'บทเรียน 10 ปีชายแดนใต้' สันติภาพเกิดขึ้นได้ด้วยเครือข่ายประชาชน

 

เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา 20 องค์กรประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ได้ร่วมกันจัดงาน “ถอดบทเรียน 10 ภาคประชาสังคม” โดยมีวิทยุมีเดียสลาตันเป็นเจ้าภาพหลักและหลายองค์กรให้การสนับสนุน โดยในช่วงเช้าตัวแทนองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ร่วมสะท้อนบทเรียนและสถานการณ์ที่ผ่านมา 10 ปี และร่วมกันปักหมุดเป้าหมายอนาคตที่ทุกฝ่ายอยากเห็น ในช่วงบ่ายเป็นเวทีเสวนาถอดบทเรียนกระบวนการสันติภาพจากประสบการณ์ของอาเจะห์และมินดาเนา

งานถอดบทเรียน 10 ปี ภาคประชาสังคมครั้งนี้จัดขึ้นที่บริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี โดยมีองค์กรต่างๆ ที่ร่วมจัดงานได้เปิดบู๊ตแสดงผลงานในบริเวณรอบเวทีกลางและเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้าร่วมงานได้มีโอกาสทำความรู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในส่วนของกลุ่มช่างภาพเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ได้เปิดการแสดงภาพถ่ายที่ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

การจัดงาครั้งนี้มีนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายแวหะมะ แวกือจิก เป็นผู้กล่าวรายงาน ทั้งนี้มีนายวิทยา พานิชพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอบต. นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองคการบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ร่วมในพิธีเปิด

ในช่วงพิธีการเปิดงานในครั้งนี้ นายฮามีดีน สะนอ หรือบาบอดิง ปาแดรู ได้ขึ้นเวทีรำพันบทกวีเพื่อสันติภาพ และในช่วงวันของการดำเนินงานได้มีการแสดงอานาชีดจากหลายกลุ่มที่สลับกันขึ้นแสดง ทั้งนี้ในบริเวณงานมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายของกลุ่มช่างภาพเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ งานแสดงภาพถ่ายคืนความทรงจะญาบะและการแสดงผลงานขององค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมในครั้งนี้ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก

บทเรียนประชาสังคม “เราสูญเสียมากพอแล้ว เราต้องการสันติภาพ”

สำหรับเวทีเสวนาสะท้อนอดีตและปักหมุดอนาคตการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เป็นเวทีเสวนาที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ดำเนินการเสวนาโดยคุณแวหะมะ แวกือจิก ผู้อำนวยการมีเดียสลาตัน โดยมีตัวแทนองค์กรประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 6 คน ร่วมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและร่วมกันฉายภาพอนาคตที่ทุกคนอยากเห็น ซึ่งทั้งหมดได้สะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหาต่างๆ จากประสบการณ์และทุกคนได้แสดงความคาดหวังว่าอยากเห็นสันติภาพโดยเร็ววัน

เครือข่ายคนพุทธ “เราพร้อมจะทำงานกับมุสลิมและทุกฝ่าย”

นางสาวลม้าย มานะการ ได้สะท้อนความรู้สึกของเครือข่ายคนพุทธในพื้นที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งในครั้งแรกที่พี่น้องคนพุทธในพื้นที่ต่างก็ติดตามเหตุการณ์และรู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกินขึ้นเช่นกัน ในช่วงเกิดเหตุการณ์ตากใบ เครือข่ายคนพุทธในพื้นที่ก็ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาเพื่อนๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดเลี้ยงน้ำชาระดมทุนช่วยเหลือพี่น้องร่วมพื้นที โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งพบว่าสารถช่วยเหลือเยียวยาโดยการไปพบปะพี่น้องทั้งไทยพุทธมุสลิม ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ซึ่งได้ทำงานในหลายด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ ด้านการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการทำงานเกี่ยวกับเรื่องคนหาย เป็นต้น

“เมื่อประมาณปีที่แล้วได้รวบรวมสถิติคนพุทธที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งต่างคนไม่ต้องการส่งเสียงออกมา กลัวว่าตัวเองจะเดือดร้อน โดยส่วนหนึ่งบอกว่าในเมื่อพวกอิสลามเป็นคนทำ ก็ให้พวกอิสลามแก้ปัญหาเองสิ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รูสะมิแลที่มีคนเสียชีวิต 6 ศพ ในช่วงนั้นได้เริ่มรวมตัวกันทำงานเป็นเครือข่าวชาวไทยพุทธสนับสนุนสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจากเมื่อก่อนที่ไม่มีพื้นที่ให้กับคนพุทธเลย แต่ตอนนี้เรามีเครือข่ายแล้วที่พร้อมจะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย และเราเรียกร้องให้พี่น้องพุทธและมุสลิมทำงานร่วมกัน”

ศูนย์ทนายความมุสลิม “แม้ว่าจะเป็นงานยาก แต่หากเราทุ่มเท อัลลอฮ์จะช่วยเรา”

นายอับดุลกอฮา อาแวปูเตะ ได้สะท้อนบทบาทการทำงานของศูนย์ทนายความมุสลิมว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำงานด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงต้นของเหตุการณ์ในปี 2547 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2549-2550 ซึ้งเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายรัฐมีการกวาดล้าง การปิดล้อม จับกุมเป็นจำนวนมาก ทำให้การทำงานมีความยากลำบากมาก ทั้งนี้เพราะยังขาดบุคคลกรที่ทำงานด้านกฎหมายที่ไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

แต่ในวันนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระตุ้นพวกเราให้มีความสำนึกร่วมกันมากขึ้น ในวันนี้ศูนย์ทนายความมุสลิมมีคนทำงานมากขึ้น มีผู้ช่วยทนายความที่ร่วมกันทำงานกันมากขึ้น และเมื่อทุ่มเทกับงานมากขึ้นจะจะได้รับความช่วยเหลือ ได้รับความร่วมมือกันมากขึ้น

“10 ปีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นถือว่าเป็นบทเรียนสำหรับพวกเรา ที่รู้จักอดทนในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีคนของเราที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเรียนรู้ว่าสิทธิของเรามีความสำคัญมากแค่ไหน เราได้เรียนรู้ที่จะปกป้องสิทธิของเรามากขึ้น เราได้เรียนรู้ว่าการทำงานเป็นเครือข่าย ร่วมมือกันในทุกๆ ด้าน จะสามารถปกป้องสิทธิของเราได้ดีกว่า อย่างที่ผมเห็นก็คือ กลุ่มคนไทยพุทธเองได้เรียกร้องสิทธิของพวกเขา กลุ่มนักศึกษาเรียกร้องสิทธิเมื่อถูกสื่อกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อเหตุ และขณะนี้ได้มีสภาประชาสังคมที่ไดรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อก่อนคนจะมาที่ศูนย์ทนายความเท่านั้น”

องค์กรนักศึกษาเรียกร้อง “ภาคประชาชนต้องมีองค์กรขอตนเอง เชื่อมกับต่อกับทุกเครือข่าย”

นายซูไฮมี ดูละสะ ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) ได้สะท้อนบทบาทของนักศึกษาว่าในช่วงแรกของสถานการณ์ความรุนแรงนั้น กลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก แต่จะมีกลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง เช่น รามคำแหงเริ่มมีบทบาทในการแสดงความเห็นสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงปี 2550 ที่ฝ่ายรัฐมีนโยบายแยกปลาออกจากน้ำที่มีการกวาดต้อนผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก เกิดการละเมิดสิทธิต่อประชาชนโดยใช้กฎหมายพิเศษเป็นจำนวนมาก

ในช่วงเวลาดังกล่าวนักศึกษาจากส่วนกลางได้ลงมาในพื้นที่เพื่อแสดงพลังนักศึกษาต่อสถานการณ์ในพื้นที่ โดยเกิดการชุมชนที่มัสยิดกลางปัตตานี หลังจากนั้นนักศึกษาในสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการรวมตัวกันจนก่อเกิดสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิต่อประชาชน โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลในกรณีเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิต่างๆ เพื่อนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องนำเสนอสู่สาธารณะ

นายซูไฮมี กล่าวว่า กลุ่มนักศึกษามียุทธศาสตร์ที่จะเรียกร้องต่อทุฝ่ายคือ ประชาชนจะต้องมีองค์กรภาคประชาชน ซึ่งจะต้องมีองค์กรของทุกภาพส่วน ทุกกลุ่มของประชาชน ประชาชนต้องมีองค์กรการประชาสัมพันธ์ของประชาชนที่ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชนเองซึ่งจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างแท้จริง และประชาชนจะต้องมีเครือข่ายของประชาชนที่จะต้องเชื่อมประสานกับทุกฝ่าย เชื่อมกับเครือข่ายคนทำงานด้านกฎหมาย เชื่อมกับเครือข่ายองค์กรเอกชน หรือ NGO ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้สามารถรับรู้ เรียนรู้และแก้ปัญหาเท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท