กวป. บุกสภายื่นถอดถอน 5 ตุลาการศาล รธน.-จี้ลาออกทั้งคณะ 20 วันมาฟังคำตอบ

 

8 พ.ค.56  ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ หลังการชุมนุมยืดเยื้อนาน 17 วัน ของคนเสื้อแดง นำโดยกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) วันนี้เป็นวันนัดชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่ยอมรับตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งคณะและเตรียมเดินทางไปยื่นรายชื่อประชาชนถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญกับวุฒิสภา ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวโดยยึดสโลแกน "ไม่รับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 309 อารยะขัดขืนทั้งแผ่นดิน"

นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน นายชาญ ไชยะ หรือ หนุ่ม โคราช และนายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. ร่วมกันแถลงก่อนเคลื่อนการชุมนุมไปยังรัฐสภา โดยระบุว่า ตุลาการทั้งคณะต้องลาออกจากตำแหน่ง และจะเริ่มผลักดันนายจรัญ ภักดีธนากุล ที่มีความผิดร้ายแรงเป็นคนแรก โดยอีก 20 วันข้างหน้า กปว. จะยกพลใหญ่จากต่างจังหวัดอีกครั้งเพื่อเข้ามาฟังคำตอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

บรรดาแกนนำกล่าวอีกว่า กปว. ต้องการนำกระบวนการทางการเมืองกลับเข้าสู่สภา ต้องการเห็นการตัดสินใจปัญหาบ้านเมืองภายในสภา รวมทั้งขอตำหนิสื่อมวลชนที่ไม่มาทำข่าวตั้งแต่วันแรกๆ แต่ยังดีที่มากันเยอะในวันนี้ การที่สื่อไม่สะท้อนเสียงของพวกเราเท่ากับสื่อสนับสนุนความรุนแรงและระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันอีกครั้งว่าการเคลื่อนไหวของกวป.ไม่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง เป็นการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์ ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนมาด้วยใจที่รักประชาธิปไตย

นายพงษ์พิสิษฐ์ กล่าวว่า การคัดสรรตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทางกลุ่มต้องการให้ยึดโยงกับประชาชน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนโดยตรง แต่ต้องยึดโยงกับประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนการเสนอยกเลิกมาตรา 309 นั้นเพราะเห็นว่า มาตรา 309 ถูกใช้เพื่อปกป้องการกระทำผิดกฎหมายของคณะรัฐประหาร แล้วยังถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย

 

 

 

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางจากศาลรัฐธรรมนูญมายังรัฐสภาในเวลาเที่ยงวัน และแกนนำได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอน 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 แต่ไม่สามารถยื่นได้ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย โดยเฉพาะคำร้องยื่นถอดถอนของผู้ริเริ่มที่ต้องลงลายมือชื่อพร้อมสำเนาบัตร ประชาชน จำนวน 100 คน ทั้งนี้ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการยื่นถอดถอนว่า ผู้ริเริ่มต้องกลับไปรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ภายใน 180 วัน จากนั้นนำรายชื่อมายื่นต่อประธานวุฒิเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง จากส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการ พิจารณาตามคำร้อง หากป.ป.ช.ชี้มูล ก็จะส่งกลับให้วุฒิสภาดำเนินการตามถอดถอนตามกฎหมายต่อไป

ด้านแกนนำ กวป. ระบุว่า ขั้นตอนการถอดถอนผ่านวุฒิสภา ใช้เวลานาน หากระหว่างนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกิดตัดสินยุบพรรคการเมืองใดการเมือง หนึ่ง หรือวินิจฉัยคำร้องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด อาจเกิดผลเสียได้ ใครจะรับผิดชอบ จะมีกระบวนการเร่งด่วนใดที่จะยับยั้งการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ ดังนั้นเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่ที่รับคำร้องว่าการแก้ไข รัฐธรรมนูญรายมาตรา ผิดมาตรา 68 ได้พิจารณาตัวเองลาออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ 14.00น. แกนนำ กวป. ได้กลับเข้ายื่นหนังสือจำนวน 2 ฉบับต่อ รองประธานวุฒิสภาคนที่  1 ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา

ฉบับแรกเป็นจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนการกระทำของ ส.ส. และ ส.ว.จำนวน 312 คน ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบแล้ว จึงขอชื่นชม สนับสนุน และขอให้สมาชิกรัฐสภามีความมั่นคงในจุดยืน และขอวิงวอนสมาชิกรัฐสภาคนอื่นที่ยังไม่ได้ร่วมลงชื่อ ได้ลงชื่อสนับสนุนด้วย เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จไปได้

ส่วนหนังสือฉบับที่ 2 เป็นหนังสือแสดงเจตจำนงเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือก ตั้ง ให้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายจรูญ อินทจาร นายนุรักษ์ มาประณีต นายเฉลิมพล เอกอุรุ  ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ในข้อหาความผิด 3 ประการ ได้แก่ 1.มีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2.มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ 3.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยข้อหาทั้งหมดมาจากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนรับคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไว้พิจารณาว่าขัดกับรัฐ ธรรมนูญหรือไม่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. วันที่ 11 เม.ย.และ วันที่ 1 พ.ค. ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมเข้าชื่อแล้วกว่า 50,000 คน ซึ่งภายใน 15 วัน จะคัดกรองและนำมายื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อเข้าขบวนการถอดถอนต่อไป  

แกนนำ กวป.ระบุว่า หลังจากนี้จะเดินทางไปยื่นหนังสือฉบับเดียวกัน ต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และในเวลา 17.00 น. จะเดินทางกลับไปรวมตัวกับผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหารือและกำหนดท่าที ซึ่งคาดว่าภายในเวลา 24.00 น. ก็จะยุติการชุมนุมได้ 

 


ภาพจากเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน

 

เรียบเรียงบางส่วนจากเว็บไซต์เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท