Skip to main content
sharethis

กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์เขียนจดหมายเปิดผนึกแสดงความห่วงใยที่มีการก่อสร้างขนานใหญ่ในสวนโมกข์ และยังถูกดูดกลับเข้าสู่มหาเถระสมาคม ไม่ใช่สังฆะอิสระอย่างที่เคยเป็น พร้อมเชิญชวนสาธารณะร่วมกันยับยั้งการเปลี่ยนแปลง 'อย่างเอิกเริก' ที่เกิดกับสวนโมกข์

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ในเพจ Tilopahouse ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก "จากเพื่อนสวนโมกข์ถึงเพื่อนสวนโมกข์" แสดงความห่วงใยที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสวนโมกขพลาราม พร้อมเชิญชวนให้มีการคัดค้านการนำเนินการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

จากเพื่อนสวนโมกข์ถึงเพื่อนสวนโมกข์
25 August 2013 at 10:03
เรียน เพื่อนสวนโมกข์ทุกท่าน

จดหมายถึงเพื่อนสวนโมกข์ฉบับนี้ เขียนถึงกัลยาณมิตรของสวนโมกขพลาราม เพื่อแจ้งข่าวให้ทราบถึงทิศทางของสวนโมกข์ที่กำลังเดินออกไปจากสิ่งที่ท่านพุทธทาสได้วางไว้ในอดีต....

สถานการณ์ภายในวัดสวนโมกข์ทุกวันนี้ไม่สู้ดีนัก สงฆ์แตกออกเป็นสองกลุ่มจากการตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่มาแทนเจ้าอาวาสคนเก่า  แม้ท่านสุชาติ เจ้าอาวาสคนใหม่ จะเป็นที่ชื่นชอบและเคารพนับถือของคนจำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากท่านออกจากวัดไปเป็นเวลานาน อีกทั้งยังไม่มีทักษะความเป็นผู้นำและความสามารถในการเข้ามาบริหารจัดการวัด หลังจากท่านเข้ามารับตำแหน่งแทน อ.โพธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สวนโมกข์เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยท่านทองสุข ธมมวโร พระมหาเถระซึ่งมีบทบาทในการสร้างงานหลายๆ ชิ้นของสวนโมกข์ในอดีต หลังจากที่ไม่มีส่วนร่วมกับวัดเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสวนโมกข์ ในฐานะเจ้าอาวาสเงาผู้อยู่เบื้องหลังท่านสุชาติ

งานแรกของสวนโมกข์ในยุคของเจ้าอาวาสคนใหม่ คือ การเข้ามาควบคุมจัดการเรื่องเงิน โดยต้องการแยกบัญชีวัดออกจากธรรมทานมูลนิธิ มีการตั้งข้อกล่าวหาว่าคุณเมตตา พานิช ซึ่งดูแลเงินวัดในนามประธานธรรมทานมูลนิธิมาตั้งแต่สมัยท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ นำเงินวัดไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว การบริหารเงินของธรรมทานมูลนิธิโดยมีคุณเมตตาเป็นผู้ดูแลหลักอยู่เพียงคนเดียวถูกมองว่าไม่โปร่งใส  ระบบการเงินของสวนโมกข์ถูกเซ็ตขึ้นใหม่ โดยสวนโมกข์ขอกลับไปสู่ความเป็น "วัดธารน้ำไหล" ภายใต้มหาเถรสมาคม วัดมีบัญชีแยกจากธรรมทานมูลนิธิ และพระสามารถบริหารเงินและนำเงินมาใช้ได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากธรรมทานมูลนิธิ

ต่อมาท่านจ้อย พระประจำเคาน์เตอร์รับบริจาคเงิน ถูกบีบให้ออกจากการทำหน้าที่ดังกล่าว โดยมีการส่งหนังสือทางการแจ้งปลดท่านจ้อยอย่างสายฟ้าแลบ พร้อมทั้งยังปลดท่านออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วย

ต่อมาเป็นคิวของท่านสิงห์ทอง พระอุปัฏฐากย์ ผู้อยู่ใกล้ชิดกับอ.พุทธทาสเป็นเวลาเกือบ ๒๐ปี เช่นเดียวกัน มีความพยายามจะปลดท่านสิงห์ทองออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส ถึงขนาดจะจับท่านสึก โดยตั้งข้อหาซุกซ่อนเงินบริจาคตั้งแต่สมัยพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ จนท่านสิงห์ทองต้องลี้ภัยออกจากสวนโมกข์เป็นระยะเวลาหนึ่ง

เมื่อพระรุ่นเก่าๆ ที่เคยมีบทบาทในยุคเจ้าอาวาสคนก่อนถูกขับออกไป สวนโมกข์ก็มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานตรงเคาน์เตอร์รับเงินบริจาคใหม่ โดยมีการให้พระพรรษาน้อยๆ เข้ามาทำหน้าที่แทน มีการติดกล้องวงจรปิด ๒ ตัวตรงจุดรับเงินบริจาค  มีการเชื่อมความสัมพันธ์กับโครงสร้างคณะสงฆ์ภายนอกอย่างเจ้าคณะอำเภอ เพื่อให้ "วัดธารน้ำไหล" กลับสู่ระบบสงฆ์ของรัฐ ไม่ใช่ระบบลอยและเป็นสังฆะอิสระอย่างที่เคยเป็นมา

และล่าสุดมีการริเริ่มโครงการ "ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเขาพุทธทอง"  โดยท่านทองสุขเป็นผู้ควบคุมจัดการเบ็ดเสร็จโดยที่เจ้าอาวาสคนปัจจุบันและพระมหาเถระรูปอื่นๆ ภายในสวนโมกข์แทบไม่รู้เห็น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการขุดถมดิน ลงฐานรากคอนกรีตขนานใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลง "โบสถ์ธรรมชาติแบบสวนโมกข์" ให้ทันสมัย ดูดียิ่งขึ้น

กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ในฐานะคนนอก และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสวนโมกขพลาราม นอกเสียจากนับตนเป็นกลุ่มบุคคลผู้ปรารถนาดีต่อสวนโมกขพลาราม รู้สึกห่วงใยและกังวลต่อสภาพการณ์ดังกล่าวบนยอดเขาพุทธทอง  ด้านหนึ่งเรายังเชื่อมั่นในระบบสังฆะ และเห็นว่าเป็นเรื่องของสงฆ์เองที่ควร "คุยกัน" "ประชุมกัน" เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย  ทว่าในขณะที่ยังไม่พบทางออก ทางกลุ่มรู้สึกเป็นห่วงกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดซึ่งกำลังกระทบต่อจิตวิญญาณความเป็นสวนโมกข์อย่างยากที่จะนำกลับคืนมา

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามสำคัญว่า "ใครเป็นเจ้าของสวนโมกข์?"  สวนโมกข์ที่เปรียบเสมือนห้องทดลองของพุทธทาส ซึ่งได้เปิดจินตนาการของผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัส แน่นอนว่ามันคืออดีต หาใช่ปัจจุบันและอนาคตของสวนโมกข์ ทว่าใครกันเล่าคือผู้รับผิดชอบการสืบทอด รักษา และต่อยอดผลงานดังกล่าวที่อ.พุทธทาสได้ฝากไว้...  ในทัศนะของกลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ พุทธทาสไม่ได้สร้างสวนโมกข์ขึ้นเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง สวนโมกข์นั้นไม่ใช่เป็นทรัพย์สินของวัดหรือของรัฐ ที่ใครคนใดคนหนึ่งคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้หากมีอำนาจ งานแต่ละชิ้นที่พุทธทาสสร้างขึ้นมีความหมายและจิตวิญญาณในแบบของมัน และหลายอย่างคงไม่สามารถเอากลับคืนมาได้อีกแล้วหากถูกทำลายไป

สวนโมกข์ควรรักษาในฐานะแบบอย่างของความเรียบง่าย ยืนยันความเป็นสังฆะทางสติปัญญาที่เป็นอิสระจากอำนาจคณะสงฆ์ของรัฐ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใดๆ เกิดขึ้นกับสวนโมกข์ โดยเฉพาะกับทิศทางการดำเนินงานที่ผิดไปจากแนวทางที่พุทธทาสได้วางไว้ เราขอเสนอว่า ควรเกิดขึ้นจากการประชุมทำความตกลงกันในหมู่สงฆ์และสื่อสารกับสาธารณชนในวงกว้างอย่างโปร่งใส มีการถกเถียง เสวนา แลกเปลี่ยนทัศนะที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญพระประจำสวนโมกข์ทุกรูปควรรับรู้และรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นร่วมกัน โดยเฉพาะพระที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดท่านพุทธทาส การเปลี่ยนแปลงไม่ควรเกิดขึ้นโดยพลการจากเจ้าอาวาส หรือพระที่ถืออำนาจเพียงคนเดียวอย่างที่เป็นอยู่  

ดังนั้นการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และการก่อสร้างอย่างเอิกเริกบนยอดเขาพุทธทอง ณ ตอนนี้ เราเห็นว่าควรถูกยับยั้งโดยเร็วที่สุด หากพระในวัดไม่สามารถทัดทานการกระทำครั้งนี้ได้ สาธารณชนก็ควรออกมาช่วยกันแสดงความไม่เห็นด้วย ร่วมกันคัดค้านการดำเนินงานโดยพลการ และขอให้คณะสงฆ์ในสวนโมกข์คลี่คลายความขัดแย้งภายใน หันหน้าเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนและประชุมกัน เพื่อบรรลุมติที่เห็นชอบร่วมกันของหมู่คณะ ก่อนจะมีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อทิศทางของสวนโมกขพลารามในปัจจุบันและอนาคต  

ด้วยความนับถือ
กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์

000

โดยท้ายจดหมายยังมีความเห็นของบุคคลในวงการต่างๆ โดยจั่วหัวว่า "ความปรารถนาดีจากเพื่อนสวนโมกข์" โดยมีความเห็นต่างๆ ได้แก่

 

"อยากให้สวนโมกข์ยุคใหม่ ไม่ทิ้งแนวคิดเดิมของสวนโมกข์ยุคท่านอาจารย์พุทธทาส ที่เน้นความสำคัญของธรรมชาติในฐานะที่เป็นสิ่งแวดล้อมช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้สงบและเปิดใจให้เห็นธรรมะ แม้ท่านอาจารย์จะจากไปแล้ว แต่ก็ยังมีธรรมชาติที่สอนธรรมอันลึกซึ้งแทนท่านได้ ขณะเดียวกันสิ่งใหม่ที่ควรเพิ่ม (หรือที่จริงเป็นของเก่าที่ควรรื้อฟื้นกลับมา)ก็คือ ความเป็นหมู่สงฆ์ ที่ร่วมคิดร่วมทำ มิใช่เพื่อเสริมสร้างสามัคคีธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างผู้นำร่วม (collective leadership) ซึ่งจำเป็นสำหรับสวนโมกข์ยุคใหม่ที่ไร้ท่านอาจารย์พุทธทาส"

พระไพศาล วิสาโล
เจ้าอาวาสวัดป่าสุคโต

 

"ขอให้นึกถึงสวนโมกข์และอ.พุทธทาสนอกเหนือไปจากการคิดสั้นเพื่อสถาบันหลัก และขอให้นึกถึงความเป็นทาสของพระพุทธเจ้าเพื่อการหลุดพ้นต่อการครอบงำต่างๆ ให้สมกับชื่อของท่านและสวนแห่งนี้"

สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ปัญญาชนสยาม/ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

 

"สวนโมกขพลารามเป็นสถานที่อันวิเศษที่ให้ความชุ่มเย็นแก่จิตวิญญาณ ท่ามกลางความแห้งแล้งของโลกวัตถุนิยมที่กำลังแผ่ขยายตัวอยู่ทั่วโลก สวนโมกขพลารามเป็นเหมือนแหล่งชุ่มน้ำกลางทะเลทรายที่ผู้คนที่หิวกระหายได้และดื่มลิ้มชิมรสของสายน้ำอันเยือกเย็น เพื่อนำพาชีวิตให้เติบโตงอกงามจากความแห้งผากสู่ความชุ่มชื้นฉ่ำเย็น ข้าพเจ้าไม่เคยลืมหลวงพ่อพุทธทาส ท่านอาจารย์โพธิ์และพระสงฆ์รูปอื่นๆ ซึ่งช่วยโปรยละอองไปของสายน้ำที่ฉ่ำเย็นนั้น ขอให้สวนโมกขพลารามดำเนินไปอย่างมุ่งมั่นในวิถีทางของสายน้ำที่ฉ่ำเย็นชั่วอนันตกาล ขอให้มุ่งมั่นส่งเสริมความเติบโตทางจิตวิญญาณและแสดงอออกถึงความมุ่งมั่นนั้นด้วยการวางใจอยูเหนือความนิยมในวัตถุทั้งปวง"

อ.ดร.โสรีย์ โพธิ์แก้ว
อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ อดีตนายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย

 

"โปรเจค "สวนโมกขพลาราม" จริงๆ แล้วเป็นโปรเจคที่เป็นคนละส่วนกับความเป็นวัดธารน้ำไหล  สวนโมกข์คือจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าหาญในการทวนกระแสคณะสงฆ์ของรัฐสู่ความเรียบง่ายตามธรรมชาติ ความเป็นตัวของตัวเองของสวนโมกข์คือสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจคนหนุ่มสาวมากมายที่ปรารถนาจะค้นหาคุณค่าพุทธธรรมซึ่งไปพ้นกรอบ  สวนโมกขพลารามสัมพันธ์กันอยู่อย่างแนบแน่นกับธรรมทานมูลนิธิ เสมือนสายสัมพันธ์อันไว้วางใจกันระหว่างพุทธทาส-ธรรมทาส-และกัลยาณมิตรของสวนโมกข์  เห็นสภาพความเปลี่ยนแปลงของสวนโมกข์โดยเฉพาะตรงเคาน์เตอร์วัดและบนยอดเขาพุทธทองในตอนนี้แล้วรู้สึกสะท้อนใจ  คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากรากฐานสำคัญที่ท่านพุทธทาสฝากไว้ถูกมองข้ามไปในคณะผู้บริหารของสวนโมกข์ยุคนี้"

วิจักขณ์ พานิช
นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net