คอลัมนิสต์ FPIF ชวนจับตาเลือกตั้งชี้ชะตา 4 ประเทศยุโรปกับมาตรการ 'รัดเข็มขัด'

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 คอนน์ แฮลลินัน คอลัมนิสต์เว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศเขียนบทความถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใน 4 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงเดือน เม.ย. ปีหน้า ซึ่งมีความสำคัญต่อประเด็นเรื่องภาวะหนี้สินของประเทศต่างๆ รวมถึงการต่อสู้ระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรคฝ่ายขวาที่เริ่มชูแนวคิดการหวาดกลัวคนนอกประเทศอย่างไม่มีเหตุผล

บทความของแฮลลินันเท้าความถึงภาวะหนี้สินในบางประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ถูกมองว่าเป็น "ตราบาป" ที่ต้องการ "การไถ่บาป" โดยนโยบายรัดเข็มขัด (austerity) ซึ่งเป็นนโยบายที่เอาเปรียบกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในสังคม และถือเป็นการปัดความรับผิดชอบโดยกลุ่มธนาคาร นักเก็งกำไร และบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ให้คนจนต้องชดใช้หนี้สินแทนพวกเขา

แฮลลินันชี้ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สินในบางประเทศของยุโรปอย่างเช่นกรีซด้วยนโยบายรัดเข็มขัดเป็นสิ่งเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาช่วงคริสตทศวรรษที่ 1990s ที่มีการสั่งลดงบประมาณรัฐ มีการลอยแพพนักงานจำนวนมาก และเพิ่มภาษีที่เป็นภาระแก่ผู้บริโภค แทนที่จะดำเนินนโยบายในเชิงลดภาระหนี้สินและกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายรัดเข็มขัดดังกล่าวส่งผลเสียต่อประเทศแถบละตินอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้

แฮลลินันชี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจกรณีของประเทศแถบยุโรปในยุคนี้มาจากผลกระทบของฟองสบู่แตกด้านอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้หลายประเทศมีการยืมเงินจาก "กลุ่มสาม" (troika) คือ ไอเอ็มเอฟ, ธนาคารกลางของยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งกลายเป็นการการย้ำประวัติศาสตร์แบบเดียวกับละตินอเมริกาช่วงคริสตทศวรรษที่ 1990s

จากที่เท้าความไปข้างต้นทำให้ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ของประเทศโปรตุเกส, กรีซ, สเปน และไอร์แลนด์ เป็นเรื่องการขับเคี่ยวกันระหว่างฝ่ายผู้สนับสนุนนโยบายรัดเข้มขัดของ "กลุ่มสาม" และฝ่ายที่ต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด 

แฮลลินันระบุว่ากลุ่มต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดจะต้องต่อสู้กับมายาคติและความเข้าใจผิดที่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้มาจากการใช้จ่ายของรัฐที่มากเกินไป การให้เงินบำนาญหลังเกษียณอายุมากเกินไป หรือมีสาเหตุจากกลุ่มนักสหภาพแรงงาน โดยแฮลลินันระบุว่าสิ่งที่เป็นสาเหตุจริงๆ คือ การเก็งกำไรอย่างขาดความรับผิดชอบของธนาคารและนักการเงิน ทำให้ฝ่ายต้านนโยบายรัดเข็มขัดต้องขับเคี่ยวในทางการเมืองกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมสื่อกระแสหลักอยู่

นอกจากการสู้กับฝ่ายนักการเงินที่จ้องเอาเปรียบแล้ว ฝ่ายซ้ายในประเทศแถบยุโรปยังต้องต่อสู้กับขบวนการฝ่ายขวาที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการอ้างแนวคิดแบบเหยียดเชื้อชาติและหวาดกลัวคนนอกอย่างไม่มีเหตุผล ฝ่ายขวาเหล่านี้จะฉวยโอกาสนำเอาโวหารแบบต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้ เช่น พวกกลุ่มนีโอนาซีที่ชื่อ โกลเด้นดอว์น ในกรีซที่ถึงแม้จะโจมตีอียูแต่แนวคิดและวิธีการของฝ่ายขวาเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรเหมือนกลุ่มฝ่ายซ้ายในกรีซ, ไอร์แลนด์, สเปน หรือโปรตุเกสเลย

แฮลลินันยังเปิดเผยในบทความอีกว่าสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังมีความแตกต่างกันโดยกรีซอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมมากที่สุดซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางใดก็มีโอกาสที่จะพังตามที่อดีตรัฐมนตรีการคลังของพรรคซีริซาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกล่าวว่าทางเลือกที่เหลืออยู่ของกรีซคือ "ฆ่าตัวตายหรือถูกประหาร" ซึ่งสภาพแบบเดียวกันนี้มีโอกาสเกิดขึ้นในไอร์แลนด์และโปรตุเกสเช่นกัน แต่มีโอกาสเกิดขึ้นกับสเปนน้อยกว่า

สาเหตุที่สเปนมีโอกาสรอดมากกว่าประเทศอื่น แฮลลินันชี้ว่าเนื่องจากสเปนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของยุโรป การล้มละลายของสเปนหรือการขับสเปนออกจากกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบเงินยูโรจะส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อยุโรป ทำให้ "กลุ่มสาม" ใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่แม้จะรุนแรงแต่ก็ยังเบากว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ฝ่ายซ้ายในประเทศยุโรปเหล่านี้ยังต้องตัดสินใจว่าประเทศของพวกเขาจะยังคงใช้สกุลเงินยูโรต่อไปหรือไม่ โดยแฮลลินันระบุว่าการใช้เงินสกุลยูโรสร้างปัญหาให้กับประเทศส่วนใหญ่ยกเว้นเยอรมนี, ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ เพราะแม้ว่ากลุ่มประเทศยูโรโซนจะใช้สกุลเงินเดียวกันแต่ก็ไม่มีการรับผิดชอบร่วมกันเวลาที่เกิดความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ต่างจากกรณีในสหรัฐฯ ที่รัฐเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนียช่วยเปิดทางให้รัฐที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างมิสซิสซิปปี แต่ในยูโรโซนพวกเขาต้องดิ้นรนกันเอาเองและเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จำเป็นต้องไปขอเจ้าพ่อเงินกู้อย่างพวก "กลุ่มสาม"

สถานการณ์และกำหนดการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ

แฮลลินัน ยังได้แจกแจงบริบทของทั้ง 4 ประเทศและกำหนดการเลือกตั้งของประเทศนั้นๆ โดยเริ่มจากการระบุถึงกรีซที่มีกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ย. ที่จะถึงนี้ 

กรีซ

ก่อนหน้านี้พรรคซีริซาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายของกรีซชนะการเลือกตั้งและต้องรับมือกับวิกฤตหนี้สินของประเทศจนทำให้กลุ่มผู้นำในพรรคมีความคิดเห็นต่างกัน มีอดีตสมาชิกพรรค 25 คนออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อพรรค 'สหภาพประชาชน' (Popular Union) ที่เรียกร้องให้มีการต่อต้านเงื่อนไขของ "กลุ่มสาม" อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามถึงแม้อเล็กซิส ซีปราส ผู้นำพรรคซีริซาจะถูกต่อต้านจากคนในพรรคเนื่องจากยอมเจรจากับ "กลุ่มสาม" และมีการลาออกเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลโพลล์ก็ระบุว่าเขายังคงได้รับความนิยม ในขณะที่พรรคฝ่ายขวาและพรรคซ้ายกลางในกรีซที่เคยได้รับความนิยมก็เสื่อมเสียชื่อเสียงไปมาก ส่วนพรรคสายกลางอีกหนึ่งพรรคก็ไม่มีโครงการอะไรที่แน่ชัด

แฮลลินัน แสดงความเป็นห่วงว่าการที่ฝ่ายซ้ายในกรีซแบ่งแยกกันในช่วงที่ต้องต่อสู้กับพวก "กลุ่มสาม" อาจจะทำให้เกิดผลเสียหายตามมาได้

โปรตุเกส

ในกรณีของโปรตุเกสที่มีกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 4 ต.ค. ที่จะถึงนี้ เป็นประเทศที่มีรัฐบาลปัจจุบันเป็นพรรคแนวร่วมสายอนุรักษ์นิยมที่มีที่นั่งในสภา 132 ที่นั่ง จากทั้งหมด 230 ที่นั่ง แต่ผลโพลล์ระบุว่าฝ่ายค้านที่เป็นกลุ่มต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดได้รับความนิยมตามมาติดๆ กับพรรคฝ่ายซ้ายกลางที่มีที่นั่งในสภา 74 ที่นั่ง

ในโปรตุเกสนั้นพรรคฝ่ายซ้ายกลางเป็นผู้นำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้ แต่พรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายซึ่งประกอบด้วยพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคสายเขียวซึ่งมีที่นั่งในสภา 16 ที่นั่ง กับพรรคฝ่ายซ้ายอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีที่นั่ง 8 ที่นั่ง ต่างก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น

แฮลลินันประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พรรคอนุรักษ์นิยมในโปรตุเกสจะพ่ายแพ้และพรรคฝ่ายซ้ายกลางกับซ้ายสายต่อต้านจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล พวกเขาต้องชนะที่นั่งให้ได้ 116 ที่นั่งถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันพวกเขาก็มีอยู่ 98 ที่นั่งแล้ว

สเปน

สเปนมีกำหนดการเลือกตั้งในเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้ แฮลลินันระบุว่าสถานการณ์ในสเปนมีความลื่นไหลอยู่ จากที่พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันมีเรื่องอื้อฉาวจำนวนมากและมีท่าทีสนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดอย่างแข็งขัน พรรคสังคมนิยมของสเปนเป็นผู้ที่รองรับนโยบายรัดเข็มขัดมาแต่แรกแต่ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนพรรคฝ่ายซ้ายอย่างโปเดมอสได้รับความนิยมลดลงแต่ก็สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นในเมือง มาดริด, บาร์เซโลนา, คาดิซ และซาราโกซา ได้ อย่างไรก็ตามสเปนไม่ใช่ประเทศที่มีระบอบแบบ 2 พรรคการเมืองอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตามแฮลลินันชี้ว่ามีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปอย่างการที่พรรครัฐบาลอนุรักษ์นิยมรีบเร่งผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงที่มุ่งปราบปรามการประท้วง เสรีภาพสื่อ และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งเห้นชัดว่าเป็นการพยายามกีดกันพรรคโปเดมอส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่สร้างแรงสนับสนุนมาจากขบวนการเคลื่อนไหวบนท้องถนน

ไอร์แลนด์

ในกรณีของไอร์แลนด์ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือน เม.ย. ปีหน้า แฮลลินันระบุว่าสถานการณ์ของไอร์แลนด์ยังคงเปลี่ยนแปลงไปมาจนคาดเดาไม่ได้ ผลโพลล์ระบุว่าพรรคแนวร่วมสายกลางกับพรรคฝ่ายซ้ายมีความนิยมขับเคี่ยวกันแต่มีโอกาสที่ความนิยมจะเปลี่ยนแปลง ในขณะที่พรรคอิสระก็ได้รับความนิยมสูงขึ้นซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่มีท่าทีต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด

บทความของแฮลลินันชี้ว่าถึงแม้เศรษฐกิจของไอร์แลนด์จะโตขึ้นแต่ก็ยังมีผลกระทบจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังมีปัญหาที่ปัญญาชนหนุ่มสาวพากันออกจากประเทศจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2551 ทำให้เกิดภาวะ "สมองไหล"

- - - - - - -

ในอีกด้านหนึ่งท่ามกลางวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปปัจจุบันฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ ของยุโรปยังพยายามแยกแยะตัวเองจากฝ่ายขวาที่มีแนวคิดเชื้อชาตินิยม โดยต้องพยายามทำให้กลุ่มผู้นำในประเทศของตนเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยที่ต้องการหาที่ปลอดภัยเข้าไปอยู่ในประเทศของพวกตน

แฮลลินันยังเรียกร้องให้ฝ่ายซ้ายในที่อื่นๆ ของโลกแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยการสนับสนุนฝ่ายซ้ายในประเทศเล็กๆ อย่าง กรีซ, โปรตุเกส และไอร์แลนด์ ที่ต้องต่อสู้กับทั้งอำนาจทุนและการกลับมามีอิทธิพลของแนวคิดแบบนาซี

 

 

เรียบเรียงจาก

These Four Elections Could Decide the Future of Europe, Conn Hallinan, FPIF, 09-09-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท