Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


การปฎิเสธหลักการ 1 คน 1 เสียงโดยอธิการบดีนิด้าและการชี้นำโดยปัญญาชนบางกลุ่มว่าคนไม่มีปริญญาไม่ควรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งบ่งบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีสำนึกทางชนชั้นอย่างเข้มข้น   เทียบเท่ากับสังคมอเมริกันในยุคที่มีนโยบายแบ่งแยกสีผิวที่มลรัฐในภาคใต้  

ในยุคนั้นผู้พิพากษาและนายอำเภอเข้าร่วมขบวนการ“เคเคเค”เพื่อข่มขู่ไม่ให้คนดำซึ่งเป็นลูกหลานอดีตทาสเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการที่ผู้นำม็อบนกหวีดเรียกประชาชนที่สนับสนุนตนว่าเป็น“มหาประชาชน”   และแกนนำบางคนชี้นำว่าผู้เข้าร่วมม็อบนกหวีดคือประชาชนที่มีคุณภาพเหนือกว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ

ประชาชนเหนือประชาชน
ระบอบประชาธิปไตยไม่มี“มหา”ประชาชน   ไม่มีประชาชนที่เหนือประชาชน   มีแต่ประชาชนที่มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกันความเท่าเทียมทางการเมืองไม่รับประกันว่าทุกคนจะมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากันแต่รับประกันว่าเด็กปั๊มและอธิการบดีได้รับสิทธิคุ้มครองในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันคนขับรถแท็กซี่และคนขับรถเฟอร์รารี่มีสิทธิได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมเท่ากันแม่บ้านและไฮโซหมื่นล้านมีสิทธิไปออกเสียงเลือกตั้งเท่ากัน   ระบอบประชาธิปไตยไม่แบ่งแยกถี่ยิบว่าใครมีจุลสิทธิ์ อภิสิทธิ์  หรือมหาอภิสิทธิ์   การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุด
สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้พัฒนาได้เพราะประชาชนมีคุณภาพเหมือนกัน 2 ประการ  คือเคารพกติกาและขยัน   ถ้าการศึกษาไทยไม่สอนให้คนไทยเคารพกติกาไทยก็พัฒนาไม่ได้   ในระบอบประชาธิปไตยกติกาสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ   ไม่ว่าจะเกลียดชังอดีตนายกฯทักษิณอย่างไรคนมีการศึกษาก็ปฎิเสธความจริง 2 ประการไม่ได้   ประการแรกคือความจริงที่ว่าอดีตนายกฯทักษิณไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญปีพศ. 2540 และ 2550   ประการที่สองคือความจริงที่ว่ามีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์

ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรยอมรับว่าการปฎิรูปก่อนเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์คือการฉีกรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุด

ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรยอมรับว่าการฉีกรัฐธรรมนูญคือการล้มล้างการปกครองในมาตรฐานอารยประเทศ

ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรโต้ตอบผลงานวิจัยที่พบว่าการซื้อเสียงไม่มีบทบาทในการตัดสินผลการเลือกตั้งระดับชาติในประเทศไทยด้วยผลงานวิจัยที่อุดมด้วยสถิติ  

ความไม่โปร่งใสคือรากฐานปัญหาทุจริต  
ไม่มีประเทศใดในโลกนี้แก้ปัญหาทุจริตด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ การแก้ปัญหาทุจริตในประเทศที่พัฒนาแล้วยึดหลักการโปร่งใสโดยเฉพาะความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมเป็นตัวตัดสินว่าอะไรเรียกว่าทุจริต   ดังนั้นผู้พิพากษา  อัยการและตำรวจต้องโปร่งใสด้วย   ไทยแก้ปัญหาทุจริตไม่ได้ตราบใดที่ไม่มีการปฎิรูปตุลาการ   จะสัมมนาด้วยงบประมาณหมื่นล้านไปอีกศตวรรษก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ถ้าไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมดิฉันมั่นใจว่าหน่วยงานปราบทุจริตในไทยทราบดีแต่ไม่หยิบยกมาโต้เถียงกันในที่สาธารณะ    

ในสหรัฐฯความโปร่งใสเป็นมาตรฐานที่ใช้กับผู้ใช้ภาษีทุกอาชีพไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง  อาจารย์  อธิการบดี  อัยการ  ผู้พิพากษา  ฯลฯ   กฎหมายบังคับให้พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่ภารโรงยันอธิการบดีต้องเปิดเผยรายได้ต่อผู้เสียภาษี   ข้อมูลรายได้ดังกล่าวหาได้ง่ายตามอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  รายได้ข้าราชการทั้งในระดับมลรัฐและระดับประเทศก็เปิดเผยต่อผู้เสียภาษีเช่นเดียวกัน อัยการสูงสุดระดับมลรัฐมาจากการเลือกตั้ง  ในบางมลรัฐผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งด้วย   อัยการสูงสุดของประเทศและผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลรัฐธรรมนูญโดนตรวจสอบโดยรัฐสภา   ข้อมูลการพิพากษาคดีเป็นข้อมูลสาธารณะที่ผู้เสียภาษีเข้าถึงและถกเถียงได้โดยไม่ต้องกลัวข้อหาหมิ่นศาล

การปลูกฝังค่านิยมด้านความโปร่งใสก็ต้องทำกันทุกระดับ นักศึกษาอเมริกันให้แต้มอาจารย์เพื่อประเมินผลอย่างโปร่งใสเหมือนร้านอาหารและโรงแรมไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้น้อยหรือศาสตราจารย์รางวัลโนเบล  เช่น พอล ครูกแมนได้แต้ม3.2 ดาวจากแต้มสูงสุด 5 ดาว (ที่มา http://www.ratemyprofessors.com/ShowRatings.jsp?tid=243005)  คนไข้ให้แต้มหมอเพื่อประเมินผลเหมือนผู้จำหน่ายสินค้าและบริการอื่นๆ(ตัวอย่าง  http://www.healthgrades.com/provider-search-directory/search?q=Cardiology&search.type=Specialty&loc=New+York%2c+NY)   ทุกอาชีพโดนประเมินผลเหมือนกัน   ไม่มีอาชีพใดมีอภิสิทธิ์เหนืออาชีพอื่น

ในกรณีของไทย   นายสุเทพ เทือกสุบรรณเรียกร้องให้ปฎิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง   แล้วทำไมไม่มีการประเมินผลว่าคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทยในยุคที่นายสุเทพเป็นรองนายกฯได้แต้มกี่ดาว?การเสนอแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญก่อนวันเลือกตั้งน่าจะโปร่งใสกว่าการเลื่อนวันเลือกตั้งเพื่อปฎิรูปโดยบุคคลที่ไม่รู้ว่ามีผลงานกี่ดาว

สื่อมวลชนก็ต้องโปร่งใส   ข่าวจากสื่อมวลชนตะวันตกตีพิมพ์ด้วยชื่อผู้รายงานข่าวชัดเจน   ทำให้ผู้รายงานข่าวต้องระมัดระวัง   ต้องตรวจสอบความจริงและรับผิดชอบผลงานของตน   สื่อมวลชนไทยใช้มาตรฐานนี้เวลารายงานข่าวภาษาอังกฤษเพื่อให้ดูทัดเทียมกับมาตรฐานสากล    แต่ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันเวลารายงานข่าวภาษาไทย    สื่อมวลชนไทยควรปฎิรูปตัวเองเพื่อให้โปร่งใสขึ้น  หนังสือพิมพ์ควรลงชื่อนักข่าวที่เขียนข่าว   อย่ามัวแต่เรียกร้องความโปร่งใสจากอาชีพอื่น

ประชาชนชอบเลือกตั้ง  มหาประชาชนชอบแต่งตั้ง 
ดิฉันไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งในฐานะพลเมืองไทยด้วยเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   แต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ดิฉันจะออกเสียงผ่านสถานกงศุลและจะไม่เลือกทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์   เนื่องจากดิฉันไม่ต้องการพรรคการเมืองที่เล่นการเมืองด้วยม็อบอย่างซ้ำซากและไม่คำนึงถึงชีวิตและเลือดเนื้อของฐานเสียง   และดิฉันคิดว่านี่คือกระบวนการเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนสงครามกลางเมืองที่จังหวัดชายแดนในภาคใต้ 

ดิฉันขอเชิญชวนทุกคนที่เชื่อว่าคนไทยทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์เดียวกันร่วมกันปฎิเสธระบอบมหาประชาชนด้วยการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง   เสียงเดียวฟังดูน้อยอาจทำให้รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าจากการเดินทางไปลงคะแนน    แต่ถ้าคนอเมริกันทุกคนคิดแบบนั้นสหรัฐฯจะไม่ใช่ประเทศที่คนไทยมาศึกษาแล้วกลับไทยไปเป็นอธิการบดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net