Skip to main content
sharethis


ภาพประกอบโดย Funky64 (www.lucarossato.com)
Some rights reserved

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิวิกิมีเดีย ซึ่งเป็นผู้ดูแลวิกิพีเดีย ร่วมกับองค์กรสิทธิฯ ฟ้องสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ต่อศาลเขตแมรี่แลนด์ จากกรณีโครงการสอดแนมมวลชนของ NSA โดยเฉพาะการสอดแนมแบบ upstream ซึ่งเป็นการเข้าถึงโครงข่ายของอินเทอร์เน็ต ทำให้ NSA สามารถทำสำเนาการสื่อสารผ่านตัวหนังสือ ตั้งแต่อีเมล ข้อความแชต การค้นหาผ่านเว็บ การกดไลค์ รวมถึงสามารถค้นหาสิ่งเหล่านี้ผ่านการค้นหาคำที่เกี่ยวข้อง

"NSA ทำสำเนาและตรวจสอบการสื่อสารของผู้บริสุทธิ์หลายล้านคนเพื่อจะหาว่าสิ่งที่พวกเขากำลังพูดคุยหรืออ่านนั้นมีความเกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่ NSA กำลังค้นหาไหม" ทนายความเขียนในคำร้องและว่า นี่ไม่ใช่แค่ตรวจสอบการสื่อสารไปยัง/มาจากเป้าหมายของ NSA แต่รวมถึงผู้ที่เพียงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายด้วย

ในคำร้องระบุว่า การกระทำของ NSA เป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 (Fourth Amendment) ซึ่งปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว และบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ซึ่งปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัว  นอกจากนี้ยังใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการสืบราชการลับต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Act Amendments Act: FAA) ให้ไว้

วิกิมีเดียระบุว่า การฟ้องครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดโครงการสอดแนมมวลชนเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ใช้วิกิพีเดียที่มีอยู่ทั่วโลก พร้อมชี้ว่า ความเป็นส่วนตัวและความเป็นนิรนามสำคัญกับผู้ใช้ โดยจะเห็นว่า วิกิพีเดียเปิดให้มีการแก้ไขเนื้อหาบทความแบบนิรนามหรือนามแฝงได้ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ส่วนตัวไว้ เพราะเชื่อว่า ความเป็นส่วนตัวจะทำให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออก คงไว้ซึ่งเสรีภาพในการสืบหาข้อมูล และเปิดให้มีเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสารและการรวมตัว และความรู้จะเฟื่องฟูเมื่อความเป็นส่วนตัวได้รับการปกป้อง

จิมมี่ เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย ระบุว่า การสอดแนมได้บ่อนเซาะคุณค่าแต่เดิมของอินเทอร์เน็ตที่จะเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการทำงานร่วมกัน การทดลองและเป็นพื้นที่ที่ปราศจากความกลัว

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2556 ศาลสูงของสหรัฐฯ เคยยกฟ้องคดีที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา ฟ้อง เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เรื่องการสอดแนมการสื่อสารนี้ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานข่าวกรอง สหรัฐฯ เปิดโปงเอกสารการสอดแนมของ NSA ซึ่งมีสัญลักษณ์ของวิกิพีเดียอยู่ด้วย ทำให้วิกิพีเดียเชื่อว่าคราวนี้พวกเขามีหลักฐานที่เพียงพอแล้วว่า พวกเขาเป็นผู้เสียหาย

อนึ่ง มีรายงานว่า นิโคล เนวาส โฆษกกระทรวงยุติธรรมตอบคำถามสื่อผ่านอีเมลเพียงว่า กระทรวงฯ กำลังตรวจสอบคำร้อง

สำหรับผู้ฟ้องประกอบด้วยมูลนิธิวิกิมีเดีย, สมาคมทนายความคดีอาญาแห่งชาติ (The National Association of Criminal Defense Lawyers), ฮิวแมนไรท์วอชท์, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริหา, สมาคมนักเขียน PEN สหรัฐอเมริกา, กองทุนโลกเพื่อผู้หญิง (Global Fund for Women), นิตยสารรายสัปดาห์ The Nation ของสหรัฐฯ, องค์กรที่ทำประเด็นสิทธิฯ ในละตินอเมริกา (Washington Office on Latin America) และ สถาบันรูเธอฟอร์ด (The Rutherford Institute) โดยมีทนายความจากสมาคมเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberty Union: ACLU) เป็นทนายความ


เรียบเรียงจาก
https://firstlook.org/theintercept/2015/03/10/wikipedia-sues-nsa-dragnet-internet-surveillance/
https://blog.wikimedia.org/2015/03/10/wikimedia-v-nsa/
https://www.aclu.org/files/assets/wikimedia_v2c_nsa_-_complaint.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net