ชีวิตที่ 'พยายามปกติ' ของชาวมลายูมุสลิมใน 3 จว. ชายแดนใต้

ผู้คนทั้งชาวมลายู ไทย และจีน ใน 3 จว. ชายแดนใต้ ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความตรึงเครียดจากความขัดแย้งและความรุนแรงมานานนับสิบกว่าปี สายบุรีลุคเกอร์ และแว้งที่รัก คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่าสันติภาพ ต้องเริ่มที่ความรู้สึกและความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
 
 
ด่านตรวจของทหาร คือสิ่งที่แสดงถึงความไม่ปกติของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่เป็นปกติ หรือพยายามทำให้เป็นปกติของคนที่นี่
 
แผงกั้นวางบนถนน บีบให้รถขับได้แค่เลนเดียว และต้องเบี่ยงไปมาเพื่อหลบแผงกั้น ป้ายใหญ่เขียนไว้ชัดเจนถึงหลักปฏิบัติเมื่อผ่านด่านตรวจ: เปิดไฟในรถ และ ลดกระจกลง ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่มองเห็นคนในรถอย่างชัดเจน หากคุณเป็นคนหน้าตาผิวพรรณดูเป็นคนไทย หรือ คนเชื้อสายจีน ทหารจะกวักมือให้คุณผ่านด่านตรวจไปอย่างรวดเร็ว แต่หากคุณเป็นคนมลายูมุสลิม คุณจะต้องหยุดตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ เช่น เป็นใคร มาจากไหน จะไปไหน และไปทำอะไร ทั้งนี้เพื่อจับพิรุธว่า เป็น “โจรใต้” หรือไม่ 
 
 
 
 
ผงกั้นวางบนถนน บีบให้รถขับได้แค่เลนเดียว เพื่อให้ชะลอผ่านเจ้าหน้าที่ ภาพโดย มูฮำหมัด ดือราแม
 
ชาวมลายูในสามจังหวัดเป็นคนมีอารมณ์ขันไม่น้อย ไม่เว้นแม้ตอนผ่านด่าน เช่น เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อขับรถผ่านด่านตอนกลางคืนและเพื่อนของเขาหลับอยู่ที่นั่งข้างคนขับ ทหารถามคนขับว่า มากี่คน คนขับตอนว่า มาคนเดียว เขาเล่าว่า พอได้ยินคำตอบ ทหารทำหน้าเหวอ มองไปมา และรีบโบกให้รถผ่านไป 
 
หรืออีกมุขหนึ่ง 
 
ทหาร : ไปไหนคับ
คนขับมลายู : ไปแตแฮบองครับ (พร้อมทำหน้าขึงขังราวกับไปสถานที่นั้นทุกวัน) 
ทหาร : อ้อ ครับ เชิญคับ
 
ซึ่งในภาษามลายู แตแฮ แปลว่า วาง : บอง แปลว่าระเบิด หรืออีกมุขหนึ่ง 
 
ทหาร: ไปไหน
คนขับรถมลายู: ไปบากากอลอฮครับ (พร้อมทำหน้าขึงขังราวกับไปสถานที่นั้นทุกวัน) 
ทหาร: ครับๆ เชิญครับ 
 
ในภาษามลายู บากา แปลว่าเผา ส่วน กอลอฮ แปลว่า โรงเรียน รวมกันก็คือ ไปเผาโรงเรียน 
 
 
เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบรถทุกคัน และพิจารณาว่า มีพิรุธหรือไม่ ถ้าเป็นคนมลายู โดยเฉพาะคนหนุ่ม จะถูกตรวจละเอียดกว่าคนชาติพันธุ์อื่นๆ ภาพโดย มูฮำหมัด ดือราแม
 
การล้อเล่นกับเจ้าหน้าที่ช่วยคลายความตรึงเครียด และทำให้ลืมเลือนไปชั่วคราวว่า ด่านตรวจแสดงถึงความไม่สงบ ความรุนแรง และความแตกแยกที่ฝังลึกในพื้นที่มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว และยังมีการถูกเหมารวมว่า ชาวมลายูคือ “โจรใต้” ที่จะไปวางระเบิด หรือไปเผาโรงรียน ซึ่งคนที่นี่ต้องอยู่อย่างชาชินกับมัน   
 
การเหมารวมและเลือกปฏิบัติตามชาติพันธุ์เป็นส่วนสำคัญของปัญหาที่ฝังลึกในสามจังหวัด แม้นโยบายห้ามเรียนและพูดภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยในยุคจอมพล ป. พิบูลย์สงครามถูกยกเลิกไปกว่า 70 ปีแล้ว และแม้ปัจจุบัน มีการส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมมลายูโดยรัฐไทยมากขึ้น การเลือกปฏิบัติก็ยังมีอยู่อย่างชัดเจนในระดับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่เห็นได้ชัดคือ การเลือกตรวจค้นรถคนลายูที่ด่านตรวจ และการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอในกลุ่มคนมลายูอย่างไร้หลักเกณฑ์ เป็นต้น 
 
ในขณะที่กระบวนการสันติภาพระหว่างแกนนำขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานี และรัฐไทยกำลังเริ่มต้น ศัพท์แสงวิชาการยากๆ เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพถูกนำมาพูดเต็มไปหมด แต่การเลือกปฏิบัติและชีวิตที่ไม่ปกติ ที่ชาวบ้านทั้งชาวมลายูมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยพุทธ ยังคงดำเนินต่อไป มีคนรุ่นใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดที่มองว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากชีวิตปกติสุข และความไว้วางใจระหว่างคนในชุมชนระดับรากหญ้า โดยใช้สิ่งใกล้ตัว คือเรื่องราวของบ้านเกิดเป็นเครื่องมือ
 

นักเฝ้ามองแห่งเมืองสาย: ผู้สานสัมพันธ์ของคนในพื้นที่สีแดง

 
อำเภอสายบุรี ปรากฎในข่าวล่าสุด เมื่อมีเหตุระเบิดที่ย่านชุมชนคนเชื้อสายจีนเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 58 เป็นเหตุให้ทหารชุดคุ้มครองพระเสียชีวิตหนึ่งราย พระสงฆ์มรณภาพหนึ่งรูป พระสงฆ์บาดเจ็บสาหัสหนึ่งรูป ทหารบาดเจ็บสาหัสสองคน และชาวบ้านเจ็บหนักอีกสองคน ก่อนหน้านี้ในปี 2552 ก็มีเหตุระเบิดซึ่งทำร้ายทั้งชาวบ้านไทยพุทธ คนจีน และมุสลิม และเจ้าหน้าที่หลายครั้งในสายบุรี 
 
เกิดเหตุระเบิดที่สายบุรีบ่อยครั้ง จนเซเว่นอีเลฟเว่นที่ สายบุรี ต้องทำบังเกอร์กันระเบิด
 
จากสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch อำเภอสายบุรีมีเหตุความไม่สงบมากเป็นอันดับหก จากทั้งหมด 37 อำเภอของสามจังหวัด และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เหตุการณ์รุนแรงที่ต่อเนื่องทำให้เมืองสายบุรี ซึ่งอดีตเป็นหัวเมืองและเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในคาบสมุทรมลายูเปลี่ยนไป ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เคยมีอยู่จำนวนมาก และเป็นผู้กุมเศรษฐกิจในพื้นที่ก็ย้ายออก คนจีนหลีกเลี่ยงไม่ไปพื้นที่คนมลายู คนมลายูก็หลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเขตคนจีน กลายเป็นความสัมพันธ์ที่หวาดระแวงและเหินห่าง
 
“การเสนอภาพว่า คนมลายูคือ “โจรใต้” ซ้ำๆ ในข่าว กลายเป็นว่าคนที่นี่ก็เชื่อแบบนั้นไปด้วย เพราะพวกเราก็เสพสื่อกระแสหลักเหมือนกัน ผู้คนคุยกันน้อยลง และหันไปคุยกับทีวี กับอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าหากนายสมศักดิ์ หันหน้ามาคุยกับนายมะแอ พวกเราก็จะเข้าใจกันมากขึ้น อคติต่อกันและกันน้อยลง” อานัส พงค์ประเสริฐ หนุ่มมลายูไฟแรงแห่งเมืองสายกล่าว 
 
อานัส พงค์ประเสริฐ ณ ฐานที่มั่นของสายบุรีลุคเกอร์ ซึ่งคือบ้านของเขาเอง 
 
นั่นเป็นที่มาของกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ (Saiburi Looker) ที่อานัสเป็นคนร่วมก่อตั้งในปี 2556 โจทย์ยากของกลุ่มคือ หลังจากที่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนถูกบั่นทอนมาเป็นเวลากว่าสิบปี จะทำอย่างไรให้มันกลับมาดีดังเดิม สายบุรีลุคเกอร์จึงหยิบสิ่งใกล้ตัวมาทำให้คนเปิดใจคุยกันอีกครั้ง 
 
“เราเอานักศึกษาศิลปะมาวาดรูปตรงเมืองเก่า บ้านเก่าสไตล์บริติช มาลายา ด้วยความสงสัย เจ้าของบ้านที่เป็นคนจีนเขาก็เดินมาดู เปิดบ้านมาคุย เอาน้ำมาให้ดื่ม เกิดเป็นบทสนทนากันไปได้ยืดยาว ซึ่งไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นเลยหลายปีที่ผ่าน พอวาดเสร็จ เราก็เอาภาพนั้นไปจัดนิทรรศการ คนก็มาดูและมาพูดคุยกันอีก” อานัส ประธานสายบุรีลุคเกอร์ วัย 32 ปีกล่าว 
 
ย่านชุมชนชาวจีน (ย่านเมืองเก่า) สายบุรี
 
กิจกรรมวาดรูปก็ปูทางไปสู่กิจกรรมอื่นๆ อย่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เรื่องเล่าเกี่ยวกับตึกรามบ้านช่องเก่าๆ สไตล์บริติช มาลายา จากผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น และนำไปจัดนิทรรศการเรื่องประกอบภาพ และเอาลงเฟซบุ๊กเพจของกลุ่ม เกิดเป็นบทสนทนาไม่รู้จบของคนในพื้นที่ 
 
“เดี๋ยวนี้เราสามารถไปบ้านคนจีนได้ ไปจัดกิจกรรมในศาลเจ้าของคนจีนได้ เพราะคนจีนวางใจพวกเรา” อานัสกล่าว 
 
นักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ม.อ. ปัตตานี มาวาดรูปตึกเก่าสไตล์บริติช มาลายา ภาพโดย TEAOOR
 
อานัสกล่าวว่า เขาเลือกโฟกัสที่คนจีน เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ รัฐก็มุ่งให้ความช่วยเหลือคนมลายูเป็นหลัก คนจีนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งรู้สึกว่าถูกกดทับ เกิดความหวาดระแวง และย้ายออก “อย่างเวลาที่หน่วยงานรัฐอยากจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รัฐก็โฟกัสที่คนมลายูอย่างเดียว ตรงนี้ผมว่า คนจีนเขาก็น้อยใจเหมือนกัน” 
 
นักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ม.อ. ปัตตานี มาวาดรูปตึกเก่าสไตล์บริติช มาลายา ภาพโดย TEAOOR
 
อานัสเล่าว่า ก่อนความรุนแรงจะปะทุขึ้นในปี 2547 คนจีน และคนมลายูสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะเคารพในความแตกต่างของกันและกัน เช่น คนจีนจะไม่ใช้หัวหมูไหว้เจ้า ไม่เลี้ยงสุนัข และดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านเท่านั้น
 
สายบุรีลุคเกอร์ต่อยอดกิจกรรมวาดภาพเมืองเก่า โดยจัดกิจกรรม “คืนความสุขสายบุรี” (ซึ่งตั้งชื่อล้อนโยบายของคสช.) โดยการจัดกิจกรรมธีมย้อนอดีตไปยังยุคบริติช มาลายา ยุคที่อังกฤษมีอำนาจและอิทธิพลอย่างสูงต่อคาบสมุทรมลายูในช่วงศตวรรษที่ 18-20 ซึ่งเป็นยุคที่เมืองสายกำลังรุ่งเรืองและรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และยังมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมของย่านเมืองเก่า เป็นช่วงที่ความเป็นอังกฤษผสมผสานกับวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่นอย่างกลมกลืน พวกเขาจัดกิจกรรมโดยให้ผู้ร่วมงานแต่งกายแบบสมัยนิยมในขณะนั้น เช่น ถ้าเป็นชายก็นุ่งโสร่งกับเสื้อนอก ถ้าเป็นหญิงก็นิยมใส่ชุดบานง เป็นต้น  
 
งานคืนความสุข สายบุรี ซึ่งมีธีม บริติช มาลายา
 
“งานคืนความสุข สายบุรี เป็นงานที่ไฮไลท์ความหลากลายทางวัฒนธรรมของเมืองของเรา ซึ่งเห็นได้ชัดในยุคบริติช มาลายา ซึ่งก็คือกว่า 70 กว่าปีก่อนนี้เอง ตอนนั้นสามจังหวัดได้รับอิทธิพลจากตะวันตก แบบอังกฤษ ทั้งในแง่วิถีชีวิตแบบโมเดิร์น และแนวคิดประชาธิปไตยด้วย ผู้คนฟังวิทยุบีบีซีจากมาเลเซีย ส่งลูกไปเรียนที่ปีนัง คนมลายูตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้ลูก ใช้ชีวิตแบบโมเดิร์น และมีการแต่งกายแบบทันสมัย เราไม่ได้จะบอกว่า เราภูมิใจในความเป็นตะวันตก แต่มันคือสิ่งที่เราเคยเป็น” อานัสกล่าว 
 
อานัส เกิดและเติบโต เข้าโรงเรียนไทยมาตั้งแต่เด็กและไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ประมาณ 10 ปีเพื่อเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นกรุงเทพฯ จนถึงจุดอิ่มตัวกับชีวิตเมือง ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความไม่สงบทำให้รู้สึกห่างเหินและอยากกลับมาทำความรู้จักบ้านเกิดของตัวเองอีกครั้ง
 
“ตั้งแต่เล็กจนโต ผมเรียนโรงเรียนไทยมาตลอด ผมเรียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทยมากมาย แต่กลับไม่รู้จักพื้นที่ของตัวเอง รู้จักแต่ชาติภูมิ แต่ไม่รู้จักมาตุภูมิ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนหลังชนฝา ความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ของตัวเองมันหายไป” หนุ่มมาดเข้มกล่าว
 
งานคืนความสุข สายบุรี ซึ่งมีธีม บริติช มาลายา ผู้ร่วมงานแต่งกายแบบสมัยนิยมในขณะนั้น 
 
เมื่อถามว่า ในขณะที่กระแสคำว่า “ปาตานี” กำลังมาแรง ซึ่งเป็นการพูดถึงพื้นที่แห่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจว่า เคยเป็นอาณาจักรอิสลามที่รุ่งเรือง ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของสยามในยุคพุทธศตวรรษที่ 21 ทำไมเขาจึงเลือกพูดถึงประวัติศาสตร์ของเมืองสายบุรีแทนที่จะเป็นปาตานี อานัสกล่าวว่า “ปัญหาในสามจังหวัด คนกลุ่มหนึ่งพยายามโยงไปกับประวัติศาสตร์อายุ 300 กว่าปีก่อน แต่เราพยายามโยงกับประวัติศาสตร์ใกล้ตัวอายุไม่ถึง 100 ปีที่จับต้องได้ ปัญหาไม่ได้มีถึง 300 ปี หรอก แค่ 70 กว่าปีเท่านั้นแหละ และประวัติศาสตร์ใกล้ตัวก็มีความจริงกว่าประวัติศาสตร์ 300 ปี”  
 
“ตอนเป็นปาตานี มันก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่ แต่คนที่พยายามสร้างความรู้สึกชาตินิยมขึ้นมา กลับเลือกหยิบแต่มุมที่ว่าที่นี่มีแต่คนมลายูเพื่อแบ่งเขาแบ่งเรา แต่จริงๆ แล้ว พุทธมลายูก็มี คนจีนก็มี” อานัสกล่าว 
 
คฤหาสน์พิพิธภักดี ของตระกูลเจ้าเมืองสายบุรี แสดงถึงความรุ่งเรือง ในยุคที่สายบุรีเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองในปี พ.ศ. 2428 และต่อมากลายเป็นจังหวัดสายบุรีในปี 2444 ก่อนถูกยุบเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานีในปี 2475
 
“ถ้าคนเลือกหยิบประวัติศาสตร์มาแค่ด้านใดด้านหนึ่ง มันก็ไม่ต่างจากโฆษณาชวนเชื่อหรอก เราควรเล่าถึงประวัติศาสตร์ของเราอย่างแฟร์แฟร์ ไม่ใช่ไปพูดแล้วไปเหยียดอีกฝ่าย ถ้าทำแบบนี้มันก็ไม่ต่างจากอีกฝ่ายหรอก ด้านลบของตัวเองก็ต้องหยิบมาพูดเหมือนกัน มันเป็นประวัติศาสตร์ มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว มันควรถูกหยิบมาพูดอย่างตรงไปตรงมาได้”
 
เมื่อถามว่า สายบุรีลุคเกอร์มีข้อเสนอทางการเมืองหรือไม่ อานัสบอกว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะแสดงข้อเสนอ สิ่งสำคัญก่อนไปถึงจุดนั้นคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และเปิดพื้นที่ให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน “บางทีผมว่ามันก็ข้ามขั้นเกินไป ไปคุย ไปเสวนากันเวทีใหญ่ๆ ศัพท์แสงยากๆ เต็มไปหมด ส่วนตาสีตาสาไม่ได้ส่งเสียงเลย ได้ถามพวกเราบ้างหรือเปล่าว่าเราคิดอย่างไร” 
 
หนุ่มมาดเข้มซึ่งภูมิใจในความเป็นสายบุรีมาก กล่าวส่งท้ายว่า “กระบวนการสันติภาพควรเริ่มจากการที่คนในพื้นที่มาคุยกันก่อน ปลดล็อกความหวาดระแวงกัน เลิกแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วค่อยขยับไปพูดคุยกันเรื่องใหญ่โต” 
 
 
จุนกุ๋ย แซ่เกียง อายุ 67 ปี 
ชาวสายบุรี เชื้อสายจีนฮกเกี้ยน เปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างฟูตุ่นเสง ที่สายบุรี 
 
“มาอยู่ที่ไทยเป็นรุ่นที่สามแล้ว บรรพบุรุษมาลงเรือนที่บ้านบางเก่า ทำปลาแห้งส่งขายสิงคโปร์ แล้วก็ย้ายมาสายบุรี” 
 
“มีเพื่อนเป็นคนมลายูเยอะ ก็เข้าออกบ้านกันได้ตลอดเวลา แล้วแม่ก็เอาหลักศาสนาอิสลามมาสอนลูกด้วย เพราะตอนแม่มาจากเมืองจีนก็ไม่ได้มีศานาอะไรมา ก็มาซึมซับเอาที่นี่” 
 
“พูดมลายูได้ ใช้ขายของกับคนมลายู แม่สอนภาษามลายูให้ ให้พูดมลายูแบบเพราะๆ กับลูกค้า ส่วนแม่ก็พูดได้แต่มลายูกับจีน” 
 
“เวลาเดือนรอมฎอน แม่ก็จะสอนให้เตรียมน้ำตาลทรายไว้ทำขนมหวาน เอาไว้ให้เพื่อนมุสลิมทานเวลาออกศีลตอนกลางคืน 
 
“ถึงมีความรุนแรง สำหรับเพื่อนมุสลิมที่สนิท ก็ยังสนิทต่อไป” 
 
“ไม่คิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะที่นี่คือบ้าน” 
 

แว้งที่รัก: ความรุนแรง เก็บรักษาความงาม 

 

ทะเลหมอกยามเช้า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ที่ผู้รักธรรมชาติจะมาถ่ายรูปและเฝ้าดูนกเงือก 
 
แว้งเป็นพื้นที่ที่ยังห่างไกลความเจริญอยู่มาก เพิ่งมีเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาแรกไม่นาน ไม่มีปั๊มน้ำมันและโรงแรมเลยสักแห่งเดียว ต่างจากสายบุรี อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นอำเภอสีขาว มีความรุนแรงน้อยมากเช่นเดียวกับอำเภอชายแดนอื่นๆ แต่ผู้คนที่นี่ก็ตกอยู่ในภาวะความกดดันจากความรุนแรงไม่ต่างกัน
 
นิรันดร เลาะนะ หรือ ยี และ สุไลมาน เจ๊ะแม หรือ ลี คือสองหนุ่มผู้รักในอำเภอบ้านเกิด ที่พยายามนำเสนอความสวยงามของแว้ง ทั้งในด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อให้คนในชุมชนรู้ว่สึกา ชีวิตยังมีด้านสวยงามอยู่ 
 
สุไลมาน (นั่ง) และ นิรันดร (ยืน) ถ่ายรูปกับช้าง เพื่อจำลองชีวิตของชาวมลายูในอดีต โดยเฉพาะในอำเภอแว้ง ว่ามีชีวิตอยู่กับช้าง ณ ป่าที่สุไหงปาดี อำเภอเพื่อนบ้านของแว้ง Photo by Wan Fazri
 
ความเคยชินต่อความรุนแรงและการถูกกดทับ ทำให้ชาวมลายูใช้ชีวิตอยู่กับความรุนแรงไปได้วันต่อวัน แต่จริงๆ แล้วนั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรที่เป็นปกติ 
 
“บ้านผมมีเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องมาหลายสิบปี เหตุการณ์พวกนี้มันสะสมในความรู้สึกของคน ทำให้คนในพื้นที่เป็นโรคจิต เป็นผู้ป่วย แม้แต่ตัวผมเอง ก็รู้สึกว่าเป็นผมป่วย ตั้งแต่เด็ก ผมจะเดินไปดูคนที่ถูกยิงตายหน้าอำเภอ ช่วงนึงมีศพมาวางหน้าอำเภอทุกวัน เห็นจนเฉยๆ มันชินชา” นิรันดร อดีตผู้เขียนบทภาพยนตร์และละคร และผู้กำกับที่มีประสบการณ์โชกโชน กล่าว 
 
ทั้งสองจึงพยายามเสนอเรื่องแว้งและอำเภอข้างเคียงในภาพอื่นๆ เป็นการใช้ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงามเป็นตัวบำบัดความตรึงเครียดจากความรุนแรง
 
"แท็กซี่ช้าง" เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวแว้ง ในยุคที่มีผู้คนมากหน้าหลายตา หลากสัญชาติ มาทำเหมืองทอง ก่อนเกิดสงครามอินโดจีน Photo by Wan Fazri
 
นิรันดร อดีตผู้ช่วยผู้กำกับมือหนึ่งของ “ท่านมุ้ย” ในคราวถ่ายภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ได้ผลิตหนังสั้น “แว้งที่รัก” ความยาว 12 นาที ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ แว้งที่รัก ซึ่งเขียนโดย ชบาบาน เล่าเรื่องของเด็กหญิงไทยพุทธคนหนึ่งที่มาเติบโตที่อำเภอแว้งเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว 
 

หนังสั้น แว้งที่รัก พูดถึงความสัมพันธ์ของเด็กหญิงไทยพุทธและมุสลิม ที่สะท้อนภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี 
 
นอกจากหนังสั้นแล้ว เขายังจัดค่ายสอนเยาวชนในพื้นที่ทำหนังสั้น ตั้งแต่เขียนบท ถ่ายทำและตัดต่อ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ได้แสดงถึงความคิด ความรู้สึกของตนเองออกมาผ่านงานหนัง  
 
งานอีกชิ้นที่ทั้งสองร่วมกันผลิต คือหนังโฆษณาการท่องเที่ยวสามจังหวัด ซึ่งสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต่างจากโฆษณาการท่องเที่ยวอื่นๆ ที่จะเน้นสถานที่ที่เป็นไอคอนของจังหวัด สุไลมานเลือกนำเสนอ “ปาตานี” โดยไม่มีเส้นเขตแดนจังหวัด มองพื้นที่ด้วยลักษณะร่วมทางนิเวศวัฒนธรรม แล้วให้ผู้ชมไปค้นหาต่อเองว่า สถานที่นั้นคือที่ไหน และในการพยายามเล่าเรื่องพื้นที่ของตัวเองนี่เอง พวกเขาต้องพบเจออคติและภาพเหมารวมจาก “คนนอก”  
 

Journey in Patani ยาวหน่อย แต่อยากให้อ่านนะครับวิดีโอชิ้นนี้ เป็นงานโฆษณา ของ ททท.สำนักงานนราธิวาส ที่ดูแลกำกับการท่องเที่ยว 3 จว ชายแดนใต้ โดยมี บังยี Nirundorn Loknaเป็น โปรโมเตอร์ประสานงานจัดหาทุนจาก ททท และมีบังบรี Mahamasabree Jehlohเป็น ช่างภาพ ตัดต่อ ขับรถ และผมเอง ร่วมคิดบท ค้นหาสถานที่ เป็นโปรดิวเซอร์ และร่วมเดินๆ วิ่ง ๆ ในวิดีโอชิ้นนี้ รวมไปถึงเพื่อนกินยันตาย อย่าง Anattata Naser Havilator Cucu ที่มาร่วมช่วยกันให้สำเร็จขึ้นนมา คลิปนี้ใช้เวลาตระเวนถ่ายทำ 6-7 วัน ไปในสถานที่เกิน 50 แห่ง ( มีอีกหลายที่ๆถ่ายมาแล้วไม่ได้เอาลง) แล้วก็ยังมีสถานที่ๆสวยมากๆ อีกหลายที่ ที่อยู่ในลิสต์ แต่ด้วยเวลา/ งบประมาณที่เป็นข้อจำกัดจึงทำให้ คลิปออกมาได้แบบนี้ ความจริงถ้าจะไปถ่ายสถานที่ในใจให้ได้ทั้งหมดคงต้องใช้เวลาซัก 2 เดือน วัดแสง วัดลม ให้สวย เหมาะกับการถ่ายทำ ที่ใช้คำว่า Journey in Patani เราอยากสื่อถึงคำว่า ปาตานี อันหมายถึง พื้นที่ใน 3จวแห่งนี้ มาใช้แทน โดยไม่มีเส้นแบ่งเขตจังหวัดมาแบ่งเขตพื้นที่อันมี นิเวศ ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา สิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างนี้ ..... ผมในฐานะที่เป็นคนชอบเดินทาง ไปไหนมาไหนมีโอกาสเห็นของสวยๆงามๆ ในที่แห่งนี้ มีไอเดียอยากทำแบบนี้โดยมีคลิปของฝรั่งนักเดินทาง รอบโลก เป็นต้นแบบ ตลอดเวลาที่เราไปถ่ายทำเราสนุกกันมากครับ ตื่นเต้น ปนประทับใจ เพราะบางที่ก็เป็นครั้งแรกของพวกเราเช่นกัน แต่กว่าที่คลิปนี้จะออกมาถูกใจเพื่อนหลายคนๆ เบื้องหลังก็มีเรื่องราว บ้าบอ ขมเปรี้ยวอยู่ ... บนการเดินทางของเราด้วยรถเก๋งคันเก่าๆ กับเราทีม งาน 2-3คน อุปกรณ์ถ่ายทำ เสื้อผ้า ของใช้เต็มคันรถ เราถูกเจ้าหน้าที่ๆมีปืนที่เอว มีเสื้อเกราะที่อก มีหมวกเหล็กสวมบนหัว และมีความอคติ กับพวกเราก้อนใหญ่อยู่ในหัวใจ แน่นอนล่ะพวกเค้าเป็นคนนอกพื้นที่กันทั้งนั้น โบกสกัดตามด่าน เป็น 10 ครั้ง มีอยู่2-3 ครั้ง ต้องโดนค้นของกันทั้งคันรถ( แบบระเนระนาด ) ถูกคำถามเชิง เย้ยหยัน ประชดประชด เข้ามา เพียงแค่เรา มีหน้าตา สารรูปแบบนี้ ( แบบคนที่ๆเกิดที่นี่และโคตรเหง้าเป็นคนที่นี่ ตกลง เราหรือเขาที่เป็นแขก ? ) เราก็ต้องตอบไปตามวาระโดยมีหลักฐานยืนยัน จาก ททท. ที่เป็นกระดาษแผ่นนึง ว่าเรามาถ่ายทำงานนี้ให้กับ ททท. นะเว้ย ไม่ได้มาสอดแนม มาแอบถ่ายอะไรทั้งสิ้น รวมไปถึง การเข้าไปถ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวบางที่ไม่ได้ เอ่อ..หัวหน้าผู้ดูแล ก็เป็นข้าราชการมาจากนอกพื้นที่อีกเช่นกัน ซึ่งมันช่างแตกต่างกันมากกับเวลาที่เราเข้าไปถ่ายในวัด ถ่ายในศาลเจ้า บ้านคนจีน เพียงแค่ผมทักทาย สวัสดี ขออนุญาตด้วยวาจา ทุกท่านที่เป็นผู้ดูแลหรือเจ้าของสถานที่ ต่างให้เราเข้าไปทำงานกันอย่าง สบายใจฉิว ทำงานไปดูดใบจากไป พูดง่ายๆ คือ คนในกันเองไม่เห็นจะมีอะไรเลย มีแต่คนนอกนี่แหละที่เป็นปัญหา จุ้นจ้านขวางทางไปเสียหมด ...... ปล่อยให้คนในได้จัดการ ได้เล่าเรื่องราว ภายใต้แว่นและความรู้สึกของคนในเถิดครับ มันยังมีเรื่องราว ที่น่าสนใจอีกมากมาย เหมือนที่คลิปชิ้นนี้กำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ปล.. ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับเพื่อนพี่น้องทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ขอบคุณสำหรับดอกไม้ และ ขอเอาหัวหลบสำหรับก้อนอิฐ แล้วเจอกันใหม่นะครับ #ไอเดียมีอยู่เต็มปอดแต่งบเรามีอยู่เท่าหางมด ใครชอบแล้วอยากช่วยเรายินดีมากกกกนะครับ

Posted by Simba Anda on Tuesday, 30 June 2015

 
“บนการเดินทางของเราด้วยรถเก๋งเก่าๆ กับพวกเราทีมงานสองสามคน อุปกรณ์ถ่ายทำ เสื้อผ้า ของใช้เต็มคันรถ เราถูกเจ้าหน้าที่ที่มีปืนที่เอว มีเสื้อเกราะที่อก มีหมวกเหล็กสวมบนหัว และมีอคติกับพวกเราก้อนใหญ่อยู่ในหัวใจ แน่นอนล่ะพวกเขาเป็นคนนอกพื้นที่กันทั้งนั้น โบกสกัดตามด่านเป็น 10 ครั้ง มีอยู่สองสามครั้งที่ต้องโดนค้นของกันทั้งคันรถ (แบบระเนระนาด ) ถูกถามคำถามเชิงเย้ยหยัน ประชดประชดเข้ามา เพียงเพราะแค่เรามีหน้าตาสารรูปแบบนี้ (แบบคนที่ที่เกิดที่นี่และโคตรเหง้าเป็นคนที่นี่ ตกลงเราหรือเขาที่เป็นแขก?) เราก็ต้องตอบไปตามวาระโดยมีหลักฐานยืนยันจาก ททท. ที่เป็นกระดาษแผ่นนึง ว่าเรามาถ่ายทำงานนี้ให้กับ ททท. นะเว้ย ไม่ได้มาสอดแนม หรือมาแอบถ่ายอะไรทั้งสิ้น รวมไปถึง การเข้าไปถ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวบางที่ไม่ได้ เอ่อ หัวหน้าผู้ดูแล ก็เป็นข้าราชการมาจากนอกพื้นที่อีกเช่นกัน ซึ่งมันช่างแตกต่างกันมากกับเวลาที่เราเข้าไปถ่ายในวัด  ถ่ายในศาลเจ้า บ้านคนจีน เพียงแค่ผมทักทาย สวัสดี ขออนุญาตด้วยวาจา ทุกท่านที่เป็นผู้ดูแลหรือเจ้าของสถานที่ต่างให้เราเข้าไปทำงานกันอย่างสบายใจฉิว ทำงานไปดูดใบจากไป พูดง่ายๆ คือคนในกันเองไม่เห็นจะมีอะไรเลย มีแต่คนนอกนี่แหละที่เป็นปัญหา … ปล่อยให้คนในได้จัดการ ได้เล่าเรื่องราว ภายใต้แว่นและความรู้สึกของคนในเถอะครับ มันยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย เหมือนที่คลิปชิ้นนี้กำลังทำหน้าที่ของมันอยู่” สุไลมานเขียนถึงเบื้องหลังการทำงานครั้งนั้น 
 
นอกจากการทำหนังสั้นแล้ว สุไลมานยังทำกิจกรรมส่งเสริมดนตรีและกีฬาพื้นบ้านที่กำลังจะหายสาบสูญไป เช่น ตารีอีนา ปัญจักสีลัต และการเล่นกลองบานอและกรือโต๊ะ  โดยเฉพาะกลองกรือโต๊ะ ซึ่งมีอยู่แค่ที่แว้งและสุไหงปาดีเท่านั้น 
 
คณะดาวทองสาธิตการเล่นกลองกรือโต๊ะ ซึ่งเคยเป็นที่นิยมเล่นมากใน อ.แว้ง อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส 
 

คณะดาวทองสาธิตการเล่นกลองบานอ ซึ่งเคยเป็นที่นิยมเล่นมากใน อ.แว้ง อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส 
 
“วัฒนธรรมมลายูกำลังจะหมดไป เพราะผู้ปกครองอย่างรัฐไทยนั้นไม่เข้าใจและใส่ใจที่จะดูแลวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำแค่แบบฉาบฉวย ทำให้ผมรู้สึกว่า เราต้องลุกขึ้นมาพูดเรื่องวัฒนธรรมตัวเองแล้ว” สุไลมาน หนุ่มแว้ง วัย 32 ปีกล่าว “รัฐทุ่มเงินด้านความมั่นคง จนลืมเรื่องศิลปะวัฒนธรรม และคนที่กำกับดูแลด้านนี้ก็เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่ใช่คนที่นี่ ก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ลึกซึ้ง ไม่มีใจรักเหมือนคนในพื้นที่ เวลาจัดงานก็ดูบูดๆ เบี้ยวๆ ไม่ถูกต้องตามครรลอง คือมีแต่เอาเงินมาจัดงานแต่ไม่ได้ใส่ใจจริงจัง จริงๆ รัฐควรแค่สนับสนุน แล้วให้คนพื้นที่จัดการเองและให้มีส่วนร่วมมากที่สุด” 
 
สุไลมาน (ซ้าย) กับครูกลองกรือโต๊ะ และบานอ จากคณะดาวทอง แห่ง แว้ง
 
อย่างไรก็ตาม สุไลมานก็มองว่า ความรุนแรงก็ได้ทำให้คนนอกพื้นที่หันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมสามจังหวัดเช่นกัน เพราะพื้นที่นี้ถูกจับตามองมากขึ้น “เวลามีงานประกวดงานศิลปะ แล้วมีผลงานเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนมลายูส่งเข้าประกวด ก็จะได้รับความสนใจมากกว่าแต่ก่อน ทำให้อัตลักษณ์ของเรามีเสียงดังขึ้น เหมือนมีดอกบัวโผล่ขึ้นมาท่ามกลางกองเลือด”
โชคชัย อนุกูล (โกจิ๊) 
ชาวสายบุรี เชื้อสายจีนไหหลำ เจ้าของร้านถ่ายรูป เนรมิตร 
 
“ร้านนี้เป็นร้านถ่ายรูปที่เก่าแก่ที่สุดในสายบุรี อายุมากกว่าแปดสิบปี  ร้านถ่ายรูปแต่ก่อนเป็นงานฝึมือที่ยุ่งยาก แต่เดี๋ยวนี้ง่ายดาย ใช้คอมพิวเตอร์แป๊บเดียวเสร็จ” 
 
“ผมนี่พูดจีนได้แค่บางคำ แต่พูดมลายุได้ระดับสื่อสารในชีวิตประจำวัน ฝึกภาษามลายูจากการฟังคนมลายูพูดแล้วจำเอา ผมมีเพื่อนเป็นคนมลายูมากกว่าคนไทยด้วยซ้ำ คนมลายูนั้นมีนิสัยจริงใจมาก ถ้ารักใครรักจริง”
 
 “ลูกค้าเป็นมลายูกว่า 80 เปอร์เซนต์ ลูกค้าคนเก่าคนแก่ก็จะพูดภาษาไทยไม่ได้ เราก็ต้องพูดมลายูได้ แต่ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็พูดไทยได้” 
 
“ตั้งแต่มีความไม่สงบ ก็ยังค้าขายได้เหมือนเดิม แต่มีความหวาดระแวงบ้างกับคนบางกลุ่ม แต่คนที่เรารู้จักก็ยังเหมือนเดิม” 
 
“ผมไปรับจ้างถ่ายรูปนักเรียนตามปอเนาะ เหมาทั้งโรงเรียน ต้องเดินทางไปในจุดที่ค่อนข้างชนบท ห่างไกล นอกเมือง แต่ก็พยายามไม่กลัว เพราะเราคิดว่า เราคลุกคลีกับคนที่นี่เยอะ เขารู้ว่าเราเป็นใคร เขาวางใจเรา” 
 
เพื่อนสนิทของโกจี๊ ซึ่งเป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนสอนศาสนา มาหาโกจี๊ที่ร้าน
 
“มีคนจีนย้ายออกไปเพราะกลัว จะว่าไป จริงๆ ก็น่ากลัวมาก แต่คิดว่า ถ้ายิ่งกลัวก็ยิ่งอยู่ยาก” 
 
“เคยมีระเบิดห่างจากบ้านไปแค่หกร้อยเมตร และมีเพื่อนตายไปสามคน เป็นคนจีนสองคน คนไทยเชื้อสายจีนหนึ่งคน ตอนนั้นก็กลัว คือ เราไม่สามารถรู้ได้ว่า เราจะโดนกับตัวเมื่อไหร่” 
 
“ขบวนการที่นี่ไม่มีหัว ไม่รู้ใครเป็นหัวหน้ากลุ่ม เลยไม่รู้ว่า การเจรจาจะไปทางไหน ถ้าจะมีผู้ปกครอง จะเป็นใคร เป็นอย่างไง” 
 
“เวลาผ่านด่าน ทหารเห็นหน้าเราเป็นคนจีน ก็กวักมือให้ผ่านๆ ไปเลย นี่ถ้าผมมีอาวุธนี่มันง่ายดายมาก”
 
“อยากให้มีสันติภาพในพื้นที่ แต่ก็คงอีกนาน อีกสิบปีก็ไม่รู้ว่าจะสงบไหม”  
 
มูฮำหมัด ดือราแม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ช่วยเหลือในการทำรายงานข่าวชิ้นนี้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท