Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพประกอบภาพ: ผลงานของ อ.วันทนีย์ พัวพันสกุล


พระเพื่อน พระแพง
แรงกรรม ปมทางเพศ หรือวิจิตรกามา? (1)

"พระเพื่อน-พระแพง" เป็นตัวละครหญิงคู่อื้อฉาว จากวรรณคดีชิ้นเอกอุ "ลิลิตพระลอ" ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมไปต่างๆ นานา ทั้งบวกและลบอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่องเนิ่นนานกว่าหนึ่งศตวรรษ

นับตั้งแต่มีการเปิดประเด็นใน "วรรณคดีสโมสร" สมัยรัชกาลที่ 6 โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีวินิจฉัยว่า

"หากจะต้องเลือกว่าลิลิตชิ้นใดเป็นเลิศแห่งลิลิตทั้งหมดในสยามเพียงชิ้นเดียว ระหว่างลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย และลิลิตพระลอ ขอตัดสินใจเลือกชิ้นหลัง"

จากนั้นมา การถกประเด็นถึงปมปริศนาที่เกี่ยวข้องกับ "ลิลิตพระลอ" ก็ได้แตกหน่อออกกอไปอย่างมิรู้จบ

เริ่มจากประเด็น "แต่งเมื่อไหร่ยุคพระบรมไตรโลกนาถจริงหรือ?" "ใครเป็นผู้แต่งกันแน่?" “แต่งที่อยุธยาหรือล้านนา?" “เป็นเรื่องจริงหรือนิทาน?"


ปริศนามิรู้จบ ใครแต่งลิลิตพระลอ?

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าผู้นิพนธ์วรรณคดีชิ้นเยี่ยมเรื่องนี้ น่าจะเป็นพระราชโอรสองค์ใดองค์หนึ่งของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในขณะที่ยังเป็นพระยุพราชครองเมืองพิษณุโลก แล้วได้มีโอกาสเสด็จตามพระราชบิดาไปทำสงครามกับอาณาจักรล้านนา จึงอาจได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานพื้นบ้านเมืองเหนือ

เนื่องจากโคลงบทสุดท้ายเขียนเป็นนัยไว้ว่า "จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง"

ทว่าโคลงก่อนบทสุดท้าย กลับเขียนขัดแย้งกันเองว่า "จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์"

ปริศนาที่ทิ้งไว้ว่า “มหาราชเจ้า” กับ "เยาวราชเจ้า" นั้นต้องตีความอย่างละเอียด

นักวรรณคดีหลายท่านเชื่อตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จในกรม ว่าน่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นพระยุพราชมาก่อน

หากเชื่อตามนี้ ก็ต้องเพ่งเป้าไปที่ พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ 2 พระองค์ องค์พี่คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 องค์นี้ครองราชย์เพียง 3 ปี ก็สวรรคต แต่ก็ร่วมกรำศึกเมืองเหนือกับพระราชบิดามาอย่างคร่ำหวอด

องค์น้องคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครองราชย์ยาวนานถึง 38 ปี (2034-2078)

บางท่านเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คำว่า "มหาราชเจ้า" อาจหมายถึงผู้แต่ง คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่2นั่นเอง ส่วนคำว่า "เยาวราชเจ้า" มาเขียนเติมภายหลังในฐานะผู้คัดลอก นั่นคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยุพราชมีพระนามว่า พระอาทิตยวงศ์

ทว่า "คมทวน คันธนู"กวีผู้ช่ำชองด้านฉันทลักษณ์โบราณ กลับตั้งคำถามน่าสนใจยิ่งว่า

ฝีมือประพันธ์ระดับ "ลิลิตพระลอ" เช่นนี้ผู้รจนาจะทิ้งผลงานฝากไว้ในบรรณพิภพเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้นเองล่ะหรือ?

คมทวนจึงเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ คำว่า "มหาราช" คำนี้ หากไม่ตีความว่าต้องหมายถึง “พระเจ้าแผ่นดิน” เสมอไป ก็น่าจะเป็นบรรดาศักดิ์ของราชกวีชั้นปรมาจารย์คือ "พระมหาราชครู" บ้างก็เป็นได้?

อาจเป็นกวีในราชสำนักคนใดคนหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึงยุคก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เนื่องจากยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีการอ้างเอาโคลงลิลิตพระลอ "วรรคทอง" นั่นคือบท "เสียงฦๅเสียงเล่าอ้างฯ" ไปใช้ยกตัวอย่างในการแต่งโคลงสี่สุภาพแล้ว ปรากฏในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี

คือจะอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าลิลิตพระลอจะแต่งโดยใครหรือในสมัยใดซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกันอีกต่อไป สิ่งที่ได้ข้อสรุปแน่ชัดเพียงข้อเดียวก็คือวรรณคดีชิ้นนี้ย่อมต้องแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างแน่นอน


เป็นไปได้ไหม “กวีล้านนา” รจนาลิลิตพระลอ?

ในเมื่อเนื้อหาทั้งหมดของ "ลิลิตพระลอ" ใช้ฉากท้องเรื่องเมืองเหนือคือ "เมืองสรวง" กับ "เมืองสรอง" ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตรอยต่อของจังหวัดแพร่และพะเยา จึงมีนักปราชญ์เมืองเหนือหลายท่านตั้งคำถามที่ท้าทายว่า

ผู้ประพันธ์ "ลิลิตพระลอ" อาจไม่ใช่ "มหาราชเจ้า" หรือ "เยาวราชเจ้า" องค์ใดทั้งสิ้นแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่น่าจะรจนาโดยมหากวีแห่งล้านนา ด้วยเหตุผลสนับสนุน 3 ข้อดังนี้

ข้อแรก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและพระราชโอรสทุกพระองค์ ทรงประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ฉะนั้นอยุธยากับล้านนาจึงอยู่ในฐานะ "อภิมหาคู่ปฏิปักษ์นิรันดร์กาล" ต่อกันและกัน มีหลักฐานรองรับคือวรรณคดีชิ้นเยี่ยมอีกชิ้น "ลิลิตยวนพ่าย" อันเป็นคำยืนยันถึงศักดานุภาพว่ากรุศรีอยุธยามีชัยต่อล้านนาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ต่างก็ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ทั้งคู่เสมอกัน เหมือนกรณีเขาพระวิหารนั่นแหละ)

แล้วไย "พระยุพราช" พระองค์นั้น ซึ่งเป็นศัตรูกับล้านนาอย่างเปิดเผย จึงมีจิตปฏิพัทธ์หลงใหลเรื่องราวของเมืองเหนืออย่างหัวปักหัวปำเช่นนี้ (แม้จะตีความว่า เป็นการทำงานศิลปะอย่างหนึ่ง มิใช่เรื่องจริง แต่หยิบเค้าโครงมาจากนิทานปรัมปราก็ตาม)

การดื่มด่ำในสุนทรียรสของวัฒนธรรมศัตรู ย่อมผิดวิสัยของขัตติยมานะโดยแท้!

ข้อสอง สำบัดสำนวนที่ใช้ในการประพันธ์ เต็มไปด้วยเรื่องราวไสยศาสตร์ พิธีกรรม การขับเพลงซอธรรมชาติแบบเมืองเหนือ ไฉนผู้นิพนธ์ซึ่งเป็นถึงมหาราชกวีแห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์นั้น หากมีโอกาสตามเสด็จพระราชบิดาออกรบเพียงชั่วระยะหนึ่งไยจึงมีความเข้าใจในรายละเอียดของภูมิบ้านนามเมืองและวิถีชีวิตของคนล้านนาอย่างถ่องแท้ถึงเพียงนั้น

ข้อสาม การแต่งคำประพันธ์ประเภทโคลงนิราศชิ้นที่เก่าสุดในประเทศไทย ได้รับการลงมติเป็นเอกฉันท์จากปราชญ์ด้านวรรณคดีแล้วว่า อยุธยารับต้นแบบมาจาก "กันโลง-กะโลง-หรือโคลง" ของล้านนาในชิ้นที่ชื่อว่า "โคลงนิราศหริภุญไชย"

นับแต่ที่โคลงนิราศหริภุญไชยได้ถือกำเนิดขึ้นในลำพูน-เชียงใหม่ (แต่งปีพ.ศ.2060 สมัยพระเมืองแก้วตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โอรสของพระบรมไตรโลกนาถ) เป็นต้นมา เส้นทางของโคลงสี่สุภาพอันมีท่วงทำนองที่ระรื่นหูกว่าโคลงดั้นก็สามารถเข้ายึดกุมพื้นที่การเขียนโคลงของสยามในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างเต็มรูปแบบ

ซึ่งการเขียนโคลงดั้นนั้นเป็นรูปแบบเฉพาะของอยุธยาตอนต้น อาทิ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ลิลิตยวนพ่าย ฯลฯ
ทว่าลีลาของ "โคลงนิราศหริภุญไชย" กับลีลาโคลงของ "ลิลิตพระลอ" นั้น กลับใช้โคลงสี่สุภาพที่ลื่นไหลแบบล้านนา มีอรรถรสอ้อยอ่ิง อ่อนหวาน ถ้อยสำเนียง ภาษา เต็มไปด้วยกลิ่นอายของเมืองเหนือ

จนยากที่จะให้เข้าใจได้ว่า "ผู้แต่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยา"

เว้นเสียแต่ว่า สายธารวรรณคดีล้านนาอันทรงคุณค่า ได้ถูกดัดแปลง กลมกลืน (กลบเกลื่อน?) โดยนักปราชญ์ราชบัณฑิตจากส่วนกลาง ให้กลายเป็นวรรณกรรมแห่งสยามเสียจนหมดสิ้น (ตามฟอร์ม)


อย่ามองข้าม “ยุทธิษเฐียร” สะพานเชื่อมอยุธยาสู่ล้านนา

เนื่องด้วยวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอใช้เค้าโครงเรื่องบริเวณลุ่มแม่น้ำกาหลง (ปัจจุบันคือแม่น้ำยมระหว่างพะเยากับแพร่)อันเป็นภูมิภาคแห่งล้านนาตะวันออก ทำให้ผู้เขียนประหวัดนึกถึงบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ที่เป็นชาวอยุธยามาก่อน และสุดท้ายก็เปลี่ยนสัญชาติกลายมาเป็นเจ้าเมืองพะเยา หัวเมืองสำคัญของล้านนา

หากชาวสยามยังยืนยันว่า ผู้รจนาลิลิตพระลอเป็นชาวอยุธยาจริง บุคคลเดียวที่พอจะมองเห็นช่องทางแห่งความเป็นไปได้ ก็น่าจะเป็น "ยุทธิษฐิระ" หรือ "ยุทธิษเฐียร" เท่านั้น

ยุทธิษเฐียรคือใคร เขาเป็นบุตรของพระญารามแห่งเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) เชื้อสายราชวงศ์พระร่วง มีศักดิ์เป็นพระญาติกับพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีพระราชมารดามาจากสาวราชวงศ์พระร่วงเหมือนกัน

จึงนับถือกันเหมือนพี่น้องร่วมสาบาน สัญญาลูกผู้ชายที่พระบรมไตรโลกราชลั่นไว้แก่ยุทธิษเฐียรก็คือ “ถ้าพี่ได้เป็นกษัตริย์อยุธยา จะตั้งให้เจ้าเป็นอุปราช กินเมืองครึ่งหนึ่งที่พี่ครอง”

แต่ครั้นเมื่อพระบรมไตรโลกนาถเสด็จครองราชย์ กลับตั้งให้ยุทธิษเฐียรเป็นเพียงพระญาสองแควครองเมืองพิษณุโลกเท่านั้น

ชนวนความไม่พอใจปะทุขึ้นในปี 1994ยุทธิษเฐียรลอบส่งสาส์นไปให้พระญาติโลกราชแห่งล้านนายกทัพมาตีเมืองปากยม สุโขทัย ชากังราว ร่วมทำสงครามกับอยุธยาโดยอยู่ฝ่ายล้านนา

พระญาติโลกราชจึงปูนบำเหน็จความดีความชอบให้ยุทธิษเฐียรครองเมืองภูคา (แถวสันกำแพง เชียงใหม่) จากนั้นย้ายไปพะเยา ซึ่งเป็นหัวเมืองที่ดูแลเมืองงาว แพร่ และกาวน่าน อันเป็นเขตติดต่อกับแคว้นสุโขทัยทางแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน

หากพิจารณาบริบทนี้ จะเห็นว่า คนจากสยามที่ได้เข้ามาสัมผัสจิตวิญญาณของคนล้านนาตะวันออก(พะเยา แพร่ น่าน) อันเป็นต้นกำเนิดของฉากเรื่องลิลิตพระลออย่างด่ำซึ้งนั้น คนที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ ยุทธิษเฐียร

ผู้เขียนมิได้สรุปว่า ยุทธิษเฐียร จะต้องเป็นผู้นิพนธ์ลิลิตพระลอด้วยตัวเองอาจเป็นเจ้านายชั้นสูงที่มีทักษะชั้นเชิงทางวรรณกรรมของฝ่ายอยุธยาดั้งเดิมมาแล้วเป็นอย่างดี และเมื่อมีโอกาสติดตามยุทธิษเฐียรมาตั้งรกรากที่เมืองพะเยา ก็ยิ่งได้รับอิทธิพลคำประพันธ์ประเภท "กะโลง" หรือ "โคลงสี่สุภาพ" ของล้านนา บวกกับแรงบันดาลใจของตำนานนิทานพื้นถิ่นเมืองเหนือ

เป็นไปได้ว่ามหากวีผู้นั้น ยังอาจมีการติดต่อกับราชสำนักอยุธยาอยู่ จึงทำให้ลิลิตพระลอได้รับความนิยมอย่างสูงสุด จนถึงขนาดที่ว่า สามารถเบียดแทรกลิลิตเรื่องอื่นๆ ที่แต่งในอยุธยาจริงๆ (พวกโคลงดั้นทั้งหลาย) กลายมาเป็นต้นแบบฉันลักษณ์ชั้นครู ในแบบเรียนจินดามณีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้สำเร็จ


นานาทัศนะต่อลิลิตพระลอ

ศรีอินทรายุทธหรือ นายผี รวมทั้ง จิตร ภูมิศักดิ์ สองหัวหอกสำคัญของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต กลับดูแคลนว่า "ลิลิตพระลอ คือวรรณคดีศักดินา แต่งขึ้นเพื่อรับใช้ผู้ปกครอง โดยมีเนื้อหาอนาจารเป็นหลัก หาได้มีคุณค่าอะไรมากไปกว่าวรรณศิลป์เชิงวิจิตรกามา"

ในขณะที่ กลุ่มผู้สนใจด้าน "เพศศึกษา" "สตรีศึกษา" ก็ยังคงเปิดเวทีถกกันถึงประเด็นที่ว่า "พระเพื่อน-พระแพง นางเอกพี่น้องคู่นี้" เมื่อเทียบกับสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น เธอทั้งสองช่างกล้าก๋ากั่น นอกรีตดีแท้ ชิงสุกก่อนห่าม ให้ท่าผู้ชาย เป็นฝ่ายเปิดรุกเรื่องเพศเอง

รวมไปถึงประเด็นการมีเพศสัมพันธ์แบบ "เซ็กส์หมู่" ของพระลอที่ร่วมรักพร้อมกันทีเดียวกับผู้หญิงสองคน

ทั้งยังมีผู้พยายามถอดรหัสเนื้อหาในมิติต่างๆ เช่น มุมมองเรื่องปรัชญาพระพุทธศาสนา อันเกี่ยวเนื่องด้วย "แรงกรรม" ดังเช่น "ชลธิรา สัตยาวัฒนา" ได้ตั้งคำถามว่า การระบุคำว่า "แรงกรรม" ในเรื่องลิลิตพระลอนั้นมีอยู่หลายแห่งเหลือเกิน ใคร่สงสัยว่า "แรงกรรม" ที่ว่านั้นเป็นกรรมของใคร ชาตินี้หรือชาติไหน?

แง่งามทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ "พระลอ พระเพื่อน พระแพง"ไม่ว่าจะเคยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วจากฝ่ายอนุรักษ์หรือฝ่ายหัวก้าวหน้า มีหลายประเด็นที่ผู้เขียนสนใจจะนำมาวิเคราะห์ต่อในสัปดาห์หน้า อย่างน้อยก็คือประเด็น "แรงกรรม" “ปมทางเพศ" และ "วิจิตรกามา"

โดยจะเชื่อมโยงไปสู่อีกประเด็นหนึ่งที่ยังไม่มีผู้ใดกล่าวถึง นั่นคือ "พระเพื่อนพระแพง" สามารถใช้เป็นหนึ่งในเงาสะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็น "สาวเหนือ" ได้ด้วยหรือไม่


จากคอลัมน์“ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 158”ในมติชนสุดสัปดาห์ปี 2556
 


พระเพื่อนพระแพง
แรงกรรม ปมทางเพศ หรือวิจิตรกามา? (2)

โรมิโอและจูเลียตแห่งอุษาคเนย์

บทอัศจรรย์และอรรถรสในเชิง "แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา" ที่โลดแล่นอยู่ใน “ลิลิตพระลอ” วรรณคดีประโลมโลกย์นั้น สามารถเทียบชั้นได้กับอารมณ์ "วิจิตรกามา" ในวรรณกรรมบันลือโลกของ "วิลเลียม เชกสเปียร์" เรื่อง"โรมิโอและจูเลียต"

ซ้ำธีมเรื่องยังละม้ายกันอย่างน่าพิศวงคือกวีกำหนดให้ตัวละครเอกทั้งสองฝ่ายเกิดจิตปฏิพัทธ์พิศวาสซึ่งกันและกันเพียงแรกเห็น หรือแรกได้ยินกิตติศัพท์ จากนั้นก็สมหวังเพียงแค่ได้เสพสม หากมิอาจใช้ชีวิตครองคู่ ต้องพบจุดจบคือความตายแบบโศกนาฏกรรมตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว อันเนื่องมาจากความขัดแย้งชิงชังกันระหว่างสองตระกูล

เชกสเปียร์ประพันธ์โรมิโอและจูเลียตในปี ค.ศ.1595 (พ.ศ.2138) เมื่อเทียบแล้วตรงกับสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยาครองราชย์พอดี (พ.ศ.2133-2148)

ในขณะที่ลิลิตพระลอแต่งก่อนหน้านั้นราว 80 ปีถึงหนึ่งศตวรรษ คือราว พ.ศ.2030-2060 หรือหากนับย้อนจากปัจจุบัน ก็อาจกล่าวได้ว่าลิลิตพระลอรจนามาแล้วประมาณ500ปีส่วนโรมิโอและจูเลียตทายท้ากาลเวลามาได้420ปี
ไม่ว่าไทยหรือเทศ ธีมเรื่องเช่นนี้มักสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้ผู้อ่านหวั่นไหวเจ็บปวด ได้มากกว่าเรื่องที่จบแบบ Happy Ending หรือ "ศรีสุขนาฏกรรม"

แม้ว่ารายละเอียดเนื้อหาที่เน้นหนักไปในทางคาวโลกีย์ของลิลิตพระลอจักถูกประณามหยามเหยียด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากกูรูฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายสังคมนิยมหัวก้าวหน้าว่า

"ไม่มีอะไรจรรโลงจิตใจมากไปกว่า เป็นนิทานหาผัวหาเมีย" แต่ปรมาจารย์ด้านวรรณกรรมทั้งสองฝ่ายกลับมีความเห็นเป็นเสียงเดียวว่า

“กระนั้นก็ตาม ภาษาที่ใช้ในวรรณคดีชิ้นนี้มีความเป็นเลิศไร้ที่ติ ถึงแม้จะหนักไปในทางบทอัศจรรย์"

ถือว่าเป็นคำวิจารณ์ที่ช่วยปูทาง นำไปสู่การวิเคราะห์บทอัศจรรย์ในเรื่องลิลิตพระลอให้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น


ลิลิตพระลอ : ฉากสังวาสเรื่องแรกในวรรณคดีไทย?

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีไทยเรื่องแรกที่มีการพรรณนาถึงฉากสังวาสเนื่องจากมองย้อนกลับไปยังสมัยอยุธยาตอนต้นหรือเก่าไปกว่านั้นคือสมัยสุโขทัย ยังไม่เคยปรากฏเนื้อหาในทำนองนี้มาก่อน

ถ้าเช่นนั้นก็สรุปได้ว่า ฉากสังวาสของลิลิตพระลอถือเป็น "ต้นแบบ" ของคำประพันธ์ที่เรียกตามขนบนิยมกันว่า "บทอัศจรรย์" ของวรรณคดีไทยทั้งหมดในยุคต่อมาได้หรือไม่?

โคลงบทหนึ่งในฉากสังวาสเรื่องลิลิตพระลอ ยังทำให้พบหลักฐานที่มาของคำว่า "บทอัศจรรย์" อีกด้วย

...สะเทือนฟ้าฟื้นลั่น สรวงสวรรค์
พื้นแผ่นดินแดยัน หย่อนไส้
สาครคลื่นอึงอรร- ณพเฟื่อง ฟองนา
แลทั่วทิศไม้ไหล้ โยกเยื้องอัศจรรย์

โคลงสี่สุภาพที่ยกมานี้ กล่าวถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เริ่มจากเสียงฟ้าร้องสะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงสวรรค์ พื้นแผ่นดินปั่นป่วนเหมือนจะพังพินาศ ในขณะที่ท้องทะเลก็อึงอลไปด้วยคลื่นลมรุนแรง ต้นไม้ใบหญ้าทั่วทุกทิศก็โยกสั่นไหวอย่างน่าอัศจรรย์

กวีสมัยอยุธยาตอนต้น (ตรงกับล้านนายุคทอง)มิอาจพรรณนาฉากการเสพสังวาสอันเป็นพฤติกรรมอันเร่าร้อนรุนแรงของมนุษย์ได้อย่างเปิดเผยจำต้องดึงเอาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมาเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายทางเพศแทน

ผิดกับพัฒนาการของบทสังวาสในสมัยต่อมา เช่นรัตนโกสินทร์ตอนต้น กวีเริ่มกล้าใช้สัญลักษณ์อื่นๆ แทนฉากฝนฟ้าคำราม ดังเช่นเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนในบทสังวาสระหว่างพลายแก้วกับนางพิมพิลาไลย

....กำเริบราคเสียงกระสันประหวั่นจิต
หวุดหวิดวุ่นวายกายกระฉ่อน
พระพายพัดซัดคลื่นในสาคร
กระท้อนกระทบกระทั่งฝั่งกระเทือน

“เรือไหหลำ"แล่นล่องเข้าคลองน้อย
ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเลื่อน
ไต้ก๋งหลงบ่ายศีรษะเชือน
เปื้อนเข้าติดตื้นแตกกับตอ

การปรากฏสัญลักษณ์ของ "เรือไหหลำ" ก็ดี "ไต้ก๋ง" ก็ดี ในบทอัศจรรย์ที่กวีรจนาขึ้นราวก่อน พ.ศ.2400เช่นนี้ สะท้อนถึงความพยายามของกวียุครัตนโกสินทร์ตอนต้นที่เริ่มจะขยับ "บทสังวาส"ให้หนีออกจากฉากธรรมชาติหรือบทอัศจรรย์อันคลาสสิคโดยมีลิลิตพระลอเป็นต้นแบบ ไปสู่สัญลักษณ์ประเภทอื่นบ้าง

นอกเหนือไปจากการใช้ปรากฏการณ์ธรรมชาติพรรณนาบทอัศจรรย์แล้ว ลิลิตพระลอยังเป็นต้นแบบวิธีคิดของการใช้พฤกษาหรือสัตว์มาเป็น "สัญญะ" แห่งสรีระของสตรีเพศอีกด้วย

ทินกรกรก่ายเกี้ยว เมียงบัว
บัวบ่บานหุบกลัว ภู่ย้ำ
ภุมรีภมรมัว เมาซราบบัวนา
วอนนอกในกลีบกล้ำ กลิ่นกลั้วเกสร

ไม่น่าแปลกใจ หากบทอัศจรรย์ในลิลิตพระลอจักได้รับคำยกย่องว่ามีความงดงามระดับ "วิจิตรกามา" จนยากที่จะหาวรรณคดีชิ้นอื่นทัดเทียมได้


ปรารถนาเร้นลับแห่งเพศรส

นิทานพื้นบ้านแถบอุษาคเนย์เกือบทั้งหมดนั้น มักผูกตัวละครชายให้เป็นฮีโร่ จะยากดีมีจนก็ขอให้เก่งกาจสารพัด ต่อสู้เพื่อคุณธรรม และหากต้องให้เลือกระหว่างความรักส่วนตัวกับอุดมการณ์ของชาติบ้านเมืองหรืออุดมการณ์ทางพุทธศาสนา พระเอกเหล่านั้นก็มักตัดใจเลือกประการหลัง ดังเช่นเรื่องราวระหว่างพระรถกับเมรีหรือพระเวสสันดรกับนางมัทรี

ส่วนตัวละครฝ่ายหญิงนั้น มักหนีไม่พ้น "ผู้ถูกกระทำ" ถูกแย่งชิงตัวไปๆ มาๆ ระหว่างฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว ไม่ว่านางสีดา นางวันทอง แม้กระทั่งนางประแดะ ในระเด่นลันได

นางเอกในวรรณคดีไทยแทบไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตัวเอง หากไม่ถูกพ่อแม่สองฝ่ายหมายหมั้นกันไว้ตั้งแต่เด็ก อย่างเก่งก็ต้องรอโชคชะตาเสี่ยงดวงเลือกคู่กับชายแปลกหน้า เช่นนางรจนา นางบุษบา

ส่วนผู้หญิงในนิราศ ยิ่งสะท้อนชัดถึงบทบาทของการเป็น "วัตถุทางเพศ" ที่ถูกชายกระทำเพียงฝ่ายเดียวชัดขึ้นไปอีก คือมีหน้าที่เพียงแค่ถูกเล้าโลม นำไปเปรียบเปรยกับ นก ไม้ ปลา ให้กวีร่ำระบายอารมณ์รักเพียงข้างเดียวแบบมิรู้จบ โดยที่ผู้อ่านไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนักว่า หญิงสาวในนิราศนั้นมีตัวมีตนจริงแท้แค่ไหน และเจ้าหล่อนงดงามอ่อนหวานสูงส่งปานดอกฟ้าเท็จจริงอย่างไร

ในขณะที่พระเพื่อน-พระแพง สองศรีพี่น้อง ตามท้องเรื่องระบุว่าเป็นราชธิดาท้าวพิษณุกร กับเจ้าแม่ดาราวดีแห่งเมืองสรอง (ปัจจุบันยังมีเมืองสรองหรือแปลงมาเป็นอำเภอสองจังหวัดแพร่) นั้น กลับถูกพลิกบทบาทใหม่ ด้วยการฉีกขนบหรือภาพลักษณ์เดิมๆ ทิ้ง

นั่นคือเป็นนางเอกที่วันๆ เอาแต่ลุ่มหลงมัวเมาในกามราคะชนิดไม่ลืมหูลืมตา กล้าทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สมอารมณ์ใคร่ ไม่ว่าใครจะเดือดร้อนบรรลัยก็ช่าง กล้าแม้กระทั่งแย่งสามีคนอื่นมาเป็นของตน

เป็นวรรณคดีที่กล้าตีแผ่ "ปมทางเพศ" อันเร่าร้อนของหญิงสาวหรือมนุษย์ตัวเป็นๆ ที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา รัก โลภ โกรธ หลง มิอาจหักห้ามหัวใจตัวเองได้แม้แต่น้อยนิด เมื่อถูกกามราคะครอบงำ เฝ้าตอบสนองความต้องการทางเพศนั้นด้วยการเอาชนะแบบ "สุดซอย"

เป็นนางเอกที่แย่งซีนบทนางร้ายมาแสดงหน้าตาเฉย สมกับฉายา แม้ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล แม้ไม่ได้ด้วยกลก็ต้องเอาด้วยมนต์คาถา ระดับ "ตัวแม่"

เพียงแค่ได้ยินคำสรรเสริญจากคนขับซอพรรณนาว่า กษัตริย์แห่งเมืองสรวง นามพระลอราช โอรสของท้าวแมนสรวงผู้ล่วงลับ นั้นมีรูปโฉมงามราวกับองค์อินทร์จำแลง สองพี่น้องวัยกำดัดก็เกิดกามกำเริบ ละเมอเพ้อพกถึงชายที่ยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตา จนถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ปัญหาคือชายผู้นั้น เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของฝ่ายอริ ที่เคยประหารปู่ของพวกหล่อนอีกด้วย ใครๆ ก็รู้ว่าเมืองสรวง (ฝ่ายพระลอ) กับเมืองสรอง (ฝ่ายพระเพื่อนพระแพง) นั้นเป็นศัตรูกัน

เมื่อเทียบกับตัวละครอย่างนางละเวง ที่แม้จะหลงรักพระอภัยมณีไม่น้อย แต่ด้วยสำนึกแห่งวงศ์ตระกูลว่าเราอยู่คนละฝ่ายกัน นางละเวงยังหักห้ามใจตน เลือกที่จะเดินหน้าท้ารบท่ามกลางความสับสนว้าวุ่นใจ มากกว่าจะยอมสยบรักโดยง่าย

รักหมดจิตหมดใจที่พี่น้องสองศรีมีต่อพระลอ ทำให้พระเพื่อนพระแพงต้องฝ่าข้ามกำแพงตระหง่านเงื้อมถึง 4 ด่านคือ

ต้องแสร้งลืมว่าเมืองสรองเป็นศัตรูกับเมืองสรวง เพราะหากเอาประเด็นนี้มาตอกย้ำ ก็จะทำให้กลายเป็น "รักระหว่างรบ"

ต้องทลายกำแพงแห่งจารีตที่คอยควบคุมพฤติกรรมมิให้ฝ่ายหญิงแสดงความรักความปรารถนาทางเพศต่อฝ่ายชายก่อน แต่ ณ บัดนี้ หญิงจะเป็นฝ่ายเริ่ม!

ต้องต่อสู้กับเลือดขัตติยาของตัวเอง ในฐานะธิดากษัตริย์ ระหว่างการรอวันเวลาที่ล่วงไป กระทั่งพระบิดาจับคลุมถุงชนเข้าวิวาห์ กับเจ้าชายแคว้นใดแคว้นหนึ่งที่ตนมิได้ปรารถนา หรือจะกล้าหักด่านความขลาดกลัวเสียตั้งแต่วันนี้

ต้องยอมทุศีล หาใช่เพียงข้อกาเมข้อเดียวเท่านั้นไม่ ในเมื่อพระลอมีชายาแล้วคือนางลักษณาวดี แต่ไหนจะข้อมุสาวาท ต้องงัดเหลี่ยมกลเล่ห์เพทุบายพูดปดมดเท็จหลอกลวง "เจ้าย่า" หลายครั้งหลายครา เพื่อให้แผนการของตนที่จะได้พระลอมาเสพสม สำเร็จอย่างเนียนสนิท พูดง่ายๆ ก็คือ ศีลทั้งห้าข้อนั้นขาดกระจุยไปถึงไหนๆ แล้ว

นี่คือพระเพื่อนพระแพง ผู้อยู่ขั้วตรงข้ามกับแบบฉบับของนางเอ๊กนางเอกแนวจารีต ที่ต้องรักนวลสงวนตัว ไม่คิดชิงสุกก่อนห่าม โดยสิ้นเชิง

ซ้ำยังมีตัวละครประกอบหญิงอีกสอง "นางรื่น-นางโรย" พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง ผู้ยอมทลายปราการแห่งความเป็นสาวสนมในวัง ด้วยการอาสาบุกป่าฝ่าดงไม่กลัวตาย เพื่อไปเสาะหาแม่มดหมอผีกลางป่าเขา กระทั่งไปได้ปู่เจ้าสมิงพราย ยินดีที่จะเสกมนต์ดำ เสน่ห์ยาแฝด คุณไสย ภูตผีพราย ทุกกลเม็ดที่ว่าเด็ดนัก เพื่อให้พระลอลุ่มหลงเกิดแรงกำหนัดในตัวเจ้าหญิงน้อยทั้งสอง

นานๆ ทีจะมีวรรณคดีที่นำเสนอบทอัศจรรย์ของตัวละครรองๆ หรือเหล่าประดาคนรับใช้บ้าง เหมือนเช่นลิลิตพระลอ ซึ่งกล้าเปิดพื้นที่ให้มีบทสังวาสกันอย่างโจ๋งครึ่มแทรกแฝง ในน้ำหนักที่ทัดเทียมกันกับตัวละครเอกเลยทีเดียว

ที่น่าแปลกก็คือ “นางรื่น-นางโรย" พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง กล้ากระโจนลงสู่เพลิงกาม เสพสังวาสกับ "นายแก้ว-นายขวัญ" พี่เลี้ยงของพระลอซึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าเร่ โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังมิได้ไถ่ถามนามกรของกันและกันแม้แต่น้อย เพียงแค่แรกเห็นหน้า เคมีในร่างกายก็ทำปฏิกิริยาต่อกันและกันอย่างรุนแรงเสียแล้ว

นี่คือความกล้าหาญของ "ลิลิตพระลอ" ในการนำเสนอ "ปมทางเพศ" ของมนุษย์ โดยไม่เลือกว่าเพศหญิงหรือชายควรเริ่มก่อน และไม่สนใจว่าชู้รักผู้นั้นเป็นใคร มาจากไหน อยู่ในชนชั้นวรรณะใด


จากคอลัมน์ “ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 159” ในมติชนสุดสัปดาห์ปี 2556


พระเพื่อนพระแพง
แรงกรรม ปมทางเพศ หรือวิจิตรกามา? (จบ)
เมืองสรองเป็นของใคร ไยจึงเรียกเวียงพระลอ?

ปัจจุบันยังคงเหลือภูมิสถานนามเมืองที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลออยู่ในสองจังหวัดภาคเหนือตอนบน คือที่แพร่และพะเยา

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือทั้งสองแห่ง ต่างก็ปรากฏชื่อของ "เวียงลอ" หรือ "เวียงพระลอ" ด้วยกันทั้งคู่

จังหวัดแพร่พบที่บริเวณบ้านพระลอ ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง

ส่วนจังหวัดพะเยาอยู่ที่บ้านเวียงลอ ตำบลลอ และตำบลหงส์หิน อำเภอจุน

แห่งหลังนี้มีซากโบราณสถานและหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ไปถึงสมัยล้านนากระจัดกระจายอยู่มาก

ในขณะที่เวียงพระลอแห่งจังหวัดแพร่นั้น ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาใหม่ ด้วยความพยามยามผลักดันของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.เมืองแพร่ ในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่งคือปลายปี 2551เพื่อตอบสนองเป้าหมายด้านการท่องเที่ยว โดยมิฟังเสียงทักท้วงจากปวงปราชญ์

นักวิชาการท้องถิ่นด้านวรรณคดีศึกษาได้ช่วยกันชี้แจงแล้วว่า แม้นชื่อของอำเภอสอง จะเป็นนามที่สืบทอดมาจากเมืองสรองของลิลิตพระลอจริง แต่เมืองสรองก็เป็นเมืองของฝ่ายหญิงคือพระเพื่อนพระแพง หาใช่เมืองของพระลอไม่

คนพื้นถิ่นเขารู้ๆ กันอยู่ว่าเมืองแมนสรวง หรือเมืองสรวงของพระลอนั้น ตั้งอยู่ที่อำเภอจุน จังหวัดพะเยา มีการเรียกขาน "เวียงลอ" และตำบลบ้านลอ สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

การที่จู่ๆ อำนาจรัฐจากส่วนกลาง ประกาศเปรี้ยงว่าจะเชิดชูและพัฒนาพื้นที่ตำบลบ้านกลางให้เป็น "เวียงพระลอ" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นนี้ มิเป็นการไปแย่งซีนดึงเอาคำว่า "เวียงลอ" ของอำเภอจุนเขามาใช้แบบผิดฝาผิดตัวดอกล่ะหรือ

อยากให้ชาวอำเภอสองเปิดใจกว้าง พร้อมใจกันปรับเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น "เวียงพระเพื่อนพระแพง" แทนด้วยความภาคภูมิใจ เพราะนั่นคือความถูกต้องตามตำนาน

กรุณาเปิดพื้นที่ให้ “สตรี” ได้มีที่อยู่ที่ยืนอย่างชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์บ้างเถิดนะคะ ท่านบุรุษเพศทั้งหลาย


ชะตากรรม ชะตากาม?

ใครที่อ่านลิลิตพระลอแบบผิวเผิน ครึ่งๆ กลางๆ ย่อมฉงนใจว่าชะรอยตัวละครเอกทุกตัวในเรื่องนี้คงจะนับถือศาสนาผีหรือไสยศาสตร์เป็นแน่แท้

เพราะตลอดทั้งเรื่องมีแต่การดึงเอาอำนาจเหนือธรรมชาติมาใช้ต่อสู้กดข่มให้อีกฝ่ายอยู่ใต้อาณัติของตน

โดยเฉพาะบทบาทของจอมขมังเวทย์ ตัวละครที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนคือ "ปู่เจ้าสมิงพราย" ผู้มีฤทธานุภาพระดับไม่ธรรมดา สามารถเสกเป่าดลบันดาลให้ สิงสาราสัตว์ ผีสางนางไม้ เทพไท้เทวา ยอมรับใช้คำสั่งของตนอย่างไร้แรงทัดทาน

หรือแม้แต่ผู้ถูกกระทำคุณไสยใส่อย่างพระลอฝ่ายพระราชมารดาก็ยังต้องแก้ด้วยการใช้หมอสิทธาจารย์ผู้ช่ำชองในไสยศาสตร์ตอบโต้อีกเช่นกัน มิได้เข้าหาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ไม่

ผู้สนใจแนวไสยนิยมสามารถศึกษาดีกรีความแรงของสัญลักษณ์ที่ปู่เจ้าสมิงพรายใช้กระทำต่อพระลอถึงสามครั้งสามครา ดังนี้

ครั้งแรก เสกหุ่นพยนต์ปั้นรูปชายหญิงทั้งสาม ให้พระลออยู่กลาง กระหนาบด้วยพระเพื่อนพระแพงซ้ายขวามัดเข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดอาการราคร้าว กามกรรหาย

ครั้งที่สอง เขียนยันต์ลงบน "ธงสามชาย" หรือ "ตุงสามหาง" สีแดง ซึ่งชาวล้านนาในปัจจุบันยังคงนำตุงลักษณะเช่นนี้มาใช้ในงานพิธีอวมงคล คือใช้แห่ศพไปป่าช้า โดยปู่เจ้าปักตุงสามหางไว้บนยอดไม้ตะเคียน เมื่อยามสายลมพัดผ่าน จะหอบเอามนต์สวาทไปถึงพระลอ

แต่ทว่าทั้งสองครั้งนี้ พระนางบุญเหลือ พระราชมารดาของพระลอเรียกหมอสิทธิไชยมาช่วยปราบอาคมได้

ครั้งสุดท้าย ปู่เจ้าสมิงพรายจำต้องเพรียกภูตพรายมาพร้อมพรั่งทั้งป่าช้า ปลุกให้ไปรบปราบผีที่สิงสถิตฝ่ายเมืองพระลอให้เหี้ยน อย่าให้หลงเหลือแม้แต่ตนเดียว จากนั้นใช้ "สลาเหิร" คือเสกหมากพลูเป็นแมลงภู่บินไปตกในพานหมากของพระลอ เมื่อเสวยเข้าไปจักเกิดอาการกำหนัดอ่อนระทวย

กล่าวให้ง่ายก็คือ เนื้อหาตลอดทั้งเรื่อง แทบไม่มีตอนใดกล่าวถึงคำสอนของพระพุทธองค์ดังเช่นวรรณคดีร่วมสมัยเรื่องอื่นๆ เลย

ยกเว้นแต่หากใครอ่านไปจนถึงตอนจบ ก็จะพบว่ามีเรื่องราวของศาสนาพุทธอุบัติขึ้นมาเพียงฉากเดียว นั่นคือพิธีกรรมงานศพ มีการให้แบ่งอัฐิธาตุของพระลอกลับคืนไปยังบ้านเกิดเมืองนอน

จึงทำให้รู้ว่า อ้อ! ตัวละครเหล่านี้นับถือศาสนาพุทธกันดอกนะ หาใช่พราหมณ์ไม่

สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้อ่านอยู่เนืองๆ ก็คือ ไฉนกวีจึงใช้คำอธิบายการการกระทำตามสัญชาตญาณฝ่ายต่ำของตัวละครเอก ว่าเกิดจาก "แรงกรรม" อันเป็นศัพท์ทางพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่เนื้อหาในภาพรวมนั้นไม่มีตัวละครใดให้ความเคารพต่อหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแม้แต่ตัวละครเดียว

แต่คำว่า "กรรม" กลับถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อดังเช่นตอนที่ปู่เจ้าสมิงพรายตกปากรับคำพี่เลี้ยงนางรื่นนางโรยที่มาขอความช่วยเหลือ ปู่เจ้าบอกกับสองพี่เลี้ยงชัดเจนว่า การช่วยครั้งนี้มิได้เห็นแก่อามิสสินจ้างใดๆ เพราะตัวแกเป็นดาบสบำเพ็ญพรตต้องการบรรลุฌาณ

ทว่าเหตุที่ยินยอมทำ แม้จะรู้ว่าบุญญาธิการของพระลอนั้นสูงส่งยิ่งนัก อาจจะยากสำหรับการใช้มนต์กฤติยาอยู่บ้าง แต่ก็ด้วย "อำนาจแห่งแรงกรรมของคนทั้งสามที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้"

หรือตอนที่พระลอตัดสินใจอำลาเมืองสรวงเพื่อมุ่งหน้าตามหาสองนางมายังเมืองสรอง รู้ทั้งรู้ว่ากษัตริย์องค์ก่อนของเมืองนี้เคยถูกพระราชบิดาของตนประหารการเดินทางไปหาพระเพื่อนพระแพงก็เท่ากับเป็นการมุ่งหน้าไปสู่ตะแลงแกงแห่งความตาย แม้กระนั้นก็ยังยืนกรานที่จะไป ด้วยรู้ว่ามี "แรงกรรม"

ในลิลิตพระลอพบคำว่า "ถึงกรรม" "รอยกรรม" "เพรงกรรม" "เสวยกรรม" “วิบากกรรม" ไว้มากมายหลายแห่ง

คำว่า "กรรม" เหล่านี้ กวีตั้งใจจะให้หมายถึง "กรรมเก่าในอดีตชาติ" ที่เรียกว่า "พรหมลิขิต" หรือเช่นไร

หรือถ้ามิใช่ "กรรม" ในที่นี้หมายถึง "ชะตากรรม" ที่ตัวละครต่างก็ "กำหนด" เส้นทางเดินของตัวเอง หาใช่เป็นกรรมจาก "กำเนิด" ได้หรือไม่

เพราะหากเป็น "บุพกรรม" หรือกรรมเก่าจริง ทำไมนักพรตชั้นเซียนผู้ควรจะมีคุณธรรมสูงระดับหนึ่งอย่างปู่เจ้าสมิงพราย จึงไม่ช่วยสกัดแรงปรารถนาของสองสาวไว้ด้วยเวทมนต์ ถึงแม้มิอาจ "ตัดกรรม" ให้หมดสิ้น แต่ก็ช่วยชะลอกรรมมิให้เจ้าหล่อนทั้งสองคลั่งไคล้ในตัวพระลอมากเกินไป แต่นี่กลับยิ่งส่งเสริมโหมแรงกรรมให้กระพือหนักยิ่งขึ้น

ฝ่ายพระลอเอง ขณะที่เดินทางมาถึงสุดเขตพรมแดนระหว่างเมืองสรวงกับเมืองสรอง ซึ่งมีแม่น้ำกาหลงกั้น ก็ยังเกิดความลังเลใจ หวั่นหน้าภวังค์หลัง ว่าควรหวนคืนกลับไปครองรักกับชายานางลักษณาวดี เป็นพระราชสวามีที่ดี เป็นพระราชาที่ดีแห่งเมืองสรวง หรือควรจะมุ่งหน้าไปผจญกรรม เพียงเพื่อสมรักสมสวาทกับพระเพื่อนพระแพงดี?

อุตส่าห์ตั้งสัจจาธิษฐานเสี่ยงทายระหว่างการเดินหน้าหรือถอยหลัง ณ ริมฝั่งแม่น้ำกาหลงก็แล้ว ผลลัพธ์คือสายธารแปรเปลี่ยนเป็นสีเลือดข้น อันหมายถึงความตายรออยู่เบื้องหน้าแต่แรงปรารถนาอันร้อนเร่าของพระลอก็บัญชาให้ละเลยสัญลักษณ์ของแม่น้ำที่เต็มไปด้วยโลหิตนั้นเสีย

พระเพื่อนพระแพงนั้นเล่า กระทำกรรมเช่นไรมา ตอนที่พระลอตกอยู่ในวงล้อมของทหารเมืองสรอง พระเพื่อนพระแพงสามารถหนีเอาตัวรอดได้ แต่กลับปลดสไบทิ้งปลอมตัวเป็นชาย มายืนหยัดต่อสู้เคียงข้างพระลอจนตัวตาย

ดังนั้นคำว่า "กรรม" ที่ผลักดันให้เกิดโศกนาฏกรรมหรือความตายของตัวละครเอกในฉากจบนั้น จึงมิน่าจะหมายถึงเพียงแค่นิยามของบุพกรรม หรือกรรมเก่าแห่งอดีตชาติเท่านั้น

หากแต่ควรมองมิติทางปรัชญา นั่นคือ "เจตจำนงเสรี" ของพระลอ พระเพื่อน พระแพง ในการยืนยันที่จะเลือก "ความรัก" (ความใคร่) เหนือกว่าภาระ พันธะ และหน้าที่ที่ตัวควรรับผิดชอบ

เป็นเจตจำนงเสรีของมนุษย์ ที่มิอาจปฏิเสธความรู้สึกอันจริงแท้ของหัวใจ

แม้จะถูกเย้ยหยันจากใครๆ ว่า "ชะตากรรม" ของพวกเขา แท้ก็เกิดจาก "ชะตากาม" หรือสัญชาตญาณดิบทางเพศก็ตาม

บทบาทของ "พระนางบุญเหลือ" กับ "เจ้าย่า"

ภาพลักษณ์ของแม่ญิงล้านนาที่ปรากฏอยู่ในลิลิตพระลอ นอกเหนือจากตัวละครวัยรุ่นวุ่นรักพระเพื่อนพระแพงแล้ว ยังมีอีกสองตัวละครรุ่นใหญ่ที่น่าจับตามองยิ่งนัก

นั่นคือ พระนางบุญเหลือ (นาฏบุญเหลือ) พระราชมารดาของพระลอ ผู้เป็นพระมเหสีของท้าวแมนสรวงผู้ล่วงลับ

กับ "เจ้าย่า" ซึ่งไม่ปรากฏนามเฉพาะ ผู้เป็นพระราชมารดาของท้าวพิษณุกร ผู้ครองเมืองสรอง จึงมีฐานะเป็นย่าแท้ๆ ของพระเพื่อนพระแพง

ปกติคำเรียกของเจ้านายฝ่ายหญิงที่อยู่ในฐานะแม่ของพระราชานั้น จะใช้คำว่า "พระมหาเทวี" และเป็นที่ทราบกันว่า "พระมหาเทวี" นั่นเองคือ "กษัตริย์" ตัวจริง ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเบื้องหลังบัลลังก์ เพราะเคยผ่านร้อนผ่านหนาวในช่วงที่กษัตริย์องค์ก่อน (หรือพระราชสวามีของพระนางเอง) ปกครองบ้านเมืองมาแล้ว

ในเรื่องนี้มหาเทวีสองนางมีบุคลิกหรือคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ชีวิต

พระนางบุญเหลือ สูญเสียพระราชสวามีไปตามอายุขัย นางจึงมิได้มีใจเคียดแค้นต่อฝ่ายเมืองสรอง

แต่เจ้าย่าสูญเสียพระภัสดา ท้าวพิมพิสาครไปด้วยความเจ็บปวด รอยพยาบาทที่มีต่อชาวเมืองสรวงจึงรุนแรงเกินหักห้ามใจ ที่จะให้ยอมรับพระลอมาเป็นหลานเขยได้

เจ้าย่านั่นเองคือตัวละครสำคัญ ที่ช่วยปิดฉากความรักที่เพิ่งจะเริ่มต้นแตกกอ ของพระเอกนางเอกให้ต้องสะดุดล้มลงราวโรมิโอและจูเลียต

สุดท้ายเจ้าย่าก็ถูกพระราชโอรสของตัวเอง (ท้าวพิชัยพิษณุกร) ลงโทษด้วยดาบนั้นคืนสนอง

ย่าฆ่าหลานสาว (ไม่ได้ตั้งใจแต่หลานสาวช่วยปกป้องเขยศัตรู) พ่อจึงฆ่าย่า (แม่ของตัวเอง)

อ่านถึงตอนนี้แล้วรู้สึกสลดหดหู่ใจไม่น้อย "แรงกรรม" ของ "เจ้าย่า" ในที่นี้จะเรียกว่าบุพกรรมหรือเจตจำนงเสรีกับเขาได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เห็นสัญชาตญาณของมนุษย์บางคนหรืออาจหลายๆ คน ในแง่ที่ว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว หากจะต้องเลือกระหว่างความรักที่มีต่อมารดา กับความรักที่มีต่อบุตร ผู้ชายยอดขัตติยมานะอย่างท้าวพิชัยพิษณุกรได้ตัดสินใจเลือกประการหลัง

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


จากคอลัมน์“ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 160”ในมติชนสุดสัปดาห์ปี 2556 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net