Skip to main content
sharethis

ถ้าหากมีคนตั้งกล้องไว้และกำลังจัดเตรียมถ่ายภาพสัตว์ แต่สัตว์ตัวนั้นกลับเป็นผู้เข้ามากดกล้องถ่ายตัวเอง ลิขสิทธิ์ควรจะตกเป็นของใครระหว่างเจ้าของกล้องผู้จัดเตรียมฉาก สัตว์ที่กดถ่ายตัวเอง หรือไม่มีผู้ใดเลยเป็นเจ้าของ นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในข้อพิพาทระหว่างช่างภาพที่อ้างสิทธิเป็นเจ้าของภาพ 'ลิงถ่ายเซลฟี' กับวิกิพีเดียที่บอกว่าภาพนี้เป็นสมบัติสาธารณะ


วิกิมีเดียนำภาพลิงเซลฟีมาลง โดยใส่ลิขสิทธิ์ภาพเป็นสมบัติสาธารณะ (ภาพหน้าจอจากวิกิมีเดีย)


6 ส.ค. 2557 สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์กล่าวถึงกรณีรูป 'ลิงถ่ายเซลฟี' ซึ่งมีข้อพิพาทด้านลิขสิทธิ์กับเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย

ภาพเซลฟีของลิงถูกทำขึ้นในปี 2554 ในตอนนั้น เดวิด เจ สเลเตอร์ ช่างภาพสัตว์ชาวอังกฤษได้เดินทางไปอินโดนีเซีย ในขณะที่เขาเตรียมอุปกรณ์เพื่อจะถ่ายภาพลิงกังดำ แต่ยังไม่ทันจะได้ถ่ายลิงก็เข้ามาจับกล้องถ่ายรูปของสเลเตอร์แล้วกดถ่ายรูปตัวเอง และหลังจากนั้นภาพนี้ก็กลายเป็นที่นิยมในอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง

ภาพนี้ถูกนำไปเผยแพร่ในวิกิพีเดียและอยู่ในสารบบของวิกิมีเดียคอมมอนส์ซึ่งเก็บภาพนี้ไว้ในส่วนของสมบัติสาธารณะ (public domain) ทำให้ถูกนำไปใช้ได้อย่างอิสระ แต่สเลเตอร์ก็เรียกร้องให้วิกิมีเดียนำรูปภาพออกโดยอ้างว่าเขาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์รูปภาพนี้และผู้ที่จะนำไปใช้ควรซื้อลิขสิทธิ์ภาพจากเขา

แต่ทางวิกิมีเดียปฏิเสธจะนำภาพออกโดยอ้างว่าผู้ที่ถ่ายภาพนี้เป็นลิงไม่ใช่สเลเตอร์ และจากกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ระบุว่าสัตว์ไม่สามารถถือลิขสิทธิ์ได้ ทำให้ภาพ 'ลิงถ่ายเซลฟี' กลายเป็นภาพที่ไม่สามารถถือลิขสิทธิ์ได้

เนื้อความตามกฎหมายระบุว่า "คำว่า 'ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์' (authorship) หมายความว่า งานชิ้นหนึ่งจะถือลิขสิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่องานชิ้นนั้นมีที่มาดั้งเดิมจากมนุษย์ วัตถุที่ธรรมชาติเช่นพืชหรือสัตว์เป็นผู้ผลิตขึ้นไม่สามารถถือลิขสิทธิ์ได้"

แต่สเลเตอร์ไม่พอใจและไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างดังกล่าวของวิกิมีเดีย เขาโต้แย้งว่า "ลิงเป็นผู้กดปุ่ม แต่ตัวเขาเป็นคนจัดตั้งเครื่องมือทั้งหมด" ทำให้เขาคิดว่าเขาควรมีสิทธิเป็นเจ้าของรูปทั้งหมดเพราะเขาเป็นคนลงทุนทางการเงินจนทำให้มีรูปลิงถ่ายเซลฟีเกิดขึ้นซึ่งรวมถึงค่าเดินทางด้วย เขารู้สึกว่าช่างภาพกำลังถูกรุกล้ำสิทธิ์ในการทำมาหากิน

สเลเตอร์กล่าวหาด้วยว่าการที่วิกิพีเดียรายงานความโปร่งใสล่าสุดเพื่อทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นข่าวและยังกล่าวหาอีกว่ากลุ่มบรรณาธิการวิกิพีเดียเป็นพวกที่มี "แนวคิดต่อชีวิตแบบคอมมิวนิสต์"

"มันต้องมีการดำเนินงานโดยกลุ่มคนที่มีวาระทางการเมืองแน่ๆ" สเลเตอร์กล่าวถึงวิกิพีเดีย เขาอ้างอีกว่า "คนที่คอยแก้ไขบทความอาจจะกลายเป็นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์หรือสตาลินคนใหม่ พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อผลักดันวาระของตนเอง"

นอกจากนี้สเลเตอร์ยังได้เรียกร้องให้ผู้คนเลิกใช้เว็บวิกิพีเดียเป็นแหล่งหาข้อมูลความจริงด้วย

อย่างไรก็ตาม แคทเธอรีน มาเฮอร์ โฆษกของวิกิมีเดียอีเมลถึงฮัฟฟิงตันโพสต์ในประเด็นนี้ว่า พวกเขาได้ศึกษาข้อโต้แย้งของทั้งสองฝ่ายอย่างจริงจัง พวกเขาไม่คิดว่าลิงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ไม่มีใครเลยที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพทำให้ภาพนี้ตกเป็นสมบัติสาธารณะ

มาเฮอร์ยังได้กล่าวถึงกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐฯ และเชื่อว่าลิงได้ทำหน้าที่เป็น 'ช่างภาพ' ในกรณีนี้ โดยอ้างว่าผู้ที่จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นผู้สร้างผลงานในกระบวนการสุดท้ายของภาพ

โจช เบรสซเลอร์ ทนายผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า "ผู้ถือลิขสิทธิ์" จะต้องเป็นผู้ที่ "มีส่วนสร้างเนื้อหาในเชิงแสดงออก" แต่ใจความของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าลิงไม่สามารถเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ได้ เนื่องจากสัตว์ไม่ถูกนับเป็น "บุคคล" แต่ถือเป็น "ทรัพย์สิน"

ซาราห์ จอง เขียนบทความลงในเดอะการ์เดียน ถึงกรณีนี้ว่าการอ้างว่าตนเป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์แล้วจะถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยังเป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัย เพราะมิเช่นนั้นบริษัทผลิตบูธถ่ายรูปก็จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รูปทั้งหลายที่มีคนไปใช้ถ่าย

จอง ยังระบุในบทความต่อในเชิงเสียดสีขบขันว่า แม้เธอจะเห็นใจช่างภาพมืออาชีพที่อาจสูญเสียรายได้ค่าซื้อภาพหรือค่าลิขสิทธิ์ไป แต่สิ่งที่น่าเห็นใจมากกว่าคือเจ้าลิงที่เป็นคนกดปุ่มถ่ายภาพ รวมถึงสัตว์อื่นๆ ที่ถูกนำผลงานมาใช้ประโยชน์

"คนผลิตค้อนยักษ์ควรจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับลิงชิมแปนซีในฐานะที่พวกมันคิดค้น 'วิธีการใช้สิ่งหนึ่งทุบอีกสิ่งหนึ่งโดยที่สิ่งนั้นเป็นวัตถุที่แข็งมากจนทำให้อีกสิ่งหนึ่งแตกได้' " จองกล่าวในเชิงขบขัน

 


เรียบเรียงจาก

Wikipedia Is In A Pretty Weird Battle Over A Monkey Selfie, Huffington Post, 06-08-2014
http://www.huffingtonpost.com/2014/08/06/monkey-selfie_n_5654752.html?ncid=fcbklnkushpmg00000063

Wikipedia's monkey selfie ruling is a travesty for the world's monkey artists, 06-08-2014
http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/aug/06/wikipedia-monkey-selfie-copyright-artists

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net