Skip to main content
sharethis

ผู้นำสหภาพแรงงานร่วมอภิปราย “เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปขบวนการแรงงานบนเส้นทางการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทย” ชี้ประเด็นปฏิรูปบทบาทของขบวน สร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง

27 ต.ค.2556 เวลา 9.00 น. ที่ ห้องประชุม ตึกกิจกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต และ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดอภิปรายหัวข้อ “เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปขบวนการแรงงานบนเส้นทางการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทย” เนื่องในวาระ 40 ปี 14 ตุลา โดยมี จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ, บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, วัฒนะ เอี่ยมบำรุง อดีตประธานสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย, นภาพร อติวาณิชยพงศ์ กรรมการ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, โชคชัย สุทธาเวศ เลขาธิการ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร, นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และพนมทวน ทองน้อย กรรมการบริหารสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ ร่วมอภิปราย

จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ 

นักศึกษากับกรรมกรในเหตุการณ์ 14 ตุลา

ก่อนเริ่มอภิปราย จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวเปิดว่าหลัง 14 ตุลา 2516 ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นส่งผลให้ลูกจ้างคนงานลุกขึ้นมานัดหยุดงานเรียกร้องค่าแรงสวัสดิการมากกว่าที่เคยเป็นก่อนหน้า และมีการเคลื่อนมาเรื่อยๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นั้น นักศึกษานำโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่ ธรรมศาสตร์ มีการทำกิจกรรมร่วมกับกรรมกร เริ่มจากการสอนหนังสือให้ลูกจ้างในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เข้าไปทำให้รู้จักผู้นำคนงานมากขึ้น ปลายปี 2515 มีประกาศอนุญาตให้คนงานจัดตั้งสมาคมได้ ทำให้พวกนักศึกษาสภาหน้าโดมเข้าไปช่วยแนะความรู้เช่นเรื่องบัญชี เรื่องอื่นๆ ให้กับกรรมกรจำนวนมาก และตอนนั้นก็เข้าไปด้วยความคิดเรื่องปฏิวัติ ไม่ได้ไปเรื่องความเห็นอกเห็นใจคนงานหรือสิทธิ

จรัล กล่าวด้วยว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลา มีลูกจ้างคนงานก็เข้ามาร่วมกับนักศึกษาจำนวนมาก และหลังจากนั้นนักศึกษาก็ทำงานกับคนงานกันต่อเนื่อง รวมทั้งบางกลุ่มก็เข้าไปอยู่เลยกับคนงาน ทำให้หลัง 14 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็ฯฐานที่มั่นของประชาชน คนงาน มีการชุมนุมที่สนามหลวง ที่นี่ก็เป็นที่ทำข้าวอาหาร  กลายเป็นฐานที่มั่น กองเสนาธิการ จนกระทั่งเกิดเหตุ 6 ตุลา 2519

ขบวนการแรงงานขาดโฆษก

จรัล มองว่าขบวนการผู้ใช้แรงงาน 20 ปีที่ผ่านมาในทั่วโลกเป็นช่วงขาลง เช่นเดียวกับประเทศไทย สาเหตุประการหนึ่ง คือ 30 กว่าปีมานี้ขบวนการผู้ช้แรงงานไม่มีโฆษก ซึ่งสมัยก่อนมีนักศึกษาและนักสังคมนิยม คอมมิวนิสต์เป็นโฆษก ดังนั้นตนจึงคิดว่าในวาระ 40 ปี 14 ตุลา นี้ก็อยากให้นักศึกษาไปเป็นโฆษกให้กับกรรมกรชาวนา  อีกสาเหตุที่ทำห้ขบวนการแรงงานอ่อนแอเพราะมีจำนวนองค์การระดับชาติ มาก ซึ่งปัจจุบันมีถึง 13 สภาองค์กรระดับชาติ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ

บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย 

ระบบจ้างงานบีบสาเหตุสมาชิกสหภาพน้อย

บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย อภิปรายว่า ปัญหาในขบวนการแรงงาน คือ ขาดความเป็นเอกภาพ แตกแยกเป็นหลายกลุ่ม ปัจจุบันเรามา 3-4 กลุ่มด้วยกัน รวมทั้งไม่มีผู้นำรุ่นใหม่เข้ามา และระบบไตรภาคีทำให้เกิดความแตกแยกในขบวนการ กฏหมายแรงงานที่ทำให้จัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องยาก อย่างกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ ไม่ได้มีการแก้ไขให้เข้ากับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐเองขาดความเป็นกลาง

ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย มองว่าขบวนการแรงงานขาดผู้นำหลักในการประสานงานให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีแกนกลางที่จะรวมกลุ่มกัน

บรรจง กล่าวอีกว่า ระบบการจ้างงานเองก็เป็นตัวทำลายขบวนการไปในตัวเนื่องจากการจ้างแบบรับเหมาค่าแรง โรงงานหลายที่มีนิติบุคคลซ้อนอยู่ในหลายบริษัท มีลูกจ้างประจำลดลง ขณะที่ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น แต่ก็รวมตัวจัดตั้งก็ไม่ได้ อีกทั้งหลายที่ถ้าโรงงานไม่มีการทำงานล่วงเวลา ลูกจ้างเองก็จะเปลี่ยนงานทันที คนงานส่วนมากเข้าทำงานและออกจากงานเร็ว จากเหตุเพราะเงินไม่เพียงพอ จากค่าแรงงานที่น้อยจึงมักเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ส่งผลให้สหภาพยิ่งมีน้อย ในทางตรงกันข้ามสภาหรือองค์กรแรงงานระดับชาติกลับมีมาก อีกทั้งระบบการศึกษาเป็นปัญหา เนื่องจากนัศึกษาจบมาก็ไม่รู้เรื่องแรงงานแม้แต่นิดเดียว ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความสนใจเรื่องสิทธิแรงงานด้วย

แก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้จัดตั้งสหภาพง่าย ตั้งกรมส่งเสริมสหภาพฯ

บรรจง กล่าวว่า ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานง่ายขึ้น รวมทั้งในกระทรวง แรงงานยังขาดกรมส่งเสริมการมีสหภาพแรงงาน เพราะถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้เขาก็จะปัดไปแรงงานจังหวัดหมด รวมทั้งผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ต้องศึกษาทางชนชั้น เพราะถ้าไม่มีอุดมการณ์เมื่อเข้ามาในขบวนการก็จะลำบาก หากไม่มีอุดมการณ์นั้นขาดช่วงแน่นอน

วัฒนะ เอี่ยมบำรุง

วัฒนธรรมองค์กร และเงินสนับสนุนจากองค์กรแรงงานระหว่างเทศ

วัฒนะ เอี่ยมบำรุง อดีตประธานสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่าคนเป็นหัวใจหลักของขบวนการแรงงาน ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรแรงงานระดับสหภาพแรงงานและสภาองค์กรแรงงานระดับชาติ มีตัวที่แฝงอยู่ คือตัววัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน องค์กรแรงงานนะดับชาติบางแห่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ บางองค์กรได้รับความช่วยเหลือต่อปี 2 ล้านบาท มีการจัดสัมมนามากมาย แต่ไม่มีการพูดเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงงานเลย มีเพียงความเข้มแข็งภายใน ทำให้มีวัฒนธรรมแบบก็ต่างคนต่างอยู่ ความช่วยเหลือของแหล่งทุนเหล่านั้นไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรแรงงานนั้นกำหนดว่าเพื่อสร้างขบวนการแรงงานที่มีความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นและพร้อมรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทำให้ผู้นำแรงงานเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องร่วมทำงานกับองค์กรอื่นเพราะเขาอยู่สุขสบายดี

นภาพร อติวาณิชยพงศ์ 

การปฏิรูปบทบาทของขบวนการแรงงาน และการสร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง

นภาพร อติวาณิชยพงศ์ กรรมการ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มองว่า ปัจจุบันขบวนการแรงงานอยู่ในฐานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคประชาชน ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้นำขบวน ต่างจากฐานะของผู้นำของขบวนการปฏิวัติสังคมอย่างแต่ก่อน อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานแม้ไม่ได้เป็นหัวขบวนแต่ก็มีอำนาจการต่อรองจำนวนหนึ่ง

นภาพร กล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปขบวนการแรงงาน 2 ประเด็น คือ การปฏิรูปบทบาทของขบวนการแรงงาน และการสร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง

1. ปฏิรูปบทบาท เนื่องจากการจ้างงานเปลี่ยน มีการแทนที่ด้วยแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ถ้าขบวนการรงงานเป็นตัวแทนในแรงงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจในระบบอย่างเดียวก็จะไม่สามารถรักษาบทบาทเป็นแกนนำของแรงงานทั้งหมดได้ โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีแผนปรับเปลี่ยนเพื่อนำแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติเข้ามารวมอยู่ด้วย

ในส่วนของการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คือขบวนการแรงงานจะต้องเป็นมากกว่ากลุ่มผลประโยชน์ ถ้าขบวนการแรงงานต้องการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคมที่ก้าวหน้าต้องมีมิติตรงนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ขบวนการแรงานถูกโดดเดี่ยวหรือต้านจากสังคม

2. การสร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง ในมิติด้านการบริหารนั้นจะทำอย่างไรให้คนงานข้ามชาติและนอกระบบเข้ามาร่วมได้ ส่วนการเติบโตเชิงคุณภาพต้องมองเรื่องการพึ่งตัวเองทางการเงิน ต้องมีปัญญาชนของขบวนการแรงงาน โดยการพึ่งตัวเองได้ทางการเงิน กลุ่มสหภาพแรงงานหลายองค์กรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะกลุ่มรัฐวิสาหกิจ แต่องค์กรระดับชาติที่ต้องมานำขบวนการแรงงานนั้นยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ผลักดันการเก็บค่าบำรุงของสมาชิก ซึ่งหลายที่ก็ทำไม่ได้ ส่วนที่มาทางการเงินต้องมีระบบที่จะระดมทุนจากสังคมด้วย

นภาพร กล่าวว่า ปัจจุบันขบวนการแรงงานขาดมันสมองในการคิดเชิงนโยบายและการสื่อศารจากสังคม จึงต้องมีปัญญาชนของขบวนการแรงงาน ซึ่งมาได้ 2 ทาง คือจากการสร้างคนคนงานขึ้นมาเป็น และจากปัญญาชนภายนอก อย่างนักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และนักศึกษา ซึ่งบทบาทของปัญญาชน ต้องคิดเรื่องเชิงนโยบาย มีวิสัยทัศน์ที่มากกว่าเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องของการบริหารจัดการขบวนการแรงงานอย่างไร พบว่ายังขาดเยอะ การสื่อสารต่อสังคมที่ไม่ใช่เพียงแค่การประชาสัมพันธ์ การเป็นโฆษกที่จะสื่อให้ประชาชนเข้าใจขบวนารแรงงาน ซึ่งนำมาซึ่งการสนับสนุนขบวนการแรงงาน  

จิตรา คชเดช 

สหภาพมักเกิดเมื่อเจอปัญหา

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่าที่มาของสหภาพแรงงานมักมาภายใต้การเกิดปัญหาก่อนจึงคิดรวมตัวเป็นสหภาพแรงงงาน ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกว่าต้องการสิทธิ เช่นมีปัญหาเรื่องการลดค่าจ้างการตัดสวัสดิการ คนงานก็คิดเรื่องการรวมตัว คนก็เข้าไปจัดตั้งสหภาพแรงงาน ทำให้คนแรกๆที่เข้าไปจัดตั้งจะเป็นผู้มีพระคุณ และหากถ้าเป้าหมายสำเร็จก็ต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่สำเร็จ อาจถูกเลิกจ้าง ก็จะเข็ดไม่กล้ายุ่งกับสหภาพอีก ทำให้คนงานรู้จักสหภาพฯ ก็เมื่อตอนเกิดปัญหา

บรรจุเรื่องกฏหมายคุ้มครองแรงงานและสหภาพเข้าแบบรียน

จิตรา เสนอด้วยว่า เรื่องแรกคือต้องการบรรจุเรื่องสหภาพแรงงาน กฏหมายพื้นฐานเกี่ยวกับแรงงาน เช่น การคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งการรวมตัวต่อรอง เข้าสู่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ควรมี สถาบันแรงงาน มีนักวิจัยที่สนับสนุนข้อมูล รองรับการต่อสู้เรียกร้องเจรจาต่อรองของคนงาน และต้องเป็นคนงานที่จ้างนักวิจัยทำงานข้อมูลเหล่านี้ เช่นเดียวกับฝ่ายนายจ้างที่มีการจ้างนักวิจัย ซึ่งในต่างประเทศในการเรียกร้องค่าจ้างนั้นนายจ้างกับลูกจ้างจะมีข้อมูลเท่าเท่ากัน รวมทั้งการรวมตัวจัดตั้งเป็นสหภาพประเภทอุตสาหกรรมมากขึ้น และพัฒนาไปเป็นพรรคการเมืองในอนาคต

ปัญหาระบบไตรภาคีคือ 1 สหภาพ 1 เสียง และการให้รางวัล

จิตรา กล่าวว่า ระบบไตรภาคี มีปัญหาคือ 1 สหภาพฯ 1 เสียง ทำให้สหภาพฯที่มีสมาชิกมากก็มีแค่ 1 เสียง รวมทั้งระบบดังกล่าวมีการให้รางวัล เช่น ให้เครื่องราช พระราชทานเพลิงศพ ซึ่งกรรมกรในภาวะปกติไม่สามารถหาได้ ด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้รู้สึกตัวเองใหญ่โตและเพื่อให้ได้รางวัลดังกล่าวก็ต้องเป็นถึง 2 สมัย ทำให้เกิดการล็อบบี้เพื่อได้ตำแหน่งต่อ และไม่กล้าที่จะพูดมากในระบบ เนื่องจากจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น

จิตรา เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นข้อจำกัดในการออกนโยบายของพรรคที่มีอุดมารณ์ต่างออกไปจากกรอบแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

การบีบของการจ้างงานทำให้คนงานไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ เช่น เมื่อสามีออกมาประชุมสัมมนาด้านแรงงานก็ถูกเมียก็ด่าว่าไม่ทำงานลูกจะไม่มีเงินกิน เพราะติดค่าจ้างและสวัสดิการที่ต่ำแม้ขึ้นเป็น 300 บาท แต่ค่าครองชีพก็ขึ้นตาม

แนวคิดเรื่องนายจ้างเป็นผู้มีพระคุณ

จิตรา กล่าวว่า หากคนงานอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมที่ยกให้นายจ้างเป็นผู้มีพระคุญ ก็ทำห้ไม่สามารถกล้าที่จะต่อรองได้ รวมทั้งการมาจากความล้มเหลวจขอภาคเกษตรที่ทำให้คนงานมีหนี้ติดตัวมาด้วย จึงต้องทำงานหนักใช้หนี้แทนพ่อแม่ เวลาในการเคลื่อนไหวด้านแรงงานก็น้อยลง

กลุ่มศึกษาหัวใจของการต่อสู้ คนงานเข้าไปมีส่วนร่วมใน ก.แรงงานและประกันสังคม

จิตรา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตนเองและกรรมกรเรียนรู้ผ่านกลไกเรื่องกลุ่มศึกษา เช่น เรื่องคิดเลข เพราะถ้าไม่สามารถคิดเป็นก็ต่อรองยาก การดูงบดุล การทำความเข้าใจที่มาจของอำนาจในการกำหนดค่าจ้าง เป็นต้น

จิตรา เสนอว่า ต้องยกระดับกระทรวงแรงงาน เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่จะเข้ามาคุ้มครองชีวิตของคนงงาน และคนงานต้องเข้ามาตรวจสอบกระทรวงและระบบประกันสังคมได้ด้วย รวมไปถึงมีส่วนในการวางนโยบายขององค์กรเหล่านี้ รวมทั้งคนงานควรมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการโดยใช้บัญชีจากประกันสังคม จะทำให้คนงานหรือสหภาพที่มีจำนวนสมาชิกมาก็อาจได้รับการเลือกตั้งและสามารถผลักดันในเชิงนโยบายได้ เพราะปัจจับุนคนงานแทบไม่มีตัวตนทางการเมืองในที่ทำงานหรือในเมืองเลย

สหภาพฯ ควรใช้ระบบจ้างเจ้าหน้าที่ทำงานมากกว่าขออาสาสมัครและเอ็นจีโอ

จิตรา เสนอด้วยว่าสหภาพแรงงานควรจ้างเจ้าหน้าที่ในการทำงาน และเลิกใช้เอ็นจีโอและอาสาสมัครให้มาช่วยงานชั่วคราว เพราะการมีการจ้างงานมันมีความเป็นอาชีพ แต่การขอให้อาสาสมัครมาช่วยนั้นมันจะขัดแย้งกันกับการเรียกร้องค่าจ้างค่าตอบแทนต่อนายจ้าง ด้วยหลักการทำงานและจ้างงาน

จิตรายังกล่าวว่านักสหภาพแรงงานต้องมองโลกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นการณ์ที่ สมานฉันท์ที่จัดทำพระเครื่องนั้นไม่ถูกต้องเพราะเป็นการนำเอาความเชื่อแบบนี้มาเป็นตัวนำจะเกิดปัญหา เพราะจะทำให้คนงานขาความเชื่อมั่นในตัวเองและการรวมตัว โดยหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความคิดเรื่องกรรมเก่าเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิตและการจ้างงาน

อีกทั้งนักสหภาพแรงงานต้องไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงโดยรัฐไม่ว่าชุดไหน หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถูกรัฐปราบปราม ก็ควรออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐ ไม่ว่าฝ่ายไหน

ยุทธศาสตร์ 10 ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มองถึงการเปลี่ยนภาวะวิสัยอย่างไร ให้เอื้อต่อขบวนการแรงงานใหม่ ที่มีทั้งเชิงประมาณและคุณภาพ โดยในปริมาณคือขยายครอบคลุมแรงงานนอกระบบและข้ามชาติ รวมทั้งการเป็นขบวนการทางสังคม สำหรับความเข้มแข็งเชิงคุณภาพนั้นมีการควบรวมปรับโครงสร้าง และการพึ่งตนอง

ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์ 10 ปีว่า ในปีที่ 1-2 คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จะสร้างถกเถียงถึงแนวทาง ความเป็นไปได้ในการทำงานทางการเมืองของขบวนการแรงงาน และในปีที่ 3-5  ผลักดันในคนงานสามารถใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนฯในเขตพื้นที่ทำงานได้ การจำกัดสิทธิด้วยคุณสมบัติการศึกษาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไข รวมไปถึงมีผู้แทนจากขบวนการแรงงานลงสมัครรับการเลือกตั้งในการเมืองระดับท้องถิ่น อย่างน้อย 5 คน และหลังจากนั้นในปีที่ 6-10 มีตัวแทนคนงานเป็นผ็แทนในสภาไม่น้อยกว่า 5 คนและมีผู้แทนคนงานได้รับเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ รวมไปถึงตัวแทนพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงานได้รับการเลือกตั้ง1คน

รื้อฟื้นการต่อสู้แนวสังคมนิยม

นิติรัฐ เสนอว่า ช่วงการต่อสู้ปี 2475-2500 หรือ 2516-19 มีแนวคิดทางการเมืองที่สนับสนุนการต่อสู้ชนชั้นแรงงาน และมีมิติการมองเชิทฤษฏีการต่อสู้ ดังนั้นควรรื้อฟื้นการต่อสู้แนวสังคมนิยม และท้าทายวัฒนธรรมการต่อสู้ของขบวนการแรงงานที่เป็นระบบอุปถัมภ์

พนมทวน ทองน้อย

เสนอผู้นำแรงงานนั่งปาร์ตี้ลิสต์รับเลือกตั้งเข้าสภา

พนมทวน ทองน้อย กรรมการบริหารสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ กล่าวว่าที่ผ่านมาการต่อสู้ทุกครั้งไปจบที่ภาครัฐบาลทั้งนั้น แต่ที่นั่นไม่มีคนของแรงงานเข้าไปนั่งเลย ดังนั้นการเลือกตั้งที่ตอนนี้ มี 2 แบบ คือแบบแบ่งเขตกับปาร์ตี้ลิสต์  ในเขตชลบุรีมีนิคมอุตสาหกรรมอมตะอมตะ ในปทุมธานี มีนิคมฯนวนคร สมุทรปราการ ก็มีโรงงานมาก แต่เมื่อไปดูแล้วคนงานไม่มีสิทธิเลือกในสถานประกอบการ แล้ว ส.ส. ที่มาจาก ปาร์ตี้ลิสต์นั้นคะแนนมาจากทั่ว ประเทศดังนั้น เราสามารถมีคนของเราเข้ามาได้ เราหวังว่าผู้นำแรงงานไปนั่งในปาร์ตี้ลิสต์ 13 สภา 13 คน สามนฉันท์ฯ และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ อีก 2 คน รวมเป็น 15 คน ก็มีโอกาสที่ตัวแทนคนงานจะเข้าสู่ภาครัฐบ้าง

โชคชัย สุทธาเวศ

ข้อเสนอที่พูดซ้ำ

โชคชัย สุทธาเวศ เลขาธิการ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวว่าในการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกนั้นการปฏิรูปเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และการปฏิวัติก็เข้ามาเสริมบ้าง ทำให้เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้ สหภาพฯ เป็นขบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงสมาชิกทำให้การก้าวไปจะเร็วก็ไม่ได้ แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้นก็ไม่ใช่ช้ามากเกินไป

เลขาธิการ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร เล่าว่าเคยตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยก็ยุบไปแล้ว ดังนั้นข้อเสนอเรื่องตั้งพรรคการเมืองเหล่านี้ก็เป็นการทำงานวนไปเวียนมา แต่อาจเป็นธรรมชาติของการปฏิรูปที่ต้องเป็นไปเรื่อยๆ  เช่นเดียวกับการพูดถึงการพึ่งพาตนเองด้านการเงินของสหภาพฯ นั้นก็เป็นสิ่งที่พูดมากว่า 30 ปีแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงมีน้อยมาก

โชคชัย กล่าว่า ในขณะที่ขบวนการของเสื้อแดงที่ผูกพันกับพรรคเพื่อไทยสูง อาจเป็นเพราะประชาธิปไตยยังไม่เรียบร้อยอาจจะต้องร่วมกับเพื่อไทยในการทำให้ประชาธิปไตยเรียบร้อย อย่างไรก็ตามเมื่อเรียบร้อยแล้วก็อาจมีพรรคใหม่ขึ้นมาเป็นทางเลือก

นอกจากนี้ โชคชัย ยกกรณีสหกรณ์คนงาน TRY ARM ว่าเป็นกิจการที่คนงานเป็นเจ้าของโรงงานก็แสดงให้เห็นตัวแบบของประชาธิปไตยในโรงงาน เป้าหมายอยู่ที่คนงานเป็นเจ้าของกิจการ คนงานก็เป็นเจ้าของกำไรเอง ดังนั้นจะขยายการที่สถานประกอบการที่คนงานเป็นเจ้าของไปสู่อุตสาหกรรมอื่นเป็นเจ้าของอย่างไร น่าจะเป็ยุทธศาสตร์หนึ่งของขบวนการแรงงานด้วย

อย่างไรก็ตาม โชคชัย ได้กล่าวถึงข้อเสนอจัดตั้งกรมส่งเสริมสหภาพแรงงานของ บรรจง ด้วยว่า ไม่แน่ใจว่าจะทำงานได้หรือไม่  ตัวอย่างกรณีกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น ความเป็นจริงก็กลายเป็นการควบคุมมากกว่าส่งเสริม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net