Skip to main content
sharethis

ในรายงานล่าสุดของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ ระบุว่า ความปลอดภัยดิจิทัลและความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั่วโลก และหากหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกาคิดจะดำเนินมาตรการดักจับข้อมูลดิจิทัลที่เข้ารหัส ก็จะทำให้ประเทศที่มีประวัติสิทธิมนุษยชนย่ำแย่เอาเป็นตัวอย่าง

ที่มาของภาพประกอบ: "System Lock", Yuri Samoilov, 2014, Flickr.com (CC 2.0)  

วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า ในรายงานฉบับใหม่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ความปลอดภัยดิจิทัลและความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั่วโลก และเตือนว่าความพยายามในบางประเทศที่ทำให้กลไกรักษาความปลอดภัยอ่อนแอ อาจส่งผลกระทบต่อทุกๆ ที่

รายงานซึ่งจัดทำโดย เดวิด ไคย์ (David Kaye) ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ระบุว่า การเข้ารหัส (encryption) หรือกระบวนการดิจิทัลเพื่อแปลงข้อมูล ซึ่งทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และเครื่องมือที่ช่วยปกปิดตัวตน (anonymity tools) "จะช่วยอำนวยด้านความเป็นส่วนตัว และความจำเป็นด้านความปลอดภัย ในการแสดงออกซึ่งสิทธิของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในยุคดิจิทัล" สำหรับรายงานดังกล่าวจะถูกนำเสนอในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนหน้า

วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า รายงานฉบับดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงที่มีการอภิปรายในสหรัฐอเมริกาว่าอะไรคือความสมดุลที่ดีที่สุดระหว่างสิทธิส่วนบุคคลส่วนตัวและความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้นับตั้งแต่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) ผู้ทำงานตามสัญญาจ้างของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้เปิดโปงโครงการสอดแนมออนไลน์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NSA (National Security Agency) ได้ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มการเข้ารหัสข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากขึ้น

และในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐอเมริกากำลังผลักดันให้บริษัทด้านเทคโนโลยีสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ประตูหลัง" (backdoors) เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกป้องกันการเข้าถึงข้อมูลได้

ผู้อำนวยการหน่วยสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (FBI) เจมส์ โคเมย์ (James Comey) และผู้อำนวยการ NSA พล.ร.อ.ไมเคิล โรเจอร์ส (Michael Rogers) กล่าวว่า การเติบโตของการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้การติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายยากขึ้น และยังโน้มน้าวด้วยว่ารัฐบาลควรเสนอให้บริษัทเหล่านี้สร้างเส้นทางเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เข้ารหัสเหล่านี้

โดยในช่วงต้นปีนี้ โรเจอร์ส ได้เสนอแนวคิดที่ว่า บริษัทต่างๆ ควรแบ่ง "กุญแจดิจิทัล" เพื่อใช้สำหรับถอดรหัสข้อมูลออกเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อไม่ให้มีใครหรือหน่วยงานใดฝ่ายเดียวสามารถใช้ข้อมูลนี้ได้ ข้อเสนอนี้เป็นความพยายามหนึ่งที่จะเอาชนะเหนือผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยดิจิทัล ซึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิด "ประตูหลัง" ว่าจะถูกใช้ในเรื่องความมั่นคง

ในรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งมีข้อเสนอคัดค้าน "ประตูหลัง" ระบุว่า "รัฐ (ต่างๆ) ควรหลีกเลี่ยงมาตรการที่จะทำให้มาตรการด้านความปลอดภัยที่ปัจเจกบุคคลต้องใช้งานออนไลน์ต้องอ่อนแอลง, อย่างเช่น "ประตูหลัง", มาตรฐานการเข้ารหัสที่หละหลวม และระบบฝากกุญแจสำหรับเข้ารหัสข้อมูล (key escrows)"

ในการให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ เดวิด ไคย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของมาตรการเช่นว่านี้คือพวกเขาต้องการเติมสิ่งที่เป็นความเปราะบางไม่มั่นคงเข้าสู่ระบบความปลอดภัย "ผลของมันคือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับทุกคน แม้แต่กับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอาญา"

การถกเถียงสาธารณะในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เน้นไปที่เรื่องก่อการร้ายและอาชญากรรม แต่ไม่ได้พิจารณาถึงความจำเป็นของการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อปกป้องสื่อมวลชน นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปในโลก เดวิด ไคย์ ระบุ

"มีผู้คนนับล้านในโลกที่จำเป็นต้องพึ่งพา การเข้ารหัสข้อมูล หรือ การท่องอินเทอร์เน็ตแบบไม่ระบุตัวตัวอย่าง Tor เพื่อเป็นหลักประกันให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาสามารถเพื่อต่อต้านการถูกเปิดเผยข้อมูลการติดต่อสื่อสารของพวกเขา หรือถูกดักฟังข้อมูล" เขากล่าว

เดวิด ไคย์ระบุด้วยว่า ถ้าสหรัฐอเมริกายังดำเนินนโยบายตามนี้เพื่อใช้ "ประตูหลัง" สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ซึ่งมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ ดำเนินไปในวิธีการที่ใกล้เคียงกันนี้ "เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อประเทศที่ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพกระทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประเทศอื่นๆ ในโลกซึ่งไม่ได้อยู่ในค่ายประชาธิปไตยก็จะถือเอาเป็นตัวอย่างว่าสิ่งนี้สามารถทำได้"

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก U.N. report: Encryption is important to human rights — and backdoors undermine it, The Washington Post, Andrea Peterson May 28 at 7:00 AM

อ่านรายงานฉบับดังกล่าวได้ที่ A/HRC/29/32, Report of the Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression, David Kaye

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net