Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

จากผลสำรวจของ globalfirepower 2015(1)  ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงรักษาอันดับหนึ่งในฐานะผู้นำโลกในด้านแสนยานุภาพทางการทหารมาตั้งแต่ปี 2001 ท่ามกลางประเทศรัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยเหตุผลหลักของการช่วงชิงการครอบครองอาวุธที่มีประสิทธิภาพก็เพื่อรักษา “ความมั่นคงของรัฐ” (security of the state) และการคุ้มกันภัยจากการก่อการร้าย (terrorism) อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2015 เว็บไซด์ซีเอ็นเอ็น (CNN)(2) ได้เปิดเผยสถิติจำนวนพลเมืองอเมริกันที่เสียชีวิตเนื่องจากการก่อการร้ายเปรียบเทียบกับจำนวนพลเมืองอเมริกันผู้เสียชีวิตเนื่องจากความรุนแรงจากการพกพาอาวุธปืน (gun violence) ภายหลังเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 พบว่า จำนวนพลเมืองผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในรอบทศวรรษมีจำนวนทั้งหมด 3,380 คน โดยในแต่ละปีหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรมมีเพียงปี 2004 เท่านั้นที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 74 คน และสถิติผู้เสียชีวิตคงที่ในค่าเฉลี่ยไม่เกินที่ 40 คนจนถึงปี 2013 ทางตรงกันข้าม จำนวนพลเมืองอเมริกันที่เสียชีวิตจากการก่ออาชญากรรมโดยอาวุธปืนมีจำนวนรวมทั้งหมด 406,496 คน และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีมีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 30,000 คน หากจะตั้งคำถามจากค่าความเสียหายดังกล่าวโดยเปรียบเทียบ คำถามก็คือ เหตุใดสภาคองเกรสในฐานะตัวแทนประชาชนจึงผ่านงบประมาณกลาโหมตลอดทศวรรษ ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ขณะที่มีความมั่นคงของรัฐในแง่อื่นที่น่ากังวลและมีความต้องการแก้ไขยิ่งกว่า

หากพิจารณาจากกลุ่มประเทศที่แข่งขันกันในด้านแสนยานุภาพทางการทหาร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส จะเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างของกลุ่มประเทศเหล่านี้คือ การเป็นประเทศมหาอำนาจในเวทีโลก คุณประโยชน์จากการครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงหรือกองทัพที่มีประสิทธิภาพจึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่การข่มขู่ หรือเพื่อวัดกำปั้นว่าใครใหญ่กว่าใครเท่านั้น แต่ยังมีพลังในเชิงอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจในระบบตลาดการค้าระหว่างประเทศ การช่วงชิงทรัพยากร และอำนาจในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมือง การสร้างและรักษาแสนยานุภาพของกองทัพของประเทศมหาอำนาจไปเสริมอำนาจให้แก่รัฐ แสนยานุภาพของกองทัพของประเทศมหาอำนาจมีหน้าที่(function) ทั้งในทางตรงคือ การรบเพื่อปกป้องรักษาดินแดน และชีวิตพลเรือน อีกแง่หนึ่งคือ มันได้ส่งผลกระทบต่อท่าทีและแนวทางปฏิบัติระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างสำคัญ ดังนั้น เหตุผลเรื่อง “ความมั่นคง” ที่ประเทศเหล่านี้ใช้เป็นเหตุผลหลักในการเสนอนโยบายกลาโหมแก่สภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน(ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างไรก็ตาม)ในประเทศที่สมาทานประชาธิปไตย และประเทศสังคมนิยมพรรคเดียว จึงฟังขึ้น กลไกการตรวจสอบทั้งหลายของประเทศประชาธิปไตยจึงอนุมัติให้ “ผ่าน”

กลับมาย้อนมองบริบทของประเทศไทย ในปี 2015 แสนยานุภาพของกองทัพไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 20 ของโลก เป็นอันดับสองของกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียว และมีแนวโน้มจะเพิ่มกำลังด้านการทหารมากขึ้นทุกปีนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 25493จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยสองประการ หนึ่ง ประเทศไทยในฐานะประเทศเล็กๆในเอเชียมีเหตุผลด้าน “ความมั่นคง” อะไรที่ทำให้ประเทศไทยทะยานไปสู่ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางการทหารสูงเป็นอันดับที่ 20 ของโลกจากร้อยกว่าประเทศ สอง กลไกการตรวจสอบงบประมาณด้านการทหารของไทยให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าอย่างไร

ก่อนจะตอบคำถามข้อหนึ่ง พบว่าคำถามข้อที่สองมีผู้หาคำตอบไว้ได้แล้ว จากรายงานโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ระบุว่าหน่วยงานที่มี “อำนาจ” หรือเป็นที่น่า “เกรงขาม” จะได้รับโอกาสจัดสรรงบประมาณมากกว่าหน่วยงานอื่น ตัวอย่างเช่น กระทรวงกลาโหม โดยคณะผู้วิจัยฯ อ้างถึง รัชนิภา สายอุบล (2552:236) ซึ่งได้สัมภาษณ์สมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ความว่า

“ ปัจจุบันประเทศก็ไม่ได้จะมุ่งเน้นเรื่องการทหารหรือการป้องกันประเทศ แต่ว่าพอมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร(คมช.) กองทัพก็ได้รับจัดสรรงบประาณให้เยอะ ก็จะทำให้ประเด็นของการที่จะจัดสรรนโยบายลงตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลตั้งไว้ก็จะต้องผิดเพี้ยน คือ เหมือนกับเทงบประมาณไปให้กับทหาร ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 3-4 ปีก่อนมีการทำรัฐประหาร กระทรวงกลาโหมมีงบประมาณ 80,000ล้านบาท แต่ตอนนี้ยอดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 140,000 ล้านบาท ก็จะขัดแย้งกับที่รัฐบาลพูดว่า มุ่งเน้นด้านการศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเรานี่ยังเกรงใจทางทหารอยู่ว่ารับบาลจะอยู่ได้ต้องให้ทหารช่วยค้ำ บทบาทเขาสูงมากเลย...ตอน คมช.ต้องยอมรับว่ามีความเกรงใจ เพราะว่าที่สำเร็ขขึ้นมาได้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็อยู่ที่เหล่าทัพทั้งนั้น ก็เป็นการตอบแทนบุญคุณกัน มีความเกรงอกเกรงใจกัน ”(4)

จากผลการศึกษาของงานวิจัยข้างต้นนำไปสู่การตอบคำถามที่หนึ่ง คือ การที่รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณกลาโหมไม่ได้มีเหตุผลเพื่อ “ความมั่นคง” ในความหมายเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศมหาอำนาจอื่นใช้ แต่เป็น “ความมั่นคง” ของความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายในประเทศ และ “ความมั่นคง”ในการดำรงอยู่ของรัฐบาลมากยิ่งกว่าการป้องกันการก่อการร้ายหรือคุณประโยชน์ในการต่อรองอำนาจเชิงเศรษฐกิจในตลาดโลก เพราะท่าทีของกองทัพไทยจะส่งผลอย่างสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะเมื่อใดที่กองทัพเห็นว่ารัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าไว้วางใจ หรือไม่มีความเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกัน กองทัพก็จะช่วงชิงอำนาจของรัฐบาลมาได้โดยง่าย แสนยานุภาพของกองทัพไทยจึงไม่ใช่เพียงแต่การสำแดงความแข็งแกร่งทางการทหารแก่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนเสริมอำนาจการต่อรองเชิงเศรฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง หากแต่คือเครื่องประดับราคาแพงลิบลิ่วที่สะท้อนความเกรงอกเกรงใจ และความเกรงขามจากรัฐบาลในนามของประชาชน!

สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ ขณะที่รัฐไทยกำลังไต่อันดับรัฐที่มีแสนยานุภาพของกองทัพสูงขึ้นเรื่อยๆติดอันดับโลก ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนจะมีท่าทีต่อรัฐไทยอย่างไร รัฐไทยจะคาดหวังความเกรงอกเกรงใจหรือเกรงขามจากประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากแสนยานุภาพของกองทัพหรือไม่ แล้วมันจะก่อคุณูปการอันใดในนาม “ความร่วมมือระหว่างประเทศ”ของอาเซียน หรือตรงข้ามกลับจุดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้น.

 

อ้างอิง

http://www.globalfirepower.com/countries-listing.asp
http://edition.cnn.com/2015/10/02/us/oregon-shooting-terrorism-gun-violence/
http://thaipublica.org/2013/01/corruption-budgeting-6/
เจาะขบวนการทุจริตงบประมาณแบบบูรณาการ(6): จัดงบฯ กระทรวงกลาโหม “หลักการ” หรือ “ความเกรงใจ”, 28 มกราคม 2013

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ปัจจุบัน ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ศึกษาอยู่ที่ Peace and Conflict Studies The University of Manchester, UK
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net