Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตลอดปีนี้มีข่าวแถลงการณ์เกี่ยวกับวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรคการเมือง สลับกับข่าวปัญหาเศรษฐกิจที่ซ้ำซากจำเจ อาทิเช่น หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น หนี้ชาวนาพอกพูน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ราคาอาหารแพง วัตถุดิบและอาหารสัตว์ราคาแพง วิกฤตโควิดกระทบกระเทือนห่วงโซ่การผลิต ภาวะสงครามทำให้ปัญหาวัตถุดิบราคาแพงรุนแรงขึ้น และข่าวปัญหาคลาสสิคของกรุงเทพฯ กล่าวคือ การจราจรติดขัด และภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ปัญหาเหล่านี้อาจดูเหมือนปัญหาของต่างพื้นที่และต่างกลุ่มประชากร ทว่าเมื่อวิเคราะห์ด้วยหลักการสมดุลทั่วไปในโมเดลเศรษฐกิจมหภาคแล้วจะพบว่าเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น และเป็นผลลัพธ์ของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ซึ่งก่อให้เกิดการกระจุกตัวของปัจจัยการผลิตในกรุงเทพฯและปริมณฑล

นโยบายที่มุ่งหวังจะแก้ปัญหาจึงต้องผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายทั้งแรงงานและทุนออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ กล่าวได้ว่าจำเป็นต้องมี “วิสัยทัศน์ภูมิภาค” ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จึงนำเสนอการก่อตั้งบริษัท 2 ประเภทควบคู่กันไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ 

บริษัทประเภทแรกคือบริษัทเกษตรและอาหารอย่างครบวงจร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงจากระบบการผลิตเกษตรแบบดั้งเดิมหรือขั้นปฐมภูมิไปเป็นระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจร เกษตรกรสามารถเข้าร่วมระบบการผลิตของบริษัทเกษตรฯ อย่างสมัครใจโดยไม่เสียกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการบริหารจัดการแบบบูรณาการและทันสมัย การใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีอย่างคุ้มค่าในภาคเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และอาหาร จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและแบ่งปันผลกำไรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จะนำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขันในภาคเกษตรและอาหารของไทยให้ติดอันดับท็อป 10 ของโลกได้ ไทยจะเป็น “ครัวโลก” ได้จริงต่อเมื่อมีความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่เพียงในสถานะผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่เท่านั้น แต่ประชาชนจำเป็นต้องเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพด้วยราคาที่เป็นธรรมด้วย

การก่อตั้งบริษัทเกษตรฯ สามารถใช้งบประมาณรัฐจัดต้องกองทุนและร่วมลงทุนกับภาคเอกชนโดยมีเอกชนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างชาติร่วมลงทุนได้ บริษัทเกษตรฯ จะขยาย GDP และสามารถเพิ่มรายได้ภาษีมากกว่างบลงทุนจากงบประมาณรัฐ ฉะนั้นรัฐบาลจะได้กำไร ถ้ารัฐบาลลงทุนในบริษัทเกษตรฯ ใน 71 จังหวัดนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะใช้งบประมาณภายใน 6 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 4 ปี จะได้ปันผลกำไรและสามารถขายหุ้นบริษัทเกษตรฯ ให้แก่เกษตรกรหรือนักลงทุนที่เหมาะสมในภายหลัง 

บริษัทประเภทที่สองในวิสัยทัศน์ภูมิภาคคือธนาคารภูมิภาคในรูปแบบออนไลน์แบงก์กิ้ง (Online banking) ซึ่งจะลดต้นทุนบริการการเงินด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและกระจายทุนแก่ธุรกิจรายย่อย “นอกภาคเกษตรและอาหาร” เพื่อให้การเพิ่มรายได้ในภาคเกษตรและอาหารเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนภาคธุรกิจอื่นๆ ให้เติบโตไปด้วยกัน (ดูแผนภาพประกอบ) ธนาคารดังกล่าวควรมีเอกชนเป็นผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ และนักลงทุนจากต่างชาติสามารถร่วมลงทุนได้ ภาครัฐควรจำกัดบทบาทเพียงการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารในรูปแบบธนาคารออนไลน์ โดยกำหนดให้ธนาคารออนไลน์มีสำนักงานใหญ่และศูนย์ข้อมูลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมีสาขาเลยเหมือนธนาคารออนไลน์ในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว (เช่น Rakuten Bank ในญี่ปุ่น American Express Bank ในสหรัฐอเมริกา) ธนาคารออนไลน์สามารถใช้เครือข่ายเครื่องเอทีเอ็มร่วมกับธนาคารดั้งเดิมหรือใช้บริการแบงก์กิ้งเอเยนต์ตามที่ทำการไปรษณีย์และร้านสะดวกซื้อ เพื่อลดต้นทุนและแข่งขันด้วยดอกเบี้ยและข้อมูล

การก่อตั้งบริษัทเกษตรฯ และธนาคารภูมิภาคแบบออนไลน์แบงก์กิ้งจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม และซื้อหุ้นบริษัทเกษตรฯ จากรัฐในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังสร้างตำแหน่งงานกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคจำนวนมากด้วย การดำเนินการภายใน 100 วันหลังเป็นรัฐบาล โดยแบ่ง 71 จังหวัดนอกกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็น 10 ภูมิภาค จะก่อให้เกิดบริษัทเกษตรฯ 10 บริษัทและธนาคารภูมิภาค 10 ธนาคาร ในโมเดลตัวอย่าง GDP จะขยายตัว 4.6% ภายในเวลาปีครึ่ง และเคลื่อนย้ายแรงงาน 6 แสนคนจากเมืองใหญ่ไปสู่ภูมิภาค เมื่อครบ 4 ปีจะมีบริษัทเกษตร 71 บริษัทใน 71 จังหวัด GDP จะเพิ่มขึ้น 5.8% และแรงงานมากกว่า 7 แสนคนจะเคลื่อนย้ายสู่ภูมิภาค

ในระยะยาวการเพิ่มรายได้เกษตรกรและความมั่นคงของอาชีพเกษตรกรจะส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวสนใจหันมาทำอาชีพเกษตรกร นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายแรงงานสู่ภูมิภาคทั่วประเทศจะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ คนหนุ่มสาวจะสนใจมีลูกมากขึ้น เนื่องจากคนชราในภูมิภาคสามารถเลี้ยงเด็กเล็กทั้งในครัวเรือนและสถานเลี้ยงเด็กเล็ก

อนึ่ง วิสัยทัศน์ภูมิภาคในบทความนี้จะกลายเป็นนโยบายต่อเมื่อผู้กำหนดนโยบายสาธารณะสามารถ disrupt ตนเอง กล้าเสี่ยงกับนโยบายที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจได้จริง ด้วยการนำท้องถิ่นออกมาจากหล่มความกลัวในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น ความหวาดกลัวว่าระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพิงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิมๆ ความหวาดกลัวว่าจะสร้างผู้ร้ายตัวใหม่ ความหวาดกลัวว่าคนไทยโง่เง่าเต่าตุ่นและไม่มีวินัยการเงินมากพอที่จะใช้บริการธนาคารออนไลน์ ความหวาดกลัวว่าธนาคารออนไลน์จะก่อวิกฤตการเงินเฉกเช่นธนาคารแบบดั้งเดิม ความหวาดกลัวว่าประสิทธิภาพของรัฐและท้องถิ่นนั้นอ่อนแอเกินกว่าจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับนี้ได้

ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซับซ้อนเกินกว่าที่จะแก้ไขโดยเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งเพียงลำพัง ทว่าต้องใช้หลากหลายเครื่องมือควบคู่กันไป ทั้งอุดมการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net