Skip to main content
sharethis

มติชนจัดวงเสวนาพูดคุย 3 นักเขียนเจ้าของผลงาน 'ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต-เนรเทศ-คลาส' เผยเรื่องที่ไม่เคยเล่า ทั้งในและนอกนวนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมืองไทย 'ตาบอด วนเวียน รอคอย และความทรงจำกำมะลอ'

22 มิ.ย. 2558 เมื่อวานนี้ สำนักพิมพ์มติชน จัดงานเสวนา “The Writer's Secret เรื่องที่ไม่เคยเล่า" ณ ร้าน The Writer's Secret พูดคุยเรื่องราวทั้งในและนอกหนังสือกับ 3 นักเขียนแห่งยุค วีรพร นิติประภา, อติภพ ภัทรเดชไพศาล และ ภู กระดาษ เจ้าของนวนิยายเชิงการเมือง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต-คราส-เนรเทศ ซึ่งนวนิยายทั้ง 3 เล่ม เป็นนวนิยายที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปี 2559 ดำเนินรายการโดย สุนิสา ปัญจมะวัต และ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

16.30 น. ผู้ดำเนินรายการเริ่มงานเสวนา “The Writer's Secret เรื่องที่ไม่เคยเล่า" พูดคุยกับ3 นักเขียนทั้งประเด็นในและนอกหนังสือ, มุมมองต่ออาชีพนักเขียน รวมถึงประเด็นเชิงการเมืองในหนังสือซึ่งนักเขียนนำมาเป็นแรงบันดาลใจในนวนิยาย โดยในงานมีผู้เข้าร่วมงานราว 40 คน

ทำความรู้จัก 'นักเขียน' และมุมมองต่ออาชีพนักเขียน

วีรพร - ตนเปลี่ยนงานมาเยอะมาก ทั้งแม็กกาซีน, โฆษณา, ทำเครื่องประดับ และทำสวน ล่าสุดได้ออกนวนิยายเล่มแรกอย่าง 'ไส้เดือนตาบอด ในเขาวงกต' กับสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งในชีวิตการทำงานที่ผ่านมาเป็นคนหลีกเลี่ยงการเป็นมืออาชีพ พอเริ่มอยู่ตัวกับงานเดิมก็จะเปลี่ยนงาน สำหรับงานนักเขียนตอนนี้แม้ว่าตอนนี้จะเป็นอาชีพเดียวที่ทำ แต่ก็ยังมีมุมมองต่อการประกอบอาชีพเช่นเดิม แต่มองว่าการทำงานนั้นไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ทำไปซักระยะก็จะเป็นมืออาชีพอยู่ดี อย่างงานเขียนหนังสือที่กำลังทำอยู่ ทำไปถึงจุดหนึ่งจะเข้าใจความต้องการของตลาด ทำอย่างไรจะขายได้ และจะมีรูปแบบในงานเขียน ดังนั้นงานนักเขียนของตนพอทำไปถึงจุดหนึ่งก็อาจจะเปลี่ยนงาน แต่ตอนนี้ยังคงมีเรื่องที่อยากจะเล่าให้สังคมฟังก็จะทำอาชีพนี้ต่อไป

ภู - เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เวลาจะทำอะไรจะทำให้ 'สิ้นสงสัย' แม้ก่อนหน้านี้จะมีงานเขียนออกมาทั้งกวีและเรื่องสั้น รวมถึงนวนิยายเรื่องยาว 'เนรเทศ' แล้ว แต่ว่าตอนนี้ก็ยังคงไม่สิ้นสงสัยอยู่ดี ถ้าสิ้นสงสัยแล้วน่าจะกลายเป็นขี้เกียจไปเลย งานเขียนนวนิยายนั้นเขียนเพื่อค้นหาคำตอบบางประการในชีวิตตน และตอนนี้ยังไม่ขี้เกียจ จึงจะยังคงเขียนต่อไป

อติภพ – ก่อนหน้านี้งานของตนเคยถูกวิจารณ์ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ตนมองว่าเวลานักเขียนทำงานนั้นไม่สามารถเข้าไปนั่งในใจของผู้อ่านได้ว่าเขาจะคิดอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือเขียนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจและเขียนให้คนที่ต้องการอ่านหรือคนที่คิดแบบเดียวกับตนอ่าน ดังนั้นคนที่คิดเห็นเหมือนกันกับตนก็จะอ่านแล้วเข้าใจเหมือนกัน

"หนังสือของผมเลือกคนอ่านเองอยู่แล้วในตัว" อติภพ กล่าว

อติภพ กล่าวต่อว่า นวนิยาย 'คราส' เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคืนเดือนมืด และได้ออกแบบการเขียนให้อ่านครั้งแรกแล้วรู้เรื่อง ต่างจากเล่มก่อนๆที่ออกแบบให้อ่าน 2 รอบถึงจะรู้เรื่อง แต่เรื่อง 'คราส' ถ้าอ่าน 2 รอบขึ้นไปจะเข้าใจในอีกมิติหนึ่งซึ่งจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่แท้จริง เป็นกลวิธีการเขียนที่เหมือนการอำพรางคดี ส่วนตอนจบนั้นออกแบบของเรื่องนั้นไม่มีใครรู้

วีรพร : ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

ในนวนิยาย 'ไส้เดือนตาบอด ในเขาวงกต' มีเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งเปรียบเทียบไส้เดือนที่กำลังขุดดินอยู่เหมือนไส้เดือนที่กำลังนอนละเมอ คือมองเห็นทุกอย่างชัดเจนแต่หลับอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว แตกต่างกับไส้เดือนจริงๆที่ไม่มีตา เวลาขุดดินเราไม่รู้ว่ามันตื่นแล้วตั้งใจขุดหรือมันหลับแล้วละเมอขุดดินอยู่ ภาวะของไส้เดือนเหมือนว่าเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเรื่อยๆโดยไม่รู้จุดหมายคืออะไร

วีรพร ขยายความว่า นวนิยาย 'ไส้เดือนตาบอด ในเขาวงกต' มีบริบทของความขัดแย้ง มีเนื้อเรื่องที่เป็นส่วนโลกขนาน ระหว่าง เรื่องรักๆใคร่ๆ-ความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีคอนเซ็ปต์ถึงมายาคติ ซึ่งไส้เดือนอธิบายได้ว่าคุณเป็นในสิ่งที่คุณไม่ได้เป็น คุณใช้ชีวิตในแบบที่คุณไม่ได้อยากใช้ คุณเชื่อในสิ่งที่คุณไม่ได้เชื่อ ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศนี้ที่เราไม่ได้ไปไหนเลยในหลายๆปีที่ผ่านมา หรืออีกนัยยะหนึ่ง ในคนทั่วๆไปคือคุณอยากถือกระเป๋าแชนแนลเพราะคุณอยากใส่จริงๆไหม หรือว่าคุณใส่เพราะอะไร คุณตื่นจริงๆหรือยัง คุณอยากได้จริงๆหรือ?

วีรพรกล่าวต่อว่า ในบางครั้งตนก็รู้สึกอยากได้ แต่พอตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเรามีลูก เรามีต้นไม้นับพันต้นที่พร้อมจะบานเพื่อเราคนเดียว นั่นกลายเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า จึงกลายเป็นว่าเรื่องของมายาคติไม่ได้บอกว่าคุณอยากได้อะไร แต่ทำให้คุณลืมไปว่าคุณอยากได้อะไรต่างหาก ดังนั้นจึงไม่ต่างจากไส้เดือนที่ตาบอด คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณคือไส้เดือนเพราะคุณไม่เคยส่องกระจก

ภู : เนรเทศ

นวนิยาย 'เนรเทศ' มีแก่นหลักเป็นเรื่องราวของการรอคอยอย่างไกลและยาวนาน โดย ภู กล่าวถึงเรื่องราว ตนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้และความตลกขบขันของคน นวนิยายเรื่องนี้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองในระยะใกล้ โดยออกแบบให้มีการดำเนินเรื่องที่ระยะเวลาสั้นนิดเดียว ไม่มีบทที่เข้มข้นนัก เป็นเรื่องของคนๆหนึ่งที่รอรถเพื่อจะกลับบ้าน แต่ระหว่างทางจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรอคอย และอธิบายเชื่อมโยงกับบริบทประเทศไทยว่า การรอคอยในเรื่องนั้น ก็เหมือนกับบริบทประเทศไทยที่ไม่ไปไหนจริงๆ ยาวนานและยืดเยื้อ เวลาในนวนิยายจะเริ่มเล่าที่ 1947-ปัจจุบัน และส่วนที่ 2 จะเล่าในระยะเวลาปี 2013-1947 ในนวนิยายเวลาจะย้อนกลับไปกลับมา แม้เวลาของตัวละครอาจจะเป็นเส้นตรงแต่เวลาที่แทรกขึ้นมานั้นจะมีการย้อนกลับอดีต ซึ่งหมายถึงบริบทประเทศไทยที่ไม่เดินหน้าไปไหน

อติภพ : คราส

นวนิยาย 'คราส' เป็นเรื่องราวโดยรวมที่พูดถึงความทรงจำ ที่ถูกนิยามในเรื่องราวว่าเป็น 'ความทรงจำกำมะลอ' ในฉากหนึ่งในนวนิยาย ตัวละครเอกในวัยกลางคนย้อนนึกถึงอดีตที่แอบชอบเพื่อนสาวที่เรียนข้างๆห้อง และเพื่อนคนนี้จะย้ายไปเรียนที่อื่น ในฉากหนึ่งคือเพื่อนสาวเรียกตัวละครเอกมาที่หน้าห้องและพูดว่าตนจะไปแล้ว เป็นภาพที่ตัวละครเอกจำได้แม่น แต่ตัวละครเอกกลับสับสนว่าจำภาพนี้มาจากไหนเพราะเรียนอยู่คนละห้องกัน ซึ่งผู้ดำเนินรายการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นเหมือนภาวะเช่นเดียวกับการที่คนทั่วๆไปนึกถึงอดีตซึ่งเกิดความไม่ชัดเจน ซับซ้อน และผสมปนเปของความทรงจำ

อติภพ อธิบายว่า เราทุกคนไม่สามารถจำเพื่อนสมัยเด็กได้ทุกคน ความทรงจำหลังจากนั้นเกิดจากการประกอบสร้าง ตนเองมีความทรงจำเช่นนี้แน่ๆแต่นึกไม่ออก แต่สิ่งที่ตนนึกถึงถัดไปคือ Corrective Memory (ความทรงจำร่วม) ซึ่งบางครั้งอาจจะถูกสร้างขึ้นโดยแบบเรียนหรือหนังสือเรียนซึ่งเป็นหัวใจของนวนิยายนี้ โดยตัวปกของนวนิยาย 'คราส' เป็นรูปอีกา ซึ่งเป็นอีกาตัวเดียวที่อยู่บนปกหนังสือแบบเรียน มานะ-มานี ในอีกแง่หนึ่งแบบเรียนเหล่านี้คือการสร้างประวัติศาสตร์ โดยอติภพกล่าวต่อว่า แบบเรียนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่พาให้ประเทศไทยมาถึงจุดขัดแย้งในปัจจุบัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อของสังคมไทย

ความใหม่ของรูปแบบการเขียนนวนิยายเล่มนี้ อติภพ เสนอว่า นวนิยายเรื่องนี้สามารถแยกกันอ่านได้ใน 5 บทย่อยซึ่งตอนแรกตั้งใจจะทำเป็น 5 เล่มเล็กแต่สุดท้ายได้รวมเป็นเล่มใหญ่ โดยทั้ง 5 บทนี้จะเริ่มตรงไหนก็ได้ และจะจบตรงไหนก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะตนต้องการทำลายความเป็นเผด็จการของรูปแบบการเขียนลง

'ประวัติศาสตร์การเมืองไทย' แรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยาย

อติภพ - มีหลายเหตุการณ์ในการเมืองไทยที่ส่งผลให้รู้สึกและนำมาเป็นวัตถุดิบในงานเขียนนวนิยาย โดยมองว่าการเมืองไทยดำเนินเป็นลูกโซ่นับตั้งแต่เหตุการณ์หลังจอมพลสฤษฎ์เป็นต้นมา เป็นการช่วงชิงอำนาจระหว่างประชาธิปไตยและชนชั้นนำซึ่งไม่เคยจางหายไปไหน

วีรพร – เหตุการณ์ที่สะเทือนใจที่สุดคือปีการเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งมีความรุนแรงอย่างมากและตนเสียน้ำตาให้กับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพราะการเมืองนั้นถึงจะมีความขัดแย้งก็จริง แต่สิ่งที่รับไม่ได้คือการฆ่าฟันกัน เราต้องมีขอบเขตไม่ใช่ว่าจะลากปืนมาฆ่าใครก็ได้ เป็นเรื่องที่ร้าวรานใจและเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

ภู - มองสอดคล้องกับอติภพว่า เหตุการณ์การเมืองไทยเป็นลูกโซ่ งานเขียนของตนนั้นจะไม่เขียนก็ได้แต่ตนรู้สึกตนจึงต้องเขียน เห็นด้วยอีกประการกับอติภพว่าแบบเรียนคือสิ่งสำคัญที่กำหนดให้ประเทศไทยดำเนินมาจนถึงจุดขัดแย้งนี้ ซึ่งในส่วนตัวนั้นไม่มีกองกำลังจะไปต่อสู้กับใครที่ไหน เมื่อแบบเรียนทำหน้าที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อในสังคมได้ ตนมีแต่การเขียนหนังสือที่จะเป็นเครื่องมือต่อสู้ได้ และจะใช้หนังสือในการต่อสู้ต่ออำนาจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net