Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี เรียกร้องคู่ขัดแย้งทางการเมืองเคารพหลักการ องค์กรอิสระปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงการพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

 

จดหมายเปิดผนึก เรื่อง
เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้การแข่งขันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

10 ธันวาคม 2556

ถึง พรรคการเมืองทุกพรรค  และ กปปส.

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันสะท้อนถึง “วิกฤต” ของสังคมไทย ซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานและยังคงไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปิด “โอกาส” ในการแก้ไขความขัดแย้งด้วยหลักประชาธิปไตย หลักการเคารพกฎหมาย และหลักสันติวิธี ดังเห็นได้จากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายผู้ชุมนุม ฝ่ายทหารกำหนดท่าทีที่ระมัดระวังไม่พยายามเข้าข้างคู่กรณีความขัดแย้งใด องค์กรธุรกิจระดับชาติ 7 องค์กรมีท่าทีที่แสดงถึงความเข้าใจทั้งสองฝ่ายโดยประสงค์ให้หาทางออกด้วยวิถีทางเจรจาหาทางออกร่วมกัน เป็นต้น

การที่มีประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุม เดินขบวน ภายใต้การนำของ กปปส. และการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้าน ถือเป็นพลังต่อรองทางการเมืองที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความจำเป็นที่ในการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบประชาธิปไตยนั้น ต้องมีการรับฟัง แลกเปลี่ยนสื่อสารสนทนา ไตร่ตรองในเหตุผล ข้อเท็จจริง และมุมมองที่แตกต่างจากตนด้วย โดยหากพิจารณาการหาทางออกในการแก้ไขความคิดเห็นที่แตกต่างกันในโลก จะเห็นว่า มีเพียง 2 แนวทางคือ แนวทางการตัดสินแบบประชาธิปไตย กับแนวทางการใช้พลังอำนาจอื่นในการแก้ปัญหา โดยในแนวทางการใช้อำนาจอื่นนั้น นอกจากอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังทำให้ความขัดแย้งและปัญหาขยายตัวและมีอำนาจในการทำลายล้างสูงขึ้นไปอีก แนวทางประชาธิปไตยจึงตั้งอยู่บนความเชื่อว่า คนทุกคนมีความคิดเห็นของตนเป็นอิสระได้ ในขณะที่แนวทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่เชื่อเช่นนั้น  สภาพปัจจุบันในยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างมาก ประเทศต่างๆ เกือบทั้งหมดในโลกล้วนยึดแนวทางประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาความคิดที่แตกต่างกันในสังคม เพราะผู้คนทั่วไปมองตัวเองว่ามีความเท่าเทียมกันทางการเมือง  สำหรับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดคนไทยชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ขึ้นซึ่งรับรู้ตนเองว่าตนมีความเท่าเทียมทางการเมืองในฐานะพลเมืองภายใต้สำนึกทางประชาธิปไตยเช่นกัน ทิศทางการการแก้ไขความขัดแย้ง หากไม่ใช้แนวทางประชาธิปไตยจึงยากยิ่ง

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของอาเซียนที่มีข้อตกลงในการยึดถือคุณค่าประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี  ทั้งประเทศไทยอยู่ในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดสำคัญของอาเซียน ซึ่งในปลายปี 2558 กำลังเข้าสู่ประชาคมทางเศรษฐกิจเดียวกันด้วย  จากเหตุผลภายในประเทศและเหตุผลระหว่างประเทศโดยสังเขปที่กล่าวมา   จึงเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะไม่ยึดแนวทางแก้ไขปัญหาภายในประเทศด้วยหลักประชาธิปไตย อันแยกไม่ออกจากหลักการเคารพกฎหมาย และหลักการสันติวิธี 


ตามหลักประชาธิปไตยนั้นถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  ซึ่งทางปฏิบัติ ประชาชนทุกคนย่อมไม่อาจเข้ามาบริหารประเทศได้โดยตรง จึงต้องใช้วิธีให้ประชาชนเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลซึ่งที่เป็นยอมรับของประชาชนมาใช้อำนาจแทนนั่นเอง และโดยที่ความคิดเห็นของประชาชนหาได้เหมือนกันหมด  ดังนั้น ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจของชาติย่อมยึดหลักการเสียงข้างมาก ที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย  โดยที่เสียงข้างน้อยสามารถแปรเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากภายใต้เงื่อนไขสังคมที่มีการแข่งขันทางความคิดได้อย่างเสรี


อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลไกหน้าที่ของการเลือกตั้งนั้น มีพื้นฐานสำคัญสองด้านที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน ด้านหนึ่งนอกจากเป็นการให้ความชอบธรรมแก่ผู้จะมาเป็นรัฐบาลแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการแก้ไขความขัดแย้งภายในสังคมด้วยสันติวิธี อีกทั้งการเลือกตั้งยังเป็นกระบวนการที่สะท้อนความเป็นมวลมหาประชาชนได้อย่างแท้จริง ภายใต้หลัก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ที่แม้ว่าอาจมีการโต้แย้งถึงการเลือกทีมีความแตกต่างกันออกไปในคุณภาพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพนั้นหนึ่งเสียงได้เลือกอย่างเสมอหน้า และเท่าเทียมกับทุกคนในสังคมแล้ว


เพื่อให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ไขปัญหาประทศด้วยสันติ  กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะจึงขอเรียกร้องดังนี้

1.ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคยึดหลักการแข่งขันในการเลือกตั้งโดยเน้นการเสนอนโยบายหรือทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งอันเรื้อรังที่ผ่านมาของประเทศ ตลอดจนเสนอแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

2.ขอเรียกร้องไปยังประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองทุกฝ่ายให้ยึดหลักการทางประชาธิปไตย สันติวิธี และเคารพกฎหมาย มากกว่าการยึดอคติเพราะเกลียดชังเพื่อทำลายหลักการสากลดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้เกิดการเข้าร่วมในการแสดงความคิดเห็น ความต้องการของตนให้แก่พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนอย่างเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

3.ขอเรียกร้องไปยังสถาบันทางการเมืองของเสียงส่วนน้อย (Non-majoritarian institutions) อันได้แก่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นผลผลิตของกระบวนการทางประชาธิปไตย ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงการพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี

นายวสันต์ ลิมป์เฉลิม

นายชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์

นายวัชรพล ยงวาณิชย์

นายพงษ์พัฒน์ วัฒนพงษ์ศิริ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net