Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดูไปแล้วการเดินทางมาทำข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก(โดยเฉพาะทีวีช่องต่างๆ)  และการเดินทางมาทำข่าวอื่นหรือเหตุการณ์สำคัญบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยังเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมาของการเดินทางมายังสหรัฐฯเพื่อทำข่าวในต่างประเทศ   

แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมๆ ที่อาจกล่าวได้ว่า  สื่อไทยไม่ค่อยมีระบบบริหารจัดการเชิงการวางแผนในการทำงานข่าวนอกบ้าน

หมายถึงสื่อเหล่านี้ยังคงไม่มีอะไรใหม่ไปฝากผู้บริโภคสื่อในประเทศไทย (คนไทย)  อย่างน้อยก็คาบเกี่ยวกับหลักการอยู่ 2 หลักการ   

หลักการประการที่หนึ่ง คือ  คนทำสื่อ หรือผู้สื่อข่าวต้องมีความรู้เรื่องอเมริกาและอเมริกันในด้านต่างๆพอสมควร ไมว่าจะเป็นด้าน การเมือง เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม  สังคม  เช่น หากเป็นการรายงานสถานการณ์การเลือกตั้งในสหรัฐฯ(การเมือง) คนทำสื่อย่อมต้องมีความรู้เกี่ยวกับเลือกตั้งของอเมริกัน(ระบอบอเมริกัน)

หลักการประการที่สอง คือ คนทำสื่อ หรือผู้สื่อข่าว ต้องรู้ความเคลื่อนไหวเชิงการข่าวของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งประเด็นหลังนี้ หมายถึง “ตัวข่าว” นั่นเอง


ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผมมองว่า การเดินทางมาทำข่าวของสื่อมวลชนไทยในอเมริกาง่ายกว่าแต่ก่อนมาก จากเหตุผล 2 ข้อ คือ  หนึ่ง การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น  การอนุมัติวีซ่าของสถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยรวดเร็วมากขึ้น กับ สอง คือ ทุน(งบ)ในการทำงานด้านสื่อมีมากขึ้น องค์กรสื่อมีความพร้อมมากกว่าสมัยก่อน 10 กว่าปีที่แล้ว   ซึ่งหากมองย้อนหลังไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ค่าเดินทางของคนทำสื่อจะถูกองค์กรต้นสังกัดของสื่อคิดแล้วคิดอีกว่า การเดินทางไปทำข่าวในต่างประเทศจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พักของนักข่าวหรือไม่

เดี๋ยวนี้ องค์กรข่าวต้นสังกัด ไม่ต้องคิดไรมาก คิดเพียงอย่างเดียวว่า จะได้ข่าวและภาพที่มาจากอเมริกาอะไรบ้างเท่านั้น  เช่น ในช่วงเหตุการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ภาพที่ผู้สื่อข่าวหรือทีมข่าวได้มาส่วนใหญ่ เป็นภาพการเข้าคิวของคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในคูหาเลือกตั้ง  หรือ การสัมภาษณ์ประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์เหล่านั้นว่าคิดเห็นอย่างไรต่อการแข่งขันของ ประธานาธิบดีสองพรรคการเมือง ส่วนประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากนี้ อาจพูดได้ว่า ช่างมัน !! เพราะอย่างไรเสียก็ได้ชื่อว่า นักข่าวขององค์กรข่าวนั้นๆ เดินทางไปทำข่าวที่สหรัฐฯแล้ว  หรือแสดงว่า องค์กรข่าวเจ้าสังกัดได้ส่งนักข่าวโกอินเตอร์กับเขาแล้วเหมือนกัน  อีกนัยหนึ่งอาจเป็นในทำนองว่า การส่งนักข่าวโกอินเตอร์ดังกล่าว เป็นการบลั๊พคู่แข่งด้านข่าวองค์กรอื่นไปในที

เป็นที่ประจักษ์ว่า การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ทำให้โลกแคบลง การหาช่องว่าง “เชิงประเด็นข่าว” ย่อม มีความสำคัญมากขึ้น สื่อมวลชนผู้ผลิตข่าว ต้องหาความแตกต่างของประเด็นในการนำเสนอ เพื่อผลทางด้านการบริโภคของผู้บริโภคข่าว (rating) ซึ่งโยงไปถึงผลตอบแทนเชิงธุรกิจขององค์กรข่าวด้วยอีกส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญในโลกปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเวลาสื่อไทยไปทำงานในต่างประเทศ ก็คือ แทนที่เรื่อง “ประเด็นข่าว” จะกลายเป็นเรื่องสำคัญของสื่อ แต่กลับกลายเป็นการให้ความสำคัญกับ “ประเด็นภายนอก” คือ “การเดินทางและสถานที่”  เช่น เดินทางอย่างไร ไปประเทศอะไร      

ทั้งนี้ หากมองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคสื่อ และความเป็นมืออาชีพขอสื่อแล้ว น่าสนว่า สื่อมวลชนไทยน่าที่จะต้องคำนึงถึงหลัก 2 ประการ ในการไปทำธุรกิจ(news dealing) เรื่องข่าวและข้อมูลในต่างประเทศ ได้แก่

1.สื่อจะต้อง มีการเตรียมตัวที่ดี ทั้งในส่วนของตัวผู้สื่อข่าว สำนัก องค์กรข่าว และจุดปลายหมายทาง หรือประเทศจะไป (เช่น สหรัฐฯ เป็นต้น)  การเตรียมตัวที่ดี หมายถึงการศึกษาข้อมูลเชิงลึกส่วนที่จะต้องไปทำข่าวหรือค้นหา รวมถึงการเสาะแสวงหาแหล่งข่าว(ผู้ให้ข่าว) ที่มีความเหมาะสมกับประเด็นข่าว ไม่ใช่การสุ่มหาเอาข้างหน้าแบบสะเปะสะปะ เช่น แสวงหาแหล่งข่าวเอาหน้าคูหาเลือกตั้ง เอาไมค์จ่อปากแบบขอไปที  หรือหวังให้เกิดภาพลักษณ์ออกมาเป็นแค่ว่า สื่อได้เดินทางไปเห็นบรรยากาศในประเทศนั้นแล้ว กรณีของการเลือกตั้งอเมริกัน ก็คิดว่าได้อยู่สถานการณ์รายงานข่าวในบรรยากาศของการเลือกตั้งของอเมริกันแล้ว  หากควรนัดหมายแหล่งข่าวไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทำสื่อในปัจจุบัน คือ แหล่งข่าวนั้น ต้องมีความสำคัญต่อประเด็นคำถาม พูดง่ายๆ คือ แหล่งข่าวนั้นต้องมีตำแหน่ง หน้าที่ ที่เหมาะสมในการให้สัมภาษณ์เรื่องนั้นๆ เช่น หากเป็นในเรื่องการเลือกตั้งอเมริกัน อาจต้องสัมภาษณ์ตัวนักการเมืองอเมริกันหรือผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง นักวิชาการสาขาที่เกี่ยวข้องก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่สำคัญน้อยกว่าตัวนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆที่ได้-เสียกับผลการเลือกตั้ง

2.สื่อจะต้องมีการเตรียมเรื่องประเด็นข่าว หรือประเด็นที่ต้องการจะถาม หรือประเด็นที่อยากรู้ , ข้อ นี้เป็นเรื่องสำคัญของคนทำสื่อในปัจจุบันเช่นกัน เป็นการแสดงความสามารถเชิงข่าวให้คนบริโภคข่าวได้เห็น เหตุผลคือ ความหลากหลายของสื่อและโลกที่แคบลง ทำให้ “การลอดช่องโหว่ประเด็นข่าว” เป็นเรื่องการแสดงความสามารถของนักข่าวและบรรณาธิการข่าว เพราะปัจจุบันคนบริโภคข่าวสามารถรับข่าวต่างๆได้จากผู้ผลิตข่าวทั่วโลกโดย ไม่จำกัดภาษาและวิธีการนำเสนอ  เช่น จาก wire services หรือ จากระบบออนไลน์ ดังนั้นการทำประเด็นข่าวที่คนอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องท้าทายความสามารถของคนทำข่าว  ตัวอย่างกรณีการทำข่าวเลือกตั้งอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่สื่ออเมริกันสามารถล้วงลึกในรายละเอียดดีกว่า ทั้งสื่อในประเทศไทยก็มานำแปล หรือนำเสนออย่างปกติอยู่แล้ว (เป็นเรื่องธรรมดาที่สื่ออเมริกันในประเทศสามารถหาข้อมูลเชิงลึกดีกว่าสื่อ ไทยที่ไปจากเมืองไทย) แต่หากสื่อไทยที่มาทำข่าวในสหรัฐฯสามารถหาประเด็นที่แตกต่าง เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ(ไทย-อเมริกา) ก็จะทำให้เกิดความแตกต่าง และเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคข่าวที่เมืองไทย ทั้งแสดงให้เห็นถึง “กึ๋น”หรือ ความสามารถของนักข่าวและบรรณาธิการข่าว ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว การรับข่าวสารจากอเมริกา ไม่จำเป็นถึงกับต้องส่งนักข่าวมาสหรัฐฯเสมอไป เพราะมีสื่ออเมริกันประเภทต่างๆกระจายออกไปทั่วโลกอยู่แล้ว  ความหมายของการส่งนักข่าวมายังสหรัฐฯ  จะต้องอยู่การพิจารณาแล้วว่านักข่าวต้องได้ข้อมูลเชิงลึก มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมากกว่าประเด็นอื่นที่เป็นเรื่องพื้นๆ และสำนักข่าวอเมริกันนำเสนออยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน การนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอเมริกัน ต้องไม่ลืมว่า

1.คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้จักประเทศไทย เป็นความเข้าใจผิดของคนไทยที่ว่า คนอเมริกันรู้จักประเทศไทย  , อเมริกันรู้จักไต้หวันมากกว่าไทยและชอบคิดว่า ไต้หวันกับไทยแลนด์ เป็นประเทศเดียวกัน

2.พื้นที่การนำเสนอข่าวต่างประเทศในอเมริกามีน้อยหรือแทบไม่มี ยกเว้นกรณีเหตุการณ์ใหญ่ๆสำคัญๆเท่านั้น  จึงได้รับการนำเสนอโดยสื่ออเมริกัน โดยเฉพาะสื่อทีวี

หากมีการใคร่ครวญดังกล่าว ก็อาจจะได้คำตอบว่า

1.ความคุ้มค่าของการเดินทางมาทำข่าว(หรือสารคดีเชิงความรู้)ในอเมริกาอยู่ที่การสัมภาษณ์แหล่งข่าวหรือจากแหล่งข้อมูลที่ตรงกับจุดประสงค์ของการมาทำข่าว ไม่ใช่ได้ข่าวจากแหล่งข่าวใดหรือประชาชนอเมริกันคนใดก็ได้  หากประเด็นเกี่ยวข้องกับประเทศไทย แหล่งข่าวหรือตำแหน่งของแหล่งข่าวควร “รู้เรื่องหรือมีอำนาจ” เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สัมพันธ์ประเทศไทย เช่น ตำแหน่งของแหล่งข่าวอาจเป็นรัฐรัฐมนตรี นักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ทางการอเมริกันที่เกี่ยวข้อง

2.ความคุ้มค่าของการทำข่าวอยู่ที่การป้อนประเด็นคำถามต่อแหล่งข่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากกว่าที่จะถามเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆทั่วไป หลายปีที่ผ่านมาตลอดถึงปัจจุบันทำเนียบขาวมีผู้สื่อข่าวต่างชาติจำนวนไม่ น้อยที่ประจำการอยู่ที่นั่น เพื่อรอตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศแต่ละประเทศของพวกเขา เช่น ผู้สื่อข่าวอินเดีย อาจตั้งคำถามต่อประธานาธิบดีโอบามาเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอินเดีย แคชเมียร์ หรือปากีสถาน เป็นต้น หมายความว่า หากเป็นผู้สื่อข่าวของไทย ก็อาจถามเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันต่อประเทศไทย ต่อประเทศในอาเซียน หรือในประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค เป็นต้น

หากสามารถทำได้ดังนี้ การเดินทางมาทำข่าวที่สหรัฐฯของสื่อ ย่อมถือว่าไม่เป็นการกระทำเพื่อโชว์ออฟ แต่เพียงอย่างเดียว หากยังได้ประโยชน์ถึงประชาชนผู้บริโภคข่าวสารในประเทศอีกด้วย

ปัจจุบันหลายสำนักข่าวสำคัญๆ ของเอเชีย เช่น CCTV(จีน) ,NHK(ญี่ปุ่น) หรือแม้กระทั่ง News Asia(สิงคโปร์) ถึงกับใช้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น (ในกรณีของเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ คือ การใช้ผู้สื่อข่าวอเมริกัน)มากกว่าที่จะส่งผู้สื่อข่าวมาจากประเทศที่เป็นเจ้าของกิจการสื่อเหล่านี้

เพราะ เขาตระหนักว่า แม้ส่งผู้สื่อข่าวมาก็ไม่คุ้มค่ากับการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพราะผู้สื่อข่าวที่ฝังตัวอยู่ในท้องถิ่นนั้นมีประสบการณ์ในการติดต่อกับแหล่งข่าวมากกว่า นักข่าวต่างถิ่น  องค์กรสื่อเหล่าต่างประเทศเหล่านี้ยังใช้ผู้ประสานงานข่าวท้องถิ่น(Local news coordinator) เพื่อประสานให้นักข่าวจากต่างถิ่นได้เข้าหาแหล่งข่าว เช่น เพื่อสัมภาษณ์แบบถึงตัวและเข้าถึงประเด็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ใช่อยู่ดีๆ เดินทางมาทำข่าวสหรัฐฯแล้วจะได้ข่าวและข้อมูลเชิงลึกง่ายๆ

เหมือนการ “โชว์ออฟ”  ของสื่อจากบางประเทศจำนวนไม่น้อยที่กระทำเมื่อคราวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันหรือเหตุการณ์สำคัญอื่นๆในสหรัฐฯครั้งที่แล้วๆมา.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net