Skip to main content
sharethis

อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ตั้งคำถามน่าสนใจว่า คนตุลาเป็นนักประชาธิปไตยจริงหรือไม่

หลายปีที่ผ่านมา ผมเริ่มตกผลึกว่า อันที่จริง น่าจะไม่ใช่ ตอน 14 ตุลา ตอนเคลื่อนไหวประชาธิปไตย น่ะใช่ แต่ตอนเข้าป่า และหลังออกจากป่า ไม่ใช่แล้ว เรากลายเป็นนักปฏิวัติไปแล้ว

แต่เป็นนักปฏิวัติ ผู้เคว้งคว้าง อกหัก บ้างก็สับสน หลังจากอุดมการณ์ที่เคยใฝ่ฝัน เคยอุทิศชีวิต อุทิศทุกสิ่งทุกอย่าง กลับพังครืนลงไปต่อหน้า

อ.ยุกติ มุกดาวิจิตร พูดไว้ในงานเสวนา 14 ตุลาปีที่แล้ว (หนังสือปริทัศน์คนเดือนตุลา) ว่ารู้สึกไม่อินเลย กับการร้องเพลงปฏิวัติ รำวงปฏิวัติ ในงานศพ อ.ยิ้ม กลางวัดหัวลำโพง (แต่ อ.ยุกติก็บอกว่า มันสะท้อนว่าเราไม่ได้กลบเกลื่อนความเป็น "ฝ่ายซ้าย")

“นักปฏิวัติ เราไม่เคยกลัวตาย แม้ร่างกายต้องมลายดับสูญ
อุทิศชีวิตเพื่อประชาสุขสมบูรณ์ จักเทิดทูนอุดมการณ์นิรันดร์ไป
เลือดแดงทาพื้นพสุธา หมู่มาลาและภูผาร่ำไห้
คงแต่ชื่อ ระบือก้องเกริกฟ้าไกล สถิตใน แนบน้ำใจประชา"

นั่นคือเพลงสหาย ที่ร้องในงาน อ.ยิ้ม ซึ่งผมร้องคลอแล้วน้ำตาซึมไปด้วย พิธีศพที่ร้องเพลงปฏิวัติ มอบชุด ทปท. โดยลุงธง แจ่มศรี กลางวัดหัวลำโพง พระอารามหลวง มันคงดูประหลาดในสายตาคนอื่น ดูแปลกแยก หลุดโลก เหนือจริง

แต่สำหรับเรา มันคือความผูกพัน ความรู้สึกฝังแน่นตราตรึง กับชีวิตแห่งอุดมการณ์ ความใฝ่ฝัน ที่ไปไม่ถึง และไม่มีวันไปถึงในชีวิตนี้ แต่มันยังอยู่กับเราตราบลมหายใจสุดท้าย

อ.ยุกติอาจเซอร์ไพรส์กว่านี้อีก ถ้าพบว่า งานศพคนตุลาที่เคยเข้าป่าบางคน ซึ่งกลายเป็นเหลืองโคตรๆ ก็สั่งไว้ให้เปิดเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา"

พูดกันง่ายๆ คนตุลาที่กลับจากป่า เสมือนมี 2 ชีวิต ชีวิตแห่งอุดมการณ์ ที่เป็นจริงไม่ได้ จบไปแล้ว แต่ไม่เคยดับจากหัวใจ กับชีวิตที่กลับมาอยู่ในสังคม โดยมีบทบาทสถานะแตกต่างกันไป อยู่ที่แต่ละคนจะปรับให้ใกล้เคียงได้แค่ไหน

คนตุลาคือนักปฏิวัติ อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ที่เข้าป่า คือคนที่คิดการใหญ่ อย่างที่ไม่มีอีกแล้วในคนรุ่นต่อๆมา

"ปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่า" ชีวิตวัยหนุ่มสาว จากนักศึกษาชาวเมือง เข้าป่า ฝึกอาวุธ ทำสงคราม ซุ่มยิง ถูกยิง ประจัญบาน หรือแบกข้าวสารขึ้นภู ทำไร่ ทำนา ขุดหน่อไม้มาแกงกับวิญญาณหมู กินข้าวปนมันหรือปนข้าวโพด ฯลฯ แต่หัวใจโชติช่วงด้วยความหวัง แม้เพื่อนบางคนเสียสละไป

แต่จู่ๆ ความใฝ่ฝันนั้นก็พังทลาย ไม่ใช่พ่ายแพ้ ซึ่งยังร้องเพลงแพ้แล้วสู้ใหม่ๆ แต่การปฏิวัติเป็นความใฝ่ฝันที่พังทลาย เป็นจริงไม่ได้ ที่เป็นจริงได้ เช่นการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามความใฝ่ฝัน

เมื่อกลับมาสู่โลกใบเดิม มันจึงไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดที่ต้องดิ้นรน แต่ชีวิตอีกซีกยังติดอยู่ในความใฝ่ฝัน ซึ่งไม่ใช่แค่ความทรงจำ บางคนตั้งต้นชีวิตใหม่ได้ บางคนล้มเหลวกระทั่งทุกวันนี้ บางคนก็เตลิดเปิดเปิงไปเลย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าตัวเองมีอุดมการณ์ และพยายามทำในสิ่งที่เห็นว่าดีที่สุด

เพียงแต่หลายสิบปีต่อมา ทัศนะแต่ละคนก็เปลี่ยนไป จากทัศนะเดิมคือทัศนะปฏิวัติลัทธิมาร์กซ์ เลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งก็ไม่ใช่ถูกต้องเสียหมด มาสู่สภาพแวดล้อมใหม่ สถานะใหม่ อย่างที่ อ.กนกรัตน์ชี้ คือหลังออกป่า คนตุลาไม่มีที่ยืน จนทศวรรษ 2530 จึงกลับมาในสถานะที่ต่างกันไป เป็นนักการเมือง นักวิชาการ สื่อ NGO เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็เยอะ

ซึ่งแน่ละ บางคนก็มีผลประโยชน์ส่วนตน แต่ปัญหาสำคัญที่สุด น่าจะเป็นปัญหาทัศนะต่อ "ประชาธิปไตยทุนนิยม" ว่าแต่ละคนตกผลึกเพียงไร ว่าเมื่ออุดมการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมเป็นจริงไม่ได้ จะยอมรับประชาธิปไตยทุนนิยมแค่ไหน หรือยังงมโข่งเกลียดทุนเกลียดจักรพรรดินิยมอเมริกาเหมือน 40 ปีก่อนจนไม่เอาประชาธิปไตย

อันนี้จึงเป็นภาพตลกร้าย พวกคนตุลาที่อยู่สายสื่อสาย NGOs นักเคลื่อนไหวนักวิชาเกิน ส่วนใหญ่เทไปอยู่ฝ่ายเสื้อเหลือง โค่นทักษิณ (พอดีกระแสโลกมันเป็นกระแสต้านทุนโลกาภิวัตน์) แต่พวกที่กลับมาต้านหลังรัฐประหาร 49 เป็นพวกที่ทำมาหากินในโลกธุรกิจก็เยอะ

ประเด็นต่อมาคือทัศนะต่อการเปลี่ยนแปลง ที่เชื่อในการหักล้าง โค่นล้ม แบบพิภพ ธงไชย จะพูดเสมอว่าเมื่อมี Chaos จะเกิดสิ่งใหม่ พวกนกหวีดปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งก็ยัเอาคำว่า "ปฏิวัติประชาชน" มาใช้ (ซึ่งเหลือเชื่อว่าแม่-มีคนเชื่อจริงๆด้วย) รวมไปถึงความคิดยืมมือ ที่เอามาจากลัทธิเหมา แบบเห็นทักษิณน่ากลัวกว่าก็หันไปพึ่งจารีต โดยคิดว่าเป็นอาทิตย์ใกล้อัสดง อย่างที่เคยเขียนไป

คนตุลาถ้าไม่ยอมรับประชาธิปไตยทุนนิยม ก็จะค่อนไปทางอนาธิปไตย (Chaos นี่ใช่เลยนะ) ในขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับนิติรัฐ ซึ่งมากับประชาธิปไตยทุนนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยสอนเรื่องนิติรัฐนะครับ มีแต่เหมายึดอำนาจได้ก็ตั้งศาลประชาชนจับเจ้าที่ดินตัดหัว ตัดสินเอง ใช้ศาลเป็นเครื่องมือเท่านั้น อันนี้ซ้ายกับขวาตรงกันน่าประหลาด

คำถามตัวโตๆ คือ ในโลกวันนี้ นักปฏิวัติควรมีทัศนะและจิตใจอย่างไร ผมยอมรับนะ ผมยังมีความใฝ่ฝันของนักปฏิวัติจนลมหายใจสุดท้าย แม้เข้าใจดีว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ผิดอะไร เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่เรามีอุดมคติสูงกว่าประชาธิปไตยทุนนิยม เพียงแต่เราต้องยอมรับความเป็นจริง ยังต้องอยู่กับประชาธิปไตยทุนนิยม โดยเชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นมันน่าจะก้าวไปสู่สังคมนิยมประชาธิปไตยมากขึ้น หลังวิกฤติเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่รอบนี้

สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด สำหรับอุดมคตินักปฏิวัติ คือสิทธิเสรีภาพ และความกล้าท้าทายอำนาจ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณนักปฏิวัติทุกยุคสมัย นักปฏิวัติที่ไหนกัน ไม่กล้าท้าทายอำนาจ ยิ่งอำนาจใหญ่โต ยิ่งต้องกล้าท้าทาย โดยเฉพาะอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

ในความหมายนี้ อ.ยิ้ม จึงเป็นนักปฏิวัติอย่างแน่วแน่จนลมหายใจสุดท้าย อย่างที่เราร้องเพลงให้ในวันนั้น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net