Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาย้อนหลัง เมื่อขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2557 นั้น ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลรักษาการภายใต้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีกำหนดการที่จะเลือกตั้งใหม่ แต่สถานการณ์การเมืองอยู่ในช่วงแห่งความขัดแย้งจากการชุมนุมของม็อบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มุ่งจะขัดขวางการเลือกตั้ง ล้มล้างกติกาประชาธิปไตย โดยนายสุเทพอ้างว่า บ้านเมืองอยู่ในช่วงวิกฤตเพราะนักการเมืองทุจริต จึงไม่อาจจะใช้กลไกเลือกตั้งปกติ ต้องยกเลิกการเลือกตั้งไป 1-2 ปี แล้วให้มีการแต่งตั้ง “สภาประชาชน”เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง ระหว่างนี้ให้เชิญ“คนดี”มาตั้งรัฐบาลบริหารประเทศชั่วคราว และเพื่อให้บรรลุมาตรการของตน นายสุเทพจึงประกาศ“ปิดกรุงเทพฯ” ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม และปิดไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม

ข้อเสนอของฝ่ายนายสุเทพ ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากพลังฝ่ายประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าบ้านเมืองไม่มีวิกฤต แต่วิกฤตเกิดจากการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายนายสุเทพเอง ที่ก่อการชุมนุมแล้วเข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง เพื่อคุกคามให้รัฐบาลลาออก จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และม็อบของฝ่ายนายสุเทพยังใช้ความรุนแรงทำให้กระบวนการประชาธิปไตยประสบปัญหา กลุ่มนักวิชาการที่ก้าวหน้าจึงรวมตัวตั้งเป็นสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. เพื่อรณรงค์รักษาระบอบประชาธิปไตยไว้สำหรับประเทศไทย การเคลื่อนไหวรักษาประชาธิปไตย ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มมวลชน ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว ยังมีกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมาก เช่น กลุ่มพอกันที ที่จุดเทียนสันติภาพ หรือ กลุ่มพลังนักศึกษาที่คัดค้านการล้มล้างประชาธิปไตยของฝ่าย กปปส. ทำให้การอ้างของฝ่ายนายสุเทพว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส.ไม่เป็นที่ยอมรับได้

แต่กระนั้นก็ตาม สถานการณ์ของฝ่ายประชาธิปไตยกลับมีความยากลำบาก เพราะพลังฝ่ายจารีตนิยมในสังคมไทย สนับสนุนและให้ท้ายม็อบอันธพาลของฝ่ายนายสุเทพ ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถใช้ความเด็ดขาดทางกฎหมายเข้าแก้สถานการณ์ ตัวอย่างเช่น กองทัพที่ควรจะเป็นกลไกสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐบาล และช่วยเหลือในการดำเนินการให้สถานการณ์คืนสู่ปกติ แต่กองทัพบกที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากลับอ้างว่า จะต้องรักษาความเป็นกลาง และส่งหน่วยทหารเข้าประจำตามสถานที่ในกรุงเทพฯรักษาการไว้เฉยๆ

นอกจากนี้คือ องค์กรอิสระทั้งหลาย ได้แสดงบทบาทเป็นแนวร่วมของฝ่ายนายสุเทพ โดยเฉพาะคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ที่มีหน้าที่จะต้องจัดการเลือกตั้ง กลับแสดงความพยายามที่จะหาทางเลื่อนและล้มการเลือกตั้งให้จงได้ และเมื่อประขาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งท่วมท้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็อ้างความไม่สมบูรณ์ของการเลือกตั้ง ไม่ทำการนับคะแนนประกาศผล แต่กลับยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จากนั้น กกต.ก็เตะถ่วงไม่ยอมจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อทำให้เกิดภาวะปลอดอำนาจนิติบัญญัติทำให้การแก้ปัญหาการเมืองด้วยการเลือกตั้งไม่อาจทำได้

จากนั้น ในวันที่ 7 มีนาคม ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้รัฐบาลคืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยอ้างว่า นายกรัฐมนตรีโยกย้ายข้าราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่รัฐบาลทุกชุด ก็ต้องมีการโยกย้ายข้าราชการตำแหน่งสำคัญเพื่อหาบุคคลที่สามารถทำงานประสานกับรัฐบาลได้ดี กรณีนี้กลายเป็นเงื่อนไขให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมทั้งรัฐมนตรีอีก 9 คนที่ร่วมลงมติพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม รัฐบาลต้องตั้งนายนิวัตน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี แต่ต้องกล่าวในที่นี้ว่า การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่ละเมิดอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายรองรับแม้แต่มาตราเดียว แต่มาจากการตีความขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรของตนกลายเป็นอำนาจสูงสุด

มาถึงขณะนั้น จึงสรุปได้ว่า ม็อบ กปปส. คณะกรรมการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันสร้างภาวการณ์เมืองอันไม่มีทางออก เพื่อเปิดทางให้กองทัพเข้าแทรกแซง ดังนั้น ในวันที่ 20 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกก็ฉวยโอกาสประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเพื่อควบคุมอำนาจ ทั้งที่ไม่ได้มีการศึกสงครามอะไรที่ไหนเลย ต่อมา ก็อ้างเหตุจำเป็นที่จะต้องเข้ารักษาความสงบของบ้านเมือง เข้าก่อการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม ล้มเลิกรัฐบาลรักษาการ เลิกรัฐสภา ล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยกเว้นไว้แต่หมวดที่ 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ตั้งให้คณะทหารที่ยึดอำนาจเป็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสถาปนาอำนาจเผด็จการ โดยเข้าบังคับควบคุมสื่อมวลชนทั้งหมด และใช้มาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานยามวิกาลทั่วราชอาณาจักร

การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหารเช่นนี้ ถือว่าเป็นวิธีการอันล้าหลังและไร้เหตุผลอย่างที่สุด ไม่มีประเทศที่ก้าวหน้าในโลกของทำกัน แต่ชนชั้นนำไทยก็ยังสนับสนุนวิธีการนี้ แทนวิธีการแบบประชาธิปไตยอื่น

ฝ่ายทหารใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการนับร้อยตามอำเภอใจ โดยไม่มีองค์กรไหนมาคัดค้าน มาจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และให้มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งมีสมาชิกสภาประกอบด้วยทหารและข้าราชการเป็นส่วนใหญ่

วันที่ 25 สิงหาคม มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำมาซึ่งการตั้งคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วยนายทหารถึง 12 คนและดำรงตำแหน่งสำคัญระดับรัฐมนตรีแทบทั้งสิ้น ซึ่งไม่เคยปรากฏการณ์ตั้งรัฐบาลทหารมากเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ และรัฐบาลทหารชุดนี้ ยังคงบริหารประเทศมาถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในรอบปี เป็นการสะท้อนถึงภาวะอันปราศจากเหตุผลของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ที่ช่วยล้มเลิกกติกา สนับสนุนการรัฐประหาร ทั้งที่ข้ออ้างทั้งหมดในการล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้วนเป็นข้ออ้างอันเหลวไหล ข้อหาเรื่องการทุจริต ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนแม้แต่เรื่องเดียว เรื่องความผิดพลาดด้านนโยบายประชานิยม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็รับดำเนินต่อมาแทบทั้งสิ้น ข้ออ้างเรื่องนักการเมืองชั่ว ก็ไม่ได้มีข้อมูลชัดเจนว่าฝ่ายทหารที่เป็นรัฐมนตรีปัจจุบันจะเป็น“คนดี” ไปกว่ารัฐมนตรีสมัยยิ่งลักษณ์ แต่การต่อต้านเสนอความเห็นต่างกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับทำแทบจะไม่ได้เลย เพราะคณะทหารใช้นโยบายควบคุมความเห็นต่างอย่างเข้มงวด

สิ่งที่สูญเสียหลังการรัฐประหาร ก็คือ สิทธิประชาธิปไตยของประชาชน และยังเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเหลือคณานับ การเมืองไทยต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ได้แต่หวังกันว่านี่จะเป็นจุดสุดท้ายของอำนาจการเมืองแบบเถื่อน และปีต่อไปสถานการณ์จะพัฒนาในด้านดีมากขึ้น

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 495 วันที่ 20 ธันวาคม 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net