Skip to main content
sharethis

มีเดียมอนิเตอร์ สำรวจผังรายการ-เนื้อหาทีวีดิจิตอล ช่องเด็ก ระบุไม่พบรายการเรต “ป” (ปฐมวัย) เช่นเดียวกับการศึกษาฟรีทีวี 6 ช่อง “เมื่อ 7 ปี ที่แล้ว”

28 ส.ค. 2557 มีเดียมอนิเตอร์เผยแพร่ผลการศึกษาผังและเนื้อหารายการทีวีดิจิตอล ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 สถานี ได้แก่ 1) ช่อง 3 Family 2) MCOT Family และ 3) Loca ระหว่างวันที่ 5-12 มิถุนายน 2557 พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากถึง 65% รายการสำหรับเด็กเยาวชน และครอบครัว พบเพียง 35% ไม่พบรายการเรตติ้ง “ป” ในทุกช่องสถานี (“ป” เนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย 3-5 ปี) ส่วนเรตติ้ง “ด” พบน้อยมาก (“ด” เนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี) โดยผลการศึกษาครั้งนี้ไม่ต่างจากผลการศึกษาเมื่อปี 2550

มีเดียมอนิเตอร์ระบุต่อว่า ส่วนเนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย 4 ด้าน (สังคม – สติปัญญา-จิตใจและอารมณ์-ร่างกาย) นั้น ยังขาดเนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ทั้งพบเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมในเรื่อง เพศ ภาษา ความรุนแรง การพนัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่เกณฑ์การจัดระดับเนื้อหาของ กสทช. ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเรื่องการพนัน บริโภคนิยม ศาสนา ความเชื่อ และเรื่องเหนือจริง

ผลการศึกษาจำแนกตามรายสถานี ได้ดังนี้
ช่อง 3 Family จากเวลาออกอากาศทั้งหมด 117.5 ชม./สัปดาห์ พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากที่สุด คือ 67.8% หรือ 79.7 ชม./สัปดาห์ รองลงมาคือ เด็กโต (6 – 12 ปี) พบ 13.9% หรือ 16.3 ชม./สัปดาห์ ครอบครัว พบ 11% หรือ 13 ชม./สัปดาห์ วัยรุ่น (13-18 ปี) พบ 4.3% หรือ 5 ชม./สัปดาห์ ที่พบน้อยที่สุดคือ รายการสำหรับเด็กเล็ก (3 – 5 ปี) มีสัดส่วนเพียง 3% หรือ 3.5 ชม./สัปดาห์

เมื่อวิเคราะห์ตามเกณฑ์เนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย พบใน 16 รายการ รูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูน และเกมโชว์ ด้านกลุ่มเป้าหมาย พบเป็นรายการสำหรับกลุ่มเด็กโตมากที่สุด คือ 13 รายการ เด็กเล็ก 2 รายการ และวัยรุ่น 1
รายการ ด้านพัฒนาการ พบเนื้อหาส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์มากที่สุด คือ 12 รายการ (1 รายการ พบได้มากกว่า 1 พัฒนาการ) รองลงมา คือพัฒนาการด้านสติปัญญาพบ 9 รายการ ส่วนพัฒนาการด้านสังคมพบ 3 รายการ ด้านร่างกายพบเพียง 2 รายการตามลำดับ

ช่อง MCOT Family จากเวลาออกอากาศทั้งหมด 168 ชม./สัปดาห์ พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากที่สุด คือ 74.2% หรือ 124.8 ชม./สัปดาห์ รองลงมา คือ เด็กโต (6 – 12 ปี) พบ 21.5% หรือ 36.1 ชม./สัปดาห์) วัยรุ่น (13-18 ปี) พบ 2.5% หรือ 4.2ชม./สัปดาห์ ครอบครัวพบ1.8% หรือ 3 ชม./สัปดาห์ ไม่พบรายการสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก

เมื่อวิเคราะห์ตามเกณฑ์เนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย พบ 19 รายการ รูปแบบส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนและวาไรตี้ด้านกลุ่มเป้าหมายพบเป็นรายการสำหรับเด็กโตมากที่สุด คือ 15 รายการ สำหรับวัยรุ่น 4 รายการ ไม่พบรายการสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก ด้านพัฒนาการ พบเนื้อหาส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมมากที่สุด คือ14 รายการ รองลงมาคือด้านสติปัญญา 12 รายการ ด้านจิตใจและอารมณ์ 10 รายการ ส่วนพัฒนาการด้านร่างกายพบเพียง 2 รายการ

ช่อง Loca จากเวลาออกอากาศทั้งหมด 168 ชม./สัปดาห์ พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากที่สุด คือ 53.8% หรือ 90.4 ชม./สัปดาห์ รองลงมาคือ วัยรุ่น (13-18 ปี) พบ 27.5% หรือ 46.1 ชม./สัปดาห์เด็กโต (6 – 12 ปี) พบ 13.9% หรือ 23.3 ชม./สัปดาห์ เด็กเล็ก (3 – 5 ปี) พบ 4% หรือ 6.7 ชม./สัปดาห์ที่พบน้อยที่สุด คือ รายการสำหรับครอบครัว พบเพียง 0.9% หรือ 1.5 ชม./สัปดาห์

เมื่อวิเคราะห์ตามเกณฑ์เนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย พบ 16 รายการ รูปแบบรายการส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนและเรียลลิตี้ ด้านกลุ่มเป้าหมาย พบรายการสำหรับเด็กโตมากที่สุด คือ 9 รายการ วัยรุ่น 5 รายการ และเด็กเล็กมีเพียง 2 รายการ ส่วนด้านพัฒนาการ พบการส่งเสริมด้านสติปัญญามากที่สุด คือ 11 รายการ รองลงมาเป็นพัฒนาการด้านสังคม 9 รายการ พัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ 3 รายการ ส่วนด้านร่างกาย พบเพียง 2 รายการ

มีเดียมอนิเตอร์ เสนอด้วยว่า พบการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง การพนัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้

ช่อง 3 Family พบ 1 รายการ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเรื่องการพนัน ได้แก่ ฉากตัวละครชายนั่งล้อมวงเล่นไพ่โดยซูมให้เห็นอย่างชัดเจน และไม่แสดงคำเตือน

ช่อง MCOT Family พบ 12 รายการ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเรื่องเพศมากที่สุด รองลงมาคือ ความรุนแรง เช่น เนื้อหาเพลงฉ่อยที่สื่อเรื่องเพศ ตัวการ์ตูนผู้ใหญ่ตบหน้าเด็กก่อนจะให้ข้อคิดและเตือนสติ

ช่อง LOCA พบ 5 รายการ เป็นเรื่องเพศมากที่สุด รองลงมาคือ การใช้ภาษา และปรากฏภาพเครื่องดื่ม
แอลกอฮอล์เช่น มิวสิควิดีโอเสนอภาพตัวละครหญิงสวมเครื่องแต่งกายน้อยชิ้น มีฉากตัวละครถือแก้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในรายการละครมีตัวละครชายใช้สรรพนามเรียกตัวละครหญิงว่า "มึง"

มีเดียมอนิเตอร์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาตามแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของโทรทัศน์ตามประกาศ กสทช. ควบคู่กับหลักเกณฑ์ของ Ofcom องค์กรจัดสรรและกำกับดูแลสื่อของสหราชอาณาจักร พบว่า ประกาศของ กสทช. ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่ห้ามนำเสนอในรายการสำหรับเด็กและเยาวชน หรือผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามหลักเกณฑ์ของ Ofcom กล่าวคือ

1) ความเชื่อเรื่องผีสาง คาถาอาคม และเรื่องเหนือจริง
2) เนื้อหาที่ขัดต่อสวัสดิภาพทางร่างกายจิตใจและศักดิ์ศรีของผู้ร่วมรายการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
3) กรรมวิธีประกอบอาชญากรรมที่นำมาเป็นตัวอย่างได้
4) รายการทางศาสนาที่แสวงหาผลประโยชน์จากความอ่อนไหวของผู้ชม

ส่วนพฤติกรรมที่สนับสนุนการพนัน พบว่า ในประกาศ กสทช. เรื่อง การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการ ไม่ได้ระบุถึงการห้ามเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการพนันในรายการสำหรับกลุ่มเด็กเยาวชน (ป, ด) และกลุ่มทั่วไป (ท) แต่ระบุว่า “การชี้นำหรือให้ข้อมูลหรือแสดงออกเพื่อจูงใจหรือสนับสนุนให้เกิดการเล่นการพนัน ให้จัดไว้ในระดับ “ฉ” คือ ให้ออกอากาศในช่วงเวลา 24.00-05.00 น.ของวันถัดไป

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ เรื่อง “เรตติ้งรายการโทรทัศน์ : ประสิทธิภาพและข้อจำกัด (ในฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, 11 และ TITV เมื่อ 1-7 ตุลาคม 2550) ที่พบว่า ทุกช่องสถานีที่ศึกษา ไม่มีรายการเรตติ้ง “ป” ส่วนเรตติ้ง “ด” มีสัดส่วนน้อยมาก ถึง “ไม่มีเลย” ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา ครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า แม้จะมีการจัดให้มีช่องทีวี "สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว" แต่ช่องทีวีเหล่านี้กลับไม่ทำตามพันธกิจในการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็กโดยเฉพาะวัยปฐมวัย (3-5 ปี) และให้ความสำคัญน้อยมากในการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี

ทั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ ระบุข้อเสนอจากงานศึกษา ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะต่อสถานี
- ควรนำเสนอรายการที่มีการส่งเสริมพัฒนาการให้ครอบคลุมทุกด้านและทุกกลุ่มเป้าหมายผู้ชม อย่างคำนึงถึงความเท่าเทียมและโอกาสของเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มในสังคม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์
- ควรระมัดระวังเนื้อหาที่แสดงออกถึงความรุนแรง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือใช้ภาษาที่หยาบคาย

2. ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.
- ควรเปิดเผยข้อมูลผังรายการของแต่ละสถานี โดยเฉพาะในส่วนที่แสดงรายละเอียดสำคัญ เช่น กลุ่มเป้าหมาย เนื้อหา และรูปแบบรายการ
- ควรออกระเบียบเกี่ยวกับแนวทางในการผลิตรายการ คือ 1) ให้มีเนื้อหาพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเยาวชน ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 2) นำเสนอเนื้อหาให้คำนึงถึงความเท่าเทียมของเด็กทุกกลุ่มในสังคม
-กำหนดแนวปฏิบัติในส่วนของเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสม เพิ่มเติมจาก เรื่องเพศ ภาษาและความรุนแรง ให้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับ การพนัน อบายมุข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่านิยมการบริโภคนิยม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net