Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาโดยจาตุรนต์ ฉายแสง เนื่องในวาระ 40 ปี 14 ตุลา ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคตประชาธิปไตยไทย” ชี้จุดร่วมกับตอนนี้กับ 14 ตุลา คือความพยายามเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ย้ำต้องแก้ไขรธน. เพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

 13 ต.ค. 56  คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ร่วมกับมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย สมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา 2516 ได้จัดงานฉลองในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยเมื่อเวลา 10.30 หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการกล่าวปาฐกถาของจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคตประชาธิปไตยไทย”

วิดีโอการปาฐกถาของจาตุรนต์ ฉายแสง สามารถติดตามได้ที่ http://prachatai.com/journal/2013/10/49245

0000

 

ก่อนถึงสิบสี่ตุลา จะขอพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่มาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 อย่างย่อๆ จากการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2475  มีความพยายามสร้างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นตัวกำหนดให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน ด้วยอุดมการณ์ที่ให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร แต่หลังจากการเปลี่ยนการปกครอง ก็ต้องเผชิญกับการโต้กลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ประกอบกับความขัดแย้งภายในคณะราษฎร ต่อมาเมื่อมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการรัฐประหารจากฝ่ายกองทัพ ที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ภายใต้การสนับสนุนของมหาอำนาจและนโยบายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จตั้งแต่นั้นมา ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจทั้งสามเสา นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวบอยู่ที่คนคนเดียว มีการใช้มาตรา 17 ที่ให้อำนาจการประหารชีวิตคนด้วยการออกคำสั่งของคนคนเดียว

ต่อมาเมื่อปี 2512 มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลอยู่ได้สั้นๆ ก็มีการรัฐประหารตนเองโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2514 ในช่วงนั้นยังคงมีการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ มีปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง มีการใช้อำนาจบาตรใหญ่ในหมู่ผู้ปกครองประเทศ เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่สามารถให้ประชาชนเสนอการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้นำไปสูการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องความถูกต้อง มีการเผยแพร่ความคิดกระแสประชาธิปไตยแบบตะวันตกในหมู่แกนนำนักศึกษา ที่เป็นผู้นำเอาเรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การต่อต้านสงครามในต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสังคมไทยตกอยู่ในภาวะที่อยู่แบบชะงักงัน มีการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิบปี แม้จะมีการเลือกตั้งสั้นๆ แต่ก็อยู่ได้เพียงสั้นๆ จึงนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในช่วงนั้นมีคำขวัญที่เป็นที่ติดตรึงมาอย่างยาวนาน คือ “เราต้องการรัฐธรรมนูญ” อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญกลับถูกจับกุมในข้อหากบฏ กลายป็น “สิบสามกบฎ” ทำให้นักศึกษาประชาชนหลั่งไหลเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นไปอีก เกิดเป็นเหตุการณ์สิบสี่ตุลา

เหตุการณ์สิบสี่ตุลา ที่ในท้ายที่สุดสามารถขับไล่สามทรราชย์ (จอมพลถนอม กิตติขจร, พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร, พล.อ. ประภาส จารุเสถียร) ออกไปนั้น คือการไม่พอใจการบริหารประเทศที่ล้มเหลวทางการเมืองเศรษฐกิจและการคอรํรัปชั่น จึงเกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คือการไม่ยอมให้อำนาจอยู่ในผู้บริหารเพียงไม่กี่หยิบมือ โดยสิ่งที่สำคัญในเหตุการณ์สิบสี่ตุลาคืออำนาจของประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่มารวมตัวกัน และความต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

จากเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็มีรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ซึ่งต่อมามีการเลือกตั้งในปี 2519 เป็นการทำลายกำแพงที่ขวางกั้นประชาธิปไตย อำนาจทางเศรษฐกิจที่อยู่ในคนไม่กี่หยิบมือถูกทำลายไป เสรีภาพที่เพิ่มขึ้นมาทำให้เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย และการเรียนรู้ของประชาชนในเรื่องต่างๆ แต่สุดท้ายก็เกิดการตีกลับของฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยเกิดการรัฐประหารปี 2519 และมีการปราบปรามประชาชน นำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ในระหว่างนั้นก็มีวิวัฒนาการของการต่อสู้ของประชาชนครั้งใหญ่ ที่มีการต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธในพื้นที่ป่าเขา ทำให้ผู้ปกครองสรุปบทเรียนว่าต้องมีระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการยึดอำนาจสลับกันบ้าง อย่างเหตุการณ์การยึดอำนาจของรสช.ในปี 2534

สำหรับในช่วงนั้น ประสบการณ์ของผู้คนจากเหตุการณ์ 14 ตุลามีบทบาทในระหว่างนั้นมากพอสมควร เนื่องจากคนที่เคยต่อสู้ช่วง 14 ตุลารู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้เกิดการยึดอำนาจและปกครองโดยทหารอีก ฉะนั้นจึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทำให้ระอบบรัฐสภาพํฒนาไปบ้างหลังปี 2535 เกิดสภาปฏิรูปการเมือง มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้น

เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2540 คือให้มีระบอบพรรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งโดยประชาชนและองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ก็เกิดความพยายามล้มรัฐบาลและประชาธิปไตยในการรัฐประหารปี 2519

ลักษณะการเมืองที่พิเศษก่อนปี 2549 ได้เกิดปรากฎการณ์ที่สำคัญ อย่างแรก คือเกิดการย้ายข้าง เปลี่ยนข้างของปัญญาชนและพลังประชาธิปไตยบางส่วนที่ถือว่าตนเองเคยเป็นประชาธิปไตย ที่พูดว่าย้ายข้าง เพราะปัญญาชนไทยเคยมีบทบาทที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่มีจำนวนหนึ่งไม่สนับสนุนประชาธิปไตยอีกต่อไป กลับไปสนับสนุนการปกครองที่ถอยหลังเข้าคลอง เช่น คำพูดที่ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐบาลไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ตาม ซึ่งนำไปสู่การเชิญชวนให้เกิดการรัฐประหาร ผู้ที่เข้าร่วมกับการเสนอข้อเสนอเหล่านี้ มีพลังบางส่วนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน แต่ท้ายที่สุดกลับนำไปสู่การรัฐประหาร

สอง รัฐประหารปี 2549 ใช้ผู้นำกองทัพยึดอำนาจ แต่ผู้นำกองทัพพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้มีอำนาจจริง และไม่มีได้มีโอกาสใช้อำนาจใดซักเท่าไหร่ ซึ่งอันนี้อาจเกี่ยวกับการอธิบายคำนิยามของอำมาตย์ ขอให้นึกถึงว่า เมื่อก่อนสมัยสฤษดิ์ยึดอำนาจ เขามีอำนาจมาก ยึดได้แล้วเป็นแบบเบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจมาตราสิบเจ็ด เมื่อมองดูรอบข้างก็แทบไม่มีใครที่มีอำนาจมากเท่านี้แล้ว แต่เมื่อพลเอกสนธิ บุญรัตกลินยึดอำนาจ คนรอบข้างก็ยังมีอำนาจ เหนือพลเอกสนธิก็ยังมีคนที่มีอำนาจอีกเต็มไปหมด สนธิถือว่าเล็กนิดเดียว นี่คือความหมายของอำมาตย์

สาม ได้เกิดการใช้สิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์เข้ามาจัดการกับการเมือง ที่จริงแล้วใช้คำว่า “ภิวัฒน์” น่าจะหมายถึงการทำให้ดีขึ้นของการใช้อำนาจตุลาการ แต่ในความจริง ตุลาการภิวัฒน์ เป็นการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงครอบงำทางการเมือง การใช้กองทัพเป็นเครื่องมือนั้นใช้สำหรับยึดอำนาจ แต่ไม่ได้ใช้มาปกครอง สิ่งที่ถูกใช้ปกครองแทนคือตุลาการภิวัฒน์ สิ่งนี้ถูกเสนอโดยพวกปัญญาชนย้ายข้างตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารแล้ว ต่อมาตุลาการภิวัฒน์กลายเป็นผู้ควบคุมตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร คือตุลาการมีอำนาจเหนืออำนาจอื่นๆ

สิ่งที่ปัญญาชนย้ายข้างเสนอ คือว่า ให้ตุลาการมาจัดการการเมืองเพราะการเมืองจัดการกันเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องให้ตุลาการ ซึ่งในหลายประเทศอำนาจตุลาการเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพองประชาชนเพราะมีความเป็นกลาง แต่สิ่งที่ผิดพลาด คือ ตุลาการของไทยไม่เคยมีประวัติในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่ตุลาการในหลายประเทศ ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการเข้ามาจัดการทางการเมืองไม่น้อย แต่สิ่งที่เขาแตกต่างจากของไทย คือ ระบบตุลาการหลายประเทศ เขามีอำนาจยึดโยงกับประชาชนทางใดทางหนึ่ง แต่ตุลาการไทยไม่มีการยึดโยงเลย มันจึงกลายเป็นการเอาตุลาการเข้ามาทำในสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์แต่ไม่ได้แก้ปัญหาให้การเมืองดีขึ้น แต่กลับสร้างปัญหาให้การเมืองในประเทศไทย ความจริงตนก็ทราบว่า มีคนในระบบตุลาการหลายส่วนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะเมื่อเอาตุลาการเข้ามาจัดการการเมืองและเลยเถิดดังที่เป็นอยู่ มันนำไปสู่ความเสื่อมเสียของตุลาการอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เราเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 เรามีรัฐธรรมนูญที่สลับกับการยึดอำนาจโดยทหารซึ่งมีธรรมนูญการปกครอง แต่อย่างน้อยพวกที่ยึดอำนาจเป็นฝ่ายเผด็จการ ยังเรียกว่าเป็นเพียงธรรมนูญการปกครอง เพราะมาจากการยึดอำนาจ แต่หลังรัฐประหารปี 2549 มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาโดยไม่มีความชอบธรรมแต่กลับเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญ กระบวนการตั้งคนร่างขึ้นมาก็ตั้งโดยคณะรัฐประหาร

ข้อที่สี่ คือการใช้รัฐธรรมนูญ และออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างแยบยลซับซ้อน โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 มีลักษณะพิเศษคือ ไม่ได้มุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่เพื่อให้มีหลักประกันชัดเจนว่าประชาชนจะต้องไม่มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของประเทศ ฉะนั้นข้อความที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน ไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ เนื่องจากเขาเขียนในหลายๆ หมวดและมาตราที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย แต่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนจริงๆ

ห้า หลังรัฐประหารปี 2549 มีลักษณะพิเศษ คือไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด ระหว่างฝ่ายที่อยากเป็นประชาธิปไตย และไม่อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ยังมีลักษณะชักเย่อกันอยู่ อย่างสมัยสฤษดิ์ เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว ก็เกือบจะกุมอำนาจได้ราบคาบและปกครองนานเป็นสิบปี แต่เมื่อสมัยรสช.ยึดอำนาจในปี 2534 อยู่ได้ไม่นานก็ต้องกลับมาเป็นประชาธิปไตย แต่รัฐประหารปี 2549 เมื่อรัฐประหารแล้ว กลับไม่เบ็ดเสร็จไปทางใดทางหนึ่ง จะเป็นเผด็จการเด็ดขาดทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ แต่จะเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วอย่างเต็มที่ก็ไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ แม้มีกระแสที่ผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นไม่ได้จริงๆ เพราะยังมีพลังที่ยังเหนี่ยวรั้งประเทศไม่ให้เปนประชาธิปไตยอยู่อย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะทำลายพรรคก็แล้ว จัดองค์กรจัดการเลือกตั้งขึ้นเองก็แล้ว มีแผนบันไดสี่ขั้นก็แล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อเลือกตั้งแล้ว คนก็บอกไม่สนับสนุนพรรคที่เอาเผด็จการ

นี่เป็นผลจากการพัฒนาทางการเมืองและประชาธิปไตย ตลอดหลายปีมานี้ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งปี 2544 คือการการพัฒนาและเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยของประชาชนอย่างต่อเนื่อง คือประชาชนรู้ว่าต้องแข่งขันจากนโยบาย พรรคการเมือง  ซึ่งมีผลต่อชีวิตประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน อย่างปี 2518 เคยมีนโยบายเงินผัน นั่นก็ติดปากประชาชนเรื่อยมาก แต่ปี 2544 2548 กระบวนการที่ประชาชนเลือกพรรค พรรคต้องนำเสนอนโยบาย ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่า การเลือกพรรคการเมืองมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยกินได้ เวลาเลือกตั้ง ประชาชนจึงยังให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคการเมืองซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีความก้าวหน้า

แต่หลังปี 2549 จนถึงปัจจุบัน พัฒนาความแตกต่างของพรรคการเมือง ก็ยังเป็นการแข่งขันเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศ เรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเส้นแบ่งเรื่องการสนับสนุนประชาธิปไตยอีกด้วย ว่าพรรคไหนสนับสนุนประชาธิปไตย หรือไม่สนับสนุน เพราะจากสิบสี่ตุลามา คนรุ่นหลังๆ มาสรุปได้เหมือนกันว่า พลังประชาธิปไตย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเสียที ความเสี่ยงในการย้อนไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นปัญหาคู่กันอยู่ตลอดการเมืองไทย ฉะนั้น การที่พรรคสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญอย่างมากจนถึงวันนี้

รัฐธรรมนูญฉบับ 2549 ถูกเขียนไว้เพื่อกำหนดว่าอำนาจต้องไม่อยู่ที่ประชาชน ต้องไม่ใช่ผู้กำหนดอนาคตประเทศ แต่ล้มไม่ได้เพราะประชาชนยังไม่เห็นด้วย แต่กลไกในรัฐธรรมนูญ ยังสามารถชี้เป็นตายรัฐบาลได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ในขณะที่การเมืองยังอยู่ในภาวะชักเย่อ ฝ่ายที่ต้องการดึงกลับสภาวะประชาธิปไตย ก็ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรนูญ และใช้กลไกลตุลาการภิวัฒน์ ขัดขวางการใช้อำนาจรัฐสภา เช่นการตีความรัฐธรรมนูญตามใจชอบ มีการตีความให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการแก้รัฐธรรมนูญ คือเรามีศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งตัวเป็นรัฐธรรมนูญเสียเองและอยู่เหนือรัฐธรรมนูญด้วย

สำหรับอนาคตของประชาธิปไตยไทย คิดว่ามีจุดร่วมอย่างมากกับการเคลื่อนไหว 14 ตุลาที่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นใหญ่ เป็นผู้กำหนดความเป็นไปของประเทศ รัฐธรรมนูญจึงเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย

ถ้าจะให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ เราต้องรีบแก้มาตรา 190 แม้ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยเสียเท่าไหร่ แต่การบริหารประเทศไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐสภาซึ่งมาจากฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย และขั้นตอนต่อไปคือการแก้มาตรา 68 เพื่อปิดช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการแก้รัฐธรรมนูญ และเพื่อแก้มาตรา 291 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ต้องให้อำนาจอธิปไตยทั้งสามเป็นอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน ประชาชนเป็นผู้กำหนด

ระบอบประชาธิปไตย เขามีความหมายว่าต้องมีหลักความยุติธรรมอยู่ในนั้นอยู่แล้ว แต่ไทยพึ่งมาพูดเรื่องนี้กันหลังๆ เนื่องจากมีปัญหาจากการที่ตุลาการเข้ามาแทรกแซงระบบยุติธรรม รัฐธรรมนูญที่จะเป็นประชาธิปไตย จะมีองค์กรต่างๆ ช่วยตรวจสอบก็ได้ แต่ต้องไม่มีองค์กรใดๆ ที่ใช้อำนาจโดยไม่ยึดโยงจากประชาชน สามารถอิสระจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ แต่จะอิสระจากสมบูรณ์จากประชาชนไม่ได้ อำนาจอธิปไตยสามอำนาจทั่วโลกเป็นแบบนี้ ไทยจึงไม่ควรมีอำนาจอธิปไตยที่สี่อย่างที่เป็นอยู่ องค์กรอิสระเป็นองค์กรเดียวที่ใช้อำนาจอธิปไตยสามด้านอยู่ในองค์กรเดียว อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นต้น ประชาธิปไตยที่ดี ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดี เช่นเรื่องคอร์รัปชั่น แต่คอร์รัปชั่นมีมาตลอด ปัญหาอยู่ที่ว่า จะมีระบบการตรวจสอบคอร์รัปชั่นที่ดีได้อย่างไร จะต้องโปร่งใส กลการตรวจสอบก็ต้องตรวจสอบได้จากประชาชนไม่ใช่ตรวจสอบได้ตามอำเภอใจ

ทุกวันนี้เรามีองค์กรปปช. ซึ่งเป็นผลจากการยึดอำนาจ ที่มาก็ไม่ยึดโยงจากประชาชน เราตรวจสอบปชช. ไม่ได้ เขาเลือกเรื่องใดมาตรวจสอบก่อนหลัง ปัญหาระบบตรวจสอบไทยตอนนี้ อาจเทียบได้กับสมัยสิบสี่ตุลา คือมีความพยายามตั้งองค์กรตรวจสอบที่อิสระจากราชการ ตอนนั้นเรียกว่า กตป. ซึ่งตรวจสอบตามอำเภอใจ อยากตรวจใครก็ตรวจไม่ตรวจใครก็ไม่ตรวจ เมื่อมีการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์สิบสี่ตุลา เกิดการเผา ตึกแรกที่ประชาชนเผาคือกตป. เพราะกลไกการตรวจสอบที่ไม่ถูกตรวจสอบโดยประชาชน คนจึงรู้สึกว่านี่เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง

ฉะนั้น เพื่อจะเป็นประชาธิปไตย ต้องทำให้รัฐสภาเข้มข็ง ให้ออกกฎหมายได้ดีกว่านี้ แต่โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบันมันไปบั่นทอนอำนาจรัฐสภา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องให้นิติบัญญัติพัฒนาตัวเอง ระบบพรรคการเมืองต้องเข้มแข็งขึ้น ต้องเรียกร้องต่อกันว่าต้องพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้น ที่สำคัญมาก คือ พลังของประชาชนและพลังประชาธิปไตย เรายังคงต้องสร้างพลังประชาชนพลังประชาธิปไตยต่อไปให้เข้มแข็ง พลังประชาชนในช่วงนี้มีความเข้มแข็ง เข้าใจปัญหาการเมืองมาก และเป็นพลังสำคัญในการคานอำนาจฝ่ายต่างๆ และผลักดันบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย พลังประชาชนมีความสำคัญ ต่อให้เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็สำคัญในการประคับประคองประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป

ประเทศไทยต้องไม่โดดเดี่ยว เราอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่ถูกดึงให้ถอยหลังไปอีก การที่ประเทศไทยเปิดตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันและความร่วมมือเพื่อประชาธิปไตย ฉะนั้นหากผลักดันให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงของโลก จะสามารถฉุดลากอะไรที่เหนี่ยวรั้งอยู่ให้ก้าวต่อไปข้างหน้าที่เป็นประชาธิปไตย จุดร่วมของตอนนี้กับเหตุการณ์สิบสี่ตุลา คือการไปให้พ้นจากเผด็จการ เมื่อถึงจุดที่ประชาชนไทยสะสมความรู้ ความเข้มแข็ง ที่ร่วมมือกัน ก็จะสามารถก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net