที่เราไม่ได้พบปะในโลกภายนอก และยังทำให้เราสามารถนำเสนอวิทยาศาสตร์อย่างน่าสนใจได้หลายแบบ

นอกจากนี้ ในช่วงจับกลุ่มถกประเด็นยังได้มีการพูดถึงทางออกของความท้าทายนี้ 1 ในข้อสรุปที่ได้ คือ นักวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องสร้างช่องทางใหม่เพื่อให้สื่อสารสำเร็จ พวกเขาสามารถใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ อินเตอร์เน็ต และ สื่ออื่นๆ ได้ ภายในกลุ่มเห็นพ้องว่า นักวิจัยจำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ เช่น จัดงานต่างๆ ในห้องสมุด พูดออกทีวี และ อื่นๆ

ผู้เข้าร่วมอภิปรายยังได้พูดถึงบางโอกาสที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นที่จะสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ออกไป แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย โดยชี้ว่าการส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่สื่อสารกับสาธารณชน และ ให้พวกเขาทำงานได้อย่างอิสระ เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา

ขณะที่ Petra Skiebe Correte นักวิจัยด้านประสาทชีววิทยาจาก Freie Universität Berlin กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมให้เด็กมีความพร้อมแก้ไขปัญหาที่จะรับช่วงต่อไปจากรุ่นของเรา อีกทั้งยังระบุข้อดีว่า การรู้หนังสือวิทยาศาสตร์ จะช่วยปูพื้นให้เด็กแก้ไขปัญหาท้องถิ่น เป็นนักคิดที่มีวิจารณญาณ และ สามารถทำงานกับความท้าทายในอนาคต

ด้าน Shelley Peers ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนประถม ‘Primary Connections: linking science with literacy’ จาก Australian Academy of Science ชี้เป้าไปที่ความท้าทายในการจัดสรรการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพในโรงเรียนประถมทั่วโลก

สำหรับสังคมไทย เราสนใจและนิยมบริโภควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้โดยทั่วไปภายในประเทศได้เอง ทั้งที่คลุกคลีอยู่ในสาขาใดสาขาหนึ่ง เช่น เกษตรกรรม มาเป็นเวลานานและมีการทำงานวิจัยออกมามากมาย จึงส่งผลให้ต้องพึ่งพานำเข้าเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การมีรายการทีวีและสื่อต่างๆ มากมายที่นำเสนอการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงไม่เพียงพอ แต่ยังต้องมีการกระตุ้นให้ผู้คนสามารถให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ เหตุการณ์ และสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล ตลอดจนถกประเด็นที่มีผลกระทบต่อสังคม โดยเริ่มต้นจากความรู้พื้นฐาน เช่น ทำไมอากาศในฤดูร้อนจึงร้อนกว่าฤดูหนาว หรือ อะตอม และ โมเลกุล มีความแตกต่างกันอย่างไร  วิธีการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้คนได้รู้และเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างไร ไปจนถึงทำให้ผู้คนมีวิธีการในการคิดวิเคราะห์พิจารณา และนำวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ต่อไป
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net