นักวิชาการจี้สภาแก้ ม.291 หลังการแก้ ม.68

 
6 เม.ย. 56 - นักวิชาการกลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ ซึ่งประกอบไปด้วยนายวสันต์ ลิมป์เฉลิม, นายชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ และนายวัชรพล ยงวณิชย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้ออกแถลงการณ์ “เรียกร้องให้รัฐสภามุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ภายหลังการแก้ไขมาตรา ๖๘ แล้ว” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
หลังจากที่รัฐสภาชะงักงันในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วให้ประชาชนลงประชามติ เมื่อกลางปีที่แล้ว (๒๕๕๕)เนื่องจากได้มีผู้ไปร้องยังศาลรัฐธรรมนูญว่า การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครอง  ซึ่งปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามมาตรา ๖๘ ในการรับคำร้องโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำร้องก่อน นั้น   สถานการณ์ล่าสุดรัฐสภาได้ใช้เวลาประชุมระหว่าง ๑-๓ เมษายน ๒๕๕๖ ผ่านวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการในการเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ (นอกเหนือจากมาตราอื่นๆ ได้แก่ มาตรา 190 มาตรา 237 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา) ที่ยืนยันว่า การใช้เสรีภาพในการกล่าวหาว่ามีการล้มล้างการปกครองนั้น ต้องยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาก่อน  หากอัยการเห็นว่ามีมูล  จึงส่งต่อยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป  การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ของรัฐสภาที่ทอดเวลายาวนานกว่า ๘ เดือนนี้ (กรกฏาคม ๒๕๕๕-ต้นเมษายน ๒๕๕๖) แสดงให้เห็นลักษณะการพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีลักษณะปะทะตอบโต้อย่างแข็งกร้าว
 
กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะเห็นว่า หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ แล้ว รัฐสภาต้องดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ด้วยเหตุผล ๔  ประการ ดังนี้
 
๑.รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั้น มีโครงสร้างเนื้อหาจำนวนมากที่ขัดแย้งกับหลักการนิติรัฐและประชาธิปไตย การบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ดุลอำนาจหนักไปทางองค์การตุลาการมากเกินไปจนขัดกับหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และปรากฏการตัดสินคดีจำนวนมากมีลักษณะที่ผิดปกติจากหลักกฎหมาย ดังเช่น คดีปลดนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช คดียุบพรรคการเมือง ๓ พรรคเมื่อปลายปี ๒๕๕๑ ฯลฯ
 
๒.ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนที่จะเข้าสู่ประชาคมทางเศรษฐกิจอาซียนในปี ๒๕๕๘ ต่างมีความจำเป็นเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ดังกรณีการที่ปัจจุบันรัฐสภาผ่านมติขั้นรับหลักการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ๒.๒ ล้านล้านบาท (ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....) ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าใลกปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตยรองรับควบคู่กัน เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจพลังต่างๆในสังคมด้วยการใช้เหตุผล และสันติ  ทำให้แก้ปัญหาการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม และทำให้ประเทศสามารถมีเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองได้  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างมั่นคงไปไม่ได้จริงหากการเมืองยังเป็นปัจจัยถ่วง  การออกแบบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับพลังการเติบโตของกลุ่มพลังชนชั้นกลางใหม่จึงมีความสำคัญ ไม่ให้ดุลอำนาจเอียงไปยังกลุ่มชนชั้นสูงมากเกินไป 
 
๓.ในสภาพที่วิกฤตความขัดแย้งของสังคมไทยยังค้างคาอยู่นั้น ขณะที่ประเทศต้องเดินหน้า วิธีการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการแยกลู่ทางหรือมีช่องทาง หรือมีเวทีที่เปิดกว้างแก่สังคมในการการสานเสวนา หากติกาทางออกที่สร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยอาศัยกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นเครื่องมือสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนเป็นเครื่องมือประสานความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันของคนไทยกลุ่มต่างๆ แล้วกำหนดวิสัยทัศน์ของคนไทยทั้งประเทศร่วมกันที่จะขับเคลื่อนบ้านเมืองไปสู่จุดหมายในอนาคต ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการยกร่างและให้ความเห็นชอบ
 
๔.ตามหลักประชาธิปไตย ประชาชนมีฉันทานุมัติมอบหมายให้ตัวแทนไปใช้ “อำนาจอธิปไตย” แทนประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจนั้น ในขณะเดียวกัน ประชาชนย่อมมีสิทธิ์จะมอบหมายตัวแทนไปทำหน้าที่แทนตนได้เป็นเรื่องๆไปในกรณีที่เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ของชาติอย่างมาก ดังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญถึงขั้นยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า ๘ ปีเช่นนี้ จึงเป็นการสมควรที่ประชาชนจักพึง “มอบอำนาจ” ให้กับตัวแทนของประชาชนอีกชุดหนึ่งเป็นการเฉพาะต่างหากจากสมาชิกรัฐสภา (ที่อาจมองได้ว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ไขกฎกติกาของการแข่งขันเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจและควบคุมการใช้อำนาจของตัวเองนั้นๆ) เพื่อให้เป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อย่าง “ เป็นกลาง ” โดยปราศจากข้อครหาว่ามีปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน”  และในท้ายที่สุด ก่อนร่างรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ ต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากประชาชนก่อน 
 
จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภามุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ต่อไป เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานการสร้างความมั่นคงในการพัฒนาเติบโต และก้าวหน้าของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
 
กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ
 
นายวสันต์ ลิมป์เฉลิม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
นายชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
นายวัชรพล ยงวณิชย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท