Skip to main content
sharethis

ศึกทีวีดิจิตอลระหว่างเจ้าของช่องกับเจ้าของโครงข่ายเกิดขึ้น เมื่อ อสมท ประกาศตัดสัญญาณสปริงนิวส์ จอดำ 16 มิ.ย.นี้ หลังค้างค่าเช่าโครงข่าย 104 ล้าน ด้านผู้บริหารสปริงนิวส์ยันจอไม่ดำแน่ มีโครงข่ายอื่นรองรับ ชี้ค่าเช่าของ อสมท.ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีประสิทธิภาพ เรียกเก็บไม่เท่ากันแต่ละราย สวนทางนโยบาย คสช.ที่เร่งแก้ปัญหาทีวีดิจิตอลร่วมกับ กสทช. บริษัทเล็งฟ้อง ม.157 ให้บริการไม่เป็นธรรม

6 มิ.ย.2561นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสมท ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (MUX) ในระบบดิจิตอล แก่ บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด จะยุติการให้บริการโครงข่ายฯ แก่สปริงนิวส์ ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ หลังจากที่คณะกรรรมการ อสมท อนุมัติให้ดำเนินการและได้รับมติอนุมัติจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์​ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้ยุติการให้บริการแก่สปริงนิวส์แล้ว

นายเขมทัตต์ชี้แจงในเอกสารข่าวของ อสมท ว่า อสมท และสปริงนิวส์ได้ทำสัญญากันตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาสปริงนิวส์ค้างจ่ายค่าเช่าใช้บริการโครงข่ายฯ ตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันกว่า 104 ล้านบาท โดยรวมค่าปรับตามสัญญาและดอกเบี้ยตามกฎหมาย ณ วันที่ 31 พ.ค. 61 ซึ่ง อสมท ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว และสปริงนิวส์ได้ขยายเวลาชำระเงินเรื่อยมา ด้วยเหตุผลว่าบริษัทกำลังวางแผนเพิ่มทุน และจะทยอยผ่อนชำระหนี้ โดยอสมท ได้มีหนังสือถึง บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เรื่องแจ้งเลิกสัญญาและยุติการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา และสปริงนิวส์ได้เสนอแนวทางขอผ่อนชำระต่อเนื่อง แต่เนื่องจากหนี้สินดังกล่าวค้างชำระมาตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการค้างที่นานเกินกำหนดระยะเวลา ทำให้คณะกรรมการและฝ่ายบริหารต้องปกป้องผลประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยการบอกยกเลิกสัญญา

เขมทัตต์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไม่มีเจตนาอยากจะยกเลิกสัญญากับลูกค้าโครงข่าย แต่หนี้สินที่ค้างชำระไว้กว่า 100 ล้านบาท กระทบผลการดำเนินงานทำให้อสมท ประสบปัญหาในต้นทุนในการบริหารงาน อีกทั้งสปริงนิวส์ทีวีไม่มีหลักประกันที่ชัดเจน ว่าจะชำระเงินตามจำนวนได้เมื่อใด ทำให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องมีมติที่ให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว สำหรับค่าบริการนั้น ทางอสมท ได้มีการตกลงกันชัดเจนกับลูกค้า และมีการใช้บริการมาโดยตลอด โดยเมื่อเทียบต้นทุนกับโครงข่ายอื่นๆ ทางอสมท ให้สิทธิ์พิเศษมากกว่า เช่น อายุสัญญาสั้นกว่า , มีการผ่อนปรนให้เป็นระยะ, อัตราค่าบริการใกล้เคียงกัน แต่เพิ่งมีประเด็นว่าอัตราค่าบริการไม่เป็นธรรมในช่วงหลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2561 ทางอสมท ได้เจรจาหารือกับโครงข่ายอื่น ตามแนวทางของกสทช ที่พร้อมจะปรับราคาบริการให้เป็นราคากลางเท่าเทียมกัน แต่กรณีของสปริงนิวส์นี้ คือหนี้ค้างชำระเดิม ที่ จึงต้องขอความเห็นใจ อสมท ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกระทรวงคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

สปริงนิวส์ยันจอไม่ดำ ร้อง อสทม.ไม่เป็นธรรม

ด้านนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี กรรมการบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เปิดเผยถึงกรณี บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ได้แถลงการยุติให้บริการเช่าโครงข่ายออกอากาศทีวีดิจิตอลแก่สปริง นิวส์ในวันที่ 15 มิ.ย. ว่า ที่ผ่านมาบริษัทในฐานะผู้รับใบอนุญาติดำเนินการสถานีโทรทัศน์สปริง นิวส์ ดิจิตอลช่อง 19 ประเภทสถานีข่าวความคมชัดปกติจาก กสทช. ได้พยายามเจรจายุติปัญหามา โดยตลอด ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและราคาค่าเช่าโครงข่าย รวมถึงระยะเวลาการผ่อนชำระค่าเช่าโครงข่ายเดิมที่มีอยู่ เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ต่างก็มีการเจรจาต่อรองกับโครงข่ายที่ตัวเองใช้บริการเช่นกัน โดยบริษทัก็ได้มีการเจรจาร่วมกับฝ่ายบริหาร อสมท. เพื่อจัดทำแผนการชำระค่าโครงข่ายมาโดยตลอด และมีการทำหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระอย่างเป็นทางการรวม 8 ครั้ง และขอปรับลดอัตราค่าบริการที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมอีก 2 ครั้ง แตก็ได้รับการปฏิเสธจากทาง อสมท. มาโดยตลอด จนเป็นที่มาของมติหยุดให้บริการดังกล่าว แม้ภายหลังจากมีมติออกมาแล้ว บริษัทก็ยังมีความพยายามที่จะเจรจาต่อไปเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะบริษัทไม่มีนโยบายที่จะไม่ชำระหนี้ หรือย้ายโครงข่าย บริษัทเพียงต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและระยะเวลาที่เหมาะสมกับภาวะธุรกิจที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว

ทั้งนี้การเรียกเก็บค่าบริการโครงข่ายของ อสมท. ที่ผ่านมาไม่เพียงมีความไม่สมเหตุสมผล ทั้งด้านประสิทธิภาพ และการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงนำมาสู่การเจรจาขอปรับลดค่าบริการกับผู้ใช้โครงข่ายเกือบทุกราย ตั้งแต่เริ่มออกอากาศจนปัจจุบันพบว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการที่แตกต่างกันในแต่ละราย ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการทางกฏหมายต่อไป ทั้งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะความผิดตามมาตรา 157 เนื่องจากเห็นว่าการเรียกเก็บค่าบริการของ อสมท. ที่ผ่านมาไม่มีความเป็นธรรม คิดค่าบริการไม่เท่าเทียมกันในแต่ละราย และไม่สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่พยายามแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล โดยปรับลดภาระผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และยังอยู่ระหว่างที่มอบหมายให้ กสทช. ดำเนินการหาวิธีให้ทุกโครงข่ายปรับลดค่าเช่าลงให้เป็นธรรม หลังพบข้อเท็จจริงว่าการลงทุนของทุกโครงข่ายต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม 

ส่วนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ บริษัทขอยืนยันว่าได้ประสานงานกับทางคณะกรรมการ กสทช. อย่างใกล้ชิด และดำเนินการเตรียมจัดหาโครงข่ายใหม่ที่จะออกอากาศอย่างต่อเนื่อง หาก อสมท. ยุติการให้บริการ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ช่อง 19 จะยังสามารถออกอากาศได้โดยไม่มีการสะดุด และไม่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ชม ผู้ร่วมผลิตรายการและลูกค้าโฆษณาทุกรายอย่างแน่นอน โดยล่าสุดได้รบการยืนยันจาก กสทช. ที่พร้อมจะประสานผู้ให้บริการโครงข่ายที่เหลืออยู่รับช่วงออกอากาศต่อเนื่องทันทีหากไม่ได้ข้อยุติกับ อสมท

เลขาฯ กสทช.เผยมีโครงข่ายอื่นอีก 3 ราย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่นเพื่อไม่ให้สปริงส์นิวส์ต้องจอดำ หากสปริงส์นิวส์ไม่ชำระค่าบริการ อสมท.จนต้องยุติสัญญา อย่างไรก็ดี ตนเองยังมองในแง่ดีว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะถึงขั้นจอดำเพราะยังที่ผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่นเหลืออีก 3 ราย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 หนึ่งชั่วโมงก่อนถึงกำหนด "เส้นตาย" ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 ซึ่งจะสิ้นสุดตามเวลาราชการ 16.00 น. ปรากฏว่ารัฐบาล คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยให้พักชำระการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ 3 ปี นอกจากนี้ยังพ่วงการเปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์หารายได้จากการโฆษณาด้วย

คำสั่ง คสช. พักชำระหนี้ทีวิีดิจิตอล

โดยราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมีเนื้อหา 10 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ ดังนี้ ประการแรก หากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรายใดไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ ให้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใน 30 วัน เพื่อขอพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ไม่เกิน 3 ปีนับแต่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน กสทช.

ประการที่สอง ให้ กสทช. จัดให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่า MUX เป็นเวลา 2 ปี โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ประการที่สาม กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกำหนด

 

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์  เว็บไซต์คมชัดลึก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เว็บไซต์บีบีซีไทย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net