Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ปัจจุบันแนวคิดการแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นประเทศย่อยๆ ตามภูมิภาคเริ่มถูกกล่าวถึงหรือผลิตซ้ำกันมากขึ้นเรื่อยๆ   แม้ว่าจะถูกสบประมาทโดยนักวิชาการหลายกลุ่มว่าเป็นการสร้างกระแสความกลัวให้กับสังคมเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองเช่นเดียวกับในอดีตเช่นการเป็นคอมมิวนิสต์หรือการล้มเจ้า แต่ก็ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาให้กับคนไทยจำนวนมากไม่ใช่น้อย อันเป็นเรื่องธรรมดาของฝูงชนหรือคนจำนวนมากจะอ่อนไหวกับเรื่องที่อิงอยู่กับอารมณ์มากขึ้นเรื่องของเหตุและผลและยังถูกสื่อเข้าครอบงำเกือบทุกปริมนฑลของความคิด  เพียงแค่มีข่าวคนเอาป้ายติดขอแยกประเทศในจุดเล็กๆของประเทศก็ทำให้เกิดการตื่นตระหนกด้วยข่าวลือที่แต่งเติมกันไปต่างๆ นาๆ 

แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อแนวคิดการแบ่งแยกประเทศคือความขัดแย้งทางการเมืองไทยซึ่งยังหาทางออกไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยนั้นคือการผูกสีของเสื้อเข้ากับภูมิภาค และยิ่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์และกิจกรรมของเสื้อ 2 สีจะรุนแรงมากขึ้นเท่าไร ดูเหมือนแนวคิดการแบ่งแยกประเทศจะยิ่งมีตัวตนมากขึ้น บทความนี้จึงใคร่อยากจะหาคำตอบให้ได้ว่า....ประเทศไทยสามารถแบ่งแยกได้หรือไม่

สำนึกของความเป็นไทย

ในรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่สามารถแบ่งแยกได้ แม้รัฐธรรมนูญของไทยจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ แต่ดูเหมือนในทุกฉบับจะเน้นความเป็นเอกภาพของประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลเป็นเผด็จการ กระนั้นอย่าลืมว่าความเป็นรัฐหรือประเทศก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยผ่านกระบวนการสร้างชาติหรือ Nation-building  ที่รัฐไทยมักเน้นไปที่เชิงสัญลักษณ์เป็นหลักไปเช่นธงชาติไทย เพลงชาติไทย การแต่งกายแบบไทยๆ ฯลฯ พร้อมไปกับการปลูกฝังสำนึกความเป็นพลเมืองไทย  ในขณะเดียวกันการแย่งชิงและการผูกขาดทรัพยากรของท้องถิ่นก็กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ  นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรก็ยังคงสานต่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชในการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง แม้จะมีการเลือกตั้งหรือเปิดให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตัวเองมากขึ้น

แต่ในยุคไทยก้าวสู่ระบอบเผด็จการทหารโดยเฉพาะสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ดูเหมือนจะใช้กระแสโลกาภิวัฒน์ในการบีบท้องถิ่นให้อยู่ภายใต้อำนาจของกรุงเทพฯ ให้มากกว่าเดิมผ่านแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของระบบราชการและระบบทุนจากภาคกลางที่แฝงมากับระบบราชการนิยม (ข้าราชการจากกรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าคนนายคนในท้องถิ่น)  ผสมกับลัทธิราชาชาตินิยมก็ดูเหมือนจะทำให้ท้องถิ่นเกิดความอ่อนแอ อันนำไปสู่ภาวะเสื่อมถอยของสังคมและเศรษฐกิจชุมชนรวมไปถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น จนทำให้ประเทศไทยในช่วงเวลาหนึ่งจนเคยมีคนเรียกว่ากรุงเทพฯ คือประเทศไทย หรือประเทศไทยคือกรุงเทพฯ

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่กระแสตรงกันข้ามกับยุคของจอมพลสฤษดิ์คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นพร้อมกับกระแสการรื้อฟื้นท้องถิ่นในมิติต่างๆ  จนไปถึงการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดสำคัญ ๆ  แต่วาทกรรมการเป็นเจ้าเหนือท้องถิ่นของกรุงเทพฯก็ยังทรงพลังอยู่ไม่เสื่อมคลาย ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดความเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ก็มักจะยกข้อสมมติที่ว่าถ้าทางท้องถิ่นไม่ขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ ก็อาจจะไปอยู่กับชาติอื่นที่ด้อยกว่าไทยไม่ว่าพม่าหรือลาว ตามความคิดของเขา จังหวัดต่างๆ จึงเป็นหนี้บุญคุณของกรุงเทพฯ โดยลืมคิดว่าถึงแม้ท้องถิ่นจะไม่ตกเป็นของกรุงเทพฯ ก็อาจจะไม่ได้เป็นของประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ เช่นอาจกลายเป็นพื้นที่ปกครองตัวเองหรือรัฐใหม่ที่มีความเข้มแข็ง

ดังนั้นไม่ว่ายุคไหนก็ตาม ในจักรวาลวิทยาของรัฐไทยจึงเป็นแบบ Bangkokocentrism คือกรุงเทพฯ ก็ยังคงตั้งอยู่บนพื้นที่เชิงอำนาจเหนือจังหวัดอื่น นายกรัฐมนตรีแม้จะไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ หรือไม่ได้เป็นคนกรุงเทพฯ ดังเช่นบรรหาร ศิลปอาชา ทักษิณและยิ่งลักษณ์  ชินวัตรแต่จะดำเนินนโยบายหรือคิดสิ่งใดก็ต้องอิงอยู่บนวาทกรรมของกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ  คนกรุงเทพฯ จึงมักมีเสียงดังกว่าคนจังหวัดอื่น เพราะสื่อที่ถูกนำเสนอทั่วประเทศมักถูกผูกขาดโดยกรุงเทพฯ และยังถูกควบคุมทิศทางความคิดโดยเจ้าของสื่อและระบบราชการซึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางค่อนบนจนไปถึงชั้นสูงซึ่งมีงานอดิเรกคือไปเที่ยวสยามพารากอนหรือไปกรุงปารีสบ่อยกว่าไปคลุกคลีชาวบ้านตามต่างจังหวัด  สื่อเหล่านี้จึงมีอิทธิพลในการครอบงำสำนึกรวมของชาติอย่างมากและยังมีส่วนต่อความขัดแย้งในปัจจุบันเช่นมองกลุ่มประท้วงในรูปแบบที่ต่างกันเช่นมักนำเสนอว่าเสื้อเหลืองคือกลุ่มชนชั้นกลาง(ด้วยกัน) ที่แสนฉลาดและปรารถนาดีต่อชาติ   ในขณะที่นำเสนอว่าเสื้อแดงคือกลุ่มชาวบ้านหน้าโง่ที่ถูกจ้างเข้ามาสร้างความวุ่นวายในประเทศ

หากเทียบกับประเทศอื่นที่กำลังประสบปัญหาเรื่องความมั่นคงของชาติอย่างเช่นซูดาน ไนจีเรีย พม่า หรือแม้แต่ยูเครน  ดูเหมือนประเทศไทยจะมีการดำรงอยู่ร่วมกันของคนเชื้อชาติต่างๆ ยกเว้น 3 จังหวัดภาคใต้ โดยปราศจากความขัดแย้งอย่างรุนแรง  สาเหตุที่ทำให้รัฐไทยในอดีตปราศจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงอาจด้วยความสามารถของรัฐไทยเองในการทั้งดูดกลืนหรือในการทำให้คนต่างๆ เกิดสำนึกแห่งความเป็นชาติได้ หรือปัจจัยอื่นเช่นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศาสนาที่ไม่มีความแตกต่างกันมากนักซึ่งเป็นปัจจุบันที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในหลายประเทศทั่วโลกเช่นเดียวกับการแทรกแซงของต่างชาติซึ่งไม่ทรงพลังมากนัก

อย่างไรก็ตามเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความขัดแย้งนั้นไม่มีเลยอย่างเช่นการรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ มากไปยังเป็นปัจจัยทางอ้อมที่นำไปสู่ความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่นกลุ่มชาวนา เกษตรกร ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หรือแม้แต่กลุ่มเสื้อแดงและเสื้อเหลืองในปัจจุบัน  นอกจากนี้รัฐบาลของส่วนกลางยังมักถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดสิทธิของชนกลุ่มน้อยหรือชนชายขอบผ่านกฎหมายที่เข้มงวดและไร้มนุษยธรรม อาจมีคนเสนอความคิดในที่นี้เกี่ยวกับเรื่องนิสัยและศาสนาของคนไทยว่าเป็นชาวพุทธและเป็นคนที่รักสงบ ซึ่งผู้เขียนไม่มีวันจะเห็นด้วยเป็นอันขาดเพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคนไทยยินดีจะใช้ความรุนแรงในการเข้าประหัตประหารกันอยู่แล้ว และศาสนาพุทธก็พร้อมถูกนำมาปรับใช้เพื่อตอบสนองความรุนแรงนั้นดังกรณี 6 ตุลาคม 2516  ที่ข้ออ้างหนึ่งในการประหัตประหารนักศึกษาคือการปกป้องศาสนาจากภัยคอมมิวนิสต์  อัตลักษณ์ของความเป็นชาวพุทธเป็นสิ่งสำคัญกว่าการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธซึ่งแน่นนอนว่าสงฆ์ของท้องถิ่นก็ถูกเถรสมาคมของทางกรุงเทพฯ ได้เข้าครอบงำผ่านพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 หรือ พ.ศ. 2445

ผู้เขียนคิดว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดปรากฏการณ์การแบ่งแยกประเทศไทยที่รุนแรงมากนักนอกเหนือไปจากกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะคนไทยในท้องถิ่นต่างๆ นั้นมีสำนึกหรือ sense ของลัทธิชาตินิยมที่อิงอยู่บนท้องถิ่นของตนค่อนข้างน้อยมาตั้งแต่ต้นด้วยไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกเหมือนเพื่อนบ้าน ไม่ต้องพบกับการรุกรานของชาติตะวันตกโดยตรงจึงไม่เกิดขบวนการชาตินิยมโดยชนรากหญ้า คนไทยในส่วนท้องถิ่นจึงคุ้นชินกับการถูกส่วนกลางเข้ามาจัดการและใช้ลัทธิชาตินิยมของภาคกลางเช่นในยุครัชกาลที่ 6 มาชี้นำ  และรัฐไทยก็พยายามใช้ประวัติศาสตร์ของภารกิจของเจ้าทางกรุงเทพฯ ไม่ว่าการเลิกทาสหรือการทำให้รัฐไทยรอดจากตะวันตกในการทำให้คนในท้องถิ่นสำนึกในบุญคุณและอยู่ภายใต้การปกครองของส่วนกลางเสมอมา  

กระนั้นความขัดแย้งก็ออกมาในลักษณะของกองกำลังของท้องถิ่นขนาดเล็กที่ขบถต่อรัฐบาลกลางเสียมากกว่า อย่างเช่นในภาคเหนือหรืออดีตอาณาจักรล้านนานั้นก็มีท้องถิ่นหลายแห่งที่มีสำนึกแห่งเป็นการอิสระสูงและไม่ได้เป็นพันธมิตรต่อกันหรือมีความคิดเห็นต่อภาคกลางเหมือนกันเช่นมีขบถเงี้ยวซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าเมืองแพร่เท่านั้น แม้แต่ทางอีสานจะมีพวกผีบุญที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในอดีตแต่ว่าเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ  ที่สามารถถูกกองทัพของรัฐบาลได้อย่างง่ายดายในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

การแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นส่วนๆ

นักวิชาการหลายคนลงความเห็นว่าเราไม่สามารถแบ่งแยกประเทศออกเป็นส่วนๆ ได้เพราะชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของคนไทยได้ปะปนกันไปทั่วประเทศ เช่นในเชียงใหม่ก็มีคนกรุงเทพฯ เข้าไปอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกัน ในทางภาคเหนือและภาคอีสานก็มีผู้ที่มีความคิดจัดว่าเสื้อเหลืองอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เหมือนกับกรุงเทพฯ และภาคใต้ก็มีคนเสื้อแดงอยู่และแน่นอนว่าคนทางเหนือหรืออีสานก็อพยพเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือภาคอื่นเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับวัฒนธรรมที่มีการผสมปนเปกันไปหมด ดังนั้นจึงไม่สามารถแบ่งแยกประเทศได้โดยใช้แนวคิดทางการเมืองอย่างเดียว

แนวคิดนี้สอดคล้องกับความคิดของผู้เขียนซึ่งเคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง เพราะนอกจากคนจัดตั้งจะไม่มีความชอบธรรมต่อการกระทำเช่นนั้นเพราะเป็นการเหมารวมเอาเอง เพราะผู้เขียนเชื่อว่าในหมู่บ้านก็มีคนที่มีความแบบเสื้อเหลืองหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้มีความคิดแบบเสื้อแดง จึงกลายเป็นสิ่งย้อนแย้งในตัวเองสำหรับนปช.ที่เรียกร้องประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการส่วนเสียเอง

อย่างไรก็ตามแนวคิดเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่าประเทศไทยจะแบ่งแยกไม่ได้ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์หรือ Scenario แบบฉับพลัน เช่นนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ถูกกองทัพทำรัฐประหารแล้วหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ทางเหนือหรืออีสาน และทั้งกลุ่มเสื้อแดงหรือแม้แต่ทหารแตงโมในภูมิภาคนั้นช่วยกันสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลส่วนกลางใหม่ตามไปจับกุม  นอกจากจะเกิดสงครามกลางเมือง แล้วก็อาจจะทำให้พื้นที่ของไทยถูกแบ่งแยกเป็นระยะเวลาชั่วคราวหรือระยะยาว อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากแถมต้องคำนึงถึงการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจด้วย 

กระนั้นถ้าเกิดกรณีการแบ่งแยกประเทศแบบฉับพลันนี้ ผู้เขียนก็อยากให้มีการพิจารณาถึงมุมมองทางด้านรัฐศาสตร์นอกจากอัตลักษณ์ของเชื้อชาติ  ด้วยการปกครองที่เป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) ของไทยหรือการปกครองที่ให้อำนาจอย่างมากมายแก่รัฐบาลกลางที่มีมานาน ความเป็นรัฐใหม่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ เหมือนกับประเทศที่เคยเป็นสาธารณรัฐที่ให้อิสระแก่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างล้นพ้นมาก่อนจนสามารถพึ่งตัวเองได้ในระดับหนึ่งที่สูงมากจนสามารถแยกตัวออกอย่างเช่นซูดานใต้ซึ่งมีทรัพยากรอันมั่งคั่งคือน้ำมัน     

นอกจากนี้หากเราคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจซึ่งมีความสำคัญที่สุดแล้ว   เศรษฐกิจของภาคกลางเช่นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ยังคงมีอิทธิพลและมีบทบาทในท้องถิ่นอยู่มาก ดังนั้นการแยกประเทศโดยคิดจะพึ่งพิงทุนในท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวผสมกับการยึดครองปัจจัยทางการผลิตของบริษัทแม่ที่กรุงเทพฯ (ถ้าหากมีการแบ่งประเทศอย่างฉับพลัน) ก็ยังไม่เพียงพอที่จะพาไปสู่การเป็นรัฐเกิดใหม่   เพราะสุดท้ายแล้วรัฐไทยจะเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) ที่มีการแบ่งรัฐบาลและพรมแดน และถูกควบคุมโดยทหารแต่ประชาชนไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขปราศจากการพัฒนา มีแต่ความขัดแย้งภายในปรเทศเหมือนกับโซมาเลียซึ่ง 20 กว่าปีแล้วยังไม่สามารถมีรัฐบาลกลางที่มีอำนาจครอบคลุมได้ทั้งประเทศ

จากปัจจัยทางเศรษฐกิจ หากพิจารณาองค์ประกอบของรัฐ  4 ประการคือ 1. ดินแดน  2. รัฐบาล  3. อำนาจอธิปไตย และ 4. ประชาชน แล้วก็จะได้รู้ว่าการเกิดรัฐใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะปัจจัยที่  4  หรือประชาชนซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีความรักสามัคคีและพร้อมใจกันอยู่ภายใต้รัฐใหม่ พวกเขาต้องยอมรับว่าผลประโยชน์และที่ดินของตนในต่างจังหวัดได้หลุดลอยไปเพราะกลายเป็นคนละประเทศ หรือญาติพี่น้องที่อยู่คนละจังหวัดก็ก็มีสภาพไม่ต่างกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และยอมรับว่าจังหวัดที่ตนถือกำเนิดมาหรือชื่นชอบกลายเป็นพื้นที่ซึ่งเข้าไปถึงได้ยากกว่าเดิมมาก

ด้วยปัจจัยดังกล่าวและการที่มีคนซึ่งมีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างกันไปดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้นย่อมทำให้รัฐใหม่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ง่ายๆ  จนกว่าจะมีการปลูกฝังอุดมคติในการปลุกจิตสำนึกร่วมใหม่ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานมากให้ประชาชนยอมรับที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ถูกแบ่งขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับยอมรับความถูกต้องชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ และและยอมให้รัฐบาลมีอำนาจปกครองในทุกภาคส่วนผ่านกองทัพที่กำลังพลถูกแบ่งออกมาและงบประมาณที่ลดหายไปกับส่วนอื่นที่ถูกแบ่งไป อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญการยอมรับจากต่างชาติเช่นสหประชาชาติและชาติมหาอำนาจซึ่งมีความสำคัญมากในโลกยุคโลกาภิวัฒน์และไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะยอมรับหรือสนับสนุนรัฐไหน เหมือนกับเกาหลี เวียดนามและเยอรมันช่วงสงครามเย็น แต่ถ้าจะให้คาดเดาว่าคงไม่สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกรัฐไทยเพราะจะกระทบถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนทั่วประเทศไทยอีกด้วย 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวดังที่ได้กล่าวมานี้ย่อมสรุปได้ว่า การแบ่งแยกประเทศนั้นสามารถเกิดขึ้นได้แต่การจะเป็นรัฐใหม่นั้นเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้นอกจากจะเป็นรัฐที่แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และล้มเหลว ถึงแม้จะมีผู้เสนอทางแก้ไขคือการกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (ซึ่งเป็นวิธีที่ทุกคนล้วนเห็นว่าเป็นวิธีที่เป็นไปได้ที่สุด)  ดังเช่น มีผู้เสนอว่าแทนที่จะแยกประเทศแต่ก็ควรเข้าสู่ระบบสหพันธรัฐ (Federation) ที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้กำหนดชะตากรรมของตัวเองมากขึ้น (สมมติว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้) ดังเช่นสหรัฐฯ หรือรัสเซียแต่รัฐบาลกลางก็ยังทรงอิทธิพลในการกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศอยู่มากไม่ว่าการคลังหรือการทหาร และรัฐบาลกลางยังมีความสามารถในการดึงเอาอำนาจกลับคืนจากท้องถิ่นดังเช่นรัสเซียในยุคปูติน ไม่นับการที่ส่วนกลางสามารถครอบงำท้องถิ่นโดยผ่านวัฒนธรรมและสื่อมวลชนได้อยู่จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะกำจัดจักรวาลวิทยาแบบกรุงเทพ ฯ เป็นศูนย์กลางออกไป   

อย่าลืมว่าแม้ความคิดการแยกประเทศจะเพ้อเจ้อก็ตามหรือเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยก็ตาม แต่สามารถสะท้อนถึงสำนึกความเป็นท้องถิ่นก็มักจะมาพร้อมกับความต้องการเป็นอิสระ ไม่ให้ตนต้องถูกดูถูกหรือเป็นชนชายขอบจากคนกรุงเทพฯ  เช่นสามารถพูดภาษาถิ่นหรือแต่งกายตามแบบท้องถิ่นตนได้โดยไม่ต้องถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอกหรือเป็นของแปลกและไม่จำเป็นต้องแค่รอเงินหรือความเมตตาจากส่วนกลางซึ่งก็มีรายได้จำนวนมากก็มาจากการดูดแย่งทรัพยากรและภาษีของท้องถิ่นตั้งแต่แรก ดังนั้นความฝันของนักท้องถิ่นนิยมที่แท้จริงน่าจะสอดคล้องกับระบบ  สมาพันธรัฐ (Confederation) หรือระบบที่รัฐต่างๆ มีความเท่าเทียมกันแต่เข้ามาอยู่ร่วมกันแบบหลวมๆ และมีเกียรติหรือศักดิ์ศรีเท่าเทียมในทุกด้านแต่นี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลประเทศใด (แม้แต่สวิสเซอร์แลนด์ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเฉพาะในนาม) ยอมไม่ได้เป็นอันขาด เพราะรัฐบาลกลางทั้งหลายในโลกต่างก็ยึดถือสุภาษิตเช่นเดียวกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ว่า “มาสามัคคีปรองดองกันเถอะแต่ต้องอยู่ภายใต้อุ้งเท้าของฉันนะจ๊ะ”

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net