ฟังสื่อสนทนา 'อัพเดทเสรีภาพสื่อไทย..ในเสรีภาพสื่อโลก'

ฟังประสบการณ์เจอกองทัพเรือฟ้องคดีจากเว็บข่าวภูเก็ตหวาน สรุปภัยคุกคามสื่อทั้งเชิงกายภาพ เชิงโครงสร้าง และเชิงวัฒนธรรมจากผู้สื่อข่าวประชาไท และสถานการณ์สื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทออนไลน์กับสื่อมากขึ้น จาก SEAPA
 
6 พ.ค. 2557 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ และแอมเนสตี้ ประเทศไทย จัดสนทนาในหัวข้อ “อัพเดทเสรีภาพสื่อไทย ในเสรีภาพสื่อโลก” ที่มีเดีย คาเฟ่ @ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ดำเนินการสนทนาโดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวภูมิภาค นสพ.เดอะเนชั่น 
 
 
ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ในภูเก็ต เล่าถึงกรณีที่ถูกกองทัพเรือฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการเสนอข่าวในเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน เมื่อปีที่ผ่านมา โดยข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงจากข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์สหนึ่งย่อหน้า 
 
ชุติมา กล่าวว่า ไม่เคยคิดว่ากองทัพเรือจะเป็นผู้ฟ้อง เพราะที่ผ่านมา เว็บไซต์ภูเก็ตหวานประชาสัมพันธ์และเสนอข่าวกิจกรรมทางสังคมของกองทัพเรือด้วยดีมาตลอด แต่กองทัพเรือกลับแจ้งความว่าการนำเสนอข่าวทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของกองทัพเรือ ขณะที่ก็ไม่ได้บอกว่าทำลายอย่างไร นอกจากนี้ สำนักข่าวไทยหลายฉบับก็ตีแผ่เรื่องที่รอยเตอร์สรายงาน แต่กองทัพเรือกลับเลือกดำเนินคดีกับเว็บไซต์เล็กๆ อย่างภูเก็ตหวาน และจนขณะนี้ แหล่งข่าวต้นฉบับก็ยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด
 
ชุติมา กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าคดีดังกล่าว ล่าสุด อัยการรับฟ้องแล้ว เมื่อวันที่ 17 เม.ย. โดยศาลนัดพร้อมในวันที่ 26 พ.ค. โดยในชั้นอัยการนั้น เธอและอลัน มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ปฏิเสธที่จะใช้หลักทรัพย์ของตัวเองเพื่อประกันตัว เพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ทั้งยังตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมฯ ที่ไม่สามารถใช้กับข้อหาหมิ่นประมาท และย่อหน้าที่นำมาดำเนินคดีก็เอามาจากรอยเตอร์สโดยไม่ได้ตัดต่อ ซึ่งที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่จากศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนอันดามันเป็นผู้มายื่นประกันตัวพวกเธอคนละ 100,000 บาท
 
ชุติมา เล่าว่า ได้พยายามขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ  เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งต่อมาถูกปฏิเสธอนุมัติเงินประกัน อย่างไรก็ตามจะยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ อีกทั้งจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในวันที่ 22 พ.ค.นี้เพื่อขอให้ชี้ว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คืออะไรกันแน่
 
ผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวานระบุว่า หลังถูกดำเนินคดี ใช้เวลาเกือบเดือนกว่าจะจัดการอะไรได้ลงตัว ขณะที่การทำงานข่าวก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะต้องแบ่งเวลาไปจัดการเรื่องคดี  ทั้งนี้ วิจารณ์ด้วยว่า ภาครัฐเลือกใช้กฎหมายที่ยังมีการวิจารณ์ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายกันอยู่อย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อปิดปากสื่อ มากกว่าที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ว่าเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์จริงหรือไม่
 
ต่อคำถามว่า ทำไมภูเก็ตหวานถึงโดนอยู่รายเดียว ชุติมา กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นเพราะภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวโรฮิงญาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยอาจมีเจ้าหน้าที่กองทัพเรือบางนายให้ข้อมูลผิดพลาดหรือเป็นอคติกับกองทัพ 
 
สำหรับแนวทางสู้คดี ชุติมาระบุว่า จะต่อสู้โดยยืนยันเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงชี้ให้เห็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดเจตนารมณ์ นอกจากนี้จะพิสูจน์เจตนารมณ์ในการนำเสนอข่าว ซึ่งเป็นการอ้างข่าวมาอีกต่อ และรอยเตอร์สก็เป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือในระดับสากล ทั้งยังไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นกองทัพเรือ แต่เห็นว่าเป็นประเด็นสาธารณะ เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยควรสนใจ
 
ทั้งนี้ ชุติมาตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมนักข่าวของไทย โดยชี้ว่าหากวันหนึ่ง ตนเองแพ้ คดีนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ที่มีความสำคัญ ก่อให้เกิดอันตรายต่อเสรีภาพในไทย อาจทำให้ภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นใช้กฎหมายนี้ปิดปากและคุกคามผู้สื่อข่าวในการรายงานได้ 
 
 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท กล่าวถึงภัยคุกคามต่อเสรีภาพสื่อซึ่งรวบรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นภัยคุกคามจากความรุนแรงเชิงกายภาพ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงอุดมการณ์และวัฒนธรรม

เทวฤทธิ์ ชี้ว่า ความรุนแรงทางกายภาพที่ชัดเจน เกิดขึ้นโดยผู้เล่นหลัก  2ก. คือ กสทช. กปปส. โดย กสทช. นอกจากกำกับสื่อ ตั้งแต่ซีรีส์ฮอร์โมนวัยว้าวุ่นจนถึงการ์ตูนเคนชิโร่ ด้วยเหตุผลเรื่องศีลธรรมอันดีแล้ว ยังเป็นฝ่ายฟ้องสื่อเองด้วยในกรณีฟ้องณัฏฐา โกมลวาทิน และเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากการนำเสนอข่าว 

เทวฤทธิ์ระบุว่า ด้าน กปปส. มีการคุกคามเสรีภาพสื่อชัดเจน เช่น การบุกปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ต่างๆ การทำร้ายร่างกาย นิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน และล่าแม่มดในโลกออนไลน์ กรณีที่เกิดจากความไม่พอใจด้วยเหตุผลว่ารายงานจำนวนผู้ชุมนุมไม่เท่ากับที่ผู้ชุมนุมเคลม เช่น กรณีที่เกิดกับผู้สื่อข่าวภาคสนามช่อง 3 และช่อง 9 กรณีความเข้าใจผิดที่เกิดกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ในวันที่ กปปส.ไปขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มแดงเชียงใหม่ ก็ไปปิดล้อมเอ็นบีทีและไทยพีบีเอส ที่เชียงใหม่ เพื่อไม่ให้นำเสนอข่าวตามข้อเรียกร้องของ กปปส. เช่น การลิงก์สัญญาณขณะสุเทพแถลงการณ์ด้วย

เทวฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ด้านความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงอุดมการณ์และวัฒนธรรม อาจเห็นได้ไม่ชัด เช่น ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง โดยการที่สื่อต้องรายงานข่าวอิงกระแสสังคมหรือผู้บริโภค นำไปสู่การรายงานที่ฉาบฉวย ทำให้ประเด็นที่สำคัญแต่ไม่เพิ่มยอดคลิกอาจไม่ถูกเลือกนำเสนอ

ส่วนความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมและอุดมการณ์นั้น เทวฤทธิ์ชี้ว่า การครอบงำอุดมการณ์ความคิดเรื่อง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำให้มองประเด็นปัญหาของสถาบันต่างๆ เป็นเรื่องปกติหรือไม่ใช่ปัญหา ไม่ควรถูกตรวจสอบ รวมไปถึงการสร้างความชอบธรรมในการจำกัดเสรีภาพ และขยายการควบคุมไปถึงการใช้กฎหมายด้วย เช่น การใช้มาตรา 112 กฎหมายอาญา อย่างไม่มีมาตรฐาน คาดคะเนไม่ได้ สื่อต้องประเมินเอง นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะไม่แน่ใจว่าจะเสนอได้แค่ไหน ล่าสุด กรณีนี้เลยไปถึงการที่ตีความว่าการดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 เชื่อมโยงกับการหมิ่นประมาทประมุของค์ปัจจบุันด้วย 

เทวฤทธิ์เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวระหว่างการลงสนามเพื่อรายงานข่าวกรณี นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นำมวลชนประท้วงไทยพีบีเอส กรณีรายการตอบโจทย์ฯ ตอนสถาบันกษัตริย์ โดยถูกกลุ่มผู้ชุมนุมผลักอกและกล่าวหาว่าเป็นลูกน้องของพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งตนเองก็ได้ชี้แจงว่าเป็นผู้สื่อข่าวและสามารถตรวจสอบเนื้อหาข่าวได้ในเว็บ จากนั้น จึงหลบเข้าไปในไทยพีบีเอสก่อนและได้พูดคุยกับนักกิจกรรมฝั่ง นพ.ตุลย์ และเข้าใจกันในที่สุด อย่างไรก็ตาม ชี้แจงว่าก่อนเป็นนักข่าวประชาไท ตนเองเคยเป็นนักกิจกรรมมาก่อน โดยเคยร่วมกับเพื่อนนักกิจกรรมคัดค้านกลุ่มของ นพ.ตุลย์ที่ไปคัดค้านการมอบเงินเยียวยาแก่ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ พ.ค. 53 ซึ่งก็ถูกถ่ายรูปไปเสียบประจานมาก่อน จึงอาจทำให้เข้าใจผิด

 
 
กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวว่า เรื่องเสรีภาพสื่อไทย มีสององค์กรที่มองต่างกัน คือองค์กรฟรีดอมเฮ้าส์บอกว่าสื่อไทยเสรีภาพถดถอยลงอย่างมาก ขณะที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) มองว่าสถานการณ์ในไทยเรื่องนี้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ มองในแง่ดี เธอบอกว่า การบล็อคหรือคุกคามสื่อโซเชียลหรือสื่อออนไลน์น้อยลง แต่ที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง หรือเฮชสปีชที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพะในโซเชียลมีเดียของฝ่ายหนุนการเมือง กปปส. ที่มีการเสียบประจานและไล่ล่าผู้ไม่เห็นด้วย ขณะที่ฝ่ายตรงข้าม กปปส.ก็มีพฤติกรรมนี้ และแม้แต่สื่อกระแสหลักเองก็ใช้ถ้อยคำเหล่านี้ หรือลงซ้ำข้อความเหล่านั้นด้วย 
 
กุลชาดา กล่าวว่า ไทยจัดอยู่ในประเทศที่สื่อมีเสรีภาพบางส่วน โดยมีการคุกคามสื่อ ทำร้ายร่างกาย ไม่ว่า ข่มขู่ทางโทรศัพท์ รุมทำร้าย ปาระเบิด คุกคามสำนักงาน ไม่ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค โดยช่วงปีที่ผ่านมา กระแสการเมืองในภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลง ในรายงาน SEAPA จั่วหัวว่า เป็นภาวะสื่อกับการเมืองตรงทางแยก ไทยก็อยู่ในภาวะนั้นคือการเมืองที่แบ่งขั้วจนถึงที่สุด  
 
กุลชาดา กล่าวถึงแนวโน้มที่น่าสนใจว่า โดยทั่วไปแล้ว สื่อหลักแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยอย่าง ไทย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ สื่อยังถูกคุกคามอยู่ แต่เวียดนามและลาว ที่ไม่มีเสรีภาพ แม้จะไม่ได้คุกคามสื่ออย่างโจ่งครึ่ม หรือปิดสื่อแต่การควบคุมถึงรากหญ้าก่อให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ฉะนั้น บทบาทของโซเชียลมีเดียจึงเกิดขึ้น 
 
กุลชาดา กล่าวว่า มีเทรนด์ที่รัฐใช้กฎหมายเข้ามาจัดการมากขึ้น ไทยและมาเลเซีย มีกฎหมายจัดการกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ฟิลิปปินส์กำลังจะออกกฎหมาย โดยอยู่ระหว่างรอคำตัดสินศาลสูง ทั้งนี้ ศาลตัดประเด็นให้อำนาจรัฐในการปิดกั้นสื่อ แต่ยอมให้ความผิดหมิ่นประมาทเป็นความผิดอาญาชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหมือนเป็นการก้าวไปข้างหน้าแต่ก็ถอยหลัง ขณะที่ กัมพูชา และลาว อยู่ระหว่างออกกฎหมายกำกับดูแลโซเชียลมีเดีย สะท้อนถึงความกังวลของภาครัฐต่อการจัดการสื่อในโลกออนไลน์
 
ทั้งนี้ กุลชาดา ย้ำจุดยืนว่า การที่สื่อกระทำผิด ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ ควรจัดการด้วยการเยียวยาหรือลงข่าวแก้ไข ความผิดเหล่านี้ไม่ควรเป็นความผิดทางอาญา โดยจะเห็นว่ายิ่งเป็นความผิดหมิ่นประมาทออนไลน์ โทษก็จะสูงขึ้น และแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นกับทุกประเทศ โดยภาครัฐมักอ้างว่า ที่โทษหมิ่นประมาทออนไลน์สูงขึ้น เพราะความเสียหายแพร่กระจายไปเยอะกว่า
 
กุลชาดาชี้ว่า สำหรับฟิลิปปินส์ สื่อมีเสรีภาพแสดงออกมากสุดในภูมิภาค แต่ปัญหาคือรัฐไม่เข้าไปจัดการลงโทษผู้ใช้ความรุนแรงต่อสื่อตามกฎหมาย ส่งผลให้ยอดสังหารสื่อไม่ลดลงจากเดิมสักเท่าใด ทำให้แนวโน้มสถานการณ์สื่อถดถอยลง 
 
กุลชาดา กล่าวต่อว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงในพม่า ทำให้ภูมิภาคตื่นเต้น เพราะคาดหวังว่าการปฏิรูปสื่อในพม่าจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น เช่น สามารถรายงานประเด็นต้องห้ามได้ สื่อเอกชนออก นสพ.รายวันได้ ทำให้สื่อมีพื้นที่รายงานข่าวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สุดท้าย พบว่าด้านกฎหมาย รัฐบาลรวบรัดตัดตอนเสนอกฎหมายสื่อเข้าสภา โดยไม่ปรึกษาสภาการ นสพ.พม่า และออกกฎหมายออกใบอนุญาตสื่อ ทำให้แม้รัฐบาลไม่ได้เซ็นเซอร์สื่อก่อนออกพิมพ์ แต่หากผิดเงื่อนไข เช่น รายงานบิดเบือน กระทบความมั่นคง หมิ่นศาสนา ก็จะถูกยึดใบอนุญาต รวมถึงมีค่าปรับสูง ขณะที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ มีต้นทุนผลิตและขนส่งสูง ทำให้สุดท้ายบางสื่อต้องระงับการพิมพ์ไป โดยสรุป สื่อพม่า อยู่ระหว่างปรับตัว มีเสรีภาพ แต่ต้องระวัง รัฐไม่ได้ใช้กำลังปราบปรามสื่อแบบแต่ก่อน แต่หันมาใช้กฎหมายเพิ่มมากขึ้น
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท