บทบาทของ C-SPAN ต่อสังคมอเมริกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทีวี C-SPAN มาจาก Cable-Satellite Public Affairs Network หรือเครือข่ายโทรทัศน์เพื่อกิจการสาธารณะของอเมริกัน ซึ่งเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 1979 ก่อนที่จะขายกิจการเพิ่มอีก 2 ช่องคือ C-SPAN 2 และ C-SPAN 3 ในปี 1986 และในปี 2001 ตามลำดับ รวมถึงกิจการวิทยุอีก 1 สถานี โดยการบริหารองค์กรเป็นไปในรูปแบบกิจการไม่หวังผลกำไร (Nonprofit organization) เหมือนกับทีวีสาธารณะอย่างช่อง PBS หรือ Public Broadcasting Services ของอเมริกัน

C-SPAN เป็นเจ้าของโดย National Cable Satellite Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน ประเภทที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานสาธารณะอย่างเช่น รัฐบาลกลาง หรือรัฐสภา(คองเกรส) ซึ่งมีศูนย์กลางที่แคปิตัลฮิลล์(Capitol Hill) วอชิงตัน ดี.ซี.

ส่วนทุนการดำเนินกิจการมาจากการเสียค่าบำรุงของสมาชิก(ผ่าน)ระบบเคเบิลและ(ผ่าน)ระบบดาวเทียม ผู้ชมจ่ายเพียง 6 เซนต์ต่อคนต่อเดือน จึงเป็นทีวีที่ไม่มีโฆษณาแต่อย่างใด

C-SPAN เป็นแบบอย่างของการจัดตั้งองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรที่ทำสื่อประเภททีวี ในอเมริกาและเป็นแบบอย่างของประเทศอื่นๆในโลก , Brian Lamb ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานบริหารของทีวีแห่งนี้ มีความคิดในดำเนินการกิจการทีวีเชิงสาธารณะในปี 1975 ก่อนที่ความคิดของเขาจะรวบรวมสรรพกำลังทั้งความรู้และมิตรสหายด้านเคเบิล จนประสบความสำเร็จเอาในปี 1979 หลังจากนั้นเขาก็เปิด C-SPAN เพิ่มอีก 2 ช่อง คือ C-SPAN 2 กับ C-SPAN 3 โดยช่องแรกนั้น เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของสภาคอง เกรส (สภาล่าง)และกิจกรรมการเมืองของรัฐบาลกลาง ช่องที่ 2 เพื่อเผยแพร่ กิจกรรมของวุฒิสภา (สภาสูง) รวมถึงรายการเกี่ยวการแนะนำหนังสือที่เรียกว่า Book TV และช่องที่ 3 เพื่อเผยแพร่การรับฟังความคิดเห็น(Hearing) ของฝ่ายกรรมาธิการชุดต่างๆ รวมถึงรายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การก่อสร้างประเทศอเมริกา

Lamb อยู่กับ C-SPAN ,นานกว่า 33 ปี เขาเพิ่งขยับตำแหน่งประธานบริหาร(Executive Chairman)ของทีวีไม่หวังผลกำไรแห่งนี้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปีที่แล้ว (2012) ขณะที่ลูกหม้อของ C-SPAN อย่าง Rob Kennedy กับ Susan Swain ดำรงตำแหน่งหัวหน้าบริหารร่วม (co-chief executives) ของC-SPAN ทั้ง 3 ช่อง โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า จะเกษียณการทำงาน(Semi –retire) อย่างเป็นทางการภายใน 2 ปีข้างหน้า แต่เขาก็บอกในตอนท้ายว่า ยังรักการทำงานสื่อในรูปแบบที่เขาสร้างขึ้นมา

C-SPAN ประเดิมรับทุนสนับสนุนครั้งแรกจาก Robert Rosencrans จำนวน 25,000 เหรียญ ขณะที่เวลานั้น Lamb ทำงานเป็นนักข่าวด้านอุตสาหกรรมสื่อสารที่วอชิงตัน ดี.ซี.ไม่มีใครในตอนนั้นเชื่อว่า C-SPAN จะขยายเครือข่ายออกไปทั่วอเมริกา จนกระทั่งสามารถมีสมาชิกผู้ชมจำนวนเดินกว่า 100 ล้านเครื่องรับเคเบิลและเครื่องรับดาวเทียมในอเมริกา (ข้อมูลปี 2010) ไม่รวมการเข้าชมผ่านเว็บไซต์ C-SPAN คือ www.c-span.org

สื่อ C-SPAN สร้างขึ้นมา จากแว่บแรกของความคิดของ Lamb ที่ต้องการให้คนอเมริกัน ได้รับทราบการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลกลาง และหน่วยงานของรัฐสภาอเมริกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสื่อ(กลาง)อื่นๆเช่น ทีวี หรือหนังสือพิมพ์ แต่เขาต้องการให้คนอเมริกันเห็นว่า การทำงานของรัฐบาลกลางและรัฐสภาแบบไม่ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งก็คือ การออกทางสื่อตรงๆ โดยไม่มีการตัดต่อหรือวิเคราะห์ เป็นอย่างไร เพราะเขาเห็นว่า การรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อทั่วๆนั้น ผู้บริโภคข่าว ได้รับข่าวสารที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของเหตุการณ์และเป็นเหตุให้การสื่อสารมีความคลาดเคลื่อน เขาจึงต้องการให้ C-SPAN บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองทุกๆตอน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ แคปิตัลฮิลล์ ศูนย์กลางการเมืองของอเมริกันและของโลก

C-SPAN นิยามช่องของตนเองว่า เป็น window into the world of Washington politics หรือเป็นเสมือนหน้าต่างสู่โลกการเมืองของวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเมืองแห่งนี้เป็นเหมือนศูนย์บัญชาการโลก ,รายการอย่าง Road to the White House เป็นรายการที่นำเสนอเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของอเมริกัน หรือแม้แต่รายการล่าสุดที่น่าสนใจซึ่งเพิ่งเริ่มเมื่อต้นปี 1023 คือ รายการ First Ladies: Influence and Image (สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง : อิทธิพลและภาพลักษณ์) ซึ่งเป็นรายการสารคดีเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภริยาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือสตรีหมายเลขหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน โดยรายการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาคมด้านประวัติศาสตร์ทำเนียบขาว (White House Historical Association)

นอกเหนือไปจากความพยายามของ Lamb และทีมงานในการนำเสนอความรู้ต่างๆ กับประชาชนอเมริกัน เช่น ความรู้ด้านประวัติศาสตร์อเมริกัน หรือการสถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบฉบับอเมริกัน รวมถึงรายการเปิดใจนักเขียนอเมริกัน คือให้นักเขียนมีโอกาสนำเสนอผลงานของตัวเองต่อสาธารณะ

ขณะเดียวกัน C-SPAN มีความสำคัญในแง่ของการเป็นองค์กรสื่อทีวีที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกันไว้มากที่สุด จนกระทั่งสื่ออเมริกันต่างๆ นำข้อมูลที่ C-SPAN บันทึกไว้นี้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ (เครดิตอ้างอิง) ในการนำเสนอข่าวและการวิเคราะห์ข่าวจำนวนมาก

ในแง่ความลำเอียง (Bias) ของการนำเสนอรายการทางการเมือง C-SPAN อย่างเช่นรายการ Washington Journal, Booknotes, Q & A และรายการ Afterwords ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพวกเสรีนิยมว่า เข้าข้างพวกอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกัน เมื่อปี 2005 องค์กรประเมินและสำรวจสื่ออเมริกันชื่อ Fairness and Accuracy in Reporting (FAIR)ระบุจากผลการศึกษาว่า ชาวรีพับลิกันพอใจรายการของ C-SAPN มากกว่าชาวเดโมแครต

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ชม C-SPAN มีชาวรีพับลิกัน ซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากกว่า เพราะการนำเสนอรายการสารคดีการเมืองของทีวีช่องนี้มุ่งความเป็นมาของชาติอเมริกา ความเป็นอเมริกัน และความเป็นจักรวรรดิอเมริกัน(American Empire) ประเด็นสำคัญกลับอยู่ที่ปรัชญาการทำทีวีแนวนี้ อยู่ตรงที่แนวทางการผลิตรายการ และความสามารถอยู่รอดของช่องทีวี โดยการสนับสนุนจากมวลชนอเมริกันเป็นหลักจำนวนมาก

และถึงแม้มีการวิจารณ์ถึงความลำเอียงของการนำเสนอรายการต่างๆ ของ C-SPAN ก็จริง แต่ความโดดเด่นของ C-SPAN กลับมีมากกว่าทีวีช่องพาณิชย์อื่นๆของอเมริกันเสียด้วยซ้ำ แม้กระทั่งช่อง PBS ที่ทัศนคติของคนดูในแง่ของความลำเอียงเมื่อเทียบกับ C-SPAN แล้วเป็นไปอย่างสูสี

เหตุผลก็คือ ระบบการสนับสนุนด้านการเงิน ที่เก็บจากสมาชิกทั้งจากเคเบิลและดาวเทียม ที่เรียกว่า Direct-broadcast satellite (DBS) ของ C-SPAN ทำให้การทำงานของทีวีสาระของอเมริกันช่องเดียวกันนี้ ทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการควบคุมของอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีในอเมริกา รวมถึง ที่สำคัญ คือ ปราศจากการควบคุมหรืออิทธิพลของฝ่ายรัฐบาลกลางและฝ่ายรัฐสภาอเมริกัน(คองเกรส)

หมายถึง เพราะคองเกรสเองไม่ได้เป็นผู้อุดหนุนเงินช่วยเหลือแก่ C-SPAN ใดๆเลย การผลิตรายการในเชิงของความเป็นกลางจึงได้รับการยอมรับนับถือจากสื่อต่างๆของอเมริกันโดยทั่วไปด้วยกันเอง แตกต่างจากทีวีสาธารณะของหลายประเทศที่อาศัยเงินอุดหนุนจากหน่วยงานที่เป็นแขนขาของรัฐ หรือแม้แต่ของรัฐสภา!

ดังนั้น C-SPAN ย่อมได้รับเครดิตอย่างมากจากสื่ออเมริกันและสื่อต่างชาติ ในการนำไปใช้เพื่ออ้างอิง จนกลายเป็นห้องสมุดทีวีไปโดยปริยาย

จนถึงเดือนมกราคม 2013 C-SPAN มีพนักงานจำนวน 282 คน(เท่านั้น) ซึ่งว่าไปแล้วหากเทียบกับประชากรอเมริกันจำนวนกว่า 300 ล้านคนแล้ว ต้องถือว่า ทีวีสาระ(การเมือง)ของอเมริกันช่องนี้มีพนักงานน้อยมาก ทั้งนี้สัมฤทธิ์ผลดังกล่าวเกิดจากการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและเข้าใจในจุดขายของคณะผู้บริหารอย่าง Brian Lamb และลูกทีม

C-SPAN มีสตูดิโอหรือห้องส่ง สาขา 2 แห่ง เท่านั้น คือ ที่นิวยอร์คและที่เมืองเดนเวอร์ (รัฐโคโลราโด) ซึ่งเปิดไปเมื่อปี 2003 โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณระบบดิจิตัล ควบคุมจาก ศูนย์บัญชาการที่แคปิตัลฮิลล์ ,วอชิงตัน ดี.ซี. แต่ทั้งสองที่ก็ใช้คนน้อยมาก

หากประเด็น ที่เป็นใจความสำคัญของลักษณะการจัดการจนประสบผลสำเร็จของ C-SPAN กลับอยู่ที่เทคนิคการบริหารอันชาญฉลาดของ Brian Lamb และทีม ที่ใช้การบริหารองค์กรสื่อทีวีในฐานะการคงความเป็น “สื่ออิสระ”(จริงๆ) ทั้งที่ C-SPAN ใกล้ชิดอำนาจสาธารณะ(Public power) ,ใกล้ชิดบุคคลสาธารณะ(Public figure)อย่างมาก ซึ่งผลจากการดำรงสถานะดังกล่าว ทำให้ C-SPAN เป็นไว้วางใจจากภาคประชาชนและภาคสื่อด้วยกันเอง

เพราะเขา(Lamb) ตระหนักว่า ปรัชญาการบริหารจัดการทีวีเพื่อให้มีสภาพเป็นองค์กรอิสระนั้นทำได้(จริงๆ)จากเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมการทำสื่อทั้งหมดในอเมริกา ,จำนวนคน(พนักงาน) จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

อำนาจสื่อของสื่อนั้นมีอยู่จริง ขณะเดียวกันอำนาจของแคปิตัลฮิลล์ และทำเนียบขาวก็มีอยู่จริงด้วย เขาจึงเลือกกระทำกิจการ(สื่อ)ที่ศูนย์กลางและตรงหัวใจของเรื่องราวการเมืองของคนอเมริกัน และของโลกทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาสถานที่อื่นใดหรือแสวงหาพนักงานจำนวนมากให้วุ่นวาย.

 

หมายเหตุ : หวังถึงการที่สื่อไทยยุคดิจิตัลจะนำปรัชญาการบริหารจัดการสื่อทีวีของ Brian Lamb ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท