รายการคืนความสุข 'ประยุทธ์' เปิดใจครบ 1 ปีรัฐประหาร-ชี้จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กล่าวเปิดใจเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีที่ คสช.บริหารประเทศ ยอมรับว่าสถานการณ์ก่อน 22 พ.ค.2557 เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และแตกต่างทางความคิด ทำให้การบริหารราชการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์
 
 
22 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ ThaiPBS รายงานว่าในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศไทยว่า วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง นับเป็นเวลา 1 ปีเต็มที่ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศไทยของเราร่วมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกคนที่เป็นคนไทย ครบรอบ 1 ปีพอดี สถานการณ์ประเทศเรานั้นก่อน 22 พฤษภาคม 2557 นั้นทุกคนทราบดีถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกต่างทางความคิดแล้วก็ ซึ่งมันเกิดเป็นเวลานานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ในช่วงที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น คงไม่ต้องไปหาสาเหตุนะว่ามาจากอะไรนะ มันยุติให้ได้แล้วกัน อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี 56 ถึงต้นปี 57 นั้นมันเกิดสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดการติดล็อค ต้องทำให้การบริหารราชการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แล้วก็เราได้พยายามที่จะสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ทำไม่ได้อีก เพราะฝ่ายหนึ่งก็ว่าไม่ผิด อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าผิด ผมถือว่าทั้งสองโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่ต่อต้านเขาก็มีความตั้งใจอีกอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้ทุกอย่างมันชัดเจน
 
ฝ่ายอดีตรัฐบาลก็พยายามที่จะรักษาการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมันเดินหน้าไม่ได้จริงๆ นะครับ ด้วยกฎหมาย ด้วยรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่กำหนดไว้ มันก็เลยติดขัดไปหมดในเชิงบริหารในแง่กฎหมาย กติกา ต่างๆ ก็อาจจะเรียกได้ว่าประเทศไทยขณะนั้นติดล็อคนะครับ ติดเดทล็อคแล้วกัน ติดกับคำว่ากับดักประชาธิปไตยนะครับ    
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนสำคัญที่ทุกท่านคงจำได้ คือการแสดงออกทางการเมืองผู้เห็นต่างนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎหมาย ดูแลความปลอดภัย ชีวิตและทรัพย์สิน มันเกิดมาหลายครั้งแล้วทุกรัฐบาล ในห้วงที่ผ่านมานั้นมันต่างฝ่ายต่างก็เกิดทุกครั้งไป สลับกันไปกันมานะ แล้วต่างฝ่ายต่างก็ใช้อาวุธสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่หวังดี ก็ทราบดีอยู่แล้ว มีอาวุธสงคราม มีการต่อสู้ ด้วยความรุนแรง เจ้าหน้าที่ถูกพาดพิงต่างๆ มากมาย ต้องไปต่อสู้คดีทั้งที่เป็นการทำตามคำสั่ง ตามสิ่งที่ควรจะต้องกระทำ ผมดูแล้วทั้งโลกเขาก็ทำแบบนั้น ถ้ามันเกิดการจลาจล เกิดการใช้อาวุธสงครามก็ต้องมาดูแลความปลอดภัย ชีวิตทรัพย์สิน มีการประกาศกฎหมายพิเศษอะไรต่างๆ ก็ว่ากันมา 
 
"เราทำมาทุกอย่างแล้ว พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ก็เอาไม่อยู่นะ เพราะงั้นมันก็ จะทำยังไงได้ อันนี้ผมว่ามันเป็นอดีตนะ อย่าให้มันเกิดขึ้นอีกเลย อดีตคืออดีตนะ อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก อะไรที่ไม่ดีก็อย่าไปทำอีกนะ เราทำปัจจุบันให้ดีกว่า เพื่อจะสร้างอดีตวันนี้ให้เป็นอนาคตเพื่อสร้างปัจจุบันวันนี้ให้เป็นอนาคตแล้วก็อดีตเหล่านั้น อย่าให้มันเกิดขึ้นมาอีกเท่านั้นเอง เราแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราสร้างอนาคตได้ สร้างปัจจุบันได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
 
สถานการณ์ที่ผมกล่าวมานั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแรงขึ้นๆ มาเรื่อยๆ ตามลำดับ เหมือนกับประเทศชาติจะล่มสลายลงไป ในช่วงเวลานั้นประชาชนชาวไทยเกือบทั้งประเทศก็ไม่ยอมรับในกติกาทั้งสิ้นทั้งปวง ต่างคนต่างมีความคิดเห็นของตัวเอง เจ้าหน้าที่รัฐทำงานไม่ได้ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ รัฐบาลก็ปัญหาไม่ได้ ก็เลยเกิดคณะรักษาความปลอดภัยแห่งชาติขึ้นมาเข้ามาควบคุมสถานการณ์ โดยใช้กฎหมายพิเศษบ้างอะไรบ้างนะ แล้วเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน สิ่งที่บกพร่อง ไม่ถูกต้อง นำเข้าสู่ขบวนกายุติธรรม ให้ไปต่อสู้กันอย่างเป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันนัก รวมทั้งไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ใช้กับนานาประเทศทั้งนี้เราก็ต้องแก้ปัญหานี้ทั้งหมด บางอย่างตกลงกับเขาไว้แล้วไม่ได้ทำ บางอย่างไม่สอดคล้องกับเขาก็ไม่ปรับปรุงให้ทันสมัย วันนี้ต้องแก้ไขทั้งหมด เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมัน ไว้วางใจในการค้าการลงทุนให้กับประเทศไทยของเรา 
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ระยะแรกทุกคนทราบดี คสช.เข้ามาบริหารราชการนะครับ ประมาณสัก 5 เดือน ได้ดำเนินการยุติความรุนแรง แล้วก็ความสงบเรียบร้อย ปราบปราม จับอาวุธสงคราม สิ่งที่ผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน ยาเสพติด บุกรุกทำลายป่า การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล แล้วก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถทำงานได้ โดยไม่มีแรงกดดัน ระยะที่ 2 คือหลังจากมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 แล้ว จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาล ข้าราชการทุกคนก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการบริหารราชการ สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ความไม่เข้าใจกันบ้างความไม่ไว้วางใจกันบ้าง ก็ยังมีหลงเหลืออยู่นะ ผมพยายามจะให้ความเป็นธรรมทุกภาคส่วน ทุกคน อะไรที่ถูกก็ว่าไป อะไรที่มันผิดหรือยังไม่ชัดเจนก็เข้าขบวนการไป
 
ปัญหาสำคัญที่เรากังวลมากก็คือปากท้องพี่น้องประชาชนแล้วพอดีกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่โชคดีที่ราคาน้ำมันตกต่ำ ต่ำลง แต่มีผลกับเรื่องภาษีสรรพสามิต ภาษีน้ำมันนี่ ทั้งทำให้รายได้ของประเทศลดลงอีก มันมีทั้งวิกฤติ และโอกาสนะปัญหาการค้ามนุษย์ก็โผล่เข้ามาอีก ทำประมงผิดกฎหมายก็เข้ามาอีก ปัญหาโรฮิงญาอีก ซ้อนเข้ามาอีกหลายอย่าง ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิด เป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว หมักหมมมานานแล้ว ฝ่ายความมั่นคงก็พยายามแก้กันอยู่ตลอด วันนี้ก็ต้องให้ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายความมั่นคงแล้วก็ประชาสังคม ร่วมมือกันทั้งหมด พลเรือน ทหาร ต้องแก้ไขจริงจัง โปร่งใส เป็นธรรม
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดกลุ่มงานเป็น 5 กลุ่มนะครับเรียนอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มงานความมั่นคง กระทรวงหลักก็มีอยู่แล้ว กลาโหม มหาดไทย แล้วก็กระทรวงทรัพย์ฯ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่มีผลกะทบกับทรัพยากร กับคน เรื่องเศรษฐกิจก็กระทรวงการคลังบ้างอะไรบ้าง ด้านเศรษฐกิจ คงทราบอยู่แล้วล่ะ 6 -7 กระทรวงนี่ สังคมจิตวิทยา เรื่องการศึกษาสาธารณะสุข อะไรเหล่านี้ การต่างประเทศ ก็มีการท่องเที่ยวด้วย อะไรด้วย แล้วก็แล้วก็พัฒนาความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งมีความติดต่อเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มงานกฎหมายและกระบวนแรยุติธรรม ของกระทรวงยุติธรรม ปรับทุกอย่างทั้งระยะสั้น ระยะยาวก็เตรียมแผนในการปฏิรูปไว้ให้ นะครับ สร้างบรรทัดฐานไว้ให้ แสวงหาความร่วมมือกับทุกประเทศรอบบ้าน สร้างเครือข่ายในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ให้มีความใกล้เคียงกัน เราจะได้ขจัดได้ทั้งระบบ เรื่องการทุจริตผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าเมืองบ้าง ยาเสพติด ที่มันไปทุกประเทศทุกภูมิภาคแล้วกัน ไทยต้องดำเนินการให้ได้ร่วมมือกันแล้วบางอย่างก็ต้องแข่งขันกันกับนานาอารยประเทศได้ด้วยมันต้องมีความเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เพราะงั้นมันต้องอาศัยพึงพาซึ่งกันและกัน ร่วมมือกัน ในขณะเดียวกัน ไว้วางใจกันซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง แล้วก็มีส่วนแบ่งผลประโยชน์ทีเป็นธรรม กับทุกประเทศที่ทำการค้าการลงทุนหรอว่าเป็นพันธมิตรกัน
 
ในส่วนของการปฏิรูปประเทศนั้นมันมี ระยะต่อไป ก็ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ อันนี้ผมกราบเรียนอีกครั้งว่าสภาปฏิรูปจะมีหน้าที่ในการที่ไปทำกระบวนการในการปฏิรูปต่อจากรัฐบาลผมนี่ จาก คสช.นี่ ให้ต่อออกไป ไม่ใช่ไปรื้อของผมตั้งแต่แรก เพราะรัฐบาลก็เดินหน้ามาอย่างนี้ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลของ คสช. ผมต้องการวางรูปแบบแบบนี้ แล้วท่านก็ไปว่างว่าต่อไปจะเป็นยังไง ท่านจะไปแก้อะไรของผม ก็ไปแก้วันหน้าโน่น แก้ผมตั้งแต่ต้นวันนี้ ที่ผมทำทั้งหมดมันก็บกพร่องหมดเลย ไม่ได้ ผมไม่ยอมตรงนี้ เพราะงั้นวางแนวทางไว้ให้เกิดความต่อเนื่องจากรัฐบาลนี้ทำไว้ คสช.ทำไว้ หาแนวทางวิธีการที่เหมาะสม มีกลไกที่จะควบคุมไม่ให้ทุกอย่างมันกลับมาเหมือนเดิม ท่านไปคิดกันออกมา อย่าให้ผมเป็นคนตัดสนใจทั้งหมดได้ไหม ท่านคิดมาผมจะได้มีทางเลือกว่าประชาชนต้องการแบบนี้ ทุกคนบอกตกลงกันไม่ได้ แล้วให้ คสช. ตัดสินแล้วผมต้องใช้อำนาจแล้วมันจะจบไหมล่ะครับ ตอบผมหน่อยแล้วกัน ผมไม่อยากให้เกิดปัญหากลับมาอีกในอนาคตนะ เหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปี เพราะงั้น คสช.ได้ดำรงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการคืนความสุขให้คนในชาติตลอดมา คืนมากบ้างน้อยบ้างนะ ตามลำดับของปัญหา ปัญหาน้อยก็คืนได้เร็ว ปัญหามากก็คืนได้ช้า ปัญหามันซับซ้อนก็ยังคืนไม่ได้ต้องใช้เวลา ก็ขอขอบคุณในความร่วมมือ ร่วมใจจากพี่น้องประชาชนทุกท่านเป็นอย่างสูง ขอบคุณสื่อทุกสื่อที่มีความหวังดี มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการที่จะช่วยรัฐบาล แต่ขอให้ระวังหน่อย การเสนอข่าวต่างๆ ก็ขอให้เสนอแนวทางแก้ปัญหาลงไปด้วยนอกจากเสนอปัญหาอย่างเดียว บางครั้งนี่ ผมก็ใช้คำชี้แจงค่อนข้างจะละเอียด ท่านก็ต้องตีความผมให้เข้าใจ ให้ถูกต้อง สงสัยอะไรก็ถามมา ถ้าเสนอปัญหา เสนอความรุนแรงอย่างเดียวมันก็รับแต่จะสร้างความขัดแย้ง ไปภูมิภาค ไปโน่นต่างชาติเขามองประเทศไทยเป็นอะไรล่ะ ตรงนี้ขอแค่นี้เอง ไม่ได้ให้ปกปิดอะไรทั้งสิ้น ช่วยกันเดินให้ได้ แล้วก็บอกว่ารัฐบาลกำลังทำเรื่องนี้นะ เราองนั้นนะ กำลังแก้โรฮิงญา อย่างนี้นะ ไอ้เรื่องอะไร ศูนย์อพยพ ที่พักพิงก็ต้องไม่เกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะวันนี้เรามีศูนย์อพยพพักพิงอยู่แล้ว ตั้งเท่าไร 9 ศูนย์มั้งนะ 8 จังหวัด น่ะ 140,000 คน 20 ปีแล้ว แต่ก่อนมี 400,000 - 500,000 แน่ะ ออกไปได้นี่ 20 กว่าปีนี่ ยังเหลืออยู่ 190,000 เลย จะทำยังไง นี่คือหน้าที่ที่เรามีต่อ UN อยู่แล้ว
 
อันที่ 2 คือตามแนวชายแดนนี่ เนื่องจากประเทศรอบบ้านเราก็มีประชาชนอยู่ใกล้กับเขตแดนไทย เพราะงั้นการศึกษาเล่าเรียน การเข้าโรงพยาบาลอะไรต่างๆ รัฐบาลไทยดูแลทั้งสิ้น นี่หน้าที่ของเราที่มีต่อพันธสัญญาโลก ในเรื่องของมนุษยธรรม เพราะฉะนั้นเราคงไม่สามารถจะไปรับอะไรเพิ่มเติมได้มากไปกว่านี้ โดยไม่จำเป็น แต่อะไรก็ตามนี่เราก็ต้องใช้ เริ่มตั้งแต่การแก้ปัญหาด้วยการดูแลเรื่องมนุษยธรรมก่อน ต่อไปก็สอบถามความสมัครใจเขาเพราะมีกฎของ UN อยู่แล้ว เขาอยากทำอะไร อยากไปไหน เราก็ต้องถามเขาดูก่อน แต่ถ้าเข้ามาในเขตไทยมีกฎหมายไทยอยู่นะ ชัดเจน เข้ามาก็ต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุม ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย อันนี้ก็ไม่ใช่ศูนย์อพยพพักพิงแล้ว มันเป็นพื้นที่ควบคุมนะ ขอให้เข้าใจด้วย กฎหมายไทยเป็นอย่างนั้น   
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าอยู่ในตรงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะบานปลายไปเรื่อย แล้วทำยังไง เพราะงั้นวันนี้ก็มีการหารือกัน มีการประชุมกันวันที่ 29  ก็ไปคุยกันในนั้นต่อ ว่าจะทำยังไงต่อไป ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง นะ ไทยก็จะต้องเอาปัญหาของเราให้เขาทราบด้วยนะว่าคน 170,000 นี่ จะทำยังไงต่อไปนะ แล้วที่กำลังควบคุมอยู่ในเรื่องของการผิดกฎหมายข้ามแดนนะ มีทั้งโรฮิงญา มีทั้งหลายๆ ประเทศอยู่นี่ อยู่ในที่ควบคุมของ ตม. เยอะแยะ เราก็ต้องขยับขยายให้มันมีความสุข ความสบายขึ้นนะ ไม่งั้นเราก็โดนองค์กรต่างๆ มาตำหนิอีกนะครับ นี่คือสิ่งที่ดูแลอยู่แล้ว 1) ต้องตามหลักมนุษยธรรม ตามกฎกติกาของโลก เป็นมตินะ ก็ทำทั้งหมดนะ แต่เรื่องการที่จะรับผิดชอบอะไรอย่างนี้ขอว่ากันอีกทีนะ ตามเหตุผลและความจำเป็น ของเราก็มีเยอะอยู่แล้ว บางคนก็ลืมไปแล้ว่าเรามีศูนย์ที่พักพิงอยู่แล้วนะ 9 ศูนย์ เพราะงั้นความหวังของเรา เราก็จะดำเนินการทุกเรื่องให้ประเทศไทยเรามีความสงบเรียบร้อยแบบนี้นะ เพื่อจะมีอนาคต มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า วันนี้เราก็ได้มีการปรับรูปแบบการบริหาราชการ การใช้จ่ายงบประมาณ การวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว แล้วก็ประชาชนจะต้องมีความสุข มีความพึงพอใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท