โป๊ปฟรานซิส : กรณีศึกษาการตีความคำสอนศาสนาให้สอดคล้องกับกระบวนทัศน์ร่วมสมัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในช่วงแห่งประวัติศาสตร์นิกายแคทอลิกที่ยาวนาน โป๊ปฟรานซิส น่าจะเป็นผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่นิกายนี้ อย่างน้อยสิ่งที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือ แสดงออกส่วนพระองค์ที่เข้ากับกระแสสากล เช่น ในด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย มากไปกว่านั้น อย่างเช่น การทรงปลดล็อกข้อกีดกันและรังเกียจของคริสตชนที่มีต่อพวกรักร่วมเพศอันเป็นสิ่งที่แสดงว่าพระเจ้าทรงรักทุกคนโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการนำคำสอนของศาสนาคริสต์จารีตนิกายสู่การตีความเข้ากับกระบวนทัศน์แบบสากลมากขึ้น

โป๊ปฟรานซิส เป็นผู้ที่ได้รับการขนานนามในแง่ความมีพระทัยดี โดยเฉพาะการไม่ถือพระองค์ของพระองค์ เช่น ล่าสุดพระองค์ทรงรับพิซซ่าจากเจ้าของร้านพิซซาแห่งหนึ่งในอิตาลีขณะทรงประทับอยู่บนโป๊ปโมบิลระหว่างการเสด็จเยือนเมืองเนเปิลส์  การปฏิบัติดังกล่าวสร้างความประทับใจให้กับผู้คอยเฝ้ารับเสด็จอย่างมาก นอกจากพิซซ่าแล้วโป๊ปฟรานซิสยังได้รับของขวัญจากแม่ชีขณะเสด็จอาสนวิหารเนเปิลส์อีกด้วย

ก่อนหน้านี้โป๊ปฟรานซิส ได้ทรงเข้าร่วมพิธีเนื่องในวันอีสเตอร์ โดยทรงทำพิธีล้างเท้าแก่คนชราและคนพิการ ในพิธีดังกล่าวได้ทรงก้มลงจูบที่เท้าของพวกเขาเหล่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาวคริสต์เหมือนทาสตามแบบอย่างของพระเยซู

เมื่อราวๆ กลางปีที่แล้ว ทรงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับท่าทีของพระองค์ต่อพวกรักร่วมเพศ พระองค์ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินพฤติกรรมของพวกรักร่วมเพศ แม้ก็ทรงยอมรับว่ากลุ่มล็อบบี้เรื่องรักร่วมเพศ ที่มีอิทธิพลในสำนักวาติกันเป็นปัญหาใหญ่ก็ตาม ท่าทีของโป๊ปฟรานซิสที่ประทานสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนดังกล่าวนับว่าเป็นท่าทีที่เป็นมิตรกับกลุ่มรักร่วมเพศ หากเมื่อเทียบกับดำรัสของอดีตโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 จากที่พระองค์เคยตรัสไว้ว่า “หากคนผู้หนึ่งเป็นเกย์ แต่ปรารถนาในความเมตตาของพระเจ้า แล้วข้าพเจ้าเป็นใครเล่าถึงจะไปตัดสินเขาได้” 
 
โป๊ปฟรานซิส ตรัสถึงกรณีของ บัตติสตา ริกกา ผู้แทนพระองค์ในธนาคารวาติกัน ซึ่งตกเป็นข่าวว่าเคยมีสัมพันธ์ทางเพศกับโสเภณีชาย สมัยที่ยังประจำการอยู่สถานทูตวาติกัน ณ กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ตรัสในทำนองป้องกันว่า จากการตรวจสอบแบบเผินๆ ยังไม่พบความผิดตามที่กล่าวหา พระองค์ทรงอ้างคำสอนแนวถามตอบในคริสตศาสนา (catechism) ที่ระบุว่า ไม่ควรกีดกันแบ่งแยกคนบางกลุ่มซึ่งควรจะได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และพระองค์ทรงย้ำว่า สังคมควรปฏิบัติต่อเกย์และเลสเบี้ยนอย่างให้เกียรติ มีความเมตตาและความละเอียดอ่อน โดยไม่แบ่งแยกกีดกัน

โป๊ปฟรานซิส พระสันตะปาปาองค์ที่ 266 พระนามเดิมว่า คอร์เค มาเรียว เบร์โกเกลียว (Jorge Mario Bergoglio) ประสูติในกรุงบัวโนสไอเรส  ประเทศอาร์เจนตินา พระองค์เป็นบุตรของคนงานทางรถไฟ  ทรงได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และทรงเข้าศึกษาที่เซมินารีในย่านบียาเดโบโต ทรงปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะเยสุอิตเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2501

สิ่งสำคัญที่มีผลต่อความคิดก้าวหน้าจนนำไปสู่การตีความแคทอลิกแบบใหม่ของพระองค์ คือ การทรงได้รับใบรับรองด้านสาขาวิชาปรัชญา จาก Colegio Máximo San José จนต่อมาพระองค์ได้ทรงทำการสอนวิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาที่ Colegio de la Inmaculada และ Colegio del Salvador 

โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2510 เมื่อทรงจบการศึกษา แล้วรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ทรงทำงานสอนที่มหาวิทยาลัย Facultades de Filosofía y Teología de San Miguel จนดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางเทววิทยา ขณะที่ใน ช่วง พ.ศ. 2516 - 2522 ทรงดำรงตำแหน่งอธิการเจ้าคณะแขวงคณะเยสุอิตในอาร์เจนตินา หลังจากนั้นพระองค์ย้ายไปเป็นอธิการเซมินารีซานมีเกลจนถึงปี พ.ศ. 2529

เมื่อโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ได้มีการจัดการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา โดยกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556 หลังจากการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 5 โดยพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 115 ท่าน ผลปรากฏว่า พระคาร์ดินัลคอร์เค เบร์โกเกลียว อัครมุขนายกแห่งบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินาได้รับเลือกให้เป็นสันตะปาปา ซึ่งนับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกจากทวีปอเมริกาและจากคณะเยสุอิต

ในช่วงของการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคริสตจักรของโป๊ปฟรานซิสจึงเป็นช่วง การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการตีความคำสอนลงสู่ชนรากหญ้าทุกฝ่าย ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่พระองค์ทรงมีแบคกราวด์ร่วมกับชนรากหญ้ามาก่อน อันเป็นเหตุนำมาซึ่ง “คริสตทัศน์” แบบใหม่ที่สอดคล้องกับกระบวนทัศน์ร่วมสมัยนวยุค (post modern) ที่น่าสนใจ คือ เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางหรือพระเจ้าอยู่ เหนือหัว มาเป็นการปรับกระบวนทัศน์ให้สอดคล้องกับอัตถิภวนิยม (existentialism) ของชาวโลกร่วมสมัยมากยิ่ง นั่นคือการเคารพในความปัจเจก

ในการเสด็จเยือนเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โป๊ปฟรานซิส  ได้รับการต้อนรับจากประชาชนราว 6 ล้านคน ประเด็นสำคัญที่เป็นดำรัสของพระองค์ในครั้งนั้นคือ ทรงเรียกร้องให้ชาวฟิลิปปินส์ร่วมมือร่วมใจสร้างความยุติธรรม ศีลธรรมและสันติภาพให้บังเกิดขึ้นในโลก ขณะเดียวกันทรงตำหนิแผนควบคุมจำนวนประชากรของรัฐบาล

ในการเสด็จเยือนศรีลังกาก่อนหน้านั้น โป๊ปฟรานซิสได้ทรงเข้าพบกับผู้นำทางศาสนาต่างๆ รวมทั้งตัวแทนชาวพุทธในศรีลังกา ขณะที่จำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ในศรีลังกา ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีอัตราเติบโตมากขึ้น นับตั้งแต่อดีตพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนศรีลังกา เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โป๊ปฟรานซิสทรงมุ่งหวังให้โบสถ์แคทอลิกในศรีลังกาเป็นมิตรกับศาสนิกศาสนาอื่น เพื่อให้ทุกศาสนาในศรีลังกามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันเป็นแนวทางการต่อต้านพวกหัวรุนแรงทางศาสนาในเวลาเดียวกัน

โป๊ปฟรานซิส ยังได้กล่าวปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก หลังมีการจัดพิธีศพของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีนิตยสารชาร์ลี เอบโด  ทรงย้ำว่า การแสดงออกนั้นจะต้องกระทำอย่างมีข้อจำกัด ประชาชนควรปฏิบัติต่อทุกศาสนาด้วยความเคารพ เพื่อไม่ให้ศรัทธาของผู้อื่นถูกทำลาย หรือถูกเย้ยหยัน พร้อมทั้งทรงออกมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศทั่วโลกยุติความไม่เสมอภาคทางสังคมต่างๆ

วัตรปฏิบัติของโป๊ปฟรานซิสก่อให้เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงและวิพากษ์วิจารณ์ในบรรดานักการศาสนาและคริสตชนจำนวนมาก พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากฝ่ายก้าวหน้า (liberalism)  ว่าทรงนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่คริสตศาสนาในทางที่ทำให้คริสตศาสนาจารีตนิกายได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะการตีความของพระองค์สอดคล้องกับการประกาศศาสนาในครั้งแรกเริ่มของพระเยซู เป็นการยอมรับมนุษย์ในฐานะความเป็นมนุษย์ของพระเจ้า ซึ่งก็คือความเมตตาของพระเจ้านั่นเอง 

พระเจ้ามิใช่เจ้าเหนือหัว หากแต่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวและสนับสนุนความเป็นอัตลักษณ์แห่งปัจเจก ในนามของเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ

ที่สำคัญจากบทบาทเชิงวัตรปฏิบัติและการตีความคริสตธรรมของโป๊ปฟรานซิสดังกล่าว คือ การสะท้อนถึงกระแสการกลับไปหาศาสนธรรมในแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น มองศาสดาจากพื้นฐานความเป็นมนุษย์ของศาสดาเอง เห็นคุณค่าของความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ หลังจากที่ครั้งหนึ่งศาสนาและศาสนธรรมถูกตีความโดยกลุ่มชนชั้นนำที่มี “พระ” รวมอยู่ในนั้นมาเป็นเวลายาวนาน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท