กระบวนการผลิต ‘ความไม่เท่าเทียม’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทสนทนาข้างล่างนี้มาจากรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา

“...เลือกตั้งในระบบปัจจุบันมันยังมีปัญหาอยู่ ผมฟังสรุปได้ว่าอย่างนั้น เยอะมาก จนกระทั่งต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร

“คนส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น ที่ตามการเมือง ที่รู้เรื่องการเมือง แต่คนธรรมดาทั่วไปอาจคิดว่าเค้าไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แต่จริง ๆ ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนต้องตามการเมือง ทุกคนต้องรู้ ทุกคนต้องมีประเด็น แต่ในความเป็นจริงบางคนก็บอกว่าเค้าทำมาหากินดีกว่า เค้าไม่อยากยุ่งการเมือง” (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน)

ขอเตือนผู้ที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ว่าท่านอย่าได้เสียเวลาถกเถียงหรือตั้งคำถามกับประเด็นว่าจริงหรือไม่ที่ ‘ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนต้องตามการเมือง ทุกคนต้องรู้ (เรื่องการเมือง)’

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ‘จริง’ หรือ ‘เท็จ’ แต่อยู่ที่ว่า ‘ถ้าเชื่อ’ ข้อความดังกล่าวแล้วผลพวงของความเชื่อนี้คืออะไร?

ถ้าเชื่อว่าในระบอบประชาธิปไตยทุกคนต้องรู้เรื่องการเมือง แสดงว่ามีคนอย่างน้อย 2 กลุ่มในสังคม คือ คนที่รู้เรื่องการเมืองและคนที่ไม่รู้เรื่องการเมือง และการรู้หรือไม่รู้นี้เองเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดคุณภาพของประชาธิปไตยตลอดจนมีผลกำหนดสิทธิและเสียงของคนในสังคมว่าใครบ้างที่ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในประชาธิปไตย

ในความเชื่อเช่นนี้ ‘ประชาธิปไตย’ เป็นพื้นที่สำหรับ ‘คนที่รู้เรื่องการเมือง’ เท่านั้น ไม่ใช่เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในสังคม การนิยามประชาธิปไตยในลักษณะนี้มีแสดงเจตจำนงที่จะแยกคนกลุ่มหนึ่งออกไปจากเวทีประชาธิปไตย

แม้ว่าในทางปฏิบัติ ‘ประชาธิปไตย’ จะไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกคนในสังคม เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ามาร่วมในพื้นที่ ‘ประชาธิปไตย’ เช่น เฉพาะผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์เท่านั้นจึงจะสามารถมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ เฉพาะผู้ที่มีไม่ต่ำกว่า 25 ปี บริบูรณ์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ฯลฯ แต่เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขรูปธรรมที่ทุกคนในสังคมมีโอกาสบรรลุถึงได้อย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันตามธรรมชาติเว้นแต่เหตุสุดวิสัย เช่น เสียชีวิตก่อนวัยได้เลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกตั้ง 

ในขณะที่การนิยาม ‘ประชาธิปไตย’ ให้เป็นเรื่องเฉพาะของ ‘คนที่รู้เรื่องการเมือง’ เป็นการลิดรอนสิทธิทางการเมืองของคนในสังคมจำนวนหนึ่งเนื่องจาก ‘ความรู้’ ไม่มีลักษณะของการเป็นเงื่อนไขที่ทุกคนในสังคมสามารถบรรลุถึงได้อย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ

‘ความรู้’ เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้น เป็นสมมติบัญญัติร่วมของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งหากเข้าถึง ‘ความรู้’ แล้วก็จะสามารถกักตุนโอกาสในการแสวงหาประโยชน์และกีดกันผู้ที่ไม่รู้ออกไปจากพื้นที่ของ ‘ความรู้’ ดังกล่าวเสมอ เช่น ประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร ใบอนุญาตต่าง ๆ กระทั่งการสถาปนาสถานะ ‘ผู้รู้’ จะอนุญาตให้ผู้ที่ครอบครอง ‘ความรู้’ สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่างได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ครอบครอง แน่นอนว่าไม่สำคัญว่าความรู้นั้นจริงหรือไม่ และผู้รู้นั้นรู้จริงหรือรู้ไม่จริง

ยิ่งเป็น ‘ความรู้’ เรื่องการเมืองแล้วยิ่งมีปัญหามากเพราะขาดเกณฑ์มาตรฐานที่จะใช้วัดความรู้ในเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจของมนุษย์ในสังคม เท่าที่ผ่านมาแม้สังคมจะบัญญัติวิชารัฐศาสตร์ขึ้นมาบนโลกนี้นับพันปีแต่จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังยากที่จะพิสูจน์ว่าศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์รู้เรื่องการเมืองมากกว่าคนทั่วไป

ใครจะกล้าอ้างว่าตนรู้เรื่องความต้องการเข้ามามีส่วนในอำนาจรัฐเพื่อจัดการทรัพยากรท้องถิ่นด้วยตนเองมากไปกว่าขบวนการเรียกร้องที่ดินทำกินของชาวนาไร้ที่ดิน?

หรือผู้มีปริญญาบัตรทางรัฐศาสตร์คนใดจะกล้าอ้างว่าเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าคนขับแท็กซี่ผู้พลีชีพเพื่อประชาธิปไตยเมื่อแปดปีก่อน?

การพิสูจน์ว่าใครรู้หรือไม่รู้เรื่องการเมืองจึงเป็นเรื่องที่แทบจะกระทำไม่ได้ในความเป็นจริง ปัญหาของการพิสูจน์มีตั้งแต่ว่าผู้ใดจะมีอำนาจในการตัดสิน คุณสมบัติของผู้รู้ วิธีการประเมิน ฯลฯ ยกตัวอย่างรูปธรรม เช่น หากมีใครบอกว่ากลุ่มผู้มาชุมนุมร่วมกับ กปปส. เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องการเมือง ก็คงจะมีคนคัดค้านกว่าค่อนประเทศ แต่หากบอกว่ากลุ่มผู้มาชุมนุมร่วมกับ กปปส. เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องการเมืองแล้วล่ะก็จะใช้เกณฑ์อะไรมาวัดหรือยืนยันความรู้ทางการเมืองนั้น อายุ? เพศ? วุฒิการศึกษา? ฯลฯ เพราะผู้ที่มาร่วมชุมนุมกับ กปปส. นั้นต่างประกอบด้วยผู้คนหลากหลายทั้งเพศ อายุ การศึกษา ฯลฯ หรือในกรณีที่วัดได้จริงจะใช้เกณฑ์เดียวกันนี้กับประชาชนกลุ่มอื่นหรือไม่?

ท้ายที่สุดแล้ว การประเมิน ‘ความรู้’ เรื่องการเมืองของประชาชนจะกลายเป็นเรื่องของทัศนะที่ตรงกันระหว่างผู้รับการประเมินกับผู้ประเมินเท่านั้น ไม่มีมาตรฐานอื่น

การอ้าง ‘ความรู้’ เรื่องการเมือง จึงเป็นเรื่องของความพยายามสถาปนาอำนาจทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งและลดอำนาจทางการเมืองของคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการชวนเชื่อเพื่อสร้างเกณฑ์กำหนดสิทธิของคนทำให้คนมีสิทธิมีเสียงไม่เท่ากันอีกวิธีหนึ่งเช่นเดียวกับความพยายามก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่า

“ปกติหลักการประชาธิปไตยจะใช้ 1 คน 1 เสียง...แต่ถ้านำมาใช้ในประเทศไทยแล้วทำไมไม่ได้ผล”
(สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, ข่าวสดออนไลน์, 11 ธ.ค. 2556)

“ปัญหาก็คือ คนไทยจำนวนมากขาดความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องประชาธิปไตยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท”
(จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี, 12 ธ.ค. 2556)

“มีคน 15 ล้านคนที่ไม่มีคุณภาพ กับมีคน 3 แสนคนที่มีคุณภาพ เราเลือกคน 3 แสนคนไม่ดีกว่าเร๊อะ”
(เสรี วงษ์มณฑา, 14 ธ.ค. 2556)

ไม่สำคัญว่าข้อความต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ ความสำคัญของมันอยู่ที่การสร้าง ‘ความเชื่อ’ ถ้าเชื่อ ความเชื่อนั้นก็จะส่งผลให้เกิดความเป็นจริงขึ้นมาตามเจตนาของผู้พูด ซึ่งจะทำให้คนมีสิทธิมีเสียงไม่เท่ากันแม้จะอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

อารยะธรรมมนุษย์หลายพันปีมีการผลิตความเชื่อที่กดคนให้ไม่เท่ากันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอ้างโองการสวรรค์ ชาติกำเนิด ทรัพย์สมบัติ ชาติพันธุ์ เพศ ฯลฯ และสังคมยังคงผลิตซ้ำความเชื่อและการกดขี่นี้ต่อมาในรูปแบบต่าง ๆ 

ความเชื่อล่าสุดที่คือความเชื่อเรื่อง ‘ความรู้’ นี่เอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท