อดีต ผอ.NSA-CIA ลั่น ผู้ก่อการร้ายชอบใช้ 'จีเมล'

ตอนหนึ่งในการบรรยายในหัวข้อ "ความตึงเครียดระหว่างความมั่นคงกับเสรีภาพ"  ในฟอรัมการศึกษาผู้ใหญ่ ณ โบสถ์เซนต์จอห์น สหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไมเคิล เฮย์เดน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐฯ (NSA) และหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งอเมริกา (CIA) ระบุว่า จีเมลเป็นบริการออนไลน์ที่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ก่อการร้าย

ระหว่างการบรรยาย เขาปกป้องมาตรา 702 ของกฎหมายสอดส่องข่าวกรองต่างประเทศ (FISA) ซึ่งให้ความชอบธรรมทางกฎหมายกับโครงการปริซึม (PRISM) โดยบอกว่า "จีเมลเป็นผู้ให้บริการอินเทอรเน็ตที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ก่อการร้ายทั่วโลก" (ซึ่งน่าจะหมายถึงตัวบริการออนไลน์มากกว่าจะหมายถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจริงๆ) เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "ผมไม่คิดว่าคุณจะได้เห็นมันในโฆษณาของกูเกิลหรอก แต่เพราะว่ามันฟรีและแพร่หลาย มันจึงเป็นเช่นนั้น"

เมื่อถูกถามว่า การสอดส่องชนิดไม่เลือกหน้าของสหรัฐฯ ได้กลายเป็นตัวอย่างที่อันตรายของประเทศอื่นๆ หรือไม่ เฮย์เดนบอกว่า การที่อินเทอร์เน็ตมีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกาจึง ถือเป็นความชอบธรรมบางส่วนของการกระทำของ NSA และหากเว็บยังอยู่ไปอีก 500 ปี สหรัฐฯจะถูกจดจำแบบเดียวกับที่โรมันถูกจดจำว่าเป็นผู้สร้างถนน"

"เราสร้างมันที่นี่ และมันเป็นของอเมริกันจริงๆ" เขากล่าวและว่า เพราะเหตุนี้ การจราจรของข้อมูลจำนวนมากจึงผ่านเซิร์ฟเวอร์อเมริกัน ซึ่งรัฐบาล "ถ่ายรูปไว้เพื่อประโยชน์ของการสืบราชการลับ"

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้เช่นนี้ ไม่ได้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐสบายใจแต่อย่างใด เพราะลูกค้าต่างชาติไม่วางใจบริษัทเหล่านี้ไปแล้ว รายงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม เมื่อช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ผู้ให้บริการ cloud จะเสียรายได้ 21.5-35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสามปีข้างหน้านี้ จากกรณีข่าว NSA นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ  CloudFlare บริษัทบริการรักษาความปลอดภัย และผู้ให้บริการเครือข่าย บอกว่า คำสั่งขอข้อมูลของรัฐบาลนั้นเสียสติ และข่าวลือทั้งหลายทำให้พวกเขาสูญเสียลูกค้า

เฮย์เดนยอมรับว่า สหรัฐฯ "อาจจะถูกกล่าวหาว่ากำลังทำสงครามเวิลด์ไวด์เว็บ"  มีรายงานว่า การปฏิบัติการยุทธวิธีของ NSA ถูกกล่าวหาว่าแฮกเป้าหมายซึ่งเป็นต่างชาติเพื่อขโมยข้อมูลและจับตาการสื่อสาร รวมถึงมีรายงานด้วยว่า มีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อทำลายคอมพิวเตอร์และเครือข่ายของต่างชาติด้วยการโจมตีทางไซเบอร์

นอกจากนี้ เฮย์เดนยังแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความเป็นนิรนามออนไลน์ด้วย โดยบอกว่า "ปัญหาที่ผมมีกับอินเทอร์เน็ตคือมันเป็นนิรนาม" ทั้งนี้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า มีการต่อสู้กันในประเด็นนี้แม้แต่ภายในรัฐบาล ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาขึ้นมา ในช่วงอาหรับสปริง ที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อปกป้องความเป็นนิรนามของนักกิจกรรม เพื่อที่รัฐบาลจะไม่สามารถตามตัวหรือปิดปากพวกเขาได้

 

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท