Skip to main content
sharethis
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการโปสเตอร์ Poster for Tomorrow จากประเทศฝรั่งเศสซึ่งจัดแสดงมาแล้วห้าทวีปเพื่อรณรงค์ต้านโทษประหารชีวิต พร้อมร่วมเสวนาโดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
 
ร้าน Dialogue Coffee and Gallery ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรม Light Up Nights เพื่อเปิดพื้นที่ถกเถียงในประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้จัดควบคู่ไปกับการจัดแสดงนิทรรศการโปสเตอร์ Death is not Justice ที่แสดงถึงการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในระดับโลก โดยฝีมือนักออกแบบนานาชาติที่จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก ณ ร้าน Dialogue Coffee and Gallery ซึ่งจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 4-29 ตุลาคม 2556
 
 
“โปสเตอร์สำหรับวันพรุ่ง” (Poster for Tomorrow) เป็นโครงการของ 4tomorrow ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไรและเป็นอิสระ ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เริ่มตั้งโครงการเมื่อปี 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนประชาชนทั้งในชุมชนนักออกแบบและภายนอก การเลือกทำงานผ่านภาพโปสเตอร์ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำและเผยแพร่ได้ง่าย สามารถดึงดูดใจคนในวงกว้าง ทำให้คนเข้าถึงได้มาก เพื่อให้สามารถแสดงความเห็น กระตุ้นให้เกิดการถกเถียง และการอภิปรายทั่วทุกภาคส่วนในสังคม เป็นการกระตุ้นให้เกิดการถกเถียง ทำให้คนตระหนักถึงพลังที่ตนเองมีเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกและสร้างความแตกต่าง เนื้อหาโปสเตอร์พูดถึงตั้งแต่การรณรงค์เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก ไปจนถึงการยกเลิกโทษประหารในระดับโลก สิทธิด้านการศึกษาและความเท่าเทียมด้านเพศสภาพของทุกคน ที่ผ่านมามีการจัดนิทรรศการกว่า 70 ครั้งใน 5 ทวีป 
 
นิทรรศการโปสเตอร์  Death is not Justice เปิดตัวไปเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 พร้อมพูดคุยเรื่อง “ความรุนแรงในนามของความยุติธรรม” โดยคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์อิสระ ที่ชี้ให้เห็นว่าคนในสังคมมีมายาคติที่ว่า โทษประหารชีวิตมีไว้เพื่อทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัยขึ้น โดยรัฐฆ่าคนๆ หนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นในสังคมถูกฆ่า เป็นการเอาชีวิตแลกชีวิตเพื่อสร้างความสงบสุขให้สังคม เชื่อกันว่าเป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อ ซึ่งเป็นตรรกะที่วิบัติ เพราะแทนที่จะไปคิดป้องกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นอีก กลับเลือกที่จะไปฆ่าคนที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนอื่นเพื่อไม่ให้มีการถูกฆ่าขึ้นอีก ซึ่งแท้จริงแล้ว “ไม่มีใครควรถูกฆ่าเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น” 
 
 
“แม้การรณรงค์ยุติโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องที่อธิบายต่อสังคมได้ยากยิ่ง  อย่างที่ครั้งหนึ่งคุณค่าของประชาธิปไตย ความเสมอภาคเท่าเทียมหรือสิทธิเสรีของการรักร่วมเพศเคยเป็นเรื่องที่สังคมปิดกั้นมาอย่างยาวนาน  แต่วันนี้คนในสังคมกลับยอมรับและเข้าใจกันในประเด็นเหล่านั้นได้มากกว่าในอดีต  วันหนึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตย่อมจะปรากฏแทนที่มายาคติอันบิดเบือนได้เพียงแต่ต้องใช้เวลาเพียงเท่านั้น” ศิโรตม์กล่าว
 
นอกจากนั้นยังมีการภาพยนตร์สารคดีสั้นชุด ‘One for Ten’ ที่ถ่ายทำในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นการสัมภาษณ์ 10 บุคคลที่เคยถูกตัดสินประหารชีวิตในอเมริกา แต่ภายหลังพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาเป็น “แพะ” จึงได้รับอิสรภาพ  สารคดีชุดนี้เปิดเผยให้เห็นความน่ากลัวและความป่าเถื่อนของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาด นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าการถูกกล่าวหาและพิพากษาประหารชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายดาย ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์อันเจ็บปวด ความรู้สึกของการตกอยู่ในฐานะนักโทษประหารชีวิต และอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงได้รับการตัดสินที่ผิดพลาดและกลายเป็นแพะรับบาปที่ตัวเองไม่ได้ก่อ โดยครั้งนี้ได้หยิบยก 4 เรื่องราวมาเปิดเผย
 
 

 
คลาเร็นส์ แบรนด์เลย์ (การเหยียดสีผิว)
“คนส่วนใหญ่ที่เคยอยู่เมืองนี้บอกว่า  ถ้ามีผู้หญิงผิวขาวสักคนถูกฆ่า ต้องเร่งตามจับผู้ชายผิวดำ” คำบอกเล่าชวนหดหู่ของ คลาเร็นส์ แบรนด์เลย์ (Clarence Brandley) ภารโรงชาวแอฟริกันอเมริกันประจำโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเท็กซัส  เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาข่มขืนนักเรียนหญิงโดยผ่านการพิจารณาคดีในชั้นศาลโดยคณะลูกขุนผิวขาวล้วนถึงสองครั้ง  แม้ผ่านการพิสูจน์ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องด้วยเครื่องจับเท็จแล้วก็ตาม อคติแห่งการเหยียดผิวเผยให้เห็นอย่างน่าละอาย  เมื่อนักสืบเอกชนพบว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ทำลายหลักฐานที่ต่างยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของเขา การพิพากษาครั้งใหม่จึงได้เกิดขึ้นเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อที่ไม่ใช่หญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายนั้น หากแต่เป็นคลาเร็นส์ผู้กำลังถูกแขวนคอด้วยเชือกแห่งอคติ  คำกล่าวของผู้พิพากษาในครั้งนั้นเป็นข้อสรุปถึงความเลวร้ายที่เขาได้เผชิญอย่างชัดเจนที่สุดว่า “นี่เป็นคดีที่มีการเหยียดผิวและใช้คำให้การเท็จอย่างโจ่งแจ้งที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์”
 

 
เคริก บลัดสวอรต์ (หลักฐานดีเอ็นเอ)
แมรีแลนด์เป็นอีกรัฐหนึ่งที่ปรากฏความอยุติธรรมกระทั่งถูกหยิบยกขึ้นมาถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์ม  ภาพสเก็ตของใบหน้าคนร้ายที่บังเอิญคล้ายกับ เคริก บลัดสวอรต์ (Kirk  Bloodsworth) ทำให้เขาถูกจับและตัดสินประหารชีวิตด้วยการรมแก๊สในคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 9 ขวบโดยปราศจากพยานหลักฐานที่ชัดเจน  กว่า 9 ปีที่เสียงตะโกนยืนยันความบริสุทธิ์ของเขาในห้องขังนั้นไม่มีใครสนใจ ปี 2536 เขากลายเป็นนักโทษประหารคนแรกที่ได้รับการปล่อยตัวโดยหลักฐาน DNA ที่ตรวจพิสูจน์ได้จากคราบอสุจิในที่เกิดเหตุ พร้อมยืนยันคำกล่าวของเขาในภาพยนตร์ว่า “ความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ คุณบริสุทธิ์ คุณพิสูจน์ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา” แล้วในที่สุดฆาตกรตัวจริงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้ถูกจับกุมดำเนินคดีในอีก 7 ปีต่อมา

 

 
เดมอน ทีโบดัวซ์ (คำสารภาพที่ผิดพลาด)
ความอยุติธรรมอันขมขื่นใช่ว่าจะเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคนผิวสีเสมอไป  เพราะนอกจากเคริกแล้ว เดมอน ทีโบดัวซ์ (Damon Thibodeaux) ยังเป็นอีกหนึ่งอเมริกันชนผิวขาวผู้โชคร้ายที่เรื่องราวของเขาได้ย้ำให้ตระหนักว่า  ทุกคนล้วนมีโอกาสเผชิญกับความบิดพลิ้วในกระบวนการยุติธรรมกันทั้งสิ้น ศพเปลือยเปล่าของเด็กหญิงอายุ 15 ปีที่พบริมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ทำให้เขาผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของเหยื่อถูกเชื่อว่าเป็นฆาตกร  หลังจากตามหาเธอจนไม่ได้นอนมา 36 ชั่วโมง แล้วยังต้องมาโดนสอบสวน 9 ชั่วโมงรวด ซึ่งการสอบสวนดำเนินไปอย่างทารุณด้วยการสั่งห้ามนอนและยาวนาน สุดท้ายเขาเลือกที่จะยอมรับผิดแทนการทนต่อความเมื่อยล้าด้วยคำสารภาพที่ต่างไปจากหลักฐานในที่เกิดเหตุโดยสิ้นเชิง  แม้กระนั้นเขากลับถูกตัดสินประหารชีวิต  หลังจากการทำงานอย่างหนักถึง 15 ปีของทีมทนายความเขาได้รับการตัดสินให้พ้นผิดด้วยหลักฐานจาก DNA 
 
“ผมเคยเป็นหนึ่งในคนที่เชื่อว่า  ไม่มีใครบ้าพอจะสารภาพในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำหรอก แล้วทั้งสังคมก็คิดและเชื่อแบบนั้น แต่ผมนี่ไงที่พูดคำสารภาพเท็จออกไป สารภาพในคดีฆาตกรรมที่คนอื่นก่อ คุณไม่มีวันรู้หรอก จนกว่าจะได้เจอกับตัวเอง คุณรู้เหรอว่าทนการสอบสวนแบบนั้นได้นานแค่ไหน? ทุกๆ คนต่างมีขีดจำกัด และเมื่อมันไปถึงจุดนั้น คุณจะพูดอะไรก็ตามที่พวกนั้นอยากได้ยิน ผมก็คงบอกทุกอย่างที่พวกนั้นอยากให้ผมบอก” ทุกวันตลอด 15 ปี เขาเฝ้าโทษตัวเองว่า ถ้าวันนั้นเขาเข้มแข็งพอและรอดพ้นการสอบสวนมาได้ เขาคงไม่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมแบบที่ผ่านมา 

 

 
ฮวน เมเล็นเดซ (คำให้การปรักปรำที่เป็นเท็จ)
ปิดท้ายด้วยกรณีของคนงานพลัดถิ่นชาวเปอโตริโก้ ฮวน เมเล็นเดซ (Juan Melendez)  ผู้ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เขาถูก FBI จับกุมและส่งตัวไปพิจารณาคดีที่ฟลอริดา  กระทั่งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาฆาตกรรมเจ้าของร้านเสริมสวยในปี พ.ศ. 2526  เขาจำต้องรอในแดนประหารกว่า 16 ปีกว่าที่ความยุติธรรมจะเดินทางมาพบเขา  เทปบันทึกเสียงที่ยืนยันการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องของเขาถูกเก็บไว้ในมือของอัยการโดยไม่แสดงหลักฐานดังกล่าวต่อลูกขุนแม้เพียงสักครั้ง  โดยมีค่าหัวรางวัลในการจับฆาตกร 5,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นคำอธิบายความเป็นไปทั้งหมดตามคำบอกเล่าของเขาในสารคดีนี้
 
“16 ปีผ่านไป พวกนั้นเจอเทปคำสารภาพของคนร้ายตัวจริง เคยมีการสอบสวนแล้วตอนท้ายเจอแม้กระทั่งหลักฐานสำคัญที่ชี้ชัดไปที่คนฆ่าตัวจริง ผมได้เงิน 100 เหรียญฯ เสื้อยืดกับกางเกงอย่างละตัว และไม่เคยได้รับคำขอโทษ คำให้การของพวกสายตำรวจเพื่อแลกกับเงิน สามารถเอาคนบริสุทธิ์เข้าคุกได้ง่ายๆ นี่มันอันตรายมาก แล้วชีวิตคนบริสุทธิ์ก็พังไปหมด”

 

 
สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมภาพยนตร์ทั้ง 10 เรื่องได้ที่ www.oneforten.com 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net