Skip to main content
sharethis


19 พ.ย.2557  เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนก็จะครบกำหนด 2 ปีในวันที่ 7 ธันวาคม 2557 ที่ค่ายมือถือทั้งสามราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ในการให้บริการ 3G ซึ่งเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตกำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการครอบคลุมครบทุกจังหวัด และครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต

จากรายงานการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz ฉบับเดือนสิงหาคม 2557 ที่จัดทำโดยคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรคมนาคมบนย่านความถี่นี้ประมาณ 68.86 ล้านเลขหมาย โดย ณ เดือนสิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการทั้งสามรายเพื่อตั้งสถานีวิทยุคมนาคมแล้วทั้งสิ้น 26,576 สถานีฐาน

ในจำนวนนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอไอเอส มีการติดตั้งโครงข่ายมากที่สุดจำนวน 13,765 สถานี (ได้รับอนุญาต 15,162 สถานี) ครอบคลุมพื้นที่ครบ 77 จังหวัด เข้าถึงพื้นที่ในระดับอำเภอ 99 เปอร์เซ็นต์ หรือ 922 อำเภอ จากทั้งหมด 927 อำเภอ

รองลงมาคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือดีแทค มีการติดตั้งโครงข่ายแล้ว 9,073 สถานี (ได้รับอนุญาต 9,103 สถานี) ครอบคลุมพื้นที่ครบ 77 จังหวัด เข้าถึงพื้นที่ในระดับอำเภอ 97 เปอร์เซ็นต์ หรือ 899 อำเภอ จากทั้งหมด 927 อำเภอ

ส่วนบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ของกลุ่มทรูนั้น ได้รับใบอนุญาตและติดตั้งโครงข่ายแล้ว 2,311 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด เข้าถึงพื้นที่ในระดับอำเภอ 26 เปอร์เซ็นต์ หรือ 238 อำเภอ จากทั้งหมด 927 อำเภอ
    
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้กำชับสำนักงานให้ทำหนังสือเตือนบริษัทต่างๆ อย่างจริงจังถึงเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติเมื่อครบกำหนด 2 ปีหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ซึ่งบริษัทต้องรายงานว่าสามารถดำเนินการติดตั้งโครงข่ายและเปิดให้บริการได้มากน้อยเพียงใด และสำนักงานเองก็ต้องเตรียมมาตรการในการตรวจสอบว่าเป็นจริงตามที่บริษัทรายงานหรือไม่ และหากบริษัทใดไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข ทางสำนักงานจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป
           
“ที่ผ่านมาผมได้ย้ำเรื่องนี้กับสำนักงานมาโดยตลอด เพราะเงื่อนไขเรื่องนี้มีความสำคัญ โดยเป็นเครื่องชี้ว่ามีการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และจะเป็นหลักประกันว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงเพียงพอ ทั้งนี้ ผมเห็นว่าบางบริษัทอาจไม่สามารถติดตั้งโครงข่ายเพื่อให้บริการได้ครอบคลุมตามเงื่อนไข ซึ่งในการประชุม กทค. ครั้งหลังสุด สำนักงานก็ได้รายงานให้กับที่ประชุมทราบว่า บริษัทดังกล่าวอยู่ในระหว่างติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพิ่มอีก 3,000 กว่าสถานี เพียงแต่ยังไม่เปิดใช้งาน เพราะอยู่ในระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงาน กสทช."

"โดยผมอยากตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงกระบวนการเร่งติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมด้วยว่า อยากให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ คือควรมีการขออนุญาตก่อนตั้งเสา และปฏิบัติตามข้อกฎหมายให้ครบถ้วนในการขอใบอนุญาต ไม่ใช่ลักไก่ในจังหวะที่ทุกฝ่ายต้องการเร่งรีบ ซึ่งสำนักงานต้องระมัดระวังในจุดนี้ด้วย” ประวิทย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net