Skip to main content
sharethis

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันเดินหน้ากระกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี (หรือการพูดคุยเพื่อสันติสุข) หลังจากที่หยุดชะงักมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช.ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ระบุไว้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่เกี่ยวข้องก็เกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะการจัดโครงสร้างใหม่ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนในฟากประชาสังคมในพื้นที่เองก็พยายามขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ โดยมุ่งสร้างพื้นที่กลางเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในพื้นที่ได้แสดงความคิด ความเห็นและความต้องการได้อย่างปลอดภัย พยายามสร้างการเรียนรู้และนำนำเสนอบทเรียนการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากที่ต่างๆ ทั่วโลก อย่างเช่น การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ระหว่างวันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2557 นี้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

แต่ถามว่า สังคมไทยรับรู้หรือเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการแปลงการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธมาเป็นการไม่ใช้อาวุธนี้มากน้อยแค่ไหน แม้แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงมาหลายครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ถามว่าคนหาดใหญ่รับรู้หรือเข้าใจกระบวนการสันติภาพมากแค่ไหน นอกเหนือจากมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆนานา

ในขณะที่คนในพื้นที่เองก็น่าจะพอเข้าใจกระบวนการสันติภาพได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการมีเวทีสาธารณะต่างๆ ทั้งในระดับสถาบันการศึกษาและระดับชุมชนที่มีการแสดงคามคิดความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพจำนวนมากมายหลายเวทีตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา

ตลอด 10 ปีของปัญหาความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ พื้นที่ อ.หาดใหญ่ รวมทั้ง อ.เมือง จ.สงขลา มีเหตุระเบิดมาแล้ว 7 ครั้ง เช่น เหตุระเบิดคาร์บอมบ์บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดินโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 300 คน และครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ที่เกิดเหตุระเบิด 2 จุด บริเวณลานจอดรถภายในสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ และบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ถนนพลพิชัย มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 10 คน

เหตุระเบิดครั้งหลังสุดนี้ ทางศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ประเมินผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าในจังหวัดสงขลาว่า แม้ไม่รุนแรงเท่าเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า เมื่อปี 2555 แต่ทำให้สูญเสียรายได้ไปถึง 700 ล้านบาท และใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า เพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ยางพารามีราคาถูก

มุมมองปัญหาไฟใต้และการพูดคุยสันติภาพ

ทว่า เหตุคาร์บอมก็ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่ว่าด้วยการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพมากนัก ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาตลอด ซึ่งต่อไปนี้เป็นคำให้สัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งในพื้นที่อ.หาดใหญ่ เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีขึ้นก่อนที่ คสช. จะเข้ามายึดอำนาจปกครองบริหารบ้านเมืองไม่กี่วัน

ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ รวมทั้งค้นหาความสัมพันธ์เชื่อมโยง และการพึ่งพากันระหว่างหาดใหญ่กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อชี้ให้เห็นความจำเป็นที่คนหาดใหญ่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับรากเหง้าของปัญหาและความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ

ธีรวุฒิ อ่อนดำ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

นายธีรวุฒิ อ่อนดำ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในฐานะนักวิชาการประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยาก และตนเองก็ไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่ต้น ส่วนเรื่องการพูดคุยสันติภาพนั้น มองว่าหากกลุ่มก่อเหตุไม่สงบถือธงการแบ่งดินแดน การพูดคุยสันติภาพก็จะไม่มีความจริงใจ เพราะสุดโต่งเกินไป แต่หากไม่ถือธงการแบ่งแยกดินแดน รัฐไทยก็อาจจะมีความจริงใจในการพูดคุยสันติภาพ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในทางสันติมากขึ้น

ศูนย์กลางของภาคใต้กับกระบวนการสันติภาพ

ขณะที่อาจารย์อภิชญา โออินทร์ อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า จากการสังเกตพบว่า ที่ผ่านมาคนในหาดใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องการพูดคุยสันติภาพน้อยมาก แม้แต่ภายใน ม.อ.หาดใหญ่เอง จะมีบ้างในหมู่นักศึกษาบางกลุ่ม เช่น นักศึกษาชมรมมุสลิมและชมรมสันติศึกษา เนื่องจากนักศึกษาในชมรมเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พวกเขาก็ไม่มีพื้นที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพมากนัก

อภิชญา โออินทร์ อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่

อาจารย์อภิชญา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันบทบาทของสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ แม้ว่าจะตั้งอยู่ใน อ.หาดใหญ่ แต่ก็ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าในเมืองหาดใหญ่เอง จนทำให้ชาวหาดใหญ่รู้สึกไม่มีความผูกพันกับสถาบันสันติศึกษามากนัก

อาจารย์อภิชญา กล่าวว่า ในอดีตเหตุเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในหาดใหญ่ ทำให้ชาวหาดใหญ่เกิดการต่อต้านคนจาก 3 จังหวัดอยู่ด้วยแต่ช่วงหลังๆ ลดลง แต่การที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวคนผิดมาดำเนินคดีได้ ส่งผลต่อความรู้สึกของคนหาดใหญ่ได้ ส่วนการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ชาวหาดใหญ่รวมถึงสังคมไทยเชื่อว่าขบวนการมีจริง ไม่ใช่โจรกระจอกตามที่เคยรับรู้มาก่อน

พื้นที่ทางอัตลักษณ์และการเมือง

อาจารย์อภิชญา เล่าด้วยว่า ในช่วงที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมของ กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ภายใน ม.อ.หาดใหญ่เองก็มีการถกเถียงกันว่า มีความเข้าใจในเรื่องความรุนแรงแค่ไหนและสถาบันสันติศึกษาควรจะอยู่ตรงไหนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผลักดันให้สังคมไทยกระหายในองค์ความรู้ด้านสันติศึกษามากขึ้น เช่น บางคนมองว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่กรุงเทพมหานครได้จะต้องยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นให้ได้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในทางกลับกันมีหลายกลุ่มมองว่าการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไม่มีความชอบธรรมด้วยเงื่อนไขต่างๆ

ส่วนคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เอง ก็มองว่าการเจรจามีขึ้นเพื่อยุติความรุนแรงเท่านั้น แต่ไม่ได้มองว่าการเจรจาสามารถจะสามารถแก้ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งในพื้นที่ได้

การพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา เป็นการสร้างทางเลือกการแก้ปัญหานอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของการเจรจา มีความอ่อนไหวต่อวาทกรรมการแบ่งแยกดินแดนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องจะอธิบายให้เข้าใจว่าการเจรจานำไปสู่อะไร ไม่ใช่เพียงแค่การแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว ซึ่งนำไปสู่แนวทางอื่นๆด้วย

การพูดคุยสันติภาพจะเดินหน้าไปอย่างไรนั้น ไม่เฉพาะคนหาดใหญ่เท่านั้นที่จะชี้นำเรื่องนี้ได้ แต่ต้องรวมทั้งคนส่วนใหญ่ในประเทศด้วย แม้คนหาดใหญ่จะมีความสัมพันธ์ในเชิงอัตลักษณ์และชาติพันธ์กับส่วนกลางมากกว่าคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม

ส่วนเรื่องการพึ่งพากันระหว่างหาดใหญ่กับชายแดนใต้มีมากขนาดไหนนั้น ยังไม่ใครศึกษาอย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่จนส่งผลทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ไม่สามารถขยายตัวเติบโตได้ คนในชายแดนใต้ก็จำเป็นต้องมาพึ่งพาเศรษฐกิจในหาดใหญ่ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในหาดใหญ่ไปด้วย เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ดังนั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันจะเป็นเครื่องมือวัดว่า การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มีผลต่อคนหาดใหญ่อย่างไร ขณะเดียวกันคนหาดใหญ่ก็ควรจะรับรู้มันมาน้อยแค่ไหน เพราะความสัมพันธ์ในเรื่องอัตลักษณ์กับการเมือง มีการพูดคุยกันน้อยมาก”

มหาวิทยาลัยต้องเป็นศูนย์กลาง

คัมภีร์ ทองพูล รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ส่วนอาจารย์คัมภีร์ ทองพูล รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มองว่า ที่ผ่านมาคนหาดใหญ่พูดคุยถึงเรื่องการพูดคุยสันติภาพน้อยมาก เพราะสิ่งนี้ไม่ได้อยู่ในระบบคิดของคนหาดใหญ่เลย ซึ่งส่วนตัวมองว่าสังคมยังต้านการเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่สามารถดูแลตัวเองได้

“สถาบันหลักๆ ในหาดใหญ่ที่พูดถึงเรื่องสันติภาพ คือ สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ แต่สถาบันนี้ก็อยู่ในมือของคนไม่กี่คน ขณะที่ในจังหวัดสงขลามีมหาวิทยาลัยถึง 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ดังนั้นควรใช้มหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดเรื่องกระบวนการสันติภาพด้วย

ส่วนมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ทำงานเรื่องของความขัดแย้งและสันติภาพอยู่แล้วก็มี 2 แห่งเท่านั้น คือ ม.อ.ปัตตานี และมหาวิทยาลัยฟอฎอนี

สิ่งสำคัญคือคนในพื้นที่ต้องสะท้อนปัญหาให้คนที่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น จังหวัดสงขลาได้รับรู้ด้วย เพราะหากสามารถทำความเข้าใจกับคนในเมืองใหญ่ๆได้ คนในสังคมทั่วไปก็จะยอมรับเรื่องการพูดคุยสันติภาพมากขึ้นไปด้วย

สิ่งที่องค์กรภาคประชาสังคมกำลังขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอยู่ในตอนนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพื่อให้คนในพื้นที่มีโอกาสดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น

สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ การให้คนพื้นที่ได้มีโอกาสได้แสดงความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่ออกมา โดยรัฐต้องเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้แสดงความเป็นตัวตน ซึ่งที่ผ่านมาบางหน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้แสดงความเป็นตัวตนในพื้นที่มากขึ้น

ในอนาคตหากมีการเปิดโอกาสอย่างนี้เรื่อยๆ พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ เพื่อในคนนอกพื้นที่ยอมรับในเรื่องของการพูดคุยสันติภาพก็จะเป็นเรื่องที่ดี ปัญหาความขัดแย้งก็จะแก้ไขได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net