Women, Police and Peace: เมื่อตำรวจหญิงถูกใช้เป็นภาพแทนของสันติวิธี

จากภาพเหตุการณ์การความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของเครือข่าย 'จะนะรักษ์ถิ่น' ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนาย ซึ่งในจำนวนนี้มีตำรวจหญิงควบคุมฝูงชนชุด “กองร้อยน้ำหวาน” เข้าร่วมในการปฏิบัติการด้วย ทั้งยังถูกส่งไปเป็นแนวหน้าในการเข้าไปไปจับกุมตัวผู้ชุมนุมหญิงซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ภาพตำรวจหญิงและภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลบฝังภาพลักษณ์อันประนีประนอมและไม่ใช้ความรุนแรงของตำรวจหญิงลงทันที
 

ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจบการศึกษาปริญญาโท Peace and Conflict Studies จาก The University of Manchester ประเทศอังกฤษ และรับผิดชอบสอนวิชาประวัตศาสตร์การก่อการร้าย และประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จะมาชี้ชวนให้เราทำความเข้าใจบทบาทของตำรวจหญิง และภาพแทนของสันติวิธีที่ตำรวจหญิงถูกองค์กรตำรวจซึ่งได้ชื่อว่าสังคมชายเป็นใหญ่จัดวางตำแหน่งแห่งที่ไว้ให้…ตำรวจหญิงเป็นภาพแทนของสันติวิธีจริงหรือไม่

มองภาพตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร

ส่วนตัวมองว่า บทบาทของตำรวจหญิงมีความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ การที่มีจำนวนตำรวจหญิงมากขึ้น ถึงแม้จะไม่มากขึ้นอย่างสังเกตได้ แต่การมีตำรวจหญิงก็ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่นำพาความสามารถเฉพาะเจาะจงบางอย่างของตำรวจหญิงเข้าสู่แวดวงตำรวจ หมายถึงวิธีปฏิบัติงานที่มีลักษณะเลี่ยงการปะทะ (a less confrontational style) และการลดลงของโอกาสที่จะการใช้กำลังในการปฏิบัติการอย่างล้นเกิน (the use of excessive force) และความสามารถที่จะมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจในสถานการณ์ที่อ่อนไหว และแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว อาชญากรรมเกี่ยวกับเพศ แต่ต้องเน้นว่าความสามารถนี้ไม่ได้เกิดมีขึ้นมาเอง หรือเกิดทันทีเมื่อตำรวจหญิงลืมตาดูโลก แต่ความสามารถนี้เป็นผลจากการที่ตำรวจหญิงนั้นเผชิญชีวิตประจำวันภายใต้สังคมที่มีกลไกทางสังคมและระบอบคุณค่าทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ภายใต้อุดมการณ์ที่เรียกว่า “ปิตาธิปไตย” ครอบงำอยู่ ซึ่งหล่อหลอมให้ตำรวจหญิงในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง (เมื่อถอดเครื่องแบบออก) มีโอกาสได้เรียนรู้ ตอบสนอง หลีกเลี่ยง ต่อต้าน และมีประสบการณ์กับความรุนแรงในทางกายภาพและความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้มาก

อาจจะกล่าวได้ว่า ผู้หญิงก็อยู่กับความรุนแรงตั้งแต่เล็กจนโตนั่นแหละ ทีนี้ความสามารถในการรับรู้ ตอบสนอง หลีกเลี่ยง หรือต่อต้านที่แยบยลก็พัฒนาขึ้นมาด้วย รวมถึงความเข้าใจสถานการณ์ หรือสภาวะกดดันในมิติที่ละเอียดอ่อน เช่น อาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันแบบแฟน หรือ สามีภรรยา โดยมีความเข้าใจว่า การเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือการเป็นแฟนกันเป็นคนละเรื่องกับความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพตำรวจหญิงในสังคมไทยหากนึกเร็วๆ ในหัวเราๆ ท่านๆ มักจะไม่ค่อยนึกถึงบทบาทที่พูดไปเท่าไหร่ คือ เราจะเห็นอยู่ 2 ภาพ ได้แก่ ภาพนักเรียนตำรวจหญิงที่ตัดผมสั้นเกรียนกับภาพตำรวจหญิงที่เป็นโฆษก หรือรับโทรศัพท์เหมือนโอเปอเรเตอร์ หรืออำนวยความสะดวกให้ตำรวจชาย

อย่างเช่นภาพที่เห็นกันโดยเฉพาะในช่วงการแถลงข่าวคดีของอดีตผู้กำกับโจ้ที่มีตำรวจหญิงคุกเข่าถือโทรศัพท์ให้กับผู้บังคับบัญชา จนเกิดการตั้งคำถามถึงสถานภาพของตำรวจหญิงในแวดวงตำรวจ ดังนั้น ในไทย เราจะเห็นว่า บทบาทของตำรวจหญิงไม่ได้ถูกจดจำเท่ากับตำรวจชายอยู่แล้ว เวลานึกตำรวจในฐานะ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” อย่างน้อยที่สุดเราก็จะนึกถึงรูปปั้นหน้สถานีตำรวจ ที่ตำรวจชายอุ้มคนที่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ไว้ในอ้อมแขน ซึ่งหมายความว่า ภาพจำว่าคนที่เหมาะสมแก่การทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือไปจับผู้ร้าย ปัดเป่าทุกข์ภัย คือ ตำรวจชาย

 

มองเห็นความเหมือนหรือความต่างของตำรวจหญิงในไทยและต่างประเทศอย่างไรบ้าง

ความเหมือนคือ สัดส่วนตำรวจหญิงต่อตำรวจชายน้อยมาก และตำรวจหญิงมักจะได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศ หรือเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มคดีที่ถูกจัดว่ามีความอ่อนไหว และตำรวจหญิงถูกเชื่อว่าจะมีความสามารถในการดำเนินการด้วยความละมุนละม่อม ระมัดระวัง และเข้าอกเข้าใจมากกว่าตำรวจชาย นอกจากนี้ความเหมือนอีกประการหนึ่งคือ สัดส่วนตำรวจหญิงที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาก็ยังน้อยกว่าตำรวจชาย

อันที่จริง หากจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อาจจะต้องเจาะจงลงไปอีกว่าประเทศไหน หรืออาจจะจัดอย่างกว้างๆ ว่าเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศไหน หากเป็นประเทศในโซนยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี หรือประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่าข้อแตกต่างที่เห็นง่ายที่สุดคือ เครื่องแบบ ไล่ตั้งแต่ทรงผมไปจนถึงรองเท้า ที่นอกจะเน้นการแต่งกายที่เน้นประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่แสดงการถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพของตำรวจหญิงเอง ได้แก่ การที่มีการออกแบบเครื่องแบบที่มีฮิญาบให้แก่ตำรวจหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม และในด้านการทำงานมีตำรวจหญิงจำนวนไม่น้อยที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในคดียาเสพติด คดีก่อการร้าย คดีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง และคดีอันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอื่นๆ จุดนี้ทำให้เห็น

ว่าหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของรัฐไม่ได้ถูกฝากความหวังไว้แต่เฉพาะตำรวจชายเท่านั้น ภาระหน้าที่ของตำรวจหญิงสามารถถูกขยับขยายไปยังคดีลักษณะอื่นได้ ขณะที่ในกลุ่มประเทศที่ยังมีความเข้มข้นของสำนึกสาธารณะต่อความเท่าเทียมทางเพศน้อยกว่า สถานภาพและบทบาทของตำรวจหญิงก็มักเป็นรองและได้รับมอบหมายหน้าที่ในการเป็นฝ่ายสนับสนุนแก่ตำรวจชายอยู่ร่ำไป เช่น งานเอกสาร งานประชาสัมพันธ์ งานโฆษก

สำนึกสาธารณะเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสัดส่วนของตำรวจหญิงที่ควรเพิ่มมากขึ้น เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างพื้นที่การทำงานของตำรวจหญิงให้ขยายออกไปได้

อาจจะเริ่มคิดก่อนว่า พื้นที่การทำงานนั้นสัมพันธ์กับจำนวนคนทำงาน สมมติว่า หากมีสัดส่วนตำรวจหญิงที่มากพอๆ กับตำรวจชาย การกระจายภาระงานก็มีแนวโน้มที่จะเฉลี่ยกันไปอย่างที่ไม่ต่างกันมาก ในแง่ของประเภทคดีที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงที่จำนวนของตำรวจหญิงมีจำกัด โอกาสในการกระจายภาระงานก็จำกัดไปด้วย บนเงื่อนไขนี้ตำรวจหญิงจะถูกจัดวางให้ไปทำหน้าที่ที่เขาคิดว่า ตำรวจหญิง “เหมาะสม” กว่า เช่น การค้นตัวผู้หญิง การสอบพยานในคดีอ่อนไหว และหน้าที่อื่นๆ เช่น การประชาสัมพันธ์องค์กร งานที่ต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจ

ในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร ในปี 2021 มีสัดส่วนร้อยละของตำรวจหญิงเกือบ 30% และตำรวจหญิงเองก็มีส่วนในคดีความมั่นคงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ การค้าทาสสมัยใหม่ อาชญากรรมยาเสพติดข้ามชาติ ก็เป็นงานที่ตำรวจหญิงที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในสายงานนั้นๆ จะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคดี นอกจากนี้คดีอาชญากรรมไซเบอร์ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับตำรวจหญิงได้ เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าตำรวจหญิงในต่างประเทศทำงานได้หลากหลายมากกว่า ขณะที่ในไทยเป็นที่ทราบดีว่า จำนวนตำรวจหญิงมีจำกัดมากและคดีก็ล้นมือ ในไทยมีสถานีตำรวจอยู่ 1,482[1] แห่ง แต่ว่ามีจำนวนพนักงานสอบสวนหญิง 733 คน จากจำนวนพนักงานสอบสวนทั้งหมด 10,000 กว่าคน[2] เช่นนี้ จะให้ตำรวจหญิงไปรับผิดชอบคดีอื่นๆ นอกจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือคดีอ่อนไหวที่ผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิดเป็นหญิง หรือเด็กและเยาวชนก็เป็นไปได้ยากเพราะคดีที่มีอยู่ก็ล้นมือแล้ว  

คิดว่าการที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจไทยซึ่งก่อตั้งมาแล้วกว่า 120 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปิดรับนายร้อยตำรวจหญิงแค่ 10 รุ่น ช่วงพ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2562 สะท้อนอะไร  

ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เขามองไม่เห็นความสำคัญว่าต้องมีตำรวจหญิงในองค์กรตำรวจ เขาไม่เห็นว่าการมีสัดส่วนตำรวจหญิงมากขึ้นจำเป็นต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจขององค์กรตำรวจอย่างไร ดังนั้น ก็ปิดรับผู้สมัครหญิงไป อย่างไรก็ตาม นี่เป็นวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งสูงและมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องกำลังพลซึ่งเป็นตำรวจชาย ถามว่าการปิดรับอัตราตำรวจหญิงกระทบต่อใคร แน่นอนมันไม่กระทบกับผู้ชายหรอก แต่ผู้หญิงไทยมากมายที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นตำรวจโดนตัดสิทธิโดยไม่มีแม้แต่จะมีโอกาสพิสูจน์ว่าตนเองมีความสามารถหรือไม่ ขณะเดียวกันยังไปกระทบต่อสิทธิของผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เยาวชน หรือเพศหลากหลาย รวมถึงผู้ชายด้วย เนื่องจากองค์กรตำรวจกำลังจะกลับไปเป็นองค์กรของผู้ชายเต็มรูปแบบอีกครั้งซึ่งหมายความว่า โอกาสที่จะเกิดการปฏิบัติในชั้นตำรวจจาก “สายตาอื่นๆ” ที่มองเห็นความแตกต่าง หรือมีมุมมอง ประสบการณ์ ความเข้าใจมนุษย์บนฐานของความคิดที่หลากหลายก็ถูกจำกัดไปด้วย

ในไทยเองเราเคยมีตำรวจหญิง แต่ก็มาๆ หายๆ สุดแล้วแต่ใจของผู้มีอำนาจสั่งการว่าจะมองเห็น “ความจำเป็น” มากน้อยเพียงใดมานานแล้ว ยกตัวอย่าง ตำแหน่ง “นางนายทหารรักษาพระองค์” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสังกัดกรมโขลน โดยสตรีที่ทำงานดูแลความสะดวกในพระบรมมหาราชวังนี้จะถูกฝึกหัดโขลนด้วย บทบาทเช่นนี้ก้ำกึ่งระหว่างทหารกับตำรวจ หากมองจากการนิยามความหมายของสองอาชีพนี้จากปัจจุบัน กรมโขลน (พ.ศ. ๒๔๔๐) นี้มีหลักฐานว่าอยู่มาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเคยได้ยินคำกล่าวคุ้นหู เช่น “จิ้งโจ้กัด จิ้งโจ้หยุด จิ้งโจ้นอน” ก็มีรากศัพท์มาจากช่วงนั้นเองที่เหล่าผู้หญิงผู้อารักขาพระราชวังจากกรมโขลนถูกเรียกว่า “จิ้งโจ้” เนื่องจากการแต่งกายด้วยเครื่องแบบที่พะรุงพะรัง เสื้อตัวยาวสีแดง กางเกงสีแดง กระโปรงลายสกอตแบบชาวสกอตแลนด์ คลุมทับอีกชั้นด้วยชายเสื้อยาว มีหมวกทรงสูงและกระเป๋าหน้าท้องซึ่งมีหน้าที่ตรวจตรา รักษาความสงบไม่ให้มีการทะเลาะวิวาทในเขตพระราชฐานชั้นใน รวมถึงหน้าที่การปิดถนนดูแลเส้นทางการเสด็จพระราชดำเนิน ดังว่า “ทรงพระกรุณาให้จัดโขลนเปนธรรมเนียมคล้ายโปลิด...” จาก พระบรมราชโองการเกี่ยวกับการตั้งกรมโขลนและหน้าที่ของกรมโขลน

 

 

อย่างไรก็ตาม กรมโขลนไม่ปรากฎว่าถูกยุบหายไปเมื่อใด และปัจจุบันไม่มีกรมโขลนอีกแล้ว ในปัจจุบันอาจจะมีราชองครักษ์หญิงแต่ไม่ได้แยกออกมาสังกัดกรมกองชัดเจน

ในช่วงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ราวๆ พ.ศ. 2485 ท่ามกลางภาวะสงครามมีการประกาศรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิงเพื่อทำหน้าที่ประจำกรมกองทหารหญิง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นโสดและหากแต่งงานก็ต้องออกจากราชการ[3]

อย่างไรก็ตาม กองทหารหญิงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอายุได้เพียงปีเดียวเท่านั้นก็ยุบเลิกไป พร้อมๆ กับการลงจากตำแหน่งของจอมพล ป. นายร้อยหญิงก็กลายมาเป็นข้าราชการกลาโหมทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการ “มีอยู่” หรือ “ไม่มีเลย” ของตำรวจหญิง ล้วนถูกกำหนดและถูกกำกับจากผู้นำที่เป็นผู้ชายเสมอ ด้านหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการที่เราจะพูดถึงประเด็นตำรวจหญิงก็เป็นเรื่องเดียวกันหากจะพูดถึงบทบาทผู้หญิงในสังคมไทยที่ถูกประกอบสร้างมา “โดย” และ “เพื่อ” อุดมคติชายเป็นใหญ่ ซึ่งหมายความรวมถึง โอกาสของผู้หญิงในอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเพื่อความมั่นคง ปลอดภัยสาธารณะ หรือของบุคคลสำคัญด้วย เช่น นักการเมือง วิศวกร นักบิน ผู้พิพากษา เป็นต้น

ในทางประวัติศาสตร์ เหตุใดตำรวจหญิงแทบจะไม่สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือผู้ชายได้เลย

อันที่จริงจะพูดว่า ผู้หญิงแทบจะไม่สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือผู้ชายได้นั้น ต้องแยกส่วนก่อนว่า ความล้มเหลวนี้ไม่ได้เกิดจากความสามารถหรือทักษะของผู้หญิงที่ไม่เพียงพอ หรือเป็นเพราะความกระจอกของผู้หญิงว่าเป็นปัจจัยเดี่ยวๆ เท่านั้น แต่สาเหตุใหญ่มากๆ ต่อความล้มเหลวนี้ คือ โครงสร้างของสังคมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ชายมากกว่า และทำให้ผู้หญิง “ไม่สามารถ” จะมีตำแหน่งที่สูงขึ้นไปกว่าผู้ชายในระบบเกียรติยศได้

ระบอบคุณค่าที่เอื้ออำนวยต่อความเป็นชายที่ฝังรากเป็นพื้นฐานสังคมวัฒนธรรมไทยนั้น อาจจะยกตัวอย่างมาจากเรื่องใกล้ตัวเลยก็ได้ เช่น ในความสัมพันธ์ในครอบครัวในอดีตคนภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เวลาที่แต่งงาน ผู้ชายจะต้องแต่งงานเข้าบ้านผู้หญิง และที่ดิน ทรัพย์สิน มรดก ที่นาที่ไร่ วัวควาย ที่พ่อแม่ของผู้หญิงก็จะส่งต่อให้ลูกสาว ดูเหมือนจะดีนะคะ แต่สุดท้ายแล้วตัวผู้ชายที่แต่งงานเข้ามาหลังจากพิสูจน์ตัวเองให้พ่อตา แม่ยายเห็นแล้ว พ่อตาแม่ยายก็จะยกทรัพย์สิน ที่ดิน ต่างๆ ของลูกสาวให้ และผู้ชายก็จะเป็นคนที่มีอำนาจในการจัดการ ทั้งทำนาทำไร่ ดูแลวัวควายทั้งหมด ท้ายที่สุดแล้วอำนาจในการตัดสินใจในครอบครัวก็ตกเป็นของผู้ชายอยู่ดี วิธีคิดและรูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นพื้นฐานโครงสร้างของสังคมไทย

หากขยับมาในแง่ของความสัมพันธ์ในอาชีพการงานกว่าผู้หญิงจะได้รับการยอมรับให้ออกมาทำงานนอกบ้านได้ ก็อาศัยความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นแบบพาณิชย์เต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้ครอบครัวเปลี่ยนจากหน่วยการผลิตมาเป็นหน่วยบริโภค ผลคือ ผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นในเรื่องต่างๆ แต่หลังจากที่พวกเธอสามารถจะยืนได้ด้วยตนเองและมีอิสระทางการเงินจากการทำมาหาเลี้ยงชีพ มิวายที่การออกมาทำงานนอกบ้านนั้นผู้หญิงก็ยังคงถูกคาดหวังให้ต้องเป็น working woman คำนี้เหมือนจะดี แต่เมื่อไตร่ตรองให้ดีการเป็น working woman ได้ ผู้หญิงคนนั้นต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนใน professional career ในพื้นที่นอกบ้าน ขณะที่ในบ้านก็ต้องเป็นเมียที่ดี และเป็นแม่ที่ดี ซึ่งผู้ชายไม่ได้ถูกคาดหวังเช่นนี้ ความเป็นเมียที่ดีและแม่ที่ดีนั้นก็ถูกขับเน้นอีกชั้นหนึ่งว่า หมายถึงคุณสมบัติของความกรุณา เมตตา อ่อนโยน ซึ่งกลายมาเป็นความคาดหวังที่มีพลังมากต่อสถานภาพ และบทบาทของผู้หญิงไทย ที่แม้แต่ผู้หญิงเองก็เชื่อในความเป็นผู้หญิงในอุดมคติเช่นนี้ด้วย

ดังนั้น การก้าวข้ามสายงานไปสู่อาชีพตำรวจที่เต็มไปด้วยมายาคติแห่งความเป็นชายอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ผู้หญิงในสายงานตำรวจจึงถูกมองว่าเป็นพวกห้าวหาญ อย่างไรก็ตาม ก็ถูกคาดหวังว่าตำรวจหญิงจะรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง ถ้าไม่ทลายกำแพงนั้นด้วยการยอมกลืนตนเองให้เหมือนตำรวจชาย เช่น ตัดผมสั้น ท่าทางทะมัดทะแมง แววตาดุตัน หรือ มีความ “ดุ” ตำรวจหญิงที่มีความเฟมินีน (feminine) มากกว่าก็จะถูกจัดให้ไปเป็นโฆษกเพื่อการสื่อสารระหว่างองค์กรตำรวจกับสาธารณะ เช่นเดียวกับการแถลงข่าวผู้กำกับโจ้ที่ตำรวจหญิงถูกจับจ้องและเน้นย้ำในเรื่อง “ความสวย” ของเธอ

เนื่องจากผลงานจะถูกใช้ในการประเมินการเลื่อนขั้น แต่โอกาสในการทำงานในคดีที่หลากหลายของตำรวจหญิงมีอย่างจำกัด ประกอบกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่เพียงแต่จินตนาการว่าตำรวจชายตะเบ๊ะแสดงความเคารพต่อตำรวจหญิงก็เป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าตำรวจหญิงคนนั้นต้องเป็นคนพิเศษมากๆ คนหนึ่ง ทำให้การไต่เต้าในระบบเกียรติยศในองค์กรตำรวจสำหรับตำรวจหญิงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

มีตำรวจหญิงจำนวนไม่น้อยที่พยายามอย่างมากที่จะหาพื้นที่ให้กับตัวเองและเพศอื่นๆ ในการทำงานองค์กรตำรวจโดยหวังว่าหากได้เข้าใกล้ตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย พวกเธอจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรได้ เพราะตำรวจก็คืออาชีพหนึ่ง และเป็นอาชีพที่ทุกคนสามารถจะใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นได้ แต่ด้วยข้อจำกัดที่คุณเกิดมาเป็นผู้หญิง หรือรสนิยมทางเพศไม่ตรงตามเพศกำเนิด คุณก็ถูกตัดสิทธิก้าวหน้าในหน้าที่การงานบางประการไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

นอกจากเหตุผลว่าทำไมแล้ว จะขอเพิ่มเติมบทเรียนจากต่างประเทศสักหน่อย คือ ในสหรัฐอเมริกาจะมีงานสัมมนาประจำปีที่เขาจะเชิญตำรวจผู้หญิงมาแลกเปลี่ยนเพื่อถามว่าตำรวจหญิงเผชิญกับปัญหาอะไรบ้างในการทำงาน มีความท้าทาย (Challenges) อะไรบ้าง ซึ่งเขาพบว่าปัญหาของตำรวจหญิงในอเมริกาคือ ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศในองค์กร (Sexual Harassment) แทนที่ตำรวจหญิงจะต้องกลัวว่าจะโดนอาชญากรทำร้าย แต่กลับต้องมากลัวเพื่อนร่วมงาน เวลาทำงานก็รู้สึกไม่ปลอดภัย เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่เขาก็จะนำมาถกมาถามกันตลอดเพื่อหาทางแก้ไขให้กับตำรวจหญิง ขณะเดียวกันระบบเกียรติยศก็เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นเร่งด่วน เช่น หลักเกณฑ์การเลื่อนขั้น การขึ้นเงินเดือน การยกระดับสวัสดิการ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการสรุปภาพรวมในแต่ละประเด็นและชี้ให้เห็นปัจจัยของปัญหารวมถึงแนวทางแก้ไขที่สะท้อนออกมาจากปากของตำรวจหญิงจริงๆ เพื่อจะนำไปปรับใช้แก่การวางนโยบายการจัดการกำลังพลขององค์กรตำรวจต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับตำรวจหญิงในไทยถ้าสังเกตเราจะเห็นงานวิชาการที่ทำเรื่องตำรวจหญิงส่วนใหญ่จะเป็นงานทำนองที่สนใจศึกษาแค่ว่า เหตุผลหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้การมีตำรวจหญิงเป็นที่ต้องการ มีความจำเป็นอะไร แต่ไม่มีงานศึกษาที่บอกว่าปัญหาที่ตำรวจหญิงเจอในการทำงานคืออะไรและจะมีวิธีการอะไรไปจัดการปัญหาเหล่านั้นได้บ้าง เช่น สมมติเวลาคุณทำงานไปแล้ว คุณจะได้เรื่องสวัสดิการเท่ากับผู้ชายหรือไม่ การเลื่อนขั้นอีก การเข้าเป็นตำรวจว่ายากแล้ว แต่การขึ้นไปอยู่ในระดับผู้บังคับบัญชายิ่งยากกว่า ซึ่งผู้หญิงทั้งในโลกตะวันตกและไทยเผชิญสิ่งเดียวกัน เพียงแต่พื้นที่ที่ตำรวจหญิงไทยจะได้ส่งเสียงมีจำกัดกว่ามาก

การศึกษา Peace Studies เชื่อไหมว่า การมีตำรวจหญิงจะช่วยลดความรุนแรงในชั้นตำรวจที่ประชาชนจะต้องเผชิญได้

ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นภาพแทนของสันติภาพ และผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพแทนของความรุนแรง ในประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นตัวอย่างมากมายกับการที่ผู้หญิงเป็นผู้นำในการใช้ความรุนแรงเพื่อให้ความต้องการของตนเองและกลุ่มสำเร็จ เช่น Vera Figner ผู้นำกลุ่มและมันสมองกลุ่ม 'People's Will' ที่พยายามลอบสังหารพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สองแห่งรัสเซียหลายต่อหลายครั้ง ผู้ชายก็อย่างเช่น มหาตะมะ คานธี ที่ชื่อของเขาถูกจดจำในฐานะสันติวิธีด้วยซ้ำไป  

ดังนั้น หากจะลดความรุนแรงในขั้นตอนปฏิบัติการของตำรวจควรจะมุ่งไปที่คำถามว่า เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างองค์กรตำรวจให้มีความหลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะความรุนแรงนั้นมักเกิดจากการขาดความเข้าใจ ขาดการตระหนักรู้ ดังนั้น จะเพิ่มความเข้าใจได้ก็ต้องจัดโครงสร้างองค์กรที่เปิดโอกาสให้แก่เอาคนที่มีลักษณะต่างกัน มุมมองต่างกัน ประสบการณ์ต่างกันเข้าไปทำงาน ซึ่งความไม่เหมือนกันนี้จะทำให้องค์กรตำรวจมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะมนุษย์คือความหลากหลาย ความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจยกระดับปฏิบัติการก่อนที่จะใช้ความรุนแรงในการรักษาความสงบเรียบร้อย

การมีผู้หญิง รวมถึงเพศหลากหลายอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ผู้ชายในองค์กรตำรวจ ขยายไปถึงระบบยุติธรรมเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะว่าเอาเข้าจริงแล้วในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เราใช้กับคน และคนไม่ได้จำกัดอยู่ที่เป็นเพศหญิง เพศชายเท่านั้น ฉะนั้น การบังคับกฎหมายที่จะเข้าใกล้การเคารพสิทธิมนุษยชนมากที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเคารพต่อความละเอียดอ่อนและความสลับซับซ้อนของมนุษย์ ยิ่งมีความหลากหลายในองค์กรมากเพียงใด ย่อมหมายความว่าจะเพิ่มโอกาสแก่องค์กรตำรวจเพื่อทำความเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้หญิงและเพศอื่นๆ ด้วยในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายนี้ และมันจะช่วยทำให้อย่างน้อยที่สุด กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นปฏิบัติการที่ใช้ระมัดระวังอย่างรอบด้านและสามารถตรวจสอบถ่วงดุลยพินิจการตัดสินใจได้ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าการมีผู้หญิงเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไปเป็นตำรวจแบบนี้จะทำให้ปฏิบัติการลดระดับความรุนแรงไหม แน่นอนมันก็ต้องดีขึ้น มันจะมีส่วนช่วยได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการที่ทิ้งให้องค์กรตำรวจเป็นองค์กรสำหรับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

ต่อเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเครือข่าย 'จะนะรักษ์ถิ่น' มีภาพของตำรวจหญิงเข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุมหญิงซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม และมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดหลักศาสนาเกิดขึ้น เช่น การเข้าจับกุมที่อาจทำให้ผ้าคลุมฮิญาบหลุด การอุ้มตัวผู้ชุมนุมผู้หญิงเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ลักษณะหิ้วแขนหิ้วขา และอีกหลายภาพที่ดูเหมือนชุมนุมผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรง แม้จะมีตำรวจหญิงอยู่ด้วย แต่ก็ยังมีภาพความรุนแรงเกิดขึ้น มีความคิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้

ต่อประเด็นการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ในพื้นที่รับคำสั่งมาจากผู้บังคับบัญชาอีกต่อหนึ่ง แต่การตัดสินใจว่าจะใช้ความรุนแรงในรูปแบบไหน เช่น ดึง ยื้อ ล๊อกแขน ดันลงพื้น ฉุดกระชาก ใช้อาวุธปราบ หรือเข้าไปพูดคุยด้วยดีๆ ก็เป็นการตัดสินใจในภาคพื้น ดังนั้น หากมีกรณีการดึงให้ฮิญาบหลุด แน่นอนว่าผู้ที่ถูกดึงย่อมไม่พอใจและรู้สึกถูกคุกคามละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่หากจะให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่สักหน่อยก็อาจจะต้องพิจารณาด้วยหลักฐานต่อไปว่า เจ้าหน้าที่มีเจตนาดึงหรือฮิญาบนั้นหลุดเพราะความไม่ตั้งใจจากความชุลมุนวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญกว่านั้นคือ ในกรณีการชุมนุมของชาวบ้านจะนะมีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องมีคำสั่งให้เข้าจับกุมผู้ชุมนุม เป็นไปตามหลักสากลหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งคือ ฮิญาบ ตำรวจไม่มีสิทธิไปดึงให้หลุด หรือบังคับให้ถอด เพราะผู้หญิงมุสลิมที่คลุมผมมักเปรียบเปรยว่าการที่ถูกดึงฮิญาบในที่สาธารณะ ทำให้พวกเธอรู้สึกราวกับว่าถูกบังคับให้แสดงร่างกายอันเปลือยเปล่าท่อนบน มีคดีเกิดขึ้นมากมายที่สหรัฐอเมริกาที่สำนักงานตำรวจถูกฟ้องร้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสงสัยว่า มีการกระทำความผิดอาชญากรรม โดยได้บังคับให้ผู้หญิงมุสลิมถอดฮิญาบออกเพื่อให้เห็นใบหน้าที่ชัดเจน และถ่ายรูปเหมือนเป็นอาชญากร โดยล่าสุดเมื่อปีที่แล้วศาลสูงมีคำพิพากษาว่าตำรวจที่นิวยอร์ก (New York) ไม่มีอำนาจบังคับให้คนถอดผ้าคลุมตามหลักศาสนา เพราะถือว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญและเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในเรื่องศาสนาของบุคคล

กลับไปที่กรณีการชุมนุมของชาวบ้านจะนะ แม้ว่าจะพิสูจน์ยากว่า การดึงฮิญาบนั้นเป็นเรื่องจงใจ แต่การที่มีการส่งตำรวจหญิงเข้าไปในพื้นที่เพื่อจับกุมผู้ชุมนุม ด้านหนึ่งเราเห็นความพยายามขององค์กรตำรวจที่พยายามจะใช้ภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้ง ทำให้ภาพการจับกุมที่มันมีความรุนแรงเบาบางลง รวมถึงการเรียกชื่อตำรวจหญิงว่า “กองร้อยน้ำหวาน” เพราะองค์กรตำรวจเข้าใจเรื่องนี้ดีว่าหากเกิดการปะทะแล้วตำรวจหญิงโดนชาวบ้านโต้ตอบ ตำรวจหญิงก็จะกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง ขณะที่หากส่งตำรวจชายเข้าไปหาผู้ชุมนุมหากเกิดการปะทะภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจก็จะย่ำแย่ อีกด้านหนึ่งคือ เราจะเห็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในองค์กรตำรวจคือ ระบบคำสั่งที่ตัวตำรวจหญิงเองอ้างได้ว่า “นายสั่งมา” และปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งไม่ได้ ในฐานะลูกน้องกับผู้บังคับบัญชา และในเงื่อนไขที่ว่าตำรวจหญิงเองก็ไม่ได้มีพลังในการต่อรองภายในมากมายนัก โอกาสที่ตำรวจหญิงจะปฏิเสธไม่ปฏิบัติการตามคำสั่ง หรือต่อรองคำสั่งกับผู้บังคับบัญชาก็อาจจะเป็นไปได้เมื่อเงื่อนไขในองค์กรเอื้อให้ตำรวจหญิงต่อรองคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้วแทนที่คำสั่งยุติการชุมนุมด้วยข้อเสนอต่อการต่อรองกับผู้ชุมนุมบนความรู้ความเข้าใจต่อหลักการ และเหตุผล และบริบทของการชุมนุมจะนะ

แล้วตำรวจหญิงของไทยจะสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือมีความยืดหยุ่นในการทำหน้าที่ได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อเขาต้องอยู่ในองค์กรที่ชายเป็นใหญ่

ความเห็นอกเห็นใจและความหยืดหยุ่นในการทำงานมีได้ แต่โดยลักษณะของงานตำรวจเป็นการฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการยึดถือข้อปฏิบัติตามกฎหมาย ความยืดหยุ่นจะถูกจำกัดมากน้อยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันตำแหน่งผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่เป็นของตำรวจชาย อย่างไรก็ตามในกลุ่มนี้เอง ก็ย่อมมีความแตกต่างในการตัดสินใจใช้ข้อกฎหมายเพื่ออธิบายความชอบธรรมในการใช้อำนาจของตำรวจแล้วแต่ว่าผู้บังคับบัญชามีวิสัยทัศน์เช่นไร ข้อเท็จจริงเช่นว่านี้ ทำให้อาจจะสรุปได้ว่าอำนาจการตัดสินใจของตำรวจหญิงนั้นมีจำกัดพอสมควร ซึ่งไม่ได้ต่างไปจากตำรวจชายในตำแหน่งเดียวกันที่ต้องรับฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเป็นทอดๆ

ต่อให้ตำรวจหญิงอยากจะใช้สันติวิธีในการทำงานมากแค่ไหน แต่ในองค์กรที่ชายเป็นใหญ่ตำรวจหญิงจะเอาตัวรอดอย่างไร

คำถามนี้ขยายต่อไปได้อีก วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนยอมรับและอยากตักตวงประโยชน์จากโครงสร้างที่สังคมมอบให้อย่างนั้น ในองค์กรตำรวจก็เช่นกัน เราไม่สามารถมองเห็นตำรวจชายเป็นก้อนเดียวกันหมดที่จะคิด จะรู้สึก หรือจะแสดงออกเหมือนกัน อาจจะมีตำรวจชายมากมายที่เขาไม่ได้อยากจะทำตามระเบียบที่เขารู้สึกว่ารุนแรง แต่วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในองค์กรก็จำกัดอำนาจในการแสดงออกของตำรวจ ถ้าถามว่าตำรวจผู้หญิงทำอะไรได้ไหม ก็ต้องพูดไปถึงระบบเกียรติยศของตำรวจ และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งขยายไปกว้างอีกจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ กล่าวคือ เรื่องอนาคตการทำงานที่อิงอยู่กับบันไดแห่งอำนาจและความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของระบบเกียรติยศซึ่งก็อธิบายได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์อีกทีที่ความสามารถของปัจเจกบุคคลไม่ใช่สิ่งจะการันตีความมั่นคง หรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพียงอย่างเดียว สุดท้ายแล้วในระดับปฏิบัติการ การตัดสินใจว่าอะไรคือสันติวิธีหรือจะใช้วิธีการในระดับใดต่อประชาชน ตำรวจก็ต้องฟังคำสั่งจากนาย

อันที่จริง การทำให้วิธีการสันติวิธีเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติไม่ได้อาศัยเพียงแรงผลักดันเดี่ยวๆจากตำรวจหญิงภายในองค์กรตำรวจเท่านั้น แต่สันติวิธีต้องเป็นเรื่องที่สาธารณชนช่วยกันผลักดัน และขับเน้นให้เห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องถูกนำไปปรับใช้ในระเบียบและกลไกการทำงานของตำรวจ ตำรวจหญิงจะใช้สันติวิธีและเอาตัวรอดได้ก็ต่อเมื่อวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นั้นเบาบางลง การทำให้เห็นว่าสันติวิธีเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือในการทำงาน ซึ่งองค์กรตำรวจไม่ได้ต่างจากองค์กรภาคอื่นๆ ที่ต้องเคารพกันและระมัดระวังในการปฎิบัติงานร่วมกัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องแก้ด้วยวิธีการสำเร็จรูปใด แต่เป็นสำนึกสาธารณที่จะมีพลังพอในการขยับสังคม เมื่อองค์กรตำรวจมีความตระหนักรู้แล้วจึงจะนำไปสู่โอกาสที่จะเห็นสันติวิธีในเชิงปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม

 

[1] รายชื่อสถานีตำรวจทั่วประเทศ พ.ค.59; http://www.pdd.police.go.th/download/2559/02_Positionanalysis1/Conclusion59_3/allpolicestation.pdf

[2] นายกฯ สั่งเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง(ตำรวจ) ดูแลคดีละเมิดทางเพศ พร้อมเตรียมเสนอแก้กฎหมายลาคลอดจ่าย 98 วัน ตอบโจทย์เครือข่ายสตรี, 18/03/2564 https://prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/11960

[3] 22 สิงหาคม 2485 กองทัพไทยประกาศหา “สาวโสด” มาเป็น “นักเรียนนายร้อย” https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1644

 

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท