Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
 
 
เกริ่นนำ
 
ผ่านมาหลายเดือน นับตั้งแต่ลุกขึ้นมาประท้วงการละเมิดสิทธิแรงงานและผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับพวกเขาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่เดินทางไปเก็บเบอร์รี่หรือแบร์ที่สวีเดนในฤดูกาลปี 2556 กับบริษัท M (ประชาไทขอสงวนชื่อเต็มของบริษัท) ทั้ง 240คน (และมีมาร่วมเรียกร้องเพิ่มเติมที่เมืองไทยอีกรวมกันกว่า 300 คน)  ยังคงต่อสู้เพื่อเงินค่าจ้างและค่าผลไม้ที่ถูกโกงโดยบริษัท M 
 
วันที่ 12กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา คนงานประมาณ 30 คน ได้เดินทางมาศาลตามหมายเรียกของศาลเพื่อให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัท M แต่ปรากฎว่าบริษัทเบี้ยวไม่มาพบคนงาน
 
M ได้รับโควต้านำคนงานไทยเข้าไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนในฤดูกาลปี 2556 จำนวน 500 คน ทั้งนี้ได้เรียกเก็บเงินคนงานเพื่อเป็นค่าบริการคนละ85,000 บาท (+ดอกเบี้ย) เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินเรื่อง ค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ทั้งนี้ไม่รวมค่ารถ ค่าที่พัก ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะไปหักออกจากรายได้ที่สวีเดนอีกวันละ 876 บาท หรือเมื่อคิดเป็นเงินตลอดฤดูกาลก็จะประมาณ 62,000 บาทต่อคน
 
คนงานต้องจ่ายเงินงวดแรกให้บริษัทกันคนละ 20,000 – 22,500 บาท แต่ถ้าคนงานไม่มีเงินสดก็เอาหลักทรัพย์มาทำเรื่องกู้เงินส่วนนี้กับบริษัทได้ และงวดที่สองบริษัทจะไปหักเอาจากเบอร์รี่ที่เก็บได้ หรือถ้าคนงานจะจ่ายเป็นเงินสดทั้ง 85,000 บาทเลยก็ได้เช่นกัน
 
ทั้งนี้ กระบวนการไปทำงาน คนงานไปทำงานในฐานะลูกจ้าง และได้เซ็นสัญญาจ้างงานกับบริษัท M ว่า .. ข้อ 1) จะเดินทางไปทำงานเก็บเบอร์รี ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม – 10 ตุลาคม 2556 ... ข้อ 2) กำหนดวันทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง ถ้าจำเป็นต้องทำงานมากกว่าชั่วโมงทำงานปกติต้องได้รับค่าล่วงเวลาตามกฎหมายแรงงานสวีเดน  ข้อ 3) นายจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณจากจำนวนผลไม้ที่เก็บได้ ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินจำนวน 18,975 โครน (คิดเป็นเงินไทย 92,546.76 บาท) และจะจ่ายเงินทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 ของเดือน โดยการโอนเงินเข้าบัญชีของลูกจ้าง
 
 
 
หมายเหตุ
1.     18,975 โครน = 92,546.76 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 โครนสวีเดน = 4.87 บาท)
2.     สัญญาจ้างงานไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน ถูกบอกว่าเป็นเพียง "เซ็นๆ ไปเหอะ" เพื่อให้ได้วีซ่า ทั้งนี้ บริษัทต่างๆ ไม่มีความประสงค์จะทำตามสัญญาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
 
 
ปัญหาเกินขึ้นตั้งแต่ก่อนไป
 
สมศักดิ์ เดชบุญ, อายุ 32 ปี และเพื่อนๆ 15 คน (คนใหม่ 11 คน คนเก่า 4 คน) จากอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี เล่าให้ฟังว่า เขาและเพื่อนๆ เอะใจตั้งแต่หลังจากวางเงินค่ามัดจำ 22,500 บาท ไปแล้ว เมื่อบริษัทบอกว่าจำนวนเงินที่เหลือ (62,500 บาท) ที่บริษัทจะออกให้ก่อนนั้น บริษัทจะคิดดอกเบี้ยเท่ากันทั้งหมดเป็นเงิน 10,000 บาท (ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อเดือน) ซึ่งทางสมศักดิ์และเพื่อนๆ เห็นว่ามันสูงเกินไป จึงติดต่อบริษัทว่าจะขอยกเลิกการเดินทางไปทำงานกับบริษัท แต่บริษัทก็ขู่ว่าถ้ายกเลิก บริษัทจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทุกคนๆ ละ 85,000 บาท ในฐานละเมิดสัญญา พวกเขาก็เลยต้องไป
 
สน พรมหญ้าคา, อายุ 47 ปี จากอำเภอแก้งสนามนาม จังหวัดนครราชสีมาเล่าว่า ... เขาเพิ่งตัดสินใจเดินทางไปเก็บเบอร์รี่ครั้งแรก หลังจากได้รับการติดต่อจากญาติของญาติ ทั้งนี้เขาได้เอาโฉนดที่ดิน 20 ไร่ ในวงเงินกว่าล้านบาท ไปค้ำประกันเงินกู้กับบริษัทในวงเงินที่ต้องจ่ายงวดแรก 20,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือ บริษัท M จะไปหักเอาจากรายได้จากการทำงานที่สวีเดน
 
เช่นเดียวกับคนงานทุกคนที่คุยด้วย สนเล่าว่า ว. (ประชาไทขอสงวนนาม) ยืนยันอย่างจริงจังกับคนงานว่า "ลงทุนคนละ 85,000 บาทเพื่อไปทำงานเก็บเบอร์รี่ครั้งนี้ พวกคนงานจะได้รับเงินกลับบ้านกว่าแสนบาทอย่างแน่นอน ไม่มีคำว่าขาดทุน ได้กำไรแน่นอน"
 
ขณะนี้ สนและคนงานอีกหลายสิบคนที่ใช้โฉนดที่ดินมูลค่ามหาศาลไปค้ำประกันเงินกู้เพียงคนละ 20,000 บาท ยังไม่มีใครได้โฉนดคืน และพวกเขาและครอบครัวกังวลว่าจะถูก ว.  จะโกงโฉนดที่ดินของพวกเขาไปอีกด้วย
 
สมศักดิ์ เสมอทรัพย์, อายุ 38 ปี แกนนำคนสำคัญของคนงานเก็บเบอร์รี่ชุดนี้ ให้รายละเอียดว่า ...ในวันที่ 24 มิถุนายน 2556 คนงานทั้ง 500 คน ได้เดินทางไปที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชัยภูมิเพื่อรับการฝึกอบรม โดยเปิดงานโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ที่กล่าวถึงแต่ความสำคัญของงานเก็บเบอร์รี่ในการนำรายได้มาสู่จังหวัดชัยภูมิ ... ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรองผู้ว่า และ ว.  ต่างก็แสดงความมั่นใจว่าทุกคนจะได้เงินกลับบ้าน
 
สมศักดิ์ เดชบุญ  เสริมว่า ... "ในวันฝึกอบรม มีการบังคับให้คนงานทุกคนปิดโทรศัพท์ ... มีคนงานคนหนึ่งแอบบันทึกเสียงคำพูดของ ว. เขาถูกจับได้ จึงถูกไล่ให้ออกจากห้องประชุม และ M  ก็ไม่ให้เขาเดินทางไปเก็บผลไม้ และริบเงินค่ามัดจำงวดแรกของเขาทั้ง 22,500 บาท"
 
ไพรสันติ จุ้มอังวะ คนงานเก็บเบอร์รี่ที่เดินทางมาฟินแลนด์ ที่ประสบชะตากรรมไม่ต่างจาก M และก็ยังสู้เพื่อความยุติธรรมทั้งในประเทศไทยและคดีฟ้องร้องที่ฟินแลนด์ เขียนจดหมายถึงคนงาน M  ว่า ...
 
"... ใบหน้าของพวกเขาในวันนี้ มันช่างแตกต่างจากวันก่อนการเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในวันที่เข้าอบรมเกี่ยวกับงานเบอร์รี่ที่ชัยภูมิ ซึ่งมีนายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นคนมาเปิดงาน ...
สีหน้าของทุกคนในวันนั้น ช่างเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความหวัง ... รอยยิ้มและแววตาของเพื่อนๆ ทุกคนในตอนนั้น ที่มองไปบนเวทีหน้าห้องอบรม ซึ่งมีชายหญิงคนงาน 3 – 4คนที่ยืนอยู่บนเวทีในห้อง และชายหญิงเหล่านั้นก็ได้พูดว่าเขาคือคนที่เก็บเบอร์รี่ได้อันดับ 1-2-3 ในฤดูกาลที่ปี 2555ที่ผ่านมา และเขาก็ได้รับรางวัลสร้อยคอทองคำจาก M Phoenix
ทุกคนในวันนั้น นึกบอกในใจตัวเองว่า ฤดูกาลที่จะมาถึงนี้เราขอเป็นที่ 1บ้าง แม้แต่ตัวผมเองยังคิดในใจเช่นนั้น ...ในวันนั้น เราลืมนึกถึงไปเลยว่ายังมีอีกหลายๆ คน ที่เขาไปเก็บเบอร์รี่ในฤดูกาลนั้น (2555) ขาดทุนย่อยยับกลับบ้าน”
 
สมศักดิ์ เสมอทรัพย์ เล่าว่า... เวลาในวันฝึกอบรมส่วนใหญ่หมดไปกับการเซ็นชื่อในเอกสารกว่า 20 แผ่น และเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงเทพ สาขามัญจาคีรี ที่มาตั้งโต๊ะ3 โต๊ะ เพื่อรับการเปิดบัญชีของคนงานทั้ง 500คน โดยคนงานทุกคนต้องจ่ายเงินค่าเปิดบัญชีคนละ 1,050 บาท แต่ธนาคารเอาเงินเข้าบัญชีพเพียง 30 บาท และบัตรเอทีเอมก็ไม่สามารถเปลี่ยนระหัสได้ (คนงานไม่ได้รับการชี้แจงว่าเงินจำนวน 1,020 บาท x 500 คน =  510,000 บาทนั้นหายไปไหน)
 
ในวันนั้น M ก็ได้ตั้งโต๊ะ 4 จุด เพื่อให้คนงานเข้าคิวเซ็นเอกสาร ... นอกจากคนทุกคนไม่มีเวลาอ่านเอกสารแล้ว พนักงานบริษัทยังพยายามใช้มือและแขนปิดบังข้อความในเอกสารจากสายตาคนงานด้วย และชี้ให้คนงานเซ็นตรงช่องต่างๆ ที่ให้เซ็นเท่านั้น  "ผมขออ่านเขาก็บอกว่าไม่ต้องอ่านหรอก เซ็น ไปเหอะ" (สมศักดิ์)
 
สมศักดิ์ เล่าให้ฟังทางโทรศัพท์ว่า ตั้งแต่กลับมาสู้คดีที่เมืองไทย แม้แต่ทนายของคดีนี้ (ที่เป็นทนายของกระทรวงแรงงาน) ก็ไม่เคยติดตามเอาเอกสารชุดนี้มาเปิดเผยให้กับคนงานได้รับทราบ และเขาเองก็พยายามติดตามขอเอกสารนี้จากแรงงานจังหวัดชัยภูมิ ก็ได้รับแต่คำบ่ายเบี่ยง จนบัดนี้ก็ไม่มีคนงานคนไหนได้เห็นเอกสารที่เซ็นไปเลยแม้แต่คนเดียว
 
แต่เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ศาลที่โคราชถามคนงานทำนองว่า "พวกคุณเป็นลูกหนี้เงินกู้ของบริษัทถ้าพวกคุณไม่ชนะคดี พวกคุณจะหาเงินมาใช้หนี้เขาได้ไหม" ทำให้สมศักดิ์และคนงานเอะใจว่าในเอกสารทั้ง 20 -30 แผ่นที่เซ็นไปนั้นคือสัญญากู้เงิน ไม่ใช่เอกสารสัญญาการไปทำงานเก็บเบอร์รี่เช่นตามที่บริษัทกล่าวอ้างเป็นแน่แท้
 
เมื่อไปถึงสวีเดน
 
เช่นเดียวกับคนงานเก็บเบอร์รี่ในปีก่อนหน้านี้ - คนงานทุกคนที่คุยด้วยบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า - ทุกอย่างไม่เหมือนกับตอนที่สัญญาไว้ที่เมืองไทย                                                                                                                                                                                                              
 
 
 
 
 
ภาพโดย: วิบูลย์ ดอนมะยะ
 
 
ตัวเลขว่ามีคนงานเท่าไรแน่ก็ไม่แน่นอน ... บริษัทอ้างถึงตัวเลข 520 คนกับพวกเรา แต่อ้างตัวเลขกับศาลว่ามี 400กว่าคน แต่สมศักดิ์ เสมอทรัพย์ บอกว่า ที่เห็นกันทั้งสองแคมป์ น่าจะมีคนงานประมาณ400 คน
 
โดยแคมป์ทางตอนใต้อยู่ที่เมือง Lesjöfors มีคนงานประมาณ 250คน และแคมป์ทางตอนเหนืออยู่ที่เมือง Hällnäs มีคนงาน 180 คน ... ทั้งนี้ แคมป์เหนือที่ Hällnäs ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานของบริษัท P  (ประชาไทขอสงวนชื่อเต็มของบริษัท)  ที่จดทะเบียนที่สวีเดน เพื่อทำหน้าที่ในฐานะบริษัทลูก เพื่อจ้างบริษัทแม่ที่ประเทศไทย M ประเทศไทยให้หาคนงานเก็บเบอร์รี่ส่งไปให้
 
ทั้งนี้ ในวันที่คนงานทั้งหมดเดินทางไปถึงสวีเดน เมื่อเดินทางถึงแคมป์ จะมีพนักงาน M มารอที่ประตูรถบัสเพื่อขอยึดพาสปอร์ตของพวกเขา ก่อนที่ทุกคนจะได้รับอนุญาตให้ไปกินข้าวและเข้าที่พัก 
 
สมศักดิ์ เดชบุญ เล่าว่า ... แคมป์ที่พักนั้น(แคมป์เหนือ) อยู่กันอย่างแน่นขนัด ห้องโถงชั้นล่างกว้าง 3 x 4 เมตร คนงานต้องอยู่กันถึง 20 คน มีฝูกบางๆ และผ้าห่มบางๆ ให้คนละชุด ซึ่งไม่เพียงพอ คนงานต้องเอาเสื้อผ้าห่มกันหนาวเพิ่มเติม และแทบไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับวางกระเป๋าสัมภาระ 
 
นอกจากนี้ตลอดช่วงเวลาที่ทำงาน ก็ไม่มีน้ำอุ่นให้คนงาน ในสภาพการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยตลอดวัน คนงานทำเพียงล้างเท้าไม่ให้เหม็นเพื่อนฝูงก่อนเข้านอน และเมื่อทนไม่ได้จริงๆ บางคนก็จำยอมอาบน้ำเย็นเชียบอาทิตย์ละครั้ง และก็จะใส่เสื้อผ้าซำ้ๆ กันเป็นครึ่งเดือน เพราะไม่สามารถอาบน้ำซักผ้าได้ในสภาพน้ำเย็บเชียบ
 
ส่วนการทำงาน พวกเขาต้องขับรถเพื่อหาเบอร์รี่กันวันละประมาณ 400 กม. ทำงานวันละ 14-15 ชั่วโมง - ตั้งแต่ตี 3 ตี 4 จนถึง 2 หรือ 3 ทุ่ม ทุกคนจะเสียค่าน้ำมันคนละ 500 บาทต่อวัน โดยรถตู้ก็อัดคนงานกันไปคันละ 8-9 คน ต้องนั่งตักกันไป ยิ่งตอนขากลับที่อัดเพิ่มมาด้วยถุงเบอร์รี่ คนงานต้องนั่งกันบนกระสอบเบอร์รี่
 
ยามรถเสียในป่า ไม่ว่าจะเป็นยางรั่ว เพลาขาด พวกเขาต้องรอในป่า บางวันต้องรอตั้งแต่ทุ่มจนถึงเที่ยงคืนกว่าช่างจะไปถึง และช่วยซ่อมรถให้สามารถขับกลับแคมป์ได้
  
"ทุกคนต้องกินยาพาราวันละ 4-6 เม็ด กินกันทุกคน ไม่กินไม่ได้ เพราะมันหนาวจนปวดกระดูก" สมศักดิ์ กล่าว และเล่าต่อว่า ... อาหารการกิน ตอนเย็นใช้ได้ บางอาทิตย์ก็มีหมูทอดให้กิน ส่วนตอนเช้ากับกลางวันทางแคมป์จะมีไข่ต้ม 2 ฟอง กับไก่ 1 สะโพก (นึ่งหรือทอด) ให้คนงานนำไปกินในป่า ตลอดหนึ่งเดือนกว่า พวกเขาได้กินผัก(กระหล่ำปลี) เพียง 2 วันเท่านั้น ในระยะเวลาเพียงเดือนเดียวคนงานน้ำหนักลดกันหมด ตั้งแต่ 3 ถึง 7 กิโล
 
นอกจากนี้คนงานหลายคนก็เชื่อว่าบริษัทโกงตาชั่งด้วย ... สมศักดิ์บอกว่า "ถาดที่ใช้ชั่งเบอร์รี่จะชั่งน้ำหนัก 9 กก. แต่คนชั่งจะใส่เบอร์รี่ในจำนวน9.36 กก. หรือ  9.1 หรือ 9.2 กก. ทั้งนี้ได้มีการหักน้ำหนักของถาดที่ใช้สำหรับ 1.4 กก. ออกไปแล้ว"
 
เวลาสหภาพแรงงานคอมมูนอล หรือนักข่าวจะมาตรวจแคมป์ (มาครั้งเดียว) ก็ได้โทรแจ้งทางแคมป์ก่อน ทางแคมป์จึงให้แม่บ้านและคนงานทำความสะอาดแคมป์ และเก็บข้าวของให้เรียบร้อยรอต้อนรับ วันนั้นเป็นวันเดียวที่เครื่องทำน้ำอุ่นทำงาน แต่พอคนตรวจคล้อยหลังไปแล้ว เครื่องทำน้ำอุ่นก็เสียเหมือนเดิม 
 
สำราญ อิ่มนารี อายุ 38 จาก อ. หนองบัวแดง ชัยภูมิ เล่าให้ฟังถึงสภาพความเป็นอยู่ของแคมป์ใต้ ที่มีคนงานอยู่กันอย่างแออัดถึง 250 คน พวกเขาอยู่ในสภาพไม่ต่างจากคนงานที่แคมป์เหนือ ทั้งไม่มีน้ำอุ่นอาบ (มีเพียงวันเดียวคือวันที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจ) แม่ครัวก็ทำกับข้าวมักง่ายให้กินข้ามวัน นอนอัดกันในห้องเล็กๆ คนงาน 8-9 คน นั่งอัดกันไปทำงานในรถกะบะ ที่ไม่มีรถพ่วงสำหรับใส่ถุงเบอร์รี่ที่เก็บได้ ซึ่งการที่มีจำนวนคนในรถเกินกฎหมายกำหนด ทำให้พวกเขาถูกตำรวจเรียกตรวจ และให้คนงานที่เกินลงจากรถ และรอให้ M มารับตัวไปกันหลายครั้ง 
 
สำราญเล่าว่า เนื่องจากมุ่งมั่นที่จะไปทำงานเพื่อหาเงิน จึงไม่ได้ใส่ใจมากกับสภาพความลำบาก "อยากได้ตังกลับบ้านก็ทนๆ กัน" สำราญกล่าว
 
ทำความรู้จักกับบริษัท M Phoenix Enterprise และเครือข่าย
 
ขอบคุณข้อมูลส่วนนี้จาก Niklas Sjogren ผู้สื่อข่าวจากสถานโทรทัศน์ SVT ของสวีเดน และผู้ช่วยของเขา เยเชียลลา พจนเมษบาลสถิต ที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงที่คนงาน  M ประท้วงที่สวีเดนเมื่อกลางเดือนกันยายน 2556 และติดตามทำข่าวต่อเนื่องเมื่อคนงานเดินทางกลับประเทศไทย
 
ว.  เจ้าของบริษัท M  ตัวจริง ได้ทำการจดทะเบียนบริษัท M เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ต. ช่องสามหมอ อ. แก้งค้อ จ. ชัยภูมิ ภายใต้ชื่อกรรมการบริษัทเพียง 1 คน (แต่มีวัตถุประสงศ์มากมายจนน่าสงสัยว่าคนเดียวจะทำธุรกิจทั้งหมดนี้ได้ตามลำพังหรือ) ...
 
โดยมีวัตถุประสงค์ถึง 31 ข้อ และในเอกสารที่ได้รับ แจกแจงมาเฉพาะดังต่อไปนี้ ข้อ 23) ตัวแทน จัดจำหน่าย จัดจ้าง ดำเนินการด้านตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟ และตั๋วเดินทางทุกประเภท 24) จัดหาคนงานไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อบรมพนักงาน ลูกจ้างให้แก่บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล และองค์การของรัฐ 25) จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากการกุศล และสลากต่างๆ ทุกประเภท 26) ค้าอาหารสด อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป เครื่องกระป๋อง เครื่องปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม สุรา เบียร์ และเครื่องบริโภคอื่นๆ 27) ค้าผ้า ด้าย เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องสำอางค์ ฯลฯ 28) ค้าทอง นาก เงิน เพชร พลอย และอัญมณี รวมทั้งวัตถุทำเทียม 29) ค้ากระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ 30) กิจการสั่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 31) การจัดเก็บและจำหน่ายผลไม้ พืชสวน พืชไร่ ผลไม้ป่า และผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
ว. ยังได้เปิดบริษัทลูกของ M ที่สวีเดน เพื่อดำเนินเรื่องการพาคนไปเก็บผลไม้ภายใต้ชื่อบริษัท P โดยมีลูกชายของ ว. เป็นผู้บริหาร ทั้งนี้ ลูกชายของ ว. คือคนที่เซ็นรับรองสัญญาการจ้างงานเก็บผลไม้กับสหภาพแรงงานคอมมูนอลที่สวีเดน
 
นอกจากนี้ ว. ยังได้ไปซื้อบริษัทที่พักและรถเช่า Parken i Vindeln AB ต่อจากนักธุรกิจสวีเดน ที่มีคดีฟ้องร้องเรื่องคนงานเก็บเบอร์รี่ฟาร์มที่ไซปรัสมาก่อน เพื่อขูดรีดเอากับคนงานเพิ่มเติม จากค่าที่พักแน่นขนัด ค่าเช่ารถพังๆ และค่ากับข้าว (ที่คนงานเรียกว่า "กับข้าวมักง่าย”) วันละ 180 โครนต่อวัน 180 x 4.87 บาท = 876 บาท/วัน/คน (ประมาณการว่าได้รายได้จากส่วนนี้ไปถึง 20 - 30 ล้านบาท) 
 
ขณะนี้สหภาพแรงงานคอมมูนอล ได้ดำเนินการฟ้องร้องลูกชายของ ว. และ บริษัท Pที่สวีเดน ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้คนงาน แต่ตัว ลูกชายของ ว. ได้หนีไปอยู่ที่อังกฤษ และทางสวีเดนกำลังหาทางติดตามตัวเขามารับผิดชอบปัญหาที่เขาก่อขึ้นที่สวีเดน
 
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ บริษัท M ในวงเงินจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท สามารถได้รับอนุญาตจากทั้งกระทรวงแรงงานของประเทศไทย และสถานทูตสวีเดน  ให้นำพาคนงานถึง 500 คน ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะจากเมืองไทยรวมกันไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท เพื่อไปทำงานที่ประเทศสวีเดนได้อย่างไร ในสถานะทางการเงินที่ไม่มีศักยภาพ ที่จะรองรับความเสียหายได้แม้แต่นิดเดียว และไม่มีการวางเงินประกันการจัดส่งแรงงานกับกระทรวงแรงงานตามระเบียบการณ์ที่บริษัทที่จัดหาคนงานไปต่างประเทศจะต้องกระทำ
 
ประท้วงด้วยชีวิตของบัวลา เหล่าพรม
 
บัวลา เหล่าพรม เกิดในปี 2517 ที่บ้านหนองบัวเย็น  ต. นาข่า อ.มัญจาคีรี  จ.ขอนแก่น เขาตัดสินใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศครั้งแรกในวัย 39 ปี เพื่อไปงานเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนตามคำชวนของญาติ เช่นเดียวกับเกษตรกรคนอื่นที่หลวมตัวตัดสินใจไปทำงานนี้ เขาคิดเพียงว่า "มันเป็นงานเพียงระยะสั้นๆ และได้เงินเยอะ" ทั้งนี้บัวลาและครอบครัวได้กู้ยืมเงินคนในหมู่บ้านจำนวน 85,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 เพื่อจ่ายให้กับบริษัท M  ... ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงและเสี่ยงมากสำหรับเกษตรกรหนุ่มบ้านนอกคนขยัน - ที่ประสบความสำเร็จจากอาชีพเกษตรกร จนสร้างครอบครัวให้มีฐานะใช้ได้ และโดยที่ไม่เคยต้องพรากจากครอบครัวไปทำงานที่ไหนไกลๆ มาก่อนเลยในชีวิต - กับการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกและไม่ได้กลับบ้าน
 
สมศักดิ์ เสมอทรัพย์ ซึ่งอยู่แคมป์เดียวกับบัวลา เล่าว่า แม้ว่าบัวลาไม่ใช่คนชอบพูด แต่เขาทำงานเก่ง เก็บเบอร์รี่ได้เยอะ เขาเริ่มมาเครียดมากเมื่อเช็คตามกำหนดวันที่ทางบริษัทบอก แล้วเงินก็ไม่เข้าบัญชีสักที ไม่ว่าจะเป็นในวันที่ 15 หรือ 30 ของเดือน
 
หลังจากเห็นคำประกาศของบริษัท M ที่นำมาปิดประกาศในวันที่ 9 กันยายน ว่า "ขอยกเลิกสัญญาต่างๆ กับคนงาน และบอกว่าหนี้สินที่มีอยู่ ขอให้คนงานชดใช้เอง "  บัวลาเครียดอย่างเห็นได้ชัด "เขานอนไม่หลับ ผมก็พยายามบอกเขาว่าอย่าคิดมาก ให้กินยาและก็นอน ... เขาคงคิดเรื่องเงิน เรื่องค่าใช้จ่ายสูง และเขาไม่เคยอยู่ในสภาพแบบนี้มาก่อน ...งานเขาก็ทำดี เก็บเบอร์รี่ได้" สมศักดิ์กล่าวและเล่าเพ่ิมเติมว่า "เขา กู้เงิน 85,000 บาท จากหมู่บ้านไปร้อยละ 5 บาท ยืมพี่ยืมน้องไป เขาก็เครียดตั้งแต่แรกเลย เนื่องจากเขาไปเงินสด เขาก็พยายามถามบริษัทว่า เงินจะโอนให้ผมวันไหน แล้วบริษัทผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ... ตั้งแต่ออกมาประท้วง 9 กันยายน เขาไม่ยอมคุยกับใคร นั่งอยู่แต่ในรถ ผมก็เดินไปถามไปทัก เขาก็พูดว่า เราจะได้กลับบ้านไหม ผมก็บอกว่าได้กลับแน่นอน ไม่ต้องกลัว เขาพูดว่าจะมีคนมายิงพวกเราทิ้ง อย่าออกจากรถ ...”
 
12กันยายน56 เวลา15.30. มีคนงานร้องตะโกนว่ามีคนผูกคอตายในห้องน้ำ ทุกคนต่างวิ่งไปดู ร่างที่ห้อยโตงเต็งในห้องน้ำนั้นคือร่างของบัวลา เหลาพรม
 
ในความเครียด หวาดกลัวต่อความโหดร้ายของมนุษย์ และวิตกกังวลเรื่องความล้มเหลวและหนี้สินที่ก่อขึ้นมาให้กับครอบครัว (แม้ภรรยาของเขาจะเพียรบอกเขาทางโทรศัพท์ว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้สิน ถือว่าเป็นการซื้อประสบการณ์ก็ตาม) บัวลา รับความสูญเสียไม่ได้ เขาตัดสินใจผูกคอตายในห้องน้ำ
 
หลังจากไปเยี่ยมครอบครัวของบัวลาที่บ้าน และพูดคุยกับเพื่อนๆ ของบัวลา ไพรสันติ เขียนว่า "เพื่อนๆ ต่างพากันนำร่างของเขาลงมาและช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาล อาการของเขาสาหัสมาก เพราะขาดอ๊อกซิเจนนานเกินไป สุดท้าย 17กันยายน56 บัวลาจากเมียและลูกโดยไม่มีโอกาสบอกลากับการเดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลครั้งแรกในชีวิต"
 
วันที่ 26 กันยายน งานศพบัวลาจัดขึ้นที่โบสถ์ที่เมือง Umeå โดยมีทั้งพระคริสต์และพระสงฆ์ไทยมาร่วมสวดศพ เพื่อนๆ ทุกคนอยู่ในงานศพด้วยความเศร้าโศก ทั้งนี้ข้าวของทุกอย่างของบัวลา รวมทั้งข้อเขียนว่า "คิดถึงลูก" ถูกรวมเผาไปกับศพของเขาทั้งหมด
 
รัตนา ภรรยาของบัวลาอยากไปหาสามีหลังจากทราบเรื่อง แต่ก็ไม่มีใครช่วยเหลือเรื่องการเดินเรื่องให้กับเธอ บอกเพียงว่าค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท ทำให้เธอต้องทนขมขื่น ก้มหน้ารับชะตากรรมและความสูญเสีย เธอและลูกสาววัย 15 ปี ได้รับเพียงเถ้ากระดูกของบัวลาที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าขาวมามอบให้
 
 
 
ภาพโดย: Mon Montipakorn
 
 
รำลึก บัวลา เหล่าพรม
 
ชะตาชีวิตภายใต้อุ้งมือของหมู่คนโลภ
การเดินทางไกลครั้งแรกกับฝันที่ถูกบดขยี้จนแหลกราญ
ความคับแค้นอับจนเมื่อพ่ายแพ้ต่อเกมโกงอันหฤโหด
ผู้ไม่หยังถึงจบชีวิตบนความคิดถึงที่เดินทางไม่ถึงบ้าน

ถ้อยคำคิดถึงลูกถูกเผาไหม้ในกองเพลิง
ความโศกสลดถูกห่อหุ้มในผ้าขาว
เสียงร่ำไห้ที่ไม่อาจได้ยินของผู้อยู่หลัง
ความทุกข์ที่ฝังลึกไม่อาจลบจาง

หนึ่งชีวิตที่ขอจบเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังให้ผู้อยู่
อย่าก้มหัวให้กับคนโกงนะผองเพื่อน
บัวลา เหล่าพรม ได้อุทิศชีวิตเพื่อประกาศ
พอกันที หยุดเถอะนะ อย่าขายคนเพื่อเศษเงิน
                                   
                                         (จรรยา ยิ้มประเสริฐ)
 
บริษัทบอกยกเลิกสัญญาจ้างและการประท้วงของคนงาน
 
 
 
ภาพ: วิบูลย์ ดอนมะยะ
 
เมื่อคนงานพยายามทวงถามบริษัทกันตลอดว่าเมื่อไรจะจ่ายเงิน ในวันที่ 9กันยายน บริษัท M นำป้ายมาปิดบอกยกเลิกสัญญาต่างๆ กับคนงานที่แคมป์ Hällnäs ในภาคเหนือ โดยบอกเพียงสั้นๆ ว่า "ขอยกเลิกสัญญาต่างๆ กับคนงาน ส่วนหนี้สินที่มีอยู่ ขอให้คนงานชดใช้เอง" ทำให้คนงานส่วนใหญ่ที่อยู่แคมป์นี้ ลุกขึ้นมาประท้วง เรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัทและผู้รับซื้อเบอร์รี่
 
สมศักดิ์เล่าว่า หลังจากพวกเขาลุกขึ้นมาประท้วงที่แคมป์เหนือ ... ในวันที่ 10 กันยายน  ว. และทีมงานเดินทางไปที่แคมป์ที่ภาคใต้ เพื่อปรามคนงานไม่ให้เข้าร่วมประท้วงกับคนงานที่แคมป์เหนือ คนงานคนหนึ่งได้อัดเทปคำพูดของ ว.ไว้ จึงถูก ว. และทีมงานกักตัวไว้และส่งกลับเมืองไทยในวันรุ่งขึ้น
 
สำราญ ซึ่งอยู่แคมป์ใด้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า "ในวันนั้น ว. บอกกับคนงานว่าจะเช็คดูบัญชีให้ และขอเวลาติดตามเรื่องเพราะเงินเยอะ แต่เมื่อคนงานเรียกร้องให้ระบุเวลา ว. ก็ไม่สามารถตอบได้ คนงานจึงไม่พอใจในคำตอบ และในเย็นวันนั้น คนงานประมาณ 80คน จึงขนสัมภาระขึ้นรถและขับรถขึ้นไปสมทบกับคนงานที่ประท้วงอยู่ก่อนแล้วที่ภาคเหนือ ที่เมือง Umeå”
 
ส่วนคนงานที่ถูก ว. และทีมงานยึดโทรศัพท์เพราะอัดเสียงคำพูดของเธอไว้ ก็ถูก ว.และทีมงานดึงเข้าไปคุยในห้องตามลำพัง ซึ่งเมื่อเขาออกมาแล้ว ก็มีสีหน้าเปลี่ยนไป และไม่ยอมเล่าให้เพื่อนฟังว่า ว. พูดอะไรกับเขาบ้าง และเขาก็ถูกส่งตัวกลับประเทศไทยทันทีในวันรุ่งขึ้น
 
สำราญและเพื่อนๆ รออยู่เพื่อดูสถานการณ์ และยังคงเก็บเบอร์รี่ต่อจนถึงวันที่ 12 กันยาฯ ซึ่งในวันที่ทราบข่าวว่าบัวลาผูกคอตาย ด้วยความโศกสลดและต้องการไปให้กำลังใจเพื่อน สำราญและเพื่อนคนงาน 7-8 คันรถ ที่ออกไปเก็บเบอร์รี่ ได้นัดเจอกันที่ข้างทางในตอนเย็น เพื่อจะขับรถขึ้นไปสมทบกับเพื่อนที่เมือง Umeå แต่บริษัทรู้แผนการณ์นี้ จึงได้ตามมายังจุดที่พวกเขารวมตัวกันอยู่ และยึดกุญแจรถของทุกคนไว้ (รถเต็มไปด้วยเบอร์รี่กว่า 3 ตัน ที่บริษัทประกาศไม่รับซื้อและถูกเททิ้งเสียหายหมด) ... คนงานกลุ่มนี้จึงเดินเท้าไปประท้วงที่หน้าพิพิธภัณฑ์ของ Lesjöfors และนอนประท้วงที่หน้าพิพิธภัณฑ์เมือง 1 คืน แต่ก็ได้รับการขอร้องจากเจ้าหน้าที่ให้กลับไปนอนที่แคมป์ เพราะสภาพอากาศหนาวเย็น ... พวกเขาที่เหลือ 80 กว่าคน จึงต้องอยู่รอที่แคมป์ร่วม 20 วัน จนถึงวันเดินทางกลับประเทศไทย โดยไม่ได้ออกไปเก็บเบอร์รี่ เพราะ M ยึดกุญแจรถไปหมดแล้ว
 
ข่าวการประท้วงของพวกเขาได้รับการติดตามจากสื่อที่สวีเดน และสื่อไทยอย่างต่อเนื่อง และมีประชาชนทั้งชาวสวีเดนและชาวไทยที่สวีเดนมาดูแลและให้การสนับสนุนด้านอาหาร เสื้อผ้ากันหนาวและของใช้จำเป็นต่างๆ  และความตื่นตัวต่อปัญหาที่คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยต้องพบเจอก็เพิ่มสูงขึ้นเมื่อบัวลา เหล่าพรม ตัดสินใจประท้วงด้วยชีวิตของเขา
 
การเสียชีวิตของบัวลา สร้างความตกตลึงให้กับคนงานและผู้รับรู้ข่าวนี้ทุกคน แต่นั่นก็ไม่ได้สามารถทำให้ให้บริษัท M  ที่ต้องการโกงเงินคนงานตั้งแต่แรกแล้ว ใจอ่อนยอมจ่ายค่าจ้างและค่าเสียหายให้คนงาน
 
สำหรับความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานที่สวีเดน สรุปจากที่สมศักด์เล่าให้ฟังได้ใจความว่า ... ตอนแรกทางคอมมูนอลก็ช่วยคนงานเต็มที่ แต่หลังจากทนายบริษัทขอคุยกับสหภาพแรงงานคอมมูนอลเป็นการส่วนตัว โดยพวกเราไม่ได้อยู่ในห้องประชุมด้วย หลังจากนั้นท่าทีของคอมมูนอลเปลี่ยนไป บอกแต่ให้คนงานกลับเมืองไทย โดยคอมมูนอลจะรับเรื่องดูแลคดีทางสวีเดนให้ โดยให้คนงาน 6 คนสมัครเป็นสมชิกสหภาพแรงงานคอมมูนอล เพื่อให้สหภาพสามารถดำเนินคดีกับบริษัทที่สวีเดนแทนพวกคนงานทั้งหมด
 
ทั้งนี้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะสถานทูตไทย สหภาพแรงงานคอมมูนอล และผู้ตรวจการกระทรวงแรงงานไทยที่เดินทางไปที่สวีเดน (หลังจากข่าวการประท้วงของพวกเขาเป็นเรื่องมาถึงเมืองไทย) ต่างก็บอกกับคนงานว่า "บริษัทนี้ไม่ได้จดทะเบียนที่ประเทศสวีเดน แต่เป็นบริษัทที่เมืองไทย ให้กลับมาฟ้องร้องเอาผิดที่เมืองไทยแต่จากข้อมูลที่ได้รับจากนักข่าวชาวสวีเดน สหภาพแรงงานคอมมูนอล เซ็นรับรองสัญญาจ้างงานกับบริษัท P ที่จดทะเบียนบริษัทที่สวีเดน
 
ทั้งสองสมศักดิ์ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "พวกเราก็ไม่อยากกลับเมืองไทย อยากจะสู้ที่สวีเดน แต่มันก็ไม่มีเงินที่จะใช้สู้ต่อทางสวีเดน ก็เลยต้องกลับตามแรงกดดันจากทุกฝ่าย
 
 
(ติดตามต่อตอนที่ 2)
แก้ไขเนื้อหาเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net