Bersih 4.0 คืนสุดท้าย-นับถอยหลังสู่วันฉลองเอกราช: ข้อสังเกตจากผู้สื่อข่าว

บรรยากาศชุมนุม Bersih 4.0 คืนสุดท้าย ทีบริเวณรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้า กัวลาลัมเปอร์

บรรยากาศชุมนุมช่วงกลางวัน ของวันที่ 30 ส.ค. ผู้ชุมนุมรวมกลุ่มเคาะเครื่องดนตรี และตะโกนคำขวัญเป็นภาษามลายูว่า "Hidup Rakyat" หรือ "ประชาชนจงเจริญ"

30 ส.ค. 2558 - ผู้สื่อข่าวรายงานคลิปบรรยากาศการชุมนุม Bersih 4.0 ช่วงค่ำวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งเป็นการชุมนุมคืนสุดท้าย ก่อนที่จะสลายตัวหลังเวลาเที่ยงคืนเข้าสู่วันเมอเดก้า หรือวันฉลองการได้รับเอกราชของมาเลเซีย ครบรอบปีที่ 58

โดยรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้าซึ่งเป็นเวทีหลัก บริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีผู้ชุมนุมทำเวทีย่อยหลายจุด รวมทั้งที่สถานีรถไฟฟ้า LRT มัสยิดจาเม็ก อาคารเทศบาลกัวลาลัมเปอร์หลังเก่า ก็มีเวทีย่อยเช่นกัน จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวมีเวทีย่อยรอบเวทีใหญ่อย่างน้อย 4 เวที

ประมวลภาพชุมนุม Bersih 4.0 ช่วงกลางวัน วันที่ 30 สิงหาคม 2558

ผู้ชุมนุม Bersih 4.0 ในช่วงกลางวันของวันที่ 29 ส.ค. บริเวณสถานีรถไฟ LRT มัสยิดจาเม็ก มุ่งไปทางอาคารที่ทำการเทศบาลกัวลาลัมเปอร์หลังเก่า (ที่มา: ประชาไท)

หน้ากากกายฟอว์กส์เป็นสินค้าที่มีขายในที่ชุมนุมเช่นกัน (ที่มา: ประชาไท)

มีผู้ชุมนุมถือป้ายขอให้ช่วยกันลดการใช้แตรวูวูเซลา เนื่องจากรบกวนการฟังคำปราศรัย

ผู้ชุมนุมชวนนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก มาส่องกระจก

ลานหน้าจัตุรัสเมอเดก้า

ชาวโอรัง อัสลี หรือชาวเงาะ รวมชุมนุม Bersih 4.0 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.

ผู้ชุมนุมซึ่งใช้วีลแชร์เข้ามาร่วมชุมนุม Bersih 4.0

สตาฟท์ Bersih ชักชวนผู้ชุมนุมสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยทำงานอำนวยความสะดวกในที่ชุมนุม โดยจะแบ่งเวลาทำงานเป็นออกเป็นกะย่อย เพื่อให้อาสาสมัครสามารถเลือกช่วงเวลาที่สะดวกทำงานอาสาสมัครได้

ผู้ชุมนุมร่วมกันเป็นอาสาสมัครเก็บขยะ

 

ประมวลภาพชุมนุม Bersih 4.0 คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2558

บรรยากาศคืนชุมนุมวันสุดท้าย วันที่ 30 ส.ค. 2558 บริเวณรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้า (ที่มา: ประชาไท)

ข้อสังเกตจากภาคสนาม เวทีย่อยเป็นแบบไหน จัดการอย่างไร ใครคือผู้ร่วมชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีย่อยทำขึ้นแบบง่ายๆ ใช้ท้ายรถ หรือต่อเวทีขนาดเล็กๆ พอสำหรับขึ้นไปยืนปราศรัย "คนก็จะเดินไปเดินมาเหมือนม็อบ เหลืองแดงบ้านเรา และจะหยุดตามเวทีย่อยเป็นกล่มใหญ่" ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกต โดยตามทางแยก หรือจุดสำคัญ จะมีอาสาสมัคร คอยจัดการเส้นทางจราจร คอยจัดการขยะ บ้างก็ตั้งกลุ่มแจกน้ำดื่ม

"การชุมนุมครั้งนี้ มีอาสาสมัครจำนวนมากและมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เฉพาะฝ่ายลอจิสติกส์ก็มีอาสาสมัครกว่า 200 คนแล้ว นอกจากนี้หลังเลิกการชุมนุมยังพบอาสามัครช่วยกันเก็บขยะบนถนนอย่างจริงจัง" ผู้สื่อข่าวระบุ

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมในคืนสุดท้าย เป็นไปอย่างราบรื่นและผ่อนคลาย ผู้คนออกมาเดินไปเดินมาเต็มถนน โดยผู้ชุมนุมสัดส่วนใหญ่เป็นไปตามที่สื่อมวลชนหลายแห่งวิเคราะห์ นั่นคือผู้ชุมนุมกลุ่มหลักเป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งร่วมชุมนุมเบอเซะหนนี้เป็นสัดส่วนที่มากกว่าการชุมนุมหลายครั้งก่อน ขณะที่มีเชื้อชาติอื่นรองๆ ลงมาคือมลายู และทมิฬ รวมทั้งชาติพันธุ์อื่นๆ ในมาเลเซีย

นอกจากนี้ในช่วงค่ำจะมีคนทมิฬ มาร่วมชุมนุมในจำนวนที่มากขึ้นกว่าช่วงกลางวันซึ่งเป็นเวลาทำงาน ส่วนรอบเวทีย่อยต่างๆ จะมีกลุ่มคนนั่งฟังปราศัยเป็นกลุ่มใหญ่

 

ลมตะวันออก: บทเพลงการปฏิวัติร่ม จากฮ่องกงถึงกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้บางเวทีย่อยจะเห็นอิทธิพลจากการปฏิวัติร่มของฮ่องกงแพร่มาถึงแหลมมลายูฝั่งตะวันตกเช่นกัน โดยเวทีย่อยจุดหนึ่ง ผู้ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันส่องไฟฉายที่ดัดแปลงจากสมาร์ทโฟนของตน และร่วมกันร้องเพลง "เชิงฉี่หวีส่าน" (撐起雨傘) หรือ  "Hold Up The Umbrellas" แปลเป็นไทยว่า "ชูร่มขึ้นมา" ซึ่งเป็นเพลงภาษาจีนกวางตุ้ง แต่งโดยอัลเบิร์ต เหลือง และ "ปัน" ในสมัยการปฏิวัติร่มของฮ่องกงเมื่อปี 2557 ด้วย (ชมคลิป)

โดนตอนหนึ่งของท่อนฮุกแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ชูร่มขึ้นมาแล้วไปด้วยกัน อดทนร่วมกัน แม้เราจะกังวลใจ แต่พวกเราไม่โดดเดี่ยวใช่ไหม?" "ชูร่มขึ้นมาแล้วไปด้วยกัน, อดทนร่วมกัน, ต่อสู้อย่างกล้าหาญ สู้ในสิ่งที่เราเรียกร้อง เธอกลัวไหม?" (เนื้อฉบับเต็ม)

อีกเพลงหนึ่งคือเพลง "ฮอยฟัดทินฮุง" (海闊天空) หรือ "Boundless Oceans, Vast Skies" แปลเป็นไทยว่า ""ทะเลสุดลูกหูลูกตาท้องฟ้ากว้าง" หรือ "ใต้ฟ้ากว้าง" เป็นเพลงจีนกวางตุ้งแต่งมาตั้งแต่ปี 2536 โดยศิลปินร็อคฮ่องกงวง "Beyond" เนื้อหาของเพลงมีความหมายถึงความฝันและเสรีภาพ (ชมคลิป)

"ถ้าฉันยังคงมีเสรีภาพและเป็นตัวของฉันเอง ฉันจะร้องเพลงด้วยเสียงอันดัง และเดินทางไกลพันลี้" ท่อนหนึ่งของเพลงระบุ ซึ่งเพลงนี้ถูกนำมาร้องในการชุมนุมปฏิวัติร่มของฮ่องกงในปี 2557 เช่นกัน (เนื้อฉบับเต็ม)

และในเวลาเที่ยงคืนผู้ชุมนุมร่วมกันนับถอยหลังเข้าสู่เวลาเที่ยงคืนของวันใหม่ ซึ่งเป็นวันรำลึกการได้รับเอกราช ร่วมกันร้องเพลงชาติมาเลเซีย "เนอการากู" ก่อนสลายการชุมนุมโดยสงบ

000

ประมวลภาพชุมนุม Bersih 4.0 คืนวันที่ 30 ส.ค. 2558

บรรยากาศคืนชุมนุมวันสุดท้าย วันที่ 30 ส.ค. 2558 บริเวณรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้า (ที่มา: ประชาไท)

ชุมนุมเบอเซะ 4 ครั้ง หนนี้จบลงเรียบร้อย ผิดกับก่อนหน้านี้

สำหรับ พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih แปลว่า สะอาด ในภาษามลายู) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งในมาเลเซีย เช่น ให้ปรับปรุงระเบียบการเลือกตั้ง ให้ปฏิรูประบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนน อนุญาตให้ทุกพรรคการเมืองเข้าถึงสื่อสารมวลชน และยุติการเมืองสกปรก

โดยการชุมนุม "Bersih" ครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ย. 2550 การชุมนุม "Bersih 2.0" เมื่อ 9 ก.ค. ปี 2554 ส่วนการชุมนุม "Bersih 3.0" เกิดขึ้นเมื่อ 28 เม.ย. 2555 โดยทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย

โดยการชุมนุม Bersih 4.0 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเที่ยงคืนวันที่ 30 ส.ค. นั้น ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกสื่อมวลชนกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยการชุมนุม Bersih 4.0 เกิดขึ้น 3 แห่งทั่วประเทศมาเลเซีย ได้แก่ที่กัวลาลัมเปอร์ บนฝั่งคาบสมุทร และกูชิง รัฐซาราวัก และโกตา กินาบาลู รัฐซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว

 

เรื่องเหนือความคาดหมายเมื่อ 'มหาธีร์' มาดูเบอเซะ
ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมอดีตคู่ปรับบอก คนออกมาชุมนุมวันนี้-เพราะปัญหาที่มหาธีร์สร้างเอาไว้

ทั้งนี้มีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 และ 30 ส.ค. อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 มหาธีร์ โมฮัมหมัด ซึ่งครองอำนาจมาอย่างยาวนานระหว่างปี 2524 - 2546 คู่ปรับคนสำคัญของพรรคฝ่ายค้าน เดินทางมาในที่ชุมนุมด้วย ในวันที่ 29 ส.ค. และ 30 ส.ค. เพื่อให้กำลังใจผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้สนับสนุนกลุ่มเบอเซะ และเขาเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก ลงจากตำแหน่ง

จากปฏิกิริยาของผู้นำการชุมนุม Bersih ที่หลายคนเคยเป็นอริกับอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียผู้นี้นั้น เดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ รายงานว่า มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ประธานองค์กร Bersih 2.0 กล่าวเพียงว่า ไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าจะเห็นมหาธีร์ "ฉันไม่ได้คาดหมายมาก่อน แต่มหาธีร์บอกว่ากำลังคิดอยู่ว่าจะมา แสดงว่าเขาคิดเร็วมาก"

ด้านคณะกรรมการ Bersih 2.0 หนิว ซินเยียว (New Sin Yew) กล่าวว่า ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าร่วมการชุมุนม Bersih และจะไม่มีการเลือกปฏิบัติกับใครก็ตามไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม "ที่นี่เป็นสถานที่สาธารณะ เราไม่เลือกปฏิบัติกับใคร เราต้อนรับทุกคน"

(ซ้าย) มหาธีร์ โมฮัมหมัด ในวัย 90 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย และภรรยา เข้ามาเยี่ยมผู้ชุมนุม Bersih 4.0 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 ขณะที่คนที่ช่วยอำนวยความสะดวกพามหาธีร์ฝ่าฝูงชน คือคู่ปรับเก่าอย่าง "ฉัว เทียนชาง" ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พรรคยุติธรรมประชาชน หรือ PKR ทั้งนี้ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" สมัยที่เพิ่งตั้งพรรคฝ่ายค้าน เคยถูกตำรวจมาเลเซียทุบและควบคุมตัวเมื่อเดือนเมษายนปี 2542 (ขวา) (ที่มา: มาเลเซียกินี)

อีกเรื่องที่เหมือนตลกร้ายก็คือ ผู้ที่ช่วยพา 'ผู้เฒ่า' มหาธีร์ โมฮัมหมัดฝ่าฝูงชนเข้ามาในจัตุรัสเมอเดก้า ก็คือ ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" ส.ส.ฝ่ายค้านพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) ทั้งนี้ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2544 เทียนฉัว เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) มาแล้ว โดยเขาถูกรัฐบาลมหาธีร์กล่าวหาว่า เตรียมการทำหลายอย่าง เตรียมโค่นรัฐบาลด้วยการใช้ "ระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด ระเบิดขวด สะเก็ดลูกปืน และอาวุธอันตรายอื่นๆ"

เทียนฉัว กล่าวถึงโอกาสที่เขาได้พบมหาธีร์ว่า "ผมมีโอกาสที่จะได้พบกับเขา และได้จับมือ แต่ว่าไม่มีเวลามากพอที่จะได้สนทนากัน"

เขากล่าวด้วยว่า "มหาธีร์มีสิทธิที่จะแสดงออกว่าเขาสนับสนุน (ฺBersih 4.0) แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะลืมไปว่าส่วนหนึ่งของปัญหาทุกวันนี้ก็มาจากระบบที่มหาธีร์สร้างขึ้น ในขณะที่พื้นที่ประชาธิปไตยกลับถูกปิดลง" เทียนฉัวกล่าวต่อว่า "ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประชาชนต้องลุกฮือกันในวันนี้" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวมาเลเซียกินี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท