Skip to main content
sharethis

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บก.อาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณภาคใต้ ชี้แนวโน้มการสื่อสารท่ามกลางความขัดแย้งในชายแดนใต้ พบ 5 เทรนด์ใหม่ที่สื่อชายแดนใต้ไม่ควรละเลย ทั้งการเติมโตของภาคประชาสังคม ความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้หญิง ไปจนถึงความสามารถในการใช้สื่อของชาวบ้านระดับล่าง


มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงแนวโน้มการสื่อสารท่ามกล่างสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ในงานสานเสวนา “สื่อมืออาชีพ สื่อสาร สันติสุข” ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์สนับสนุนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ สวนอาหารริมน้ำ อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อวันอังคารที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา จัดโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนราธิวาส

มูฮำหมัดอายุบ อธิบายว่าความเป็นสื่อมืออาชีพนั้นจะวัดกันตรงไหน อันดับแรกคือคนทำงานสื่อต้องมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแล้วหยุด ที่สำคัญปัจจุบันภูมิทัศน์การสื่อสารได้เปลี่ยนไปมาก เช่น การที่ฝ่ายทหารมีการถ่ายทอดสดการจัดเวทีเสวนามากขึ้น ถือเป็นความก้าวหน้ามาก เพราะหากย้อนเวลากลับไปคงไม่มีใครคิดว่าทหารจะถ่ายทอดสดวงเสวนาได้

มูฮำหมัดอายุบ บอกว่า ปัจจุบันสื่อมีต้นทุนอยู่มาก จึงจำเป็นที่ต้องสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารให้มีความหลากหลายรอบด้าน เช่น เมื่อถามถึงเรื่องสถานการณ์ความรุนแรง ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมักจะตอบว่าสถานการณ์ลดลงโดยอ้างอิงจากตัวเลขจำนวนคนตายที่ลดลง แต่สื่อต้องทำมากกว่านั้น เพื่ออธิบายว่าสถานการณ์ความรุนแรงลดลงจริงๆ เช่น นำเสนอบรรยากาศความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เช่น กรณีการเพิ่มขึ้นของตลาดนัดกลางคืน เป็นต้น

ขณะเดียวกันสื่อต้องสร้างช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายด้วย ไม่ได้นำเสนอในช่องทางใดช่องทางเดียว เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อหลากหลายประเภทได้ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์

ที่สำคัญสื่อจะถูกปิดกั้นไม่ได้ กล่าวคือการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งจะต้องไม่ทำให้พื้นที่ในการสื่อสารแคบลง อย่างกรณีการปิดวิทยุชุมชน การที่วิทยุชุมชนยังไม่สามารถเปิดออกอากาศได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะทำให้พื้นที่การสื่อสารแคบลง ซึ่งจะส่งผลให้ความคิดของคนแคบลงไปด้วย

มูฮำหมัดอายุบ อธิบายด้วยว่า ภูมิทัศน์การสื่อสารที่เปลี่ยนไปนั้น โดยเฉพาะจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้แนวโน้มการสื่อสารในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นถึง 5 แนวโน้ม (Trend) ที่สำคัญ ซึ่งสื่อจะต้องให้ความสนใจ คือ

1.การเติบโตของภาคประชาสังคม ซึ่งสามารถเข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้มาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้งและความรุนแรงทำให้ภาคประชาสังคมได้เรียนรู้และปรับตัวในหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่าน มีการตื่นตัวของภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีการข้ามแดนเข้าไปช่วยเหลือในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียกันอย่างคึกคัก

2.การทำงานของกลุ่มและเครือข่ายผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นและเข้มแข็ง โดยเฉพาะการทำงานเพื่อสังคม

3.ในช่วง 2-3 ปีมานี้มีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาทำงานมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน มีทั้งที่เข้ามาทำกิจกรรมเอง มาเป็นแหล่งทุน มาศึกษาวิจัย เป็นต้น

4.กิจกรรมจัดเวทีโดยประชาชนในระดับล่างที่มีมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากเวทีในระดับล่างนี้สื่อสามารถนำเสนอเป็นข้อเสนอสู่ระดับสูงหรือระดับนโยบายได้ ถามว่าสื่อจะสื่อสารเรื่องราวจากเวทีเหล่านั้นอย่างไร

5.โลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อย่างปัจจุบันชาวบ้านเล่นไลน์ (Line) มากขึ้น และมีการแชร์ข้อมูลข่าวสารกันตลอดเวลา ซึ่งสื่อสารกันเร็วมาก คำถามก็คือคนทำงานสื่อจะสื่อสารกับแนวโน้มที่กล่าวมาข้างต้นอย่างไร

แนวโน้ม 5 อย่างนี้ สื่อในพื้นที่ต้องไม่ละเลย เพราะเป็นแนวโน้มที่สำคัญ ต่อไปนี้สื่อจะนำเสนอเฉพาะฝ่ายรัฐอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเทรนด์เหล่านั้นกำลังเติบโตอยู่ในพื้นที่

ที่สำคัญฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ได้มีการปรับตัวเยอะมากเช่นกัน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทหารมีการใช้คำพูดที่น่าสนใจมากขึ้น เช่นคำว่า พื้นที่กลาง โรดแมป กระบวนการสันติภาพ หรือการสร้างสันติสุข เป็นต้น เพราะฉะนั้นบรรยากาศลักษณะนี้สื่อจะต้องสื่อสารออกไป และจะต้องให้มีอยู่ต่อไป

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net